6 ปัญหาที่ต้องระวัง เมื่อนำ ร้านอาหารเข้าระบบเดลิเวอรี - Amarin Academy

6 ปัญหาที่ต้องระวัง เมื่อนำ ร้านอาหารเข้าระบบเดลิเวอรี

        การจะนำ ร้านอาหารเข้าระบบเดลิเวอรี เป็นทางเลือกกึ่งบังคับของผู้ประกอบการหลายๆท่าน ในช่วงที่มีการ Shutdown กรุงเทพฯ รวมถึงอีกหลายจังหวัดจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 การปรับตัวเข้าสู่ระบบเดลิเวอรี จึงเป็นการเพิ่มโอกาสทำยอดขายทางออนไลน์ เพื่อชดเชยกับยอดขายหน้าร้านที่ลดลง รวมถึงเป็นการเพิ่มช่องทางในการขายใหม่ๆให้กับลูกค้า แต่ระบบนี้ก็ไม่ได้มีแต่ข้อดีเสมอไป ลองมาดูปัญหาที่ผู้ประกอบการควรระวังเพื่อไม่ให้ร้านขาดทุน!! หากต้องนำร้านอาหารเข้าร่วมให้บริการเดลิเวอรี

6 ปัญหาที่ต้องระวัง 

เมื่อนำ ร้านอาหารเข้าระบบเดลิเวอรี

ร้านอาหารเข้าระบบเดลิเวอรี
1. ไม่สามารถรักษาคุณภาพและรสชาติของอาหารได้

        การส่งอาหารผ่านระบบเดลิเวอรี จะต้องมีการควบคุมมาตรฐานของอาหาร โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าอาหารจะต้องปรุงสุกใหม่ เนื้อสัตว์ควรผ่านกระบวนการทำอาหารที่อุณหภูมิมากกว่า 70 องศาเซลเซียส และหลีกเลี่ยงการจำหน่ายอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุกเพื่อป้องกันการปนเปื้อนในอาหาร

        นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจจะต้องเจอกับปัญหารสชาติและคุณภาพของอาหารที่ด้อยลง ซึ่งมีสาเหตุได้จากหลายปัจจัย เช่น เกิดจากระยะเวลาในการจัดส่งที่ล่าช้า หรือการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสมกับชนิดของอาหาร เช่น อาหารทอด เมื่อนำบรรจุลงกล่องที่ปิดมิดชิด จะทำให้เกิดไอน้ำควบแน่นอยู่ที่ฝากล่อง และเกิดความชื้นทำให้อาหารนั้นไม่กรอบ รสชาติและสัมผัสของอาหารจึงไม่เหมือนเดิม ทางร้านควรมีแนวทางการแก้ไข โดยอาจจะเลือกใช้กล่องที่มีรูระบายความร้อน เพื่อไม่ให้มีความชื้นสะสมจนกระทบถึงคุณภาพอาหาร

        ร้านอาหารที่อยู่ในระบบเดลิเวอรี เมื่อมีอาหารที่ถูกส่งออกไปมีปัญหา ลูกค้าอาจจะไม่มีช่องทางในการบอกถึงเจ้าของร้านโดยตรง ส่วนใหญ่ก็เลือกให้คะแนนของร้านต่ำ หรือก็แค่เลือกที่จะไม่สั่งอาหารจากร้านนั้นอีก ผู้ประกอบการจึงควรใส่ใจ ป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น และหาวิธีในการรักษามาตรฐานของรสชาติอาหารไว้ให้ได้

2. ต้นทุนสูง-กำไรหด

        การนำ ร้านอาหารเข้าระบบเดลิเวอรี ทำให้ต้นทุนของร้านอาหารเพิ่มขึ้น ทั้งทางตรงและทางอ้อม สำหรับร้านที่เลือกเข้าร่วมกับแอปพลิเคชัน Food Delivery ต่างๆ ต้นทุนที่เห็นได้ชัดเจนคือค่า Gross Profit (GP) หรือส่วนแบ่งจากการขายที่จะต้องจ่ายให้กับทางแอปพลิเคชันที่เข้าร่วม ซึ่งคิดประมาณ 25 – 35% และยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% ถือเป็นสัดส่วนที่สูงมาก หรือร้านที่เลือกจะทำเดลิเวอรีด้วยตัวเองก็ต้องมีค่าจ้างพนักงานส่งของและค่าการตลาดเพิ่มขึ้นมาเช่นกัน รวมถึงต้นทุนค่าบรรจุภัณฑ์อาหารด้วย 

        ส่วนต้นทุนแฝงที่เพิ่มขึ้นนั้น อาจจะเกิดจากงบการตลาดที่เปลี่ยนไป เพราะแอปพลิเคชัน Food Delivery ส่วนใหญ่จะมีเงื่อนไขการโฆษณา หรือการจัดโปรโมชันกับร้านอาหาร ซึ่งหากไม่เข้าร่วมอาจจะทำให้ยอดขายไม่ดีเท่าที่ควร หรือต้นทุนแฝงอาจจะเกิดจากตัวร้านอาหารเอง เช่น มีระบบบริหารจัดการไม่ดี ทำให้การจัดซื้อวัตถุดิบไม่เหมาะสม หรือขั้นตอนการทำงานระหว่างพนักงานหน้าร้านและหลังร้านที่ไม่ประสานกัน ดังนั้นควรมีการวางแผนและทดสอบระบบ เพื่อลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น

ร้านอาหารเข้าระบบเดลิเวอรี่

3. เมนูที่ไม่เหมาะสมต้องตัดทิ้งไป 

        การส่งแบบเดลิเวอรีไม่ได้เหมาะกับเมนูอาหารทุกชนิดในร้าน เพราะเมนูที่มีต้นทุนวัตถุดิบสูง จะทำให้ได้กำไรน้อย แต่ค่าบริการ ค่าบรรจุภัณฑ์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ยังคงเท่าเดิม หากไม่มีการบริหารต้นทุนที่ดี อาจจะทำให้ขายแล้วขาดทุนเข้าไปอีก รวมถึงบางเมนูที่ขนส่งถึงมือลูกค้าแล้วไม่เหมือนการทานที่ร้าน ไม่สามารถรักษาสภาพอาหาร หน้าตา รสชาติเอาไว้ได้ ก็ไม่ควรใส่ลงไปในเมนูเดลิเวอรี โดยสรุปคือ ผู้ประกอบการควรเลือกเมนูอาหารที่ได้กำไรสูง และรักษาคุณภาพอาหารไว้ได้เข้าไปในระบบเดลิเวอร

4. ปัญหาจากพนักงานจัดส่งอาหาร

        เนื่องจากค่า GP ที่ต้องแบ่งให้กับผู้ให้บริการระบบเดลิเวอรี บางร้านจึงอาจจะขาดทุนถ้าขายในราคาเดิม ทำให้จำเป็นต้องปรับขึ้นราคาอาหารในแอปพลิเคชันให้สูงกว่าราคาขายหน้าร้าน แต่มีพนักงานขนส่งบางบริษัทที่ไม่ได้ใส่ชุดพนักงานตอนที่มาซื้ออาหาร และไม่แจ้งว่ามาจากแอปพลิเคชันเดลิเวอรี ทำให้ร้านต้องแบกรับค่าส่วนต่างระหว่างราคาหน้าร้านและราคาในระบบเอง 

        บางครั้งก็มีรายงานปัญหาที่บางแอปพลิเคชันปรับค่า GP สูงขึ้น โดยที่ไม่ได้แจ้งกับทางร้านก่อนล่วงหน้า ผู้ประกอบการควรศึกษารายละเอียดให้ถี่ถ้วน และลองดูปัญหาที่เกิดกับร้านอาหารอื่นๆ ก่อนจะเลือกใช้บริการ

5. การทำบัญชีที่วุ่นวายมากขึ้น

        การจัดทำบัญชีสำคัญมากในธุรกิจทุกประเภท เพราะจะช่วยให้ผู้ประกอบการทราบถึงฐานะทางการเงิน และผลการดำเนินงานของธุรกิจ ร้านอาหารไหนที่มีระบบ POS ช่วยในการบันทึกข้อมูลการซื้อ-ขายและออเดอร์ของลูกค้าก็จะสะดวกต่อการทำบัญชีขึ้นมาก เพราะไม่ต้องมาบันทึกรายการสั่งซื้อจำนวนมากด้วยตัวเอง รวมถึงการมีช่องทางการชำระเงินชนิดต่างๆ ทั้งเงินสด ตัดผ่านบัตรเครดิต หรือการโอนเงินจากแอปพลิเคชัน 

        ปัญหาที่จะเกิดขึ้นเมื่อนำร้านอาหารเข้าระบบเดลิเวอรี คือการรายงานยอดขายที่ไม่ตรงกันระหว่างผู้ให้บริการและร้านอาหาร ทำให้ยอดค่าคอมมิชชั่นไม่ตรงกัน ร้านอาหารจึงต้องเสียเวลาไปกับการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง ในกรณีของร้านอาหารขนาดเล็กที่ไม่มีการเก็บบันทึกข้อมูลการเงินอย่างเป็นระบบ ก็อาจจะไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้เลย 

        อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องวางแผนรับมือ คือในกรณีที่ลูกค้าชำระเงินด้วยช่องทางอื่นที่ไม่ใช่เงินสด ผู้ให้บริการจะมีระยะเวลาในการจ่ายเงินให้กับร้านตามรอบ ซึ่งร้านจะได้รับเงินภายในเวลาประมาณ 1 เดือน หรืออาจจะเร็วหรือช้ากว่านั้นตามเกณฑ์ของผู้ให้บริการ ดังนั้น ก่อนจะเข้าร่วมให้บริการในระบบเดลิเวอรี ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเข้าใจระบบบัญชีของร้าน ศึกษาระเบียบกฎเกณฑ์ของผู้ให้บริการ เพื่อจะวางแผนและกำหนดกลยุทธ์ในการทำธุรกิจได้อย่างเหมาะสมต่อไป
 ร้านอาหารเข้าระบบเดลิเวอรี่

6. ภาพอาหารไม่สวย ลูกค้าไม่ซื้อ

        ร้านอาหารบางร้านอาจจะไม่เคยมีถ่ายภาพอาหารเพื่อทำการตลาดมาก่อน แต่ภาพอาหารนี้จำเป็นมากในการขายทางเดลิเวอรี เพราะลูกค้าน้อยรายที่จะกล้าตัดสินใจสั่งอาหารที่ไม่เคยเห็นหน้าตามาก่อน ไม่รู้ว่าคุ้มค่าที่จะสั่งหรือไม่ การถ่ายภาพอาหารให้สวยงามน่ารับประทาน จึงเป็นการดึงดูดลูกค้าได้อีกทางหนึ่ง 

        ซึ่งเราสามารถทำได้โดยไม่ต้องมีอุปกรณ์หรูหรามากนัก ใช้แค่โทรศัพท์มือถือที่สามารถถ่ายรูปได้ชัดเจน จัดจานอาหารให้สวยงาม ใช้สีสันที่ตัดกันในจาน ถ่ายด้วยแสงธรรมชาติที่สว่างเพียงพอ เช่น ตรงโต๊ะริมหน้าต่าง อาจจะหาอุปกรณ์ประกอบฉากที่ช่วยให้รูปดูสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น หรือใช้เทคนิคอื่นๆ ที่ช่วยถ่ายภาพอาหารให้น่ากินยิ่งขึ้นได้

        แน่นอนว่าปัญหากับร้านอาหารเป็นเรื่องธรรมดาที่เจ้าของร้านต้องเจอ ดังนั้นการนำ ร้านอาหารเข้าระบบเดลิเวอรี ผู้ประกอบการก็ควรมีสติ และเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ การวางแผนที่ดีก็จะช่วยลดปัญหาไปได้ ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็เรียนรู้ไว้เป็นประสบการณ์  อดทนและก้าวต่อไปนะครับ

เรื่องแนะนำ

muji

ถอดบทเรียนความสำเร็จ ทำไม Muji ถึงครองใจคนทั่วโลก

Muji แบรนด์ค้าปลีกชื่อดังจากญี่ปุ่น เข้ามาเปิดตลาดในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2006 เพราะอะไร Muji จึงประสบความสำเร็จ ครองใจคนทั่วโลกถึงเพียงนี้ ไปติดตามกันเลย  

คุมต้นทุนอาหาร

คุมต้นทุนอาหาร ด้วยเทคนิค 4 ข้อ

        หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ร้านอาหารต้องปิดตัวลง คือ “การคุมต้นทุนไม่อยู่” บางร้านอาจจะขายดีมากแต่ไม่ได้กำไรเพราะมีต้นทุนสูงเกินไป โดยเฉพาะต้นทุนด้านวัตถุดิบ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลักของร้านอาหาร ร้านทั่วไปจะมีต้นทุนส่วนนี้ 30-40% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรืออาจสูงกว่านี้ในร้านอาหารประเภทบุฟเฟ่ต์ ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุนในส่วนนี้ให้มาก ลองมาดูสิ่งที่จะช่วย คุมต้นทุนอาหาร และเพิ่มกำไรให้ร้านอาหารของเรากันครับ คุมต้นทุนอาหาร ด้วยเทคนิค 4 ข้อ 1. ใส่ใจและติดตามราคาวัตถุดิบ         วิธีที่ดีในการคุมต้นทุน คือการติดตามราคาของวัตถุดิบที่ใช้ภายในร้าน บางท่านอาจจะรู้สึกยุ่งยากเพราะที่ร้านใช้วัตถุดิบหลายชนิด แต่วิธีง่ายๆ คือเลือกแค่วัตถุดิบที่เป็นต้นทุนหลักของร้านมาบันทึกราคา ปริมาณที่ใช้ และต้นทุนทั้งหมดของวัตถุดิบแต่ละชนิด เพื่อนำมาเปรียบเทียบราคาในแต่ละเดือน          สมมติว่าราคากุ้งเดิมกิโลกรัมละ 180 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 220 บาทจากภาวะน้ำท่วมในบางพื้นที่ ส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นมา 40 บาทนี้อาจจะดูไม่มาก แต่มันคือต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 22% จากราคาเดิม ยิ่งร้านที่ขายดีเท่าไหร่ กำไรที่หายไปก็จะเพิ่มมากขึ้น ในช่วงภาวะต้นทุนวัตถุดิบปรับขึ้นราคา […]

Gordon Ramsay

10 สิ่งต้องรู้ก่อนทำร้านอาหาร ฉบับเชฟมือฉมัง Gordon Ramsay

คุณกำลังฝันอยากจะมีร้านอาหารเป็นของตัวเองใช่ไหม? ถ้าอย่างนั้น เรามีสิ่งที่ต้องรู้ ก่อนทำร้านอาหาร จากเชฟมือฉมัง Gordon Ramsay มาฝากครับ

กำไร เพิ่ม

กำไร เพิ่ม ปีละเกือบแสน แค่ปรับระบบพนักงาน

ร้านอาหาร ส่วนใหญ่ มักโฟกัสที่การควบคุมต้นทุนวัตถุดิบ แต่กว่าจะลดได้ก็หืดขึ้นคอ ขณะที่การลดการจ้างพนักงานประจำ กำไร เพิ่ม ปีละแสน โดยไม่ต้องเหนื่อยเพิ่ม

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

ติดต่อแจ้งปัญหาหรือร้องเรียน
02-422-9999 ต่อ 4180
(จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น)
bdcx@amarin.co.th

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.