สมัยนี้คนที่อยากเป็นเจ้าของร้านอาหาร ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านเป็นของตัวเอง หรือลงทุนอะไรเพิ่มเลยด้วยซ้ำ ด้วย “Ghost.Kitchen” หรือร้านอาหารที่มองไม่เห็น ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ไปพร้อมกับการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี ลองมาดูความเป็นมาและข้อดีข้อเสียของโมเดลร้านอาหารนี้กันครับ
“Ghost Kitchen”
ร้านอาหารยุคใหม่ ไม่ต้องมีหน้าร้าน
ที่มาของครัวที่มองไม่เห็น “Ghost.Kitchen”
“Ghost.Kitchen” ก็คือการเปิด “ร้านอาหารที่มีแต่ครัว” โดยไม่ต้องเปิดขายหน้าร้าน แต่เน้นรับออเดอร์อาหารผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อจัดส่งเดลิเวอรี่เท่านั้น โดยเจ้าของร้านเหล่านี้อาจจะขายอาหารได้แม้จะอยู่ภายในบ้าน หรือคอนโดมิเนียมที่ใช้พื้นที่ขนาดเล็กภายในตัวเมือง แค่เชื่อมต่อร้านกับแอปลิเคชันเดลิเวอรีต่างๆ หรือรับออเดอร์ผ่านโซเชียลมีเดีย ถ้าใครสะดวกก็จัดส่งเองได้เลย หรือบางคนก็ใช้วิธีจัดส่งเป็นรอบๆ ในพื้นที่บริเวณที่กำหนด
เทรนด์อาหารเดลิเวอรี่กับการเติบโตของ Ghost.Kitchen
สถิติจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่มีเติบโตขึ้นราวปีละ 10% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าการขยายตัวของร้านอาหารทั่วไปที่โตแค่ 3-4% ต่อปี สอดคล้องกับการโตของธุรกิจ Ghost.Kitchen โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิดที่กระตุ้นให้การเกิดเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นไปอีก จะเห็นได้ว่าแม้แต่คนรอบตัวของเรา ก็หันมาขายอาหารผ่าน application หรือออนไลน์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ปัจจุบันร้านอาหารแบรนด์ใหญ่ก็มีการแชร์ครัวประเภทนี้ร่วมกัน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายที่จะต้องลงทุนทำครัวของแต่ละร้านเอง ตัวอย่างเช่น Grab Kitchen ที่รวมเอาร้านอาหารยอดนิยม 12 ร้าน มาทำเป็นครัวกลางร่วมกัน สำหรับรับออเดอร์เดลิเวอรี่โดยเฉพาะ อำนวยความสะดวกทั้งพาร์ทเนอร์ผู้ขับรถส่งอาหาร และลูกค้าเองก็จะได้รับอาหารรวดเร็วขึ้น สะท้อนว่าแนวคิดการตั้งร้านอาหารจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และ Ghost.Kitchen นี้เองจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในวงการธุรกิจอาหาร
จุดเด่นของครัวที่มองไม่เห็น
- มีต้นทุนต่ำกว่าร้านอาหารทั่วไป เช่น ต้นทุนค่าเช่าที่ การตกแต่งร้าน และค่าแรงพนักงาน เนื่องจากสามารถทำอาหารจากห้องครัวในพื้นที่เล็กๆ ในบ้านได้ หรือเลือกเช่าในทำเลที่ค่าเช่าไม่สูงนัก เพราะไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านอยู่ติดกับถนนใหญ่ แค่อยู่ในทำเลที่สะดวกด้านการจัดส่งก็พอ และไม่ต้องมีพนักงานคอยบริการลูกค้าในร้าน
- ทำให้มีระยะเวลาคืนทุนสั้นกว่า และความเสี่ยงในการลงทุนต่ำกว่าตามไปด้วย
- สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ด้วยตัวคนเดียว หรือมีทีมงานทำอาหารเพียงไม่กี่คน จึงบริหารร้านง่ายกว่าร้านอาหารทั่วไปมาก เป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจอาหาร
ข้อจำกัดและสิ่งที่ต้องใส่ใจในธุรกิจอาหาร Ghost.Kitchen
แม้ว่า Ghost.kitchen จะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่สร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในบางเรื่อง เพราะการไม่มีหน้าร้าน จะทำให้ลูกค้าไม่เห็นภาพอาหารจริงๆ ไม่เห็นปริมาณลูกค้าที่มาใช้บริการ รวมถึงความอร่อยของรสชาติอาหาร ความสะอาด หรือขั้นตอนการทำอาหาร ปัญหานี้ทำให้ทางร้านจะต้องใส่ใจกับการประชาสัมพันธ์ร้าน ทำการตลาดออนไลน์ให้ดี ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพอาหารให้สวยงามน่าทาน มีการลงภาพขั้นตอนการปรุงอาหาร ที่มาหรือการคัดเลือกวัตถุดิบที่ใช้ หรือมีรีวิวจากลูกค้าที่ใช้บริการจริง เพื่อโปรโมทร้านให้เข้าถึงลูกค้า และสร้างความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ ให้กับสินค้าอาหารของตัวเอง
เมื่อร้านอาหารต้องเผชิญการแข่งขันจากครัวที่มองไม่เห็นเหล่ามากขึ้น การปรับตัวโดยแค่เพิ่มช่องทางเดลิเวอรี อาจจะยังไม่พอสำหรับความท้าทายของธุรกิจในอนาคต เจ้าของร้านอาหารจึงไม่ควรหยุดเรียนรู้หาโอกาสใหม่ๆ และปรับตัวอยู่เสมอ