นี่ไม่ใช่ยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู หรือยุคที่อยากจับจ่ายของฟุ่มเฟือยอะไรก็ได้โดยไม่คำนึงถึงเงินในกระเป๋า ทุกคนต่างตกอยู่ในสภาวะตึงเครียด ผู้ประกอบการ ธุรกิจต่างๆ อยู่ในจุดที่ต้องกอดเงินที่มีอยู่ไว้ให้แน่น และเริ่มวางแผนการเงินระยะยาว เพราะวิกฤติไวรัสโควิด-19 ระบาด วิกฤติครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบทั่วประเทศและทั่วโลก
โดยเฉพาะประเทศไทย ประเทศที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม หรือร้านอาหาร ต่างได้รับผลกระทบ ล้มเรียงต่อกันเป็นโดมิโน ไม่เพียงแต่เจ้าของกิจการหรือผู้ลงทุนที่บาดเจ็บ แต่พนักงานระดับล่างของระบบที่รับเงินเดือนไม่เกิน 10,000 – 15,000 บาทต่อเดือน อาจเสี่ยงต่อการถูกยกเลิกจ้าง และหยุดชั่วคราว ก็เจ็บปวดไม่แพ้กัน
ธุรกิจร้านอาหาร พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส
หากลองมองในมุมของ ผู้ประกอบการ ร้านอาหารในช่วงนี้ แต่ละเจ้าต่างพลิกวิกฤติแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการเริ่มนำกลยุทธิ์ทางการตลาดออนไลน์เข้ามาเป็นช่องทางหลัก โปรโมทสินค้าผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย มีการปรับแผนการดำเนินงาน เน้นการซื้ออาหาร เครื่องดื่มกลับบ้านมากขึ้น เปลี่ยนพนักงานเสิร์ฟให้กลายเป็นพนักงานส่งของ หรือเปลี่ยนตารางการทำงานให้เข้างานเป็นกะ สลับการเข้าออฟฟิศ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้อาจเป็นเพียงบางวิธีการที่ ผู้ประกอบการ พยายามรักษาเงินทุนและรักษาพนักงานให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าผู้ประกอบการจะประคับประคองปัญหาเหล่านี้ไปได้นานแค่ไหน ที่สำคัญเรื่องที่น่าคิดต่อจากนี้คือ หลังวิกฤติครั้งนี้ผู้ประกอบการร้านอาหารทั้งรายเล็กและรายใหญ่จะมีวิธีบริหารและจัดการกับหน้าร้านของตัวเองอย่างไร ให้สามารถนั่งรับประทานอาหารภายในร้านได้ โดยต้องคำนึงถึงมาตรการป้องกันที่เข้มงวด อย่าง Social Distancing เพื่อความปลอดภัยของลูกค้า
ต้องมองภาพรวมให้ออก วางแผนหรือมองล่วงหน้าไปยาวๆ
เมื่อเราเป็นผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร การเจอสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงแบบนี้ก็ต้องมีการจัดการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ควรทำตามต่อจากนี้คือการวางแผน และถอยออกมาจากจุดที่ยืนอยู่หนึ่งก้าว มองภาพรวมให้กว้างขึ้นกว่าเดิม ไม่ได้โฟกัสแค่เรื่องธุรกิจแล้วว่าจะเป็นอย่างไรต่อ แต่ต้องมองให้ลึกไปถึงสายพานของธุรกิจด้วยว่ามีใครได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้บ้าง
ผู้ประกอบการหลายคนอาจวางแผนสถานการณ์นี้ไว้แค่ 3 เดือน แต่ผมอยากให้มองภาพไปไกลกว่านั้นครับ อาจจะต้องวางแผนสำรองไว้มากกว่า 6 เดือน หรือประมาณ 1 – 2 ปีเลยด้วยซ้ำ ลองนึกภาพดูว่าหากวิกฤตินี้อยู่กับเราไปถึงหนึ่งปี พนักงานเสิร์ฟ พนักงานส่งของ เชฟ หรือแคชเชียร์ จะใช้ชีวิตอยู่กันได้อย่างไร?
ลับหินที่อยู่ในมือให้กลายเป็นเพชร
แน่นอนว่าความใส่ใจต่อพนักงานในช่วงสถานการณ์ยากลำบากเช่นนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก นอกจากการดูแลความปลอดภัยและสุขอนามัยของพนักงานแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญคือการรักษาพนักงานที่มีอยู่ในมือ ไม่ให้หล่นหายไป อาจดูย้อนแย้งในเมื่อไม่มีรายได้เข้า ย่อมขาดทุน ต้องตัดงบในส่วนการจ้างพนักงานทิ้ง ยอมเฉือนเนื้อตัวเองตอนนี้ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดไปก่อน ไม่ใช่เก็บพนักงานไว้ แต่ผมอยากให้นึกภาพไปไกลอย่างนี้ครับ
หากสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติแล้ว ธุรกิจร้านอาหารสามารถดำเนินการได้ ผู้ประกอบการต้องสรรหาพนักงานใหม่นะครับ เป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ นอกจากเสียเวลาคัดเลือกพนักงานที่ดีที่สุดแล้ว ยังจะต้องมาเรียนรู้งานกันใหม่ด้วย แทนที่จะเป็นการลดต้นทุนเดิม แต่ยังต้องเสียค่าเทรนนิ่ง ค่ายูนิฟอร์ม หรืออาจจะมีสวัสดิการอื่นๆ เพิ่มเติมอีก
ฉะนั้นหากผู้ประกอบการยังคงรักษาพนักงานที่มีอยู่ไว้ ร่วมกันผ่านวิกฤติอันเลวร้ายไปด้วยกัน เราจะได้พนักงานที่เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ เข้าใจในตัวขององค์กรอย่างลึกซึ้ง ทั้งยังมีความผูกพันธ์กับบริษัทมากขึ้นกว่าเดิม เพียงแต่ผู้ประกอบการจะต้องยื่นมือเข้าช่วยเหลือพนักงานอย่างเต็มที่ เข้าใจปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญอย่างแท้จริง และพร้อมยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่เป็นอยู่ตอนนี้ การจะพาธุรกิจตัวเองให้รอดก็แทบกระอักเลือดออกมาแล้ว การจะรักษาพนักงานเอาไว้จึงเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า ซึ่งด้วยโจทย์ข้อนี้เองที่ทำให้เกิดโครงการ “เถ้าแก่ใจดี เจ้าหนี้มีใจ” โครงการดีๆ จากธนาคารกสิกรไทย ที่หวังช่วยให้ธุรกิจยังสามารถรักษาการจ้างงานเอาไว้ได้ โดยไม่ต้องเลิกจ้าง หรือแม้แต่ให้หยุดงานโดยไม่รับเงินเดือน
โครงการดีๆ ที่มาด้วยใจ แบ่งปันกันเป็นแพ็คคู่
โครงการนี้ธนาคารกสิกรไทยจะลดดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำเงินที่ต้องเอามาจ่ายเป็นดอกเบี้ยไปจ่ายเป็นเงินเดือนให้พนักงาน ให้ยังมีรายได้และมีงานทำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพนักงานรายได้น้อยที่ต้องพึ่งพาเงินเดือนในการเลี้ยงปากท้องของคนทั้งครอบครัว
แนวคิดของโครงการนี้ ประกอบด้วยส่วนสำคัญสองส่วน คือ เถ้าแก่ใจดี หรือผู้ประกอบการ ที่ต้องการช่วยเหลือพนักงาน และเจ้าหนี้มีใจ หรือธนาคารกสิกรไทยซึ่งมองเห็นความสำคัญของพนักงานที่อยู่ในธุรกิจเหล่านั้นด้วย โดยวิธีช่วยเหลือที่จะทำให้เงินนี้ไปถึงมือคนที่ต้องการจริงๆ ที่ธนาคารทำได้ก็คือ สมมติว่า พนักงานมีเงินเดือน 1 หมื่นบาท ธนาคารจะลดดอกเบี้ยให้เถ้าแก่ 5 พันบาท แล้วให้เถ้าแก่เอา 5 พันนี้ไปจ่ายพนักงาน และเมื่อรวมกับอีกครึ่งที่เถ้าแก่ต้องจ่ายอยู่แล้ว ก็จะทำให้พนักงานได้รับเงินเดือนเท่าเดิม เหมือนธนาคารและผู้ประกอบการช่วยกันจ่ายเงินเดือนให้พนักงานคนละครึ่งเพื่อให้พนักงานเหล่านี้มีรายได้ต่อไปจนกว่าวิกฤตจะคลี่คลายลง
นี่ถือเป็นโครงการดีๆ ที่จะช่วยพนักงานรายได้น้อยให้ไม่ถูกเลิกจ้างหรือลดเงินเดือน โดยโครงการนี้นำร่องช่วยเหลือไปแล้ว 2 เครือโรงแรมในจังหวัดภูเก็ต และกำลังเดินหน้าขยับขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆ ด้วยงบประมาณ 500 ล้านบาท ที่หวังว่าน่าจะช่วยเหลือพนักงานรายได้น้อยทั่วประเทศได้กว่า 15,000 คนเลยทีเดียว
ทางด้านคุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย มองว่าผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้รุนแรงและต้องใช้เวลากว่าจะฟื้นตัว เพราะการค้าขายยังไม่เกิด เงินที่กู้ไปคือเงินที่นำไปหล่อเลี้ยงชีวิตคนทำงาน ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญอยู่ตรงที่เงินส่วนนี้ต้องถึงมือกลุ่มคนระดับล่างจริงๆ ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการติดตามที่พิสูจน์ได้ โปร่งใส และชัดเจน
สุดท้ายแล้วไม่ว่าอย่างไรทุกคนต่างได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันหมด อยู่ที่ว่าจะมีสติรับมือกับเรื่องราวเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน นับได้ว่าอย่างน้อยก็เป็นเรื่องราวดีๆ ที่โครงการนี้เกิดขึ้น กสิกรไทยได้ให้ความสำคัญลูกค้า และยังห่วงใยไปถึงพนักงานที่ทำงานอยู่ในธุรกิจของลูกค้าสำหรับทางออกของวิกฤตในครั้งนี้ เราทุกคนต้องช่วยกัน ถ้าคนรายได้น้อยที่เหมือนเป็นรากฐานของสังคมอยู่ได้มั่นคง สังคมก็จะตั้งอยู่ได้อย่างยั่งยืน