ณ ตอนนี้ ที่หลายคนกำลังอยู่ในช่วง Work From Home และมีการออกจากบ้านกันน้อยลง ทำให้บริการ Food Delivery เป็นที่ต้องการและได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงนี้ จนเรียกได้ว่า แอปพลิเคชัน Food Delivery เป็นเหมือนพนักงานร้านอาหารประจำตัวของผู้บริโภคหลายๆ คนไปแล้ว ด้วยการอำนวยความสะดวก การนำเสนอเมนูอาหารจากร้านที่หลากหลาย โปรโมชั่นต่างๆ เหล่านี้ทำให้เป็นตัวช่วยที่ดี ที่ช่วยให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านได้
ในปัจจุบันมีแอปพลิเคชัน Food Delivery มากมายเป็นตัวเลือกให้กับผู้บริโภค โดยแต่ละแอปพลิเคชัน จะมีการใช้งานที่คล้ายกัน แต่ความแตกต่างจะอยู่ที่ค่าบริการ ร้านอาหารที่เข้าร่วม และพื้นที่ให้บริการ วันนี้เราจึงนำเสนอแอปพลิเคชันFood Delivery ยอดนิยม ที่ผู้ประกอบการควรรู้จัก และนำมาปรับใช้กับธุรกิจของคุณในช่วงวิกฤตแบบนี้มาให้ดูกันค่ะ
รวม แอปพลิเคชัน Food Delivery
ช่วยร้านส่งอาหารช่วงวิกฤต COVID-19
- Line Man
Line Man เป็นแอปพลิเคชันที่ให้บริการหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสั่งอาหาร เรียกแท็กซี่ ส่งพัสดุ เมสเซนเจอร์ และซื้อสินค้า ในส่วนของบริการส่งอาหารนั้น LINE MAN ยังเป็นพาร์ทเนอร์ธุรกิจกับ Wongnai แอปพลิเคชัน รีวิวอาหารของไทย ผู้ประกอบการจึงสามารถใช้ข้อมูลร้านอาหารจากฐานข้อมูลของ Wongnai มาใช้งานได้เลย หรือลูกค้าก็สามารถดูรีวิวร้านอาหารจาก Wongnai เพื่อตัดสินใจซื้อได้เช่นกัน ทำให้มีร้านอาหารที่เข้าร่วมมากกว่า 100,000 ร้านทั่วกรุงเทพฯ แม้จะมีข้อด้อยที่ค่าส่งอาหารค่อนข้างสูงกว่าแอปพลิเคชันอื่น แต่ก็มีโปรโมชั่นค่าส่งราคาพิเศษสำหรับร้านอาหารที่เป็นพาร์ทเนอร์
ค่าจัดส่ง : ร้านที่เป็น Partner เริ่มต้นที่ 10 บาท ร้านอื่นๆ เริ่มต้นที่ 55 บาท และบวกเพิ่ม 7.2 – 9 บาท/กม. ช่วงหลังเที่ยงคืนถึงเจ็ดโมงเช้ามีค่าบริการเพิ่ม 100 บาทต่อออเดอร์
ช่องทางชำระเงิน : เงินสด หรือชำระบัตรผ่านเครดิต Rabbit LINE Pay
พื้นที่บริการ: กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง เช่น นครปฐม, นนทบุรี, สมุทรสาคร, สมุทรปราการ, ปทุมธานี และชลบุรี
- Grab Food
แอปพลิเคชันสำหรับการสั่งอาหารโดยเฉพาะ ที่แตกไลน์ออกมาจากแอปพลิเคชันเรียกรถยอดนิยม จึงมีผู้ส่งอาหารจำนวนมาก และมีบริการส่งอาหารในหลายรูปแบบ ทั้งบริการส่งด้วยรถจักรยานยนต์ หรือส่งด้วย Grab Walk (การเดินหรือจักรยานในระยะใกล้) แต่ราคาอาหารในแอปพลิเคชันจะสูงกว่าหน้าร้าน
สำหรับส่วนของลูกค้า ในแอปพลิเคชันจะมีระบบคะแนนสะสมที่สามารถนำไปแลกรับรีวอร์ดต่างๆ มีโปรโมชั่นร่วมกับธนาคารที่หลากหลาย สามารถเลือกไม่รับช้อนส้อมพลาสติกจากร้านอาหารได้ และในช่วงนี้สามารถแจ้งให้ผู้ส่งวางอาหารไว้ที่หน้าประตูหรือจุดที่ต้องการ แทนการรับจากมือเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของ COVID-19
ค่าจัดส่ง : เริ่มต้นที่ 10 บาท ใน 5 กม. แรก และบวกเพิ่ม 8-10 บาท/กม. แล้วแต่พื้นที่
ช่องทางชำระเงิน : เงินสด บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ผ่านบริการ GrabPay และ GrabPay Wallet
พื้นที่บริการ : กรุงเทพและต่างจังหวัด ได้แก่ โคราช, เชียงใหม่, พัทยา/ภูเก็ต, อุดรธานี, อุบลราชธานี, บุรีรัมย์, ขอนแก่น และหาดใหญ่
- GET
เป็นแอปพลิเคชันที่ก่อตั้งโดยทีมงานคนไทยและเพิ่งเปิดตัวเมื่อต้นปี 2562 ให้บริการเรียกรถ ส่งอาหาร ส่งสินค้า และอีวอลเล็ต โดยมีร้านอาหารในระบบให้เลือกกว่า 20,000 ร้าน จุดเด่นคือค่าส่งที่ไม่แพงมากนัก ราคาอาหารไม่บวกเพิ่มจากหน้าร้าน และลูกค้าสามารถสั่งอาหารจากหลายร้านได้พร้อมกัน โดยไม่ต้องรอให้ออเดอร์มาส่งแล้วค่อยสั่งใหม่ แต่จุดด้อยคือการชำระเงินต้องจ่ายเงินสดกับพนักงานเท่านั้น
ค่าจัดส่ง : เริ่มต้นที่ 10 บาท และบวกเพิ่ม 10 บาท/กม.
ช่องทางชำระเงิน : เงินสดเท่านั้น
พื้นที่บริการ: กรุงเทพฯ และบางส่วนในจังหวัดนนทบุรี
- Foodpanda
บริการสั่งอาหารออนไลน์ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่มีสาขากว่า 40 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นบริการส่งอาหารเดลิเวอรีรายแรกๆ ที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และผ่านการรีแบรนด์ในปี 2560 ให้ดูทันสมัยขึ้น จุดเด่นของแอปพลิเคชันนี้ คือ มีพื้นที่บริการค่อนข้างครอบคลุมในหลายจังหวัดทั่วประเทศ มีช่องทางชำระเงินที่หลากหลาย รวมถึงลูกค้าต่างชาติจะใช้บริการมากกว่าแอปพลิเคชันเดลิเวอรีอื่นๆ แต่จุดด้อยคือระยะเวลารอค่อนข้างนาน และไม่มีช่องทางติดต่อระหว่างลูกค้าและผู้ส่งอาหาร
ค่าจัดส่ง : ไม่มีค่าส่ง
ช่องทางชำระเงิน : เงินสด บัตรเครดิต บัตรเดบิตและ Paypal
พื้นที่บริการ : กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี แม่ฮ่องสอน และจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศไทย
นอกจากนี้ยังมีอีกหลาย แอปพลิเคชัน Food Delivery ที่ให้บริการรับ – ส่งอาหารได้ แต่ไม่ได้มีฟีเจอร์ที่ให้ลูกค้าได้เลือกอาหาร เช่น SKOOTAR, Lalamove, Deliveree หรือจะเป็นบริการเดลิเวอรีที่ให้บริการในจังหวัดต่างๆ เช่น OHO Delivery ที่ให้บริการใน จ.ชลบุรี หรือ Jedmove ใน จ.นครปฐม เป็นต้น
แอปพลิเคชัน Food Delivery แต่ละที่ก็มีข้อดี ข้อด้อยที่แตกต่างกันไป แต่ในช่วงวิกฤตแบบนี้ช่องทางนี้นับว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เพิ่มโอกาสในการทำรายได้ให้กับผู้ประกอบการได้เช่นกัน ทั้งนี้ผู้ประกอบการก็ควรพิจารณา และเลือกให้เหมาะกับธุรกิจอาหารของตัวเองด้วย
หมายเหตุ : รายละเอียดเรื่องค่าใช้จ่าย หรือเงื่อนไขต่างๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับแต่ละแอปพลิเคชัน ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ต้องการใช้บริการ โปรดสอบถามข้อมูลจากแอปพลิเคชันดังกล่าวอีกครั้งค่ะ
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ
ธุรกิจอาหารที่สามารถอยู่รอดได้ใน วิกฤต COVID-19
ร้านอาหารต้องรอด! โชนัน (ChouNan) เพิ่มมาตรการ ปรับกลยุทธ์ รับมือ Covid-19
ไวรัสโคโรน่า (COVID-19) กระทบหนัก! ร้านอาหารปรับตัวอย่างไรในวิกฤตนี้
Food Packaging สำคัญเลือก บรรจุภัณฑ์ อย่างไรให้เหมาะกับอาหาร
7 Social Media Marketing การทำการตลาดออนไลน์สำหรับธุรกิจร้านอาหาร