Sushi Shin เผยเคล็ดลับ รักษาลูกค้าเดิมให้อยู่หมัด! - Amarin Academy

Sushi Shin เผยเคล็ดลับ รักษาลูกค้าเดิมให้อยู่หมัด!

Sushi Shin เผยเคล็ดลับ รักษาลูกค้าเดิมให้อยู่หมัด!

หากย้อนกลับไปเมื่อ 3-4 ปีก่อน ตลาดอาหารญี่ปุ่นถือว่ากำลังบูมมากๆ มีร้านอาหารญี่ปุ่นเกิดใหม่ไม่เว้นแต่ละวัน Sushi Shin ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่สิ่งที่ทำให้ Sushi Shin โดดเด่นกว่าร้านอาหารเจ้าอื่นๆ คือ การวางตัวเองเป็นร้านซูชิระดับกึ่งพรีเมี่ยม ซึ่งขายในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ แถมยังมีหุ้นส่วนเป็นนักแสดงชื่อดังถึง 2 คน คือ คุณบอย ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ และคุณเจิน ณิชชาพัณณ์ ชุณหะวงศ์วสุ ทำให้ซูชิชินเป็นที่รู้จักในเวลาอันรวดเร็ว

แม้ว่าปัจจุบัน ธุรกิจอาหารญี่ปุ่นโดยภาพรวม จะไม่ได้อยู่ในช่วงขาขึ้นเหมือนเมื่อก่อน แต่ซูชิชินกลับยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีเคล็ดลับสำคัญคือ “การรักษาฐานลูกค้าเดิมเอาไว้ให้ได้” ฟังดูเหมือนจะง่าย แต่ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก วันนี้คุณหมิง-ปรัชญา ชินสมบูรณ์ หนึ่งในหุ้นส่วนของร้าน จะมาเผยเคล็ดลับการบริหารร้านให้ประสบความสำเร็จให้ทุกคนทราบกัน

Highlight

  • สมัยนี้การเปิดร้านอาหารไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่มีกำแพง จะหาเชฟก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่เมื่อมันเกิดง่าย ก็เลยเกิดเยอะ แต่ถ้าเกิดบนความคิดที่ไม่รอบ ก็จะไม่รอด
  • เมื่อคนมาที่ร้านแล้ว เราต้องเอาให้อยู่ นั่นคือ ทำให้เขากลับมากินซ้ำ ซึ่งต้องอาศัย 2 ปัจจัยหลัก คือ รสชาติอาหาร และการบริการ
  • แซลมอนที่เสิร์ฟในร้าน หลังจากลงเครื่องบินมา ต้องอยู่ไม่เกิน 2 วัน เราจะมีการวางแผนในการใช้วัตถุดิบให้เหมาะสม บริหารจัดการให้ของสดใหม่ตลอดเวลา
  • เรามีการเทรนด์พนักงานใหม่ๆ ตลอด เพื่อฝึกคนเดิมให้เติบโต เด็กที่เคยทำหน้าที่ล้างจาน ก็ฝึกให้เขาเป็นผู้ช่วยเชฟ นอกจากนี้เรายังดูแลเขาอย่างดี มีสวัสดิการที่สูงกว่ามาตรฐานร้านทั่วไป เมื่อพนักงานเห็นว่าร้านดูแลเขาจริงๆ แม้เงินเดือนจะไม่เยอะ แต่เขาฝากชีวิตกับร้านได้ ก็ทำให้อัตราการลาออกน้อย เขาก็จะอยู่กับเรายาว ลดปัญหาเรื่องคน

ชอบกินนัก ก็เปิดร้านซะเลย!

ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผมกับเพื่อนๆ ชอบนัดไปกินข้าวด้วยกัน ในกลุ่มมีคุณบอย คุณเจิน และคุณบอล (ฐิติพงศ์ เลิศศิริอมร) ไปกินข้าวด้วยกันบ่อยมาก จึงคิดว่าลองเปิดร้านด้วยกันไหม ประกอบกับเราไปกินซูชิที่ร้านหนึ่งบ่อยๆ จนมีโอกาสได้คุยกับเชฟแล้วถูกคอ คุยไปคุยมาจึงทราบว่าเชฟอยากลองทำเมนูใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ เป็นเมนูฟิวชั่นมากขึ้น อยากทำวัตถุดิบแบบร้านพรีเมียม แต่ขายราคาที่ทุกคนกินได้สบายๆ ซึ่งตรงกับความต้องการของเรา จึงคิดกับเพื่อนๆ ว่าอย่างนั้นมาเปิดร้านซูชิดีกว่า

ซูชิกึ่งพรีเมียม ราคาเข้าถึงได้

คอนเซ็ปต์หลักที่เราตั้งไว้คือ ซูชิกึ่งพรีเมียม ราคาเข้าถึงได้ เนื่องจากเชฟของเรามาจากร้านซูชิที่ค่อนข้างพรีเมียม จึงอยากนำความรู้ที่ร่ำเรียนมา มาทำให้คนทั่วไปได้กิน ถ้าคนที่กินแบบคุมราคาหน่อยประมาณ 300-400 บาทก็จบมื้อได้แล้ว สำหรับคนที่กินเต็มที่ เฉลี่ยอยู่ที่หัวละ 1000-2000 บาท เมื่อเทียบกับคุณภาพแล้วถือว่าคุ้มค่า

เชื่อมั่นในการตลาด จึงเลือกเปิดที่ทองหล่อ

ตอนแรกเราไม่อยากเปิดที่ทองหล่อ เพราะการแข่งขันสูงมาก จึงมองในโซนอารีย์แทน เพราะตอนนั้นอารีย์มีร้านซูชิประมาณ 3-4 ร้าน แต่ไปดูทำเลแล้วยังไม่ถูกใจ ปรากฎว่ามาถูกใจพื้นที่ในโครงการ Nihonmura Mall ทองหล่อเสียก่อน เพราะขนาดพื้นที่เหมาะสม ค่าเช่าไม่สูงนัก ทำเลโอเค แม้เป็นโครงการที่ Traffic ต่ำ แต่เรามั่นใจการตลาดและการประชาสัมพันธ์ในระดับหนึ่ง เพราะเราก็มีคุณบอย และคุณเจินช่วยโปรโมทด้วย เลยตัดสินใจเลือกที่นี่

แค่รู้จัก และมาลองยังไม่พอ แต่ต้อง ชื่นชอบและมาซ้ำด้วย

หลังจากที่เราโปรโมทช่วงแรกๆ ลูกค้ามาเยอะมาก จากการที่เราเก็บสถิติลูกค้าจะเห็นสัดส่วนว่า ประมาณ 70% มาจากการที่เป็นร้านคุณบอย ส่วนอีก 30% เป็นคนที่กินอาหารญี่ปุ่นจริงๆ ฉะนั้นโจทย์คือ จะรักษาฐานลูกค้าเดิม รวมทั้งดึงกลุ่มคนใหม่ๆ เข้ามาได้อย่างไร

ผมว่าสมัยนี้การเปิดร้านอาหารไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่มีกำแพง จะหาเชฟก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่เมื่อมันเกิดง่าย ก็เลยเกิดเยอะ แต่ถ้าเกิดบนความคิดที่ไม่รอบ ก็จะไม่รอด ซึ่งมีหลายๆ ร้านที่ล้มลงภายใน 1 ปีหรือ 3 ปี

สมัยนี้ 1 ปีแรกถือว่ารอดง่าย เพราะ social media ช่วยได้เยอะ ยิ่งช่วง 2-3 เดือนแรก ลูกค้าอาจจะเต็มร้าน เจ้าของร้านก็ดีใจ คิดว่า เออ ทำร้านอาหารก็ง่ายๆ แต่ถ้าจะวัดกันจริงๆ ต้องดูเดือนที่ 4 เป็นต้นไป เดือนหลังๆ นี้ลูกค้าจะหายไปดื้อๆ เลย

ขอบคุณภาพจาก IG: boy_pakorn

ร้านผมก็เหมือนกัน 3 เดือนแรกเต็มทุกวัน เพราะคนอยากมาลองกินร้านคุณบอย คุณเจิน แต่มันเป็นการกินที่ไม่เป็นธรรมชาติ ยอดขายแบบนี้เราไม่มีทางได้ทุกวันแน่ๆ เพราะหลังจากลูกค้ากินแล้ว ถ้าคุณบอยไม่เข้าร้าน เขาก็อาจไม่กลับมาอีก ฉะนั้นเป็นหน้าที่ของร้านอาหารที่ต้องยืนด้วยอาหารและการบริการ ต้องสร้างฐานลูกค้าจริงๆ ให้ได้

สิ่งที่เราต้องทำคือ ขยายฐานลูกค้าและทำให้เขากลับมาซ้ำ ถ้าทำ 2 ข้อนี้ได้ คุณก็รอด

การขยายฐานลูกค้าคือ เรายิงโฆษณาในเฟซบุ๊ก ทำ Line@ ทำรีวิว ทำโปโมชั่น ให้คนมาลองกันเยอะๆ เจ้าของร้านบางคนอาจคิดว่าช่องทางออนไลน์เป็น Free marketing แต่จริงๆ เราต้องลงเงิน บางร้านอาจลงเป็นหมื่นเป็นแสน เพราะถ้าเราสร้างฐานลูกค้าได้ มันจะได้ระยะยาว

เมื่อคนมาที่ร้านแล้ว เราต้องเอาให้อยู่ นั่นคือ ทำให้เขากลับมากินซ้ำ ซึ่งต้องอาศัย 2 ปัจจัยหลัก คือ รสชาติอาหาร และการบริการ

ปัจจัยที่ 1 ทำร้านซูชิคุณภาพดี ของต้องสด มาตรฐานต้องคงที่

ปัจจัยเรื่อง คุณภาพและมาตรฐานรสชาติอาหาร เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเราวางตัวเป็นซูชิพรีเมียม ฉะนั้นวัตถุดิบที่เป็นของสดจะมีเยอะมาก การจัดการ Stock จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ลองสังเกตดูว่าแซลมอนซาซิมิของแต่ละร้านเนื้อสัมผัสและรสชาติจะต่างกัน ทั้งๆ ที่ 99% ของแซลมอนที่ขายกัน มาจากนอร์เวย์ สาเหตุที่รสชาติต่างกัน มาจากการจัดเก็บวัตถุดิบล้วนๆ เลย บางร้านเก็บไม่ดี อุณหภูมิไม่นิ่ง หรือกะปริมาณการใช้ไม่ถูก ต้องนำไปแช่แข็ง คุณภาพจะลดลงทันที

ฉะนั้นเมื่อร้านเราเน้นของสด คุณภาพดี จึงกำหนดเลยว่า แซลมอนที่เสิร์ฟในร้าน หลังจากลงเครื่องบินมา ต้องอยู่ไม่เกิน 2 วัน เราจะมีการวางแผนในการใช้วัตถุดิบให้เหมาะสม บริหารจัดการให้ของสดใหม่ตลอดเวลา เช่น ทุกสัปดาห์เราจะประชุมว่า จะสั่งของสดเท่าไร ใช้อย่างไร

สมมติแซลมอนสาขาทองหล่อ เราจะเก็บสถิติไว้เลยว่า 1 วันใช้กี่ตัว เช่น วันธรรมดาใช้ 6 ตัว วันเสาร์-อาทิตย์ 8 ตัว นักขัตฤกษ์ ใช้ประมาณ 10 ตัว ก็จะสั่งให้ Supplier มาส่งแบบวันต่อวัน

นอกจากนี้เราจะแยกส่วนการใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละเมนู ถ้าทำแซลมอนซาซิมิ ส่วนที่ดีที่สุดคือส่วนหลัง ถ้าทำซูชิ ส่วนที่ดีที่สุดคือ ใกล้ท้อง ส่วนหางที่มีไขมันน้อย กินสด เนื้อจะไม่เด้ง จะต้องนำมาทำเมนูอื่น เพื่อให้วัตถุดิบใช้ได้คุ้มค่าที่สุด เช่น ทำยำแซลมอน นำไปทอด หรือส่วนหัว นำมาแยกขาย ส่วนครีบ ก็ใช้เช่นกัน บางครั้งเป็นเมนู Complimentary แถมให้ลูกค้าบางรายที่เราอาจจะบริการขาดตกบกพร่อง เช่น อาหารช้า อาหารสลับ เครื่องรูดบัตรเสีย เอาไว้ขอโทษเขาในวันที่เราบริการได้ไม่สมบูรณ์ โดยเมนู Complimentary นี้ ไม่ได้มีแค่ครีบปลาแซลมอน แต่มีเมนูอื่นๆ ด้วย เช่น กระดูกมากุโระ เป็นต้น

นอกจากของสดแล้ว เรายังนำเข้าวัตถุดิบ Frozen ด้วย ซึ่งเป็นพวกหอย หรือกุ้งชนิดต่างๆ ที่เมื่อนำไป De-Frozen แล้วคุณภาพแทบไม่ต่างจากของสดเท่าไร การนำเข้าของพวกนี้จะช่วยให้เราบริหารจัดการวัตถุดิบได้ง่ายขึ้น

ปัจจัยที่ 2 การบริการ “ให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอันดับแรก”

ร้านเราให้ความสำคัญกับการบริการมาก ช่วงที่เปิดแรกๆ มีพนักงานแค่ 2 คน ฉะนั้นหุ้นส่วนทั้ง 4 คนจะลงไปดูแลเองทั้งหมด มาเสิร์ฟเองทุกวัน เราจึงสนิทกับพนักงานค่อนข้างมาก เขาก็ซึมซับการบริการของเราไป แต่หลังจากร้านอยู่ตัว เราจึงออกมาดูห่างๆ เพราะเราคิดว่า การทำร้านอาหารถ้าเจ้าของร้านต้องเข้ามาดูเองทุกวัน แปลว่าคุณยังวางระบบได้ไม่ดี

ฉะนั้นเราจึงวางระบบให้ผู้จัดการร้านเป็นคนคุมงานที่เกี่ยวกับพนักงานเสิร์ฟ การบริหารจัดการต่างๆ ส่วนหัวหน้าเชฟ เป็นคนคุมคุณภาพอาหาร การเทรนด์พนักงาน เราต้องตั้งกฎของพนักงานให้ชัดเจน เรื่องการขาด ลา มาสาย กติกาการอยู่ร่วมกัน จากนั้นเราก็แวะเวียนมาดูสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้งพอ เพื่อประชุมและรับฟังปัญหา

แม้ว่าเราจะไม่ได้เข้าร้านทุกวัน แต่จะดูแลการทำงานอย่างใกล้ชิด โดยใช้การตั้งกรุ๊ปไลน์เป็นทีมบริหาร ในกรุ๊ปจะมี หุ้นส่วนทั้งหมด ผู้จัดการร้าน หัวหน้าเชฟ โดยทุกวันเขาจะต้องส่งรายงานใน 3 หัวข้อ คือ

  • ยอดขาย ว่าวันนี้ยอดขายเป็นอย่างไร เป็นไปตามเป้าไหม
  • พนักงาน มีคนไหนอกหัก แม่ป่วย หรือปัญหาอะไรไหม เพื่อทำให้เขาเห็นว่าแม้ตัวเราไม่อยู่ร้าน ก็ยังใกล้ชิดกับเขาได้
  • อาหารและการบริการ อาหารตกสเป็กหรือเปล่า มีเรื่องร้องเรียนไหม

ทั้ง 3 เรื่องนี้ต้องรายงานทุกวัน หรือถ้าผมเจอเรื่องร้องเรียนในเฟซบุ๊ก ก็จะเข้ามาสอบถามว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้น เราจะตรวจสอบการทำงานอยู่ตลอด

ผ่านมาปีครึ่ง ต้องวางจุดยืนตัวเองใหม่

ช่วงแรกเราวางตัวเองเป็นซูชิพรีเมียม แต่หลังจากเปิดไปประมาณปีครึ่ง ตลาดซูชิเริ่มทำโปรโมชั่นเยอะมาก เราเองก็ต้องปรับตัวให้ทัน เพราะถ้าเรามุ่งแต่ตลาดพรีเมียม คนจะมองว่าร้านเราแพง ไปกินร้านอื่นดีกว่า ลดตั้ง 50-60%

เราจึงวางจุดยืนตัวเองใหม่ เป็นซูชิคุณภาพดี โดยใช้สโลแกนว่า สดใหม่ คุ้มค่า เพราะเราให้มากกว่าราคา มีการทำโปรโมชั่นมากขึ้น ยอดขายก็สูงขึ้น แต่แน่นอนผลที่ตามมาคือต้นทุนวัตถุดิบหรือ Food cost ก็สูงขึ้นตาม จริงๆ ร้านซูชิ Food cost ก็สูงกว่าร้านประเภทอื่นๆ อยู่แล้ว ประมาณ 40% ของราคาขาย แต่พอเริ่มทำโปรโมชั่น ก็พุ่งสูงเป็น 45-50% ถือว่าสูงมาก แต่ด้วยจำนวนลูกค้าที่เข้าร้านมากขึ้นอย่างมีนัยยะ และเมื่อดูรายได้โดยรวมก็ยังถือว่าเป็นไปด้วยดี

ขยายสาขาออกชานเมือง

ช่วงที่วางแผนขยายสาขา เรามองว่าตลาดซูชิในเมืองค่อนข้างอิ่มตัว มีร้านซูชิใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก เนื่องจากการนำเข้าวัตถุดิบง่ายขึ้นเรื่อยๆ เชฟซูชิก็มีมากขึ้น ฉะนั้นจึงเป็นธุรกิจที่ถือว่าไม่ยากแล้ว ประกอบกับเมื่อก่อนคนที่อยากกินอาหารญี่ปุ่นดีๆ ต้องมาที่ทองหล่อ แต่สมัยนี้ไม่จำเป็น เพราะสามารถหาร้านอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น จึงกลายเป็นว่าร้านในทองหล่อมีเท่าเดิม แต่คนเริ่มวิ่งเข้าน้อยลง ผมจึงคิดว่าเราน่าจะเลือกเก็บตลาดนอกเมืองแทน

ตอนนั้นทราบจากคุณโจ (เอกลักษณ์ ปัทมสัตยาสนธิ ทายาทรุ่นที่ 3 ของ Index living mall) ว่ากำลังจะเปิด Index ที่พระราม 2 จึงขอเช่าพื้นที่กับเขาเลย เพราะตรงกับที่เรากำลังมองหา เนื่องจากร้านซูชิ เป็นร้านที่คนตั้งใจมากิน ไม่ใช่เดินผ่านแล้วกิน ฉะนั้นต้องหาที่จอดรถง่าย เข้าถึงง่าย ที่นี่จึงตอบโจทย์มากๆ เพราะที่จอดรถเยอะ ขึ้นบรรไดเลื่อนถึงร้านเลย ฝนตกก็ไม่มีปัญหา

เมื่อขยายไปที่พระราม 2 ปรากฎว่าผลตอบรับดีเกินคาด ตอนนี้ยอดของพระราม 2 แซงหน้ายอดทองหล่อที่เป็นสาขาแรกไปแล้ว แม้ว่ายอดขายเฉลี่ยต่อหัวจะน้อยกว่าที่ทองหล่อ อยู่ที่ประมาณคนละ 600 บาท ขณะที่ทองหล่อประมาณ 800 บาท แต่ด้วยจำนวนคนเข้าร้านเยอะกว่า ทำให้ยอดดีกว่า

อาจเป็นเพราะว่าแถวนั้นร้านอาหารญี่ปุ่นน้อย และเป็นย่านพักอาศัย มีบ้านคน มีหมู่บ้าน ซึ่งกลุ่มลูกค้าสองสาขาจะต่างกัน ที่ทองหล่อส่วนใหญ่เป็นพนักงานออฟฟิศ กลุ่มเพื่อนมากินแบบ Special dining มาฉลองในโอกาสพิเศษ ส่วนที่พระราม 2 เป็นกลุ่มครอบครัว นักธุรกิจที่มีบ้านอยู่แถวนั้น จึงเป็นการกินแบบ Everyday dining ฉะนั้นอัตราการมากินซ้ำจึงมากกว่าที่ทองหล่อ โดยประมาณ 50% ของลูกค้าพระราม 2 มาร้านเราเฉลี่ยเดือนละ 2 ครั้ง

สร้าง Career path ให้พนักงาน เพื่อให้เขาเติบโต

เราจะมีการเทรนนิ่งพนักงานใหม่ๆ ตลอด เพื่อฝึกคนเดิมให้เติบโต เด็กที่เคยทำหน้าที่ล้างจาน เราก็ฝึกให้เขาเป็นผู้ช่วยเชฟ คนที่เคยเป็นเชฟมือสอง เมื่อเราขยายสาขาก็ให้เขาเป็นมือหนึ่ง เราจะดันคนเดิมที่มีอยู่ให้เติบโต และรับใหม่เฉพาะเด็กล้างจานหรือพนักงานเสิร์ฟที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน นอกจากนี้เรายังดูแลเขาอย่างดี มีสวัสดิการที่สูงกว่ามาตรฐานร้านทั่วไป แม่ของพนักงานป่วย ผมก็ช่วยดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตัวเขาป่วยผมก็พาไปหาหมอเอง เมื่อพนักงานเห็นว่าร้านดูแลเขาจริงๆ แม้เงินเดือนจะไม่เยอะ แต่เขาไม่ต้องกังวลอะไรกับชีวิตเลย เขาฝากชีวิตกับร้านได้ ก็ทำให้อัตราการลาออกน้อย เฉลี่ยแล้วลาออกปีละ 2-3 คน ถือว่าน้อยมากๆ

เมื่อเป็นเจ้าของร้านอาหาร สิ่งที่หายไปจากชีวิตคือเวลา

ทำร้านอาหารนอกจากลงเงินและลงแรงแล้ว เราต้องลงเวลากับมันค่อนข้างเยอะ ตอนนี้นอกจาก Sushi shin ผมยังทำร้านอาหารอื่นๆ อีก คือ Kobe steakhouse ขายสเต็กที่จับตลาด Mass เปิดในห้างสรรพสินค้า GoMango ร้านขนมที่ทำมาจากมะม่วง Kimchi hour ร้านไก่ทอดเกาหลี และนอกจากทำร้านอาหาร ผมยังเป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่ด้วย จึงจัดการเวลายากขึ้น

ช่วงที่เปิดร้านแรกๆ คนที่บ่นมากที่สุดคือภรรยา คนที่เราได้กินข้าวด้วยน้อยลงคือพ่อแม่ เพราะเราต้องเข้าร้านทุกวัน หลังจากที่ร้านลงตัวแล้ว จึงต้องจัดสรรเวลาให้ดี สัปดาห์หนึ่งจะเข้าร้านสัก 1 ครั้งเพื่อประชุมและสรุปงาน คิดซะว่าหลังเลิกงานแทนที่จะไปเที่ยว ก็แวะไปที่สาขา วันนี้ไปทองหล่อ อีกวันไปพระราม 2 อีกวันไปลาดพร้าว สลับๆ กันไป

แต่การที่เราจะปล่อยให้ร้านดำเนินไปเองได้ ผู้จัดการต้องดี คอยเคี่ยวเข็ญพนักงาน แก้ไขเรื่องต่างๆ รายงานปัญหาให้เราทราบ ถ้าผู้จัดการร้านดี เจ้าของก็สบายขึ้นเยอะ และควรใช้เทคโนโลยีมาช่วยด้วย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ป้องกันการโกงได้ เราใช้ระบบ POS เราจะรู้เลยว่ามีออร์เดอร์เท่าไร ใช้เท่าไร ยอดตรงกันไหม

เป้าหมายเล็กๆ แค่อยากให้คนได้กินของอร่อย

แพลนของซูชิชินคือ จะเปิดอีก 1 สาขา แล้วก็พอแล้ว เราไม่ได้วางแผนว่าจะขยาย 10-20 สาขา หรือเข้าตลาดหุ้น เพราะเราตั้งเป้าไว้แต่แรกว่าอยากมีร้านอาหารที่เราชอบกิน ไม่อยากทำให้ใหญ่โตเกินตัว ฉะนั้นการวางระบบแรกๆ จึงไม่เหมาะกับการขยายสาขาเยอะๆ ทุกวันนี้เราไม่มีพนักงานหลังบ้านที่ดูแลบัญชีเลย ทำกันเองทั้งหมด เพราะเราตั้งใจว่าอยากเปิดร้านอาหารอร่อยๆ ให้คนได้กินเท่านั้น

พอจะทราบเคล็ดลับในการมัดใจลูกค้าให้อยู่หมัดกันแล้วใช่ไหม อย่าลืมนำไปทำตามกันนะครับ


ข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/sushishinthailand
โทร: 091 021 8985

เรื่องแนะนำ

ข้อดีของการเปิดร้านอาหารในศูนย์การค้า

รวม ข้อดีของการเปิดร้านอาหารในศูนย์การค้า ที่คุณคาดไม่ถึง!

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่เริ่มหันมาเปิดธุรกิจอาหารมากมาย ซึ่งภาพรวมตลาดอาหารในประเทศไทยยังคงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจและมีแนวโน้มที่ยังไปต่อได้ในอนาคต และการเปิดร้านในศูนย์การค้า ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทาง ที่ผู้ประกอบการหน้าใหม่เริ่มให้ความสนใจกันมาก เพราะเป็นสถานที่ ที่มีผู้มาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อพบปะ สังสรรค์ ผักผ่อน และรับประทานอาหาร ศูนย์การค้าจึงเป็นอีกหนึ่งแหล่งรวมร้านอร่อย ร้านดังไว้มากมาย ข้อดีของการเปิดร้านอาหารในศูนย์การค้า มีอะไรบ้าง? ทำไมถึงดึงดูดเจ้าของร้านอาหารได้ มาดูกัน   ข้อดีของการเปิดร้านอาหารในศูนย์การค้า Branding แน่นอนว่า เมื่อร้านของคุณได้เข้ามาเปิดขายภายในศูนย์การค้า ก็เหมือนเป็นการสร้าง Branding ให้กับร้าน เกิดภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ของคุณ และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภคได้ด้วย รวมถึง ผู้ใช้บริการมีโอกาสเห็นร้านของคุณได้มากกว่า ด้วยปริมาณผู้มาใช้บริการในศูนย์การค้าที่มีจำนวนมาก และมีมาใช้บริการในทุกๆวัน จึงอาจจะทำให้มีโอกาสที่ลูกค้าจะได้รู้จักร้านของคุณมากขึ้น   Traffic ศูนย์การค้าจะมีการเก็บข้อมูลในแง่ของ Traffic ในทุกๆโซน ดังนั้น ร้านค้าที่จะมาเปิดร้านก็จะสามารถวิเคราะห์ได้ว่าจะจับกลุ่มลูกค้าในโซนนี้ได้อย่างไร จำนวนลูกค้ากี่เปอร์เซ็นต์ที่มีโอกาสจะเข้ามาในร้านได้ เช่น เปิดร้านอาหาร ศูนย์การค้าก็จะมีข้อมูลซัพพอร์ท กับทางร้านว่า บริเวณโซนหน้าโรงภาพยนตร์มี Traffic ประมาณเท่าไหร่ ร้านก็จะสามารถนำไปวิเคราะห์ต่อว่า จะจับกลุ่มลูกค้าให้ได้กี่เปอร์เซ็นต์ของลูกค้าทั้งหมด ก็จะสามารถนำไปต่อยอดการประเมินยอดขายที่ควรได้ต่อวันอีกด้วย   Facility สิ่งอำนวยความสะดวกที่ว่านี้ ก็คือในแง่ของลูกค้าที่จะมาใช้บริการร้านของคุณ ซึ่งการที่ร้านอาหารของคูณอยู่ภายในศูนย์การค้านั้น ลูกค้าก็จะได้รับความสะดวกสบายไปด้วย เช่น […]

ก๋วยเตี๋ยวไข่กรุงศรี

ก๋วยเตี๋ยวไข่กรุงศรี ร้านอาหารยุคใหม่ ต้องไม่นั่งรอลูกค้า!

ร้าน ก๋วยเตี๋ยวไข่กรุงศรี สร้างความต่างด้วยการเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวไข่ต้มยำร้านแรกๆ ในอยุธยา และเปิดเกมรุกด้วยการไม่นั่งรอลูกค้าที่ร้าน แต่บุกไปหาลูกค้าถึงที่!

ดราม่าคนทำร้านกาแฟ “เอสเย็น” มีจริงไหม ? เมนูที่ลูกค้าสั่ง แต่บางร้านไม่เข้าใจ

ดราม่าคนทำร้านกาแฟ “เอสเย็น” มีจริงไหม ? เมนูที่ลูกค้าสั่ง แต่บางร้านไม่เข้าใจ แชร์มุมมองประเด็น “เอสเย็น” โดยคุณนิว นฤพล วงษ์สุข เจ้าของร้าน Nap’s coffee x rama 2 “เอสเย็น” “เอสเพรสโซ่เย็น” มีจริงไหม ? เป็น Topic ที่ถูกพูดถึงกันบ่อยมากในกลุ่มคนทำร้านกาแฟ จนบางทีก็เกิดเป็นดราม่าระหว่างคนทำร้านกาแฟกับลูกค้า และคนทำร้านกาแฟด้วยกันเอง ด้วยเหตุผลที่ว่าเมนูเอสเย็นนี้ไม่ใช่เมนูที่อยู่ในสูตรสากล ผู้ขายกาแฟบางคนก็มีความคาดหวังความเข้าใจของชื่อและสูตรกับลูกค้า ในขณะที่ลูกค้าก็คาดหวังรสชาติที่ถูกใจ ทำให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน นำไปสู่ดราม่าบ่อย ๆ ดังนั้นวันนี้เราลองมาหาคำตอบกันว่าเอสเย็นมีจริงไหม ? ในมุมมองของพี่นิว นฤพล วงษ์สุข เจ้าของร้าน Nap’s coffee x rama 2 กัน! เคยมีคนสั่งเอสเย็นไหม ? . เอสเพรสโซ่ คือ เมนูที่มีแค่กาแฟอย่างเดียวเลย มันคือสารตั้งต้นของทุกเมนู ซึ่งที่ร้านก็มีคนสั่งเมนูเอสเย็นบ่อยเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้เยอะมาก . “เอสเย็น” […]

Penguin Eat Shabu

กว่าจะเป็น Penguin Eat Shabu

ผมในฐานะเจ้าของร้าน Penguin Eat Shabu ขอแชร์ประสบการณ์การเปิดร้าน ว่ากว่าที่จะเกิดเป็นร้านนี้ได้ ผมได้มีการเตรียมตัวหรือวางแผนใดบ้าง

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

ติดต่อแจ้งปัญหาหรือร้องเรียน
02-422-9999 ต่อ 4180
(จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น)
bdcx@amarin.co.th

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.