วิเคราะห์ตัวเลข
ตัวเลขรายได้รวม
ความสำเร็จของร้านอาหารไม่สามารถวัดได้ด้วยยอดขายปัจจุบันเสมอไป ร้านอาหารจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์ตัวเลขรายได้จริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยนำรายได้ปีที่ผ่านมา และปีปัจจุบัน มาเปรียบเทียบ เพื่อให้สามารถคาดการณ์ถึงรายได้ในอนาคต การขยายสาขาใหม่แสดงถึงการสามารถทำรายได้ที่มากขึ้นก็จริง แต่รายได้นั้นมีอัตราการเติบโตที่เหมาะสมในการลงทุนหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น
ตัวเลขยอดขายต่อบิล
ร้านมีกลยุทธ์การขายที่สามารถเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อบิลได้ สามารถเจาะกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายไม่ว่าจะด้วยเมนู หรือการจัดการส่งเสริมการขาย แสดงถึงความสำเร็จ และแนวโน้มของการสร้างรายได้ในอนาคต
ตัวเลขอัตราส่วนกำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin)
การที่จะวัดว่าร้านอาหารประสบความสำเร็จ หรือมีแบรนด์ที่แข็งแกร่งหรือไม่ ร้านจะต้องมีอัตราส่วนกำไรขั้นต้นต่อหน่วยที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งแสดงถึงความสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ดี ตัวเลขที่บอกอัตราส่วนกำไรขั้นต้น ต้องนำไปเปรียบเทียบกับกิจการคู่แข่ง หรือตัวเลขเฉลี่ยจากร้านอาหารในตลาดเดียวกัน
ระบบร้านอาหารที่ดี
ระบบร้านอาหารที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการบริการ การจัดการด้านครัวและวัตถุดิบ พนักงาน โดยมีตัวชี้วัดที่มีประสิทธิภาพเกิดข้อผิดพลาดด้านการจัดการน้อย แสดงถึงความสามารถในการควบคุมการจัดการร้านอาหารได้เป็นอย่างดี มีส่วนสำคัญอย่างมากกับการทำร้านอาหาร โดยเฉพาะในสภาพการแข่งขันปัจจุบัน หากร้านอาหารของคุณขายดีมาก ๆ แต่ไม่มีระบบจัดการร้านอาหารที่ดี ต้องแก้ปัญหารายวัน ย่อมส่งผลต่อตัวเลขรายได้
Brand Royalty ของลูกค้า
เนื่องจากลูกค้าร้านอาหารมีตัวเลือกเยอะ และหลากหลาย ทำให้เป็นธุรกิจที่ลูกค้ามี Brand Royalty ที่ไม่มากนัก นอกจากจะเป็นแบรนด์ร้านอาหารใหญ่ ๆ ที่มีงบการตลาดในการสร้างแบรนด์ที่สูง แต่อย่างไรก็ตามรสชาติอาหาร การบริการ บรรยากาศที่ดี เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะทำให้ลูกค้าจดจำ ซื้อซ้ำ บอกต่อ การทำร้านอาหารให้เป็นแบรนด์ที่ลูกค้ารักจึงเป็นสิ่งจำเป็น และถือเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จที่คุณจะต้องให้ความสำคัญหากต้องการทำธุรกิจร้านอาหารให้เติบโตในระยะยาว
มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน มีลูกค้าอยู่ในมือ
กลุ่มเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ในการทำธุรกิจร้านอาหารที่จะต้องรู้ว่ากำลังจะขายสินค้าอะไร ให้กับใคร การที่ร้านอาหารมีกลุ่มเป้าหมายชัดและสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่กำหนดไว้ได้ แสดงถึงความสำเร็จในการทำการตลาด และการจัดสรรงบประมาณทางการตลาดที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดีด้วย ยังทำให้เกิดความพร้อมในการขยายเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ได้
อำนาจต่อรองกับ Supplier และลูกค้า
ถ้าคุณเป็นเจ้าของร้านอาหารขนาดเล็ก ๆ ก็อาจจะมีความสามารถในการต่อรองกับ Supplier ได้ไม่เท่ากับร้านอาหารขนาดใหญ่ ซึ่งความสามารถในการต่อรองไม่ว่าจะเป็นการเครดิต การจัดส่ง หรือการสำรองวัตถุดิบ ความสามารถในการต่อรองกับ Supplier เป็นการวัดความสำเร็จได้อีกทางหนึ่ง นั่นแสดงถึงการที่ร้านมีชื่อเสียง และมียอดขายจำนวนมาก รวมถึงการเป็นร้านที่มีชื่อเสียงก็สามารถมีอำนาจต่อรองกับลูกค้าได้มากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ร้านอาหารที่ต้องรอคิวนาน ๆ สั่งยาก เดินทางไกล แต่ลูกค้าก็ยังอดทนรอ หรือดั้นด้นไปกิน
ความพร้อมในการแข่งขัน
ปัจจุบันลูกค้านั้นมีตัวเลือกมาก มีอำนาจในการเลือกร้านอาหารสูง ความสำเร็จของร้านค้าที่เกิดจากการนำเสนอจุดขายที่แตกต่าง ลอกเลียนแบบยาก หาสิ่งที่ทดแทนได้ยาก รวมถึงการมีความพร้อมในการตั้งรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำธุรกิจที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจากเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อกำลังซื้อของลูกค้า นโยบาย สังคมการเมือง เทรนด์ของอาหาร หรือคู่แข่งขันที่เข้ามาเป็นตัวเลือกให้กับลูกค้ามากขึ้น