จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้มีมาตรการปิดห้างสรรพสินค้าและตลาด รวมถึงร้านอาหารทุกแห่งในกรุงเทพ ฯ ที่ต้องเป็นลักษณะการขายแบบให้ลูกค้าซื้อกลับบ้าน (take away) หรือเดลิเวอรีเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าทางร้านจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายของ Food Packaging หรือ บรรจุภัณฑ์ ที่ใช้บรรจุอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งบางท่านอาจจะคิดว่าการเลือกบรรจุภัณฑ์อาหารไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าไหร่นัก เป็นแบบไหนก็ได้ แต่ไม่ใช่เลยค่ะ การเลือกบรรจุภัณฑ์ที่ใช้สำหรับใส่อาหาร ยังต้องมีสิ่งที่ควรคำนึงถึงมากกว่านั้น
Food Packaging สำคัญ
เลือก บรรจุภัณฑ์ อย่างไรให้เหมาะกับอาหาร
เมื่อร้านต้องปรับตัวมาขายแบบเดลิเวอรี หรือขายสำหรับให้ลูกค้าซื้อกลับบ้านมากขึ้น การเลือก บรรจุภัณฑ์ สำหรับใส่อาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างที่กล่าวไปไม่ใช่แค่เลือกว่าใส่อาหารได้แล้วจบ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเพิ่มเติมก็คือ
- ต้องรักษาคุณภาพอาหาร
บรรจุภัณฑ์จะต้องช่วยรักษาคุณภาพอาหารให้คงที่จนถึงมือลูกค้า ไม่ให้มีการปนเปื้อนจากฝุ่น แมลง หรือเชื้อโรคต่างๆ รวมถึงควรที่จะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาอาหารได้ด้วย
- ขนส่งสะดวก
การออกแบบหรือการเลือกบรรจุภัณฑ์อาหารที่เหมาะสมกับประเภทของอาหาร จะช่วยให้การขนส่งอาหารสะดวกขึ้น และป้องกันอาหารไม่ให้เกิดความเสียหายมากระหว่างการเดินทาง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญในการจัดส่งอาหารแบบเดลิเวอรี
- ส่งเสริมการตลาด
นอกจากภาพอาหารที่น่ารับประทานแล้ว บรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ดีไซน์เก๋ แปลกตาก็สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับร้านอาหารได้เลยทีเดียว เป็นเหมือนโฆษณาที่เชิญชวนให้ผู้บริโภคที่เห็นผลิตภัณฑ์เกิดการตัดสินใจซื้อที่มากขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหาร ยิ่งไปกว่านั้นถ้าหากร้านที่เลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย ก็ยิ่งเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ก็จะยิ่งได้ใจผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นอีก
นอกจากนี้การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ สำหรับอาหารจะต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆอีก เช่น ชนิดของอาหาร ความคงทนของภาชนะ เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากการขนส่ง สำหรับผู้ประกอบการที่กำลังมองหาบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับแต่ละเมนู ลองมาดูกันว่าบรรจุภัณฑ์อาหารมีประเภทใดบ้าง และมีความแตกต่างกันอย่างไร
- บรรจุภัณฑ์พลาสติก
บรรจุภัณฑ์พลาสติก เรียกว่าเป็นชนิดที่ค่อนข้างได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะเป็นวัสดุที่น้ำหนักเบา คงทนและยืดหยุ่น สามารถวางเรียงซ้อนกันได้มาก ป้องกันการซึมผ่านของน้ำและอากาศได้ เหมาะกับอาหารประเภทน้ำ บรรจุได้ทั้งของร้อนและเย็น ต้นทุนต่ำ มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ และบางชนิดสามารถใช้อุ่นในไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัย สะดวกสำหรับลูกค้าที่ซื้อกลับไปทานที่บ้าน
- บรรจุภัณฑ์กระดาษ
บรรจุภัณฑ์แบบกระดาษ เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่เริ่มมีผู้นิยมใช้กันในช่วงหลายปีมานี้ เนื่องด้วยกระแสการลดใช้พลาสติก ซึ่งบรรจุภัณฑ์แบบกระดาษนั้นมีราคาไม่แพง และมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ แต่มีคุณสมบัติในการกันน้ำและน้ำมันได้ไม่มากนัก จึงอาจะต้องมีการปูด้วยวัสดุอื่นๆ เพื่อป้องกันการรั่วซึม อาจจะใช้การเคลือบด้วยไขหรือพลาสติกเพื่อป้องกันการซึมผ่านของความชื้นและอากาศ นอกจากนี้ กระดาษไขยังสามารถใช้ห่ออาหารแห้งที่มีขนาดเล็ก เช่น เบเกอรี่ หรือแซนด์วิชได้ โดยรวมเหมาะกับการใช้แบบครั้งเดียวทิ้ง ที่สำคัญใช้เวลาในการย่อยสลายไม่นานนัก
ร้านอาหารบางร้านเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ชนิดนี้ เพื่อยกเป็นจุดขายของร้านว่ามีบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการสร้างขยะพลาสติก ซึ่งในปัจจุบันก็มีบรรจุภัณฑ์ทางเลือกที่ทำจากวัสดุธรรมชาติอื่นๆ เช่น เยื่อกระดาษชานอ้อย เยื่อไม้ยูคาลิปตัส หรือไม้ไผ่ แต่ก็อาจจะมีต้นทุนที่สูงขึ้นและยังไม่สามารถใช้ทดแทนพลาสติกได้ทั้งหมด
- บรรจุภัณฑ์โฟม
ปัจจุบันยังคงมีบางร้านเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟม เพราะใช้งานง่ายและสะดวกต่อการขนส่ง แต่ข้อเสียของวัสดุชนิดนี้คือ สร้างปัญหาต่อสภาพแวดล้อมอย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และไม่ทนต่อความร้อน หากใช้บรรจุอาหารที่มีความร้อนก็อาจจะทำให้อาหารปนเปื้อนสารก่อมะเร็งได้ โฟมจึงเป็นวัสดุที่ผู้ประกอบการควรหลีกเลี่ยงมากที่สุด
- บรรจุภัณฑ์จากใบไม้
ในประเทศแถบเอเชีย การห่ออาหารด้วยใบไม้เป็นวิธีที่ใช้กันมาแต่โบราณ และยังคงใช้มาถึงปัจจุบัน โดยใบไม้ที่นิยมได้แก่ ใบตอง ใบตาล หรือใบบัว โดยร้านอาหารอาจจะเลือกใช้ใบไม้สดมาห่ออาหาร เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับร้าน และทำให้อาหารมีกลิ่นหอมเฉพาะจากใบไม้ หรือเลือกใช้บรรจุภัณฑ์จากใบไม้ที่ผ่านการแปรรูปแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีการคิดค้นวิธีขึ้นรูปใบไม้ชนิดต่างๆ ให้เป็นภาชนะมีความคงทน มีอายุการใช้งานได้นานขึ้น และมีรูปทรงหลากหลาย ทั้งสวยงาม แปลกใหม่และช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย
- บรรจุภัณฑ์ปิ่นโต
สำหรับร้านอาหารบางร้านที่ขายอาหารให้ลูกค้าเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือน อาจจะเลือกใช้ปิ่นโตเป็น บรรจุภัณฑ์ สำหรับใส่อาหาร เพราะค่อนข้างแน่นหนา ใส่อาหารได้หลายอย่างโดยไม่ปะปนกัน และใส่อาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบได้โดยไม่ต้องกลัวหก รวมถึงยังช่วยลดต้นทุนในการซื้อบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งบรรจุภัณฑ์แบบนี้เหมาะสำหรับธุรกิจอาหารแบบเดลิเวอรีที่ขนาดไม่ใหญ่มาก ที่มีลูกค้าประจำอยู่ในบริเวณใกล้เคียง
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ
แชร์ไอเดีย ออกแบบบรรจุภัณฑ์ อย่างไร ให้โดนใจลูกค้า
กลุ่มลูกค้าองค์กร 5 ประเภท ที่ธุรกิจเดลิเวอรี่ ควรเจาะตลาด
7 Social Media Marketing การทำการตลาดออนไลน์สำหรับธุรกิจร้านอาหาร
ไวรัสโคโรน่า (COVID-19) กระทบหนัก! ร้านอาหารปรับตัวอย่างไรในวิกฤตนี้
ร้านอาหารต้องรอด! โชนัน (ChouNan) เพิ่มมาตรการ ปรับกลยุทธ์ รับมือ Covid-19