7 เทคนิคขยายสาขา จาก 7 ร้านดัง
เป้าหมายของร้านอาหารหลายๆ ร้าน คือการขยายสาขา เพิ่มยอดขายและผลกำไร แต่หลายๆ ร้านอาหารกังวลว่าหากขยายไป สาขาสองอาจไม่เปรี้ยงเท่าสาขาแรก เราจึงรวบรวม เทคนิคการขยายสาขา จากร้านดังที่ประสบความสำเร็จมาฝากกัน
1.ขยายใกล้ๆ กับร้านเดิม
เจ้าของร้านอาหารหลายๆ คนอาจเลือกทำเลเปิดสาขา 2 ให้ไกลจากสาขาแรก ด้วยเหตุผลที่ว่า กลัวจะแย่งลูกค้ากันเอง แต่รู้ไหมว่าการเปิดสาขาใกล้ๆ กันนั้น ก็เป็นตัวเลือกที่ดีตัวเลือกหนึ่ง เพราะการที่สาขาแรกประสบความสำเร็จในทำเลนั้น แสดงว่าที่ตั้งของร้านตรงกับความต้องการของลูกค้า เขาจึงเลือกมาใช้บริการร้านของเรา ดังนั้นการเลือกเปิดสาขาไกลจากที่เดิม เราอาจจะต้องทำการตลาดใหม่ สร้างฐานลูกค้าใหม่ กลับกันหากเราเลือกเปิดสาขาใกล้ๆ กับที่เดิม อาจจะไม่ต้องเหนื่อยหาลูกค้าใหม่ๆ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การจะเลือกขยายสาขาใกล้ๆ กับร้านเดิม ก็มีข้อจำกัดคือ เราต้องมั่นใจว่ากลุ่มลูกค้าที่มาใช้บริการร้านเราในสาขาแรก มีปริมาณมาก พอที่จะโยกย้ายไปใช้บริการสาขาใหม่ได้ โดยร้านอาหารที่ใช้เทคนิคการขยายสาขาเช่นนี้มีหลายร้าน เช่น ร้านสเต็ก Eat am are ย่านอนุสาวรีย์ (ถ้าใครเคยผ่านไปแถวนั้น ต้องเคยเห็นแน่นอน เพราะผมลองนับคร่าวๆ น่าจะมีเกิน 5 ร้าน ในทำเล อนุสาวรีย์เพียงแห่งเดียว) อีกร้านคือ เฝอ 54 ที่เจ้าของร้านกล่าวไว้ว่า
“เราเป็นคน conservative จึงกลัวว่าถ้าทำสองร้านทำเลที่ต่างกันมาก จะบริหารจัดการไม่ได้ เรายังมีความสุขในการอยู่ต้อนรับลูกค้า ดูแลจัดการร้านด้วยตัวเองอยู่ อีกอย่างเรามั่นใจว่าสาขาสองจะไม่กระทบสาขาแรก เพราะตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีวันไหนที่เราไม่เต็ม หลายๆ ครั้งที่ลูกค้ามาแล้วไม่ได้กิน จึงคิดว่าถ้าเปิดอีกที่ใกล้ๆ กันแล้วใหญ่ขึ้น ลูกค้าสาขาแรกคงสะดวกมากขึ้น ไม่ต้องนั่งรอคิวนาน ซึ่งโชคดีที่เราคิดถูก สาขานี้กลายเป็นสาขาที่ทำรายได้ให้เรามากที่สุด โดยที่ยอดสาขาแรกก็ไม่ได้ลดลง สุดท้ายมันเลยลามมาเป็นสาขา 3 และ 4 ในทำเลที่ไม่ไกลกันมาก”
2.เลือกทำเลให้เหมาะกับแบรนด์
ทุกวันนี้การสร้างแบรนด์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับร้านอาหาร เพราะจะทำให้ลูกค้าจดจำได้และนึกถึงเราเป็นอันดับแรกๆ โดยองค์ประกอบของการสร้างแบรนด์มีหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือการเลือกทำเล หากเราวางตัวเป็นร้านอาหารระดับพรีเมี่ยม คุณภาพดี ราคาค่อนข้างสูงกว่าคู่แข่ง ที่ตั้งร้านของเราก็ควรสะท้อนภาพลักษณ์เหล่านั้นออกมาเช่นกัน โดยร้านที่เลือกใช้วิธีการขยายสาขาเช่นนี้คือ House of crepe
“จริงๆ ก่อนจะเปิดที่เอ็มควอเทียร์ มีห้างอื่นๆ ที่อยู่แถบชานเมืองมาติดต่อมาบ้าง แต่ปฏิเสธไป เนื่องจากเราตั้งใจจะเข้าห้างระดับ High End อยู่แล้ว เพราะเราคิดว่า ถ้าสาขาแรกเปิดแล้วไม่ปัง มันมีผลต่อภาพลักษณ์ทั้งหมด และกระทบระยะยาว ฉะนั้นต้องคิดให้ดี”
3.ไม่ว่าสาขาไหนก็เดินทางสะดวก
หนึ่งในปัจจัยที่ลูกค้าจะเดินทางไปใช้บริการร้านอาหารคือ การเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่าย เพราะหากร้านนั้นไปยาก ไกล ต้องต่อรถหลายต่อ อร่อยแค่ไหนเราก็คงถอดใจเหมือนกันจริงไหม ฉะนั้นการจะขยายสาขาต่อไป ก็ควรคำนึงถึงปัจจัยนี้เช่นกัน โดยร้านนำปัจจัยด้านการเดินทางสพดวกมาเป็นปัจจัยในการขยายสาขาคือ penguin eat shabu
“สี่แยกสะพานควาย ถือเป็นจุดตัดของถนนสองเส้นหลักคือ อินทมะระ-ประดิพัทธ์ ที่มีบ้านพักอาศัยหนาแน่น และพหลโยธินที่มีอาคารสำนักงานอยู่เยอะ และไม่ว่าจะอยู่รัชดา พระรามหก วิภาวดี หรือมาทางรถไฟฟ้าก็สามารถมาร้านได้ในระยะเวลาครึ่งชม. เราเลยตัดสินใจเอาที่ตรงนี้ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีร้านอาหารที่ขายหัวละ 400-500 บาท อยู่ในสะพานควายเลย”
นอกจากนี้ทำเลอื่นๆ ที่ร้านนี้เลือกขยายสาขา ก็อยู่ในตำแหน่งที่เป็นจุดตัดของรถไฟฟ้าแทบทั้งหมดด้วยเช่นกัน
4.ดึงลูกค้าเดิมให้ไปสาขาใหม่
การที่ลูกค้ามาใช้บริการร้านเราแบบแน่นเอียด ต่อคิวยาวเหยียด หลายๆ ร้านคงดีใจ แต่จริงๆ แล้วการที่ลูกค้าต่อคิวยาวก็เป็นค่าเสียโอกาสของเราเช่นกัน เพราะไม่ว่าคนจะต่อแถวยาวแค่ไหน หากร้านเรามีแค่ 10 โต๊ะ ก็จะขายได้แค่ 10 โต๊ะเท่านั้น ดังนั้นการขยายสาขาเพื่อดึงลูกค้าไปใช้บริการสาขา 2 ก็ถือเป็นตัวเลือกที่ดี โดยการดึงลูกค้าไปใช้สาขาใหม่ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะลูกค้าหลายคนอาจเดินทางไปสาขา 2 ได้ไม่สะดวก ดังนั้นจึงมีวิธีง่ายๆ ที่ไม่ว่าอย่างไร ลูกค้าต้องไปใช้บริการสาขานั้นแน่นอน โดย Class cafe ก็ใช้วิธีนี้
“เทคนิคการขยายสาขาคือ ดึงลูกค้ากลุ่มเดิมให้ออกไปใช้บริการสาขาอื่น อย่างสาขาแรก ผมเห็นว่าลูกค้าในสาขาเยอะจนไปต่อไม่ได้แล้ว ผมก็สังเกตว่าลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มไหน กลุ่มหมอใช่ไหม อย่างนั้นสาขา 2 เราเปิดข้างโรงพยาบาลเลย หมอก็จะไปใช้บริการที่สาขานั้น สาขาแรกก็เบาลง พอคนในสาขาไหนเริ่มเยอะอีก ก็ทำอย่างนี้อีก ทำไปเรื่อยๆ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตและเดินไปข้างหน้าได้
5.สร้างทีมให้พร้อมก่อนค่อยขยาย
ก่อนที่ร้านอาหารจะขยายสาขา ปัจจัยที่ไม่ควรมองข้ามคือ ทีมงาน เพราะหากขยายสาขาไปแล้ว ทำเลดีก็จริง แต่ทีมงานยังไม่พร้อม รสชาติอาหารไม่คงที่ การบริการไม่ได้มาตรฐาน ก็จะกลายเป็นการฆ่าตัวตามทางอ้อม ดังนั้นก่อนจะขยายสาขาต้องสร้างทีมเพื่อให้พร้อมไปทำงานในสาขานั้นด้วย ซึ่ง Mo-Mo-Paradise คือร้านชาบูชื่อดังที่คำนึงถึงปัจจัยข้อนี้เป็นหลัก
“ไม่ใช่ว่าเราเห็นพื้นที่ไหนดี มีคนมาเสนอให้ก็ไปทันที การขยายสาขาต้องคำนึงถึงความพร้อมของทีมงานเป็นหลัก ต้องสร้างคนที่เป็นตัวแทนเราให้ได้ก่อนถึงจะขยาย เพราะถ้าพวกเขายังแข็งแรงไม่พอ ขยายสาขาไปเราเสียชื่อแน่นอน”
6.ขยายให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าลูกค้าคือคนสำคัญที่ช่วยทำให้ร้านอาหารของเราอยู่รอดได้ ดังนั้นการเปิดสาขาใหม่ ให้อยู่ที่ทำเลที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เขาไม่ต้องดั้นด้นเดินทางมาใช้บริการร้านของเรา แต่เราไปเสิร์ฟถึงที่ ก็เป็นตัวเลือกที่ดีตัวเลือกหนึ่ง โดยร้าน วัวนู้ด ก๋วยเตี๋ยวเนื้อกรอบ ก็เลือกใช้วิธีนี้
“เราวางจุดยืนตัวเองเป็นก๋วยเตี๋ยวเนื้อระดับพรีเมี่ยม ฉะนั้นร้านเราต้องอยู่ในย่านธุรกิจ มีออฟฟิศเยอะๆ มีชาวต่างชาติที่มาทำงานในเมืองไทย เพราะคิดว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีกำลังซื้อสูง”
สาขาแรกของวัวนู้ดอยู่ที่มหาทุนพลาซ่า (เพลินจิต) และ สาขาเอ็มไพร์ทาวเวอร์ (สาทร)
7.เปิดตลาดใหม่ที่คู่แข่งน้อย
หนึ่งในคุณสมบัติที่เจ้าของธุรกิจทุกคนควรมี คือสายตาที่มองเห็นโอกาสในธุรกิจอยู่เสมอ เพราะการที่เราเห็นโอกาสในธุรกิจก่อนผู้อื่น ก็จะทำให้เราได้เปรียบในการแข่งขัน มีโอกาสเป็นผู้นำในตลาดใหม่ได้ไม่ยาก
หากเจ้าของธุรกิจเริ่มเห็นว่าตลาดเดิมที่มีเริ่มอิ่มตัว มีคู่แข่งมากเหลือเกิน การเลือกออกไปเปิดตลาดใหม่ แม้จะเป็นงานท้าทาย เพราะต้องเริ่มสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่จากศูนย์ แต่ถ้าทำได้ ก็ถือว่าคุณได้ก้าวนำคู่แข่งไปไกลแล้ว โดย Sushi Shin ก็เลือกเดินวิธีนี้ ซึ่งพิสูจน์แล้ววาประสบความสำเร็จมากๆ
“ช่วงที่วางแผนขยายสาขา เรามองว่าตลาดซูชิในเมืองค่อนข้างอิ่มตัว ผมจึงคิดว่าเราน่าจะเลือกเก็บตลาดนอกเมืองแทน โดยขยายไปที่ Index living mall ที่พระราม 2 เมื่อขยายไปปรากฎว่าผลตอบรับดีเกินคาด ตอนนี้ยอดของพระราม 2 แซงหน้ายอดทองหล่อที่เป็นสาขาแรกไปแล้ว”
เทคนิคการขยายสาขานั้นมีมากมาย เจ้าของร้านอาหารคนไหนเห็นว่าวิธีใดเหมาะกับร้านของตัวเอง ก็เลือกใช้ได้เลยครับ