แนวทางการ คุมต้นทุนอาหาร ด้วยเทคนิค 4 ข้อ - Amarin Academy

คุมต้นทุนอาหาร ด้วยเทคนิค 4 ข้อ

        หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ร้านอาหารต้องปิดตัวลง คือ “การคุมต้นทุนไม่อยู่” บางร้านอาจจะขายดีมากแต่ไม่ได้กำไรเพราะมีต้นทุนสูงเกินไป โดยเฉพาะต้นทุนด้านวัตถุดิบ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลักของร้านอาหาร ร้านทั่วไปจะมีต้นทุนส่วนนี้ 30-40% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรืออาจสูงกว่านี้ในร้านอาหารประเภทบุฟเฟ่ต์ ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุนในส่วนนี้ให้มาก ลองมาดูสิ่งที่จะช่วย คุมต้นทุนอาหาร และเพิ่มกำไรให้ร้านอาหารของเรากันครับ

คุมต้นทุนอาหาร ด้วยเทคนิค 4 ข้อ

คุมต้นทุนอาหาร

1. ใส่ใจและติดตามราคาวัตถุดิบ

        วิธีที่ดีในการคุมต้นทุน คือการติดตามราคาของวัตถุดิบที่ใช้ภายในร้าน บางท่านอาจจะรู้สึกยุ่งยากเพราะที่ร้านใช้วัตถุดิบหลายชนิด แต่วิธีง่ายๆ คือเลือกแค่วัตถุดิบที่เป็นต้นทุนหลักของร้านมาบันทึกราคา ปริมาณที่ใช้ และต้นทุนทั้งหมดของวัตถุดิบแต่ละชนิด เพื่อนำมาเปรียบเทียบราคาในแต่ละเดือน 
        สมมติว่าราคากุ้งเดิมกิโลกรัมละ 180 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 220 บาทจากภาวะน้ำท่วมในบางพื้นที่ ส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นมา 40 บาทนี้อาจจะดูไม่มาก แต่มันคือต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 22% จากราคาเดิม ยิ่งร้านที่ขายดีเท่าไหร่ กำไรที่หายไปก็จะเพิ่มมากขึ้น
ในช่วงภาวะต้นทุนวัตถุดิบปรับขึ้นราคา ผู้ประกอบการก็ต้องยิ่งให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุน ลองมองหาวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์รายใหม่ๆ เพื่อเป็นทางเลือกในการเปรียบเทียบและต่อรองราคาวัตถุดิบ หรือลองปรับโปรโมชั่นส่งเสริมการขายเมนูที่ได้กำไรสูงมากกว่า 

2. ทำสูตรมาตรฐานและวิเคราะห์ต้นทุน

        ร้านอาหารที่ประสบความสำเร็จมักจะมีการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงาน SOP (Standard Operating Procedure) ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากในการควบคุมต้นทุนอาหาร และมาตรฐานของอาหารแต่ละจานให้คงที่ แม้จะเป็นพนักงานใหม่มาทำก็ตาม การกำหนดมาตรฐานของอาหารแต่ละจาน ได้แก่ การกำหนดวัตถุดิบ อัตราส่วนผสม หรือขั้นตอนการทำงานต่างๆ ที่จะช่วยควบคุมปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ และลดโอกาสที่จะมีวัตถุดิบเหลือทิ้ง (Waste) ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารประมาณค่าใช้จ่ายได้คร่าวๆ วางแผนในการสต๊อกวัตถุดิบ และลดโอกาสในการทุจริตของพนักงานได้อีกด้วย 
        นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ข้อมูลตรงส่วนนี้มาแจกแจงวัตถุดิบที่ใช้ เพื่อวิเคราะห์ต้นทุนอาหารในแต่ละเมนูอย่างละเอียด และนำมากำหนดเป็นราคาขายต่อจาน ทำให้รู้ว่าแต่ละเมนูมีต้นทุนเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของราคาขาย และเลือกเมนูที่ทำกำไรได้มากที่สุดมาเป็นเมนูแนะนำของร้าน 

3. จัดการสต๊อกวัตถุดิบ

        ร้านอาหารที่มีขนาดเล็กส่วนใหญ่ใช้วิธีเลือกเดินทางไปเลือกซื้อวัตถุดิบที่ตลาดด้วยตัวเอง และหาคนนำจัดส่งในภายหลัง ร้านที่มีขนาดใหญ่ขึ้นก็อาจจะให้ซัพพลายเออร์จัดส่งวัตถุดิบให้เพื่อประหยัดแรงและเวลา ซึ่งการซื้อวัตถุดิบครั้งละมากๆ จะช่วยให้ได้ราคาที่ถูกลง แต่ผู้ประกอบการควรจะ

  • คำนึงถึงปริมาณวัตถุดิบที่ร้านของคุณใช้ว่ามากน้อยแค่ไหน เพื่อประเมินว่าคุ้มหรือไม่ที่จะซื้อทีละมากๆ 
  • ตรวจสอบจำนวนและคุณภาพของวัตถุดิบที่รับเข้ามาทุกครั้ง 
  • จัดเรียงวัตถุดิบที่มีวันหมดอายุเร็วกว่าให้ถูกหยิบไปใช้ก่อน (FIFO: First In First Out) เพื่อป้องกันไม่ให้มีวัตถุดิบหมดอายุ 
  • จัดเก็บวัตถุดิบให้ถูกวิธี เพื่อรักษาคุณภาพและยืดอายุ เช่น เก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม
  • ตรวจสอบปริมาณวัตถุดิบที่ยังเหลืออยู่เสมอ เพื่อวางแผนการซื้อของเพื่อไม่ให้มีวัตถุดิบส่วนเกิน
  • ปรับแผนการสั่งวัตถุดิบให้เหมาะสมกับยอดขายแต่ละวัน

ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถจัดการวัตถุดิบในสต๊อกได้อย่างเหมาะสม ก็จะช่วยประหยัดต้นทุนไปได้มากครับ 

คุมต้นทุนอาหาร


4.
ลดของเสียที่เกิดขึ้น

        การจัดการต้นทุนไม่ใช่แค่เรื่องของรายรับรายจ่าย แต่ยังรวมไปถึงการจัดการวัตถุดิบให้สามารถนำมาใช้อย่างคุ้มค่า การละเลยของเสียที่เกิดขึ้นภายในครัวจะทำให้ต้นทุนบางส่วนถูกทิ้งไปอย่างเสียเปล่า ซึ่งของเสียในร้านอาหาร เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • วัตถุดิบที่จัดเก็บไม่ดี ทำให้เน่าเสีย หรือคุณภาพต่ำนำไปใช้ไม่ได้  
  • วัตถุดิบหมดอายุ เพราะสั่งมามากเกินไปจนใช้ไม่ทัน
  • มีความผิดพลาดระหว่างการทำงาน เช่น ปรุงอาหารผิดจากเมนูที่ลูกค้าสั่ง หรือทำอาหารพลาด

แนวทางแก้ไขอาจจะทำได้หลายวิธีร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น

  • ตัดแต่งวัตถุดิบต่างๆ เพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์ให้สูงสุด 
  • ส่วนที่เหลือจากการตัดแต่ง ลองนำมาใช้ประโยชน์ให้เข้ากับเทรนด์ Zero-Waste ในวงการอาหาร เช่น กระดูกมาต้มซุป คางกุ้งทอด หนังปลาทอด ขอบขนมปังอบกรอบ เป็นต้น 
  • จัดเมนูพิเศษประจำวันที่ใช้วัตถุดิบที่เหลืออยู่มาก หรือใกล้จะหมดอายุ เพื่อไม่ให้วัตถุดิบถูกทิ้งไปอย่างเสียเปล่า 
  • ควบคุมสัดส่วนอาหาร หากเมนูไหนที่ลูกค้าทานเหลือบ่อยๆ อาจจะลองลดปริมาณอาหารลง 
  • ให้พนักงานจดบันทึกยอดทิ้งวัตถุดิบในแต่ละวัน และบันทึกสาเหตุของการเกิดของเสีย เพื่อระบุปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อสิ้นเดือนให้สรุปและหาทางแก้ไขต่อไป โดยตั้งเป้าหมายให้มีของเสียน้อยลงในเดือนต่อไป
  • เศษอาหารบางชนิดสามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อได้อีก เช่น เปลี่ยนเศษอาหารให้เป็นดินที่มีสารอาหารอุดมสมบูรณ์ ทำปุ๋ยหมักชีวภาพ หรือนำไปเป็นอาหารสัตว์ 

          การควบคุมต้นทุนอาหารอาจจะเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดมาก แต่สำคัญและจำเป็นสำหรับการทำธุรกิจร้านอาหาร หากผู้ประกอบการสามารถจัดการต้นทุนต่างๆ ของร้านอาหารได้อย่างเหมาะสม ก็จะทำให้การจัดการด้านอื่นๆ ง่ายขึ้น รวมถึงมีกำไรที่มากขึ้นด้วย ร้านไหนที่ยังประสบปัญหาขายดีแต่กำไรน้อย ลองนำแนวทางนี้ไปปรับใช้กันนะครับ

ขอขอบคุณภาพถ่ายโดย Kokil Sharma จาก Pexels

เรื่องแนะนำ

ทำร้านบุฟเฟต์ให้มีกำไร

เคล็ด (ไม่) ลับ ทำร้านบุฟเฟต์ให้มีกำไร

ทุกวันนี้ร้านบุฟเฟต์โตสวนกระแสร้านอาหารประเภทอื่น แต่ขณะเดียวกันกลับมีไม่กี่ร้านที่อยู่รอด วันนี้เลยอยากสรุปเทคนิคการ ทำร้านบุฟเฟต์ให้มีกำไร มาฝากกัน

ร้านอาหารประสบความสำเร็จ

หัวใจสำคัญที่ทำให้ ร้านอาหารประสบความสำเร็จ

ยุคนี้ใครๆ ก็อยากเปิดร้านอาหาร เพราะคิดว่าเปิดง่าย กำไรดี แต่การจะทำให้ ร้านอาหารประสบความสำเร็จ มีปัจจัยต่างๆ มากมาย แต่จะมีอะไรบ้าง ไปดูกัน

10 เหตุผลที่ร้านอาหาร ต้องรู้เรื่อง SOP

1. ช่วยในการควบคุมต้นทุนอาหาร             เมื่อพูดถึงการทำ SOP อาหาร เจ้าของร้านอาหารอาจจะนึกถึงการกำหนดขั้นตอนในการทำอาหารแต่ละเมนูเพียงเท่านั้น แต่การทำ SOP ที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมาตรฐานอาหารเพื่อให้อาหารมีรสชาติที่คงที่ และสามารถช่วยควบคุมต้นทุนอาหารได้เป็นอย่างดีนั้น คือการกำหนดมาตฐานในการทำงานตลอดกระบวนการ เริ่มตั้งแต่ วัตถุดิบ อุปกรณ์ที่ใช้ ขั้นตอนปรุง ปริมาณเครื่องปรุง การจัดเสิร์ฟ รวมถึงการจัดเก็บวัตถุดิบเพื่อคงความสดใหม่ ยิ่งร้านของคุณสามารถลงรายละเอียดในขั้นตอนส่วนนี้ได้เท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้ร้านสร้างกำไรได้มากขึ้นจากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง   2.ช่วยแก้ปัญหาพนักงานลาออก กระทบต่องานบริการหน้าร้าน             ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาพนักงานร้านอาหารลาออกสร้างผลกระทบต่อการทำร้านอาหารไม่น้อย และยังเกิดต้นทุนแฝง ทั้งงบประมาณ เวลา บุคคลากร ในการฝึกพนักงานใหม่ การทำ SOP คู่มือพนักงานที่ระบุขั้นตอนการทำงาน สิ่งที่พนักงานควรรู้ ข้อกำหนดและกฏระเบียบ จะช่วยลดเวลาในการดำเนินการนี้ทั้งหมด และยังสามารถทำให้คุณบริหารร้านอาหารได้อย่างต่อเนื่อง   3.ช่วยให้เจ้าของร้านอาหาร เหนื่อยน้อยลง      ไม่ใช่แค่เหนื่อย จากการบริหารร้านอาหารให้สามารถคงอยู่ได้โดยไม่ขาดทุน แต่คำว่าเหนื่อยของการทำร้านอาหาร ยังหมายรวมไปถึง การทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และเวลาทั้งหมดไปกับการแก้ปัญหาในแต่ละวัน การลดปัญหาจุกจิกที่สามารถแก้ไขได้โดยทีมงานร้านอาหารโดยที่เจ้าของร้านอาหารไม่ต้องลงมือไปแก้ทุกปัญหาเองเพียงแต่มอนิเตอร์เท่านั้น ก็คือ การสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมให้การทำงานแต่ละส่วนเกิดปัญหาน้อยที่สุด นั่นก็คือ การวางระบบ […]

ทางออกร้านอาหาร ทำอย่างไรเมื่อ ต้นทุนอาหารแพง

ต้นทุนอาหารที่มีแนวโน้มว่า จะมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี นับว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เจ้าของร้านคิดหนัก ดังนั้น ถ้าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ต้องมาขึ้นราคาอาหารจนลูกค้าหนี ก็ต้องมีทางออกที่ดี มาดูกันว่า เจ้าของร้านต้องทำอย่างไรเมื่อ ต้นทุนอาหารแพง ขึ้นเรื่อยๆ   ทางออกร้านอาหาร ทำอย่างไรเมื่อ ต้นทุนอาหารแพง คาดการณ์ราคาวัตถุดิบให้ได้ สิ่งที่เจ้าของร้านอาหารต้องทำก่อนเปิดร้านอาหารก็คือ การกำหนดตัวเลขวัตถุดิบที่จะต้องสูงขึ้นในแต่ละปี เช่น วางแผนต้นทุนที่สูงขึ้นเฉลี่ยปีไว้ปีละ 5 เปอร์เซนต์  การคาดการณ์ล่วงหน้า เช่น มะนาวจะแพงขึ้นในเดือนเมษายนของทุกปีซึ่งเป็นหน้าแล้ง และมักจะฉุดราคาวัตถุดิบอื่น ๆ ให้ขึ้นไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นผัก แก๊สหุงต้ม น้ำมัน  หรือช่วงเทศกาลเจที่ผักจะมีราคาสูงขึ้น การประเมินสถานการณ์ จะช่วยให้สามารถกำหนดงบประมาณในการสั่งซื้อ หรือแผนการตลาดในช่วงนั้นๆ ได้ นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาของวัตถุดิบแบบฉับพลัน เช่น การผันผวนของเศรษฐกิจการเมือง หรือเกิดสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้ราคาของวัตถุดิบที่เป็นเมนูขายดีของร้านถีบตัวสูงขึ้น ยกตัวอย่าง ร้านของคุณเพิ่งเปิดใหม่ มีเมนูซิกเนเจอร์เป็นหอยสังข์ที่ได้รับความนิยม เปิดไปได้หนึ่งเดือนหอยสังข์ขาดตลาดราคาสูงลิ่ว การปรับเปลี่ยนราคา ปริมาณในการเสิร์ฟเพื่อลดต้นทุนทันที อาจส่งผลต่อการตอบรับของลูกค้าโดยตรง สิ่งที่จะทำให้การประเมินสถานการณ์เป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือ การมีระบบที่ช่วยบันทึกข้อมูลของวัตถุดิบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจำนวนที่ใช้ ราคา แหล่งซื้อ […]

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท เอเอ็มอี อิมเมจิเนทีฟ จำกัด
ในเครือ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

ติดต่อแจ้งปัญหาหรือร้องเรียน
02-422-9999 ต่อ 4180
(จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น)
bdcx@amarin.co.th

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2025 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.