3 จุดขาย ปั้นร้านให้เป็นจุดหมาย (Food Destination)
ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจอาหารประเภทใด คุณ (อาจ) ไม่ใช่คนเดียวที่กำลังทำธุรกิจนั้นๆ อยู่ แล้วคุณจะหา จุดขาย ให้ร้านของคุณแตกต่างจากร้านอาหารของเจ้าอื่นได้อย่างไร วันนี้เราเอาจุดขาย 3 ข้อที่จะช่วยปั้นร้านของคุณให้เป็นร้านจุดหมาย (Food Destination) มาเป็นไอเดียในการทำธุรกิจร้านอาหารของคุณแล้ว
คอนเซ็ปต์:
ก่อนจะลงมือทำร้านอาหารจริงคุณจำเป็นต้องมีภาพของร้านที่ชัดเจนอยู่ในใจ เพื่อใช้คอนเซ็ปต์นั้นเป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางของการทำร้าน อย่างร้าน QQ Dessert ร้านขนมหวานสไตล์ไต้หวัน ที่มุ่งมั่นจะทำขนมหวานเพื่อสุขภาพ ทุกคนกินได้โดยไม่รู้สึกผิดกับตัวเอง ทำให้ทุกเมนูของร้านประกอบไปด้วยวัตถุดิบที่สดใหม่ รวมถึงขนมที่มีรสชาติหวานน้อยเพื่อเอาใจคนรักสุขภาพ QQ Dessert จึงกลายเป็นร้านที่ครองใจคนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็สามารถกินขนมหวานของร้านนี้ได้แบบไม่อึดอัดใจ
ส่วนร้านศรีตราด ร้านอาหารพื้นบ้านที่นำเสนอเมนูอาหารจากภาคตะวันออก อยากทำร้านที่ให้ความรู้สึกเหมือนมานั่งกินข้าวบ้านเพื่อน ทางคุณแอ๊ค – วงศ์วิชญ์ ศรีภิญโญและคุณตั้ม – นนทวรรณ จิตวัฒนากร เจ้าของร้าน จึงนำเอาคอนเซ็ปต์มาเป็นตัวกำหนดย่านทำเลที่ตั้ง
เจ้าของร้านกำหนดประเภทของร้านอาหารให้เป็นแบบ Casual Dining ที่ให้ความรู้สึกเหมือนกินข้าวอยู่ที่บ้าน ร้านจึงต้องเป็น Stand alone เท่านั้น แต่ก็ต้องเข้าถึงได้ง่ายเช่นกัน ย่านสุขุมวิทจึงเป็นตัวเลือกแรกๆ โดยมองหาเฉพาะซอยฝั่งเลขคี่ เพราะเป็นย่านที่พักอาศัย หากทำร้านอาหารก็จะได้อารมณ์และบรรยากาศเหมือนมาเยี่ยมเพื่อนที่บ้านจริงๆ
รสชาติและเมนู:
ปัจจัยหลักที่ทำให้คนยอมขับรถไกลๆ เพื่อไปกินอาหารที่ร้านนั้นให้ได้ แม้ว่าจะต้องต่อคิวรอเป็นครึ่งค่อนชั่วโมง หรือหาที่จอดรถก็แสนจะลำบาก ดังนั้นรสชาติของอาหารคือกุญแจหลักและใบเบิกทางในการทำให้ร้านของคุณเป็นร้านจุดหมาย โดยเมนูเด็ดของทางร้านไม่จำเป็นต้องมีความซับซ้อน แต่ส่วนสำคัญอยู่ที่รสชาติต้องมีความเป็นเอกลักษณ์และหากินไม่ได้จากที่ไหน
เช่น ร้านเจ๊โอวกับเมนูมาม่าต้มยำรอบดึก, ขนมปังเจ้าอร่อยเด็ดเยาวราช ที่ผ่านไปกี่ครั้งก็เห็นคนยืนอออยู่เต็มหน้าร้านเสมอ, ร้านโอ้กะจู๋ ร้านสลัดผักปลอดสารพิษจากเชียงใหม่ ที่ขยายสาขามาสู่เมืองกรุง (เทพฯ) ก็ยังมีกระแสตอบรับที่ดี ด้วยคอนเซ็ปต์ “ปลูกผัก เพราะรักแม่” แสดงให้เห็นถึงคุณภาพของวัตถุดิบและความปลอดภัยของอาหารมื้อนั้นว่า หากกินแล้วต้องดีต่อสุขภาพอย่างแน่นอน
เรื่องราว:
การถ่ายทอดเรื่องราวจากความรู้สึก หรือประสบการณ์ของเจ้าของร้าน ก็ทำให้ร้านอาหารนั้นๆ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีจุดขาย ที่ยากจะหาใครมาเลียนแบบได้ เรื่องราวนั้นมีได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นตัวตน แนวความคิด รวมไปถึงการสร้างเรื่องเล่า เพื่อให้คนอื่นได้มองเห็นและรับรู้ตัวตนของคุณได้ เช่น ร้านศรีตราด เลือกที่จะเล่าเรื่องของตัวเองผ่านผู้หญิงที่ชื่อศรีตราด ผู้มีความรู้สึกว่าตัวเองรู้จักปรุงอาหารจากสมบัติในป่าที่มี รู้จักทำของอร่อยจากทะเล… แต่ทำไมคนอื่นถึงไม่รู้จักเธอ แล้วจะทำอย่างไรให้คนรู้จักเธอได้ ดังนั้นศรีตราดจึงเล่าเรื่องของตัวเองและวัฒนธรรมของภาคตะวันออกผ่านอาหารที่ปรุงด้วยความใส่ใจ นอกจากนี้เรื่องราวยังเป็นตัวกำหนดองค์ประกอบต่างๆ ภายในร้าน ไม่ว่าจะเป็นธีมสีของร้าน รูปแบบของเฟอร์นิเจอร์ เพลงที่เปิดในแต่ละช่วงเวลา ฯลฯ
จุดขายข้างต้นเจ้าของร้านอาจไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศให้ใครรู้ แต่เมื่อลูกค้าได้มาสัมผัสพวกเขาจะรับรู้และรู้สึกได้เอง และยิ่งแบรนด์ของคุณมีเอกลักษณ์มากเท่าไหร่ ก็ยากต่อการเลียนแบบมากขึ้นเท่านั้น
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ
สำรวจตัวเองให้พร้อม ก่อนตัดสินใจ เปิดร้านอาหารในศูนย์การค้า
รวมเรื่องเข้าใจผิด! เกี่ยวกับการเปิดร้านในศูนย์การค้า
ดังกิ้น โดนัท ทุ่ม 10 ล้าน ลุย Food Truck เข้าหาลูกค้าถึงที่
ฟู้ดแพชชั่น ผนึก 3 พันธมิตร ลดใช้พลาสติก Single-use plastic
CRG ผุดแบรนด์ “ อร่อยดี ” เจาะตลาดสตรีทฟู้ด ทำรายได้แล้วกว่า 1.2 ล้านบาท/สาขา
10 ขั้นตอน ขายอาหารในศูนย์การค้า ต้องเริ่มอย่างไร?
รวม ธุรกิจอาหารขายดี ในศูนย์การค้า ที่น่าจับตามอง
รวม ข้อดีของการเปิดร้านอาหารในศูนย์การค้า ที่คุณคาดไม่ถึง!