5 สิ่งที่ควรรู้ก่อน ตั้งราคาอาหาร
หลายคนที่เปิดร้านอาหาร ทำอาหารอร่อย ตกแต่งร้านเสียดิบดี แต่มาตกม้าตายตรงที่ไม่รู้จะตั้งราคาอาหารของตัวเองเท่าไหร่ ตั้งสูงไปก็กลัวขายไม่ได้ ตั้งต่ำไปก็กลัวจะขาดทุน วันนี้จึงขอนำข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งราคาอาหารมาฝาก เพื่อใช้เป็นปัจจัยในการ ตั้งราคาอาหาร ให้เหมาะสม
1.ต้นทุนวัตถุดิบ (Food costs)
สิ่งแรกที่คุณควรรู้ก่อนตั้งราคาอาหารคือ ต้นทุนวัตถุดิบ (food costs) คุณจะ ตั้งราคาอาหาร ไม่ได้เลย ถ้ายังไม่รู้ต้นทุนอาหารในแต่ละจาน โดยสิ่งที่จำเป็นต้องรู้คือ สัดส่วนและราคาของวัตถุดิบทุกตัว ที่ประกอบอยู่ในแต่ละเมนู เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการตั้งราคา
สาเหตุที่สเต็กเนื้อแพงกว่าสลัด ส่วนหนึ่งก็เพราะต้นทุนวัตถุดิบที่สูงกว่า นอกจากนี้วัตถุดิบที่คุณภาพดีกว่าหรือออร์แกนิค ย่อมมีโอกาสตั้งราคาได้สูงกว่าวัตถุดิบทั่วไปเช่นกัน
2.ต้นทุนอื่นๆ (Other costs)
นอกจากต้นทุนอาหารที่เราต้องทราบแล้ว ต้นทุน ด้านอื่นๆ ก็จำเป็นสำหรับการตั้งราคาเช่นกัน เพราะรายได้จากการขายในแต่ละเมนู นอกจากจะนำไปจ่ายค่าวัตถุดิบแล้ว คุณยังต้องจ่าย ค่าเช่า ค่าแรงงาน รวมถึงค่าการตลาดด้วย การที่ร้านคุณตั้งอยู่ในเมืองหรือในห้าง รวมไปถึงการที่อาหารของคุณจำเป็นต้องใช้เชฟที่มีฝีมือ มีประสบการณ์ ย่อมทำให้ราคาอาหารของคุณสูงขึ้นด้วยเช่นกัน การมองค่าใช้จ่ายในภาพรวมก่อนตั้งราคา จะทำให้รายได้จากการขายครอบคลุมค่าใช้จ่ายเหล่านี้ และทำให้เหลือกำไรอย่างที่คุณตั้งใจไว้
3.การเปลี่ยนแปลงของตลาด (Market changes)
ราคาวัตถุดิบเป็นสิ่งที่ควบคุมยากมาก ราคาวัตถุดิบที่คุณซื้อในวันนี้ ย่อมไม่เท่ากับราคาในอีก 1 ปีข้างหน้า ตรงกันข้ามกับราคาอาหาร ที่กว่าจะปรับราคาขึ้นได้ที เจ้าของร้านแทบจะหืดขึ้นคอ เพราะเมื่อไหร่ที่คุณตัดสินใจขึ้นราคา นั่นหมายถึงโอกาสที่ลูกค้าของคุณจะเปลี่ยนใจไปร้านคู่แข่งด้วยเช่นกัน
ฉะนั้นก่อนจะตั้งราคาอาหาร คุณควรคำนึงถึงปัจจัยข้อนี้ให้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุดิบชนิดที่แปรผันตามสภาพภูมิอากาศและการแข่งขัน ยกตัวอย่างเช่น อาหารทะเลที่อาจขาดตลาดและราคาถีบตัวสูงขึ้นในช่วงที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมไปถึงความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อกำไรของเมนูนั้นๆ
ดังนั้นหากวัตถุดิบมีราคาผันผวนตลอดเวลา ก็ควรจะตั้งราคาเผื่อไว้ให้สูงหน่อย เพราะหากคุณเผื่อราคาไว้น้อยจนเกินไป บางเดือนที่ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น คุณอาจจะยิ่งขายยิ่งขาดทุนก็ได้ ขณะเดียวกันหากคุณตั้งราคาในเกณฑ์ที่สูง ถ้าช่วงไหนวัตถุดิบปรับตัวลดลง ก็อาจจะทำโปรโมชั่นกับเมนูนั้นๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายภายในร้านได้
4.ฐานลูกค้า (Customers)
การรู้จักลูกค้าเป็นเรื่องจำเป็นมาก เช่น ถ้าร้านของคุณเป็นร้าน fast food กลุ่มลูกค้าของคุณอาจเป็นวัยรุ่น ที่มีกำลังซื้อไม่มากนัก ราคาอาหารของคุณก็ต้องอยู่ในระดับกลางๆ เพื่อให้กลุ่มลูกค้าเข้าถึงได้ง่าย แต่หากร้านของคุณเป็นภัตตาคาร ซึ่งกลุ่มลูกค้าเป็นคนมีอายุ มีกำลังซื้อมากกว่า คุณก็สามารถตั้งราคาสูงได้
แต่ไม่ว่าร้านอาหารคุณจะจับลูกค้ากลุ่มไหนก็ตาม ลูกค้าย่อมอยากได้รับความคุ้มค่าในทุกๆ บาทที่เขาจ่ายไป ฉะนั้นอย่าลืมคำนึงถึงกลุ่มลูกค้าก่อนที่จะตั้งราคาอาหาร
5.การแข่งขัน (Competitors)
ปฏิเสธไม่ได้ว่าร้านอาหารย่อมมีคู่แข่งมากมาย ซึ่งมีทั้งคู่แข่งที่อยู่ในทำเลเดียวกัน และคู่แข่งที่เป็นร้านอาหารประเภทเดียวกัน เช่น ร้านสเต็กที่มีหลายๆ เจ้า ร้านชาบูนี่มีเป็นร้อยๆ ร้าน เป็นต้น โดยเราสามารถใช้กลยุทธ์การตั้งราคาได้หลายวิธี เช่น Offer better price คือสู้ด้วยราคาที่ถูกกว่า แต่คุณภาพใกล้เคียงกัน หากเลือกวิธีนี้ ต้องไม่ลืมว่าคุณก็จะได้สัดส่วนกำไรน้อยลง หรืออีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ ใช้วัตถุดิบที่ดีกว่า คุณก็สามารถตั้งราคาได้สูงกว่าคู่แข่ง หรือการเสนอบริการที่ดีกว่า มีของสมมนาคุณ มีบัตรของขวัญ หรือการทำบัตรสมาชิก เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่คุณใช้ดึงดูดลูกค้าได้ ซึ่งดีกว่ากว่าลดราคาอาหาร
ราคาอาหาร เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจก้าวเข้าร้านอาหารของคุณ และเป็นรายได้หลักที่ทำให้ร้านอาหารอยู่รอด ฉะนั้นก่อนตั้งราคาอาหาร ควรวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ให้ละเอียด รอบคอบ เพื่อจะได้ไม่เจ็บตัวใจภายหลัง