เปิดร้านอาหาร เป็นหนึ่งในอาชีพแรกๆ ที่คนจะนึกถึงในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี เพราะสามารถเริ่มลงทุนได้ด้วยเงินจำนวนไม่มาก จึงไม่แปลกที่ในช่วงโควิด จะมีการขายของกินออนไลน์กันอย่างคึกคัก บางคนที่เริ่มทำเป็นรายได้เสริม อาจจะทำรายได้ดีกว่ารายได้หลักเสียอีก
ถ้าในอนาคตจะเปิดเป็นหน้าร้าน หรืออยากขยายกิจการต่อไป จะต้องทำอย่างไรต่อไป ลองมาดู 4 ขั้นตอนสำหรับการเริ่มต้น เปิดร้านอาหาร ที่สรุปมาเพื่อให้ร้านของคุณโตได้โดยไม่ต้องเจ็บตัว และเป็นก้าวแรกที่มั่นคงของธุรกิจครับ
4 ขั้นตอนที่มือใหม่ควรรู้
เริ่มต้น เปิดร้านอาหาร ให้รุ่ง!
1.วางรูปแบบร้านให้ชัดเจน
การวางรูปแบบของร้านอาหารให้ชัดเจน จะช่วยให้ลูกค้าจดจำได้ง่าย เกิดความน่าสนใจมากกว่าร้านทั่วไป และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแบรนด์
เริ่มตั้งแต่การตั้งชื่อร้าน ควรเป็นชื่อที่มีเอกลักษณ์และจำง่าย เข้ากับประเภทของร้านอาหาร เมนูอาหารในร้าน รวมถึงสไตล์การตกแต่งภายใน ควรจะเป็นไปในแนวทางเดียวกัน และตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
ขอยกตัวอย่างร้านกาแฟ ที่มีความหลากหลายมากในปัจจุบัน นอกจากรสชาติที่ดีของกาแฟแล้ว แต่ละร้านก็จะมีจุดขายที่แตกต่างกัน บางร้านก็ใช้การตกแต่งร้านและสวนให้สวยงาม เพื่อให้ลูกค้าได้มาถ่ายรูปเช็คอินลงในโซเซียลมีเดีย บางร้านก็เปิดเป็นคาเฟ่แมว เพื่อให้ลูกค้าได้ผ่อนคลายกับน้องๆ ในร้าน หรือแม้แต่การคิดเมนูที่สร้างสรรค์ต่างๆ ก็เป็นแนวทางในการสร้างจุดเด่น ที่ทำให้ลูกค้าจะเลือกมาที่ร้านของเรา และได้รับประสบการณ์ที่น่าประทับใจกลับไป
2.เลือกทำเลที่เหมาะสม
เพราะทำเลเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลประกอบการของร้าน การเลือกทำเลตั้งร้านอาหารจะต้องคำนึงถึงกลุ่มฐานลูกค้าเป้าหมาย คู่แข่งในละแวกเดียวกัน ที่จอดรถของร้าน ความสะดวกต่อการเข้าถึง และความสะดุดตาของร้าน ซึ่งต้องอาศัยการรวบรวมข้อมูล และศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจ
นอกจากนี้ ผลกระทบจากการระบาดของโควิด อาจจะทำให้ทำเลข้างนอกห้างสรรพสินค้ามีความน่าสนใจมากขึ้น เพราะมีค่าเช่าที่ต่ำกว่า ไม่ต้องมีเงินประกันสูงๆ และมีความแออัดน้อยกว่า หากทำระบบเดลิเวอรีร่วมด้วยก็เป็นการเพิ่มโอกาสในการขายได้มากขึ้น ตอบรับกับชีวิต New normal ที่มีการซื้อของออนไลน์อย่างแพร่หลาย
3.เขียนแผนธุรกิจ (Business plan)
ร้านอาหารที่อยู่รอดได้จะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี การเขียนแผนธุรกิจนี้ จะช่วยให้เจ้าของเห็นภาพรวมของร้าน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานหรือประกอบการตัดสินใจ เพื่อให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงใช้ยื่นกับสถาบันการเงิน ในกรณีที่จะขอกู้เงินเพื่อมาลงทุนอีกด้วย
ซึ่งแผนธุรกิจนี้ประกอบไปด้วย
- ภาพรวมของธุรกิจ (ข้อมูลทั่วไปของร้านอาหาร กลุ่มลูกค้า คู่แข่งของร้าน)
- วิเคราะห์ธุรกิจ (SWOT analysis: จุดเด่น จุดด้อย โอกาส และอุปสรรคของธุรกิจ)
- แผนการตลาด (เป้าหมายทางการตลาด กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์)
- แผนการเงิน (การลงทุน ประมาณการรายได้ รายจ่าย ระยะเวลาคืนทุน จุดคุ้มทุน)
- แผนฉุกเฉิน (แผนรับมือกับปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ)
แน่นอนว่าการควบคุมต้นทุนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เจ้าของร้านควรศึกษาโครงสร้างต้นทุนของร้านอาหารให้ดี เพราะการขายสินค้าอาหารออนไลน์ อาจไม่ได้มีค่าใช้จ่ายเท่ากับการลงทุนเปิดร้านอาหาร การเขียนรายละเอียดในแผนการลงทุน จึงช่วยให้เห็นภาพรวมการลงทุนได้ชัดเจนขึ้น และอาจจะเห็นปัญหาที่ไม่ได้คำนึงถึงมาก่อน และหาวิธีป้องกันได้ก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้นจริง
4. หาทีมงานที่มีคุณภาพ
ร้านอาหารเป็นธุรกิจบริการ ที่เจ้าของร้านไม่สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวคนเดียว การหาทีมงานที่เหมาะกับร้านจึงเป็นอีกเรื่องที่ต้องใส่ใจ เพราะพนักงานเปรียบเหมือนหน้าตาของร้าน และมีปฎิสัมพันธ์กับลูกค้าโดยตรง การคัดเลือกพนักงานที่มีคุณภาพ และรักษาพนักงานที่ดีไว้กับร้าน จะช่วยลดต้นทุน และปัญหาที่จะเกิดขึ้นในร้านได้มาก
นอกจากนั้น การวางระบบของร้าน ให้มีมาตรฐานในการทำงาน รวมถึง Standard Operation Procedure (SOP) หรือคู่มือในการทำงาน ก็เป็นตัวช่วยรักษามาตรฐานของร้านให้คงที่ และร้านดำเนินงานได้ราบรื่นแม้จะมีการเปลี่ยนพนักงานในร้าน คู่มือนี้ควรจะระบุขั้นตอนการปรุงอาหาร ปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ การจัดจานเสิร์ฟ และงานอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ร้านควบคุมต้นทุนวัตถุดิบได้ดีขึ้น
และนี่คือ 4 ขั้นตอนพื้นฐาน ในการเริ่มต้น เปิดร้านอาหาร ที่ควรรู้! อย่าลืมติดตามสาระความรู้เกี่ยวกับธุรกิจร้านอาหาร และเคล็ดลับอื่นๆ เพิ่มเติมได้จาก Amarin Academy นะครับ