9 Checklist ธุรกิจ ควรทำ ถ้าไม่อยากเจ๊ง!
ทำธุรกิจต้องหมั่นตรวจสอบระบบการทำงานอยู่เสมอ เพื่อเช็คว่าธุรกิจของคุณมีปัญหาอะไรต้องเร่งแก้ไข หรือควรพัฒนาส่วนใดเป็นพิเศษ เพื่อให้ธุรกิจของเราโตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด อย่างนั้นมาดูกันดีกว่าว่า Checklist ธุรกิจ ที่เจ้าของธุรกิจควรทำมีอะไรบ้าง
- Check งานให้เป็นระบบ
ระบบ คือหัวใจสำคัญที่ทำให้งานทุกส่วนราบรื่น ดังนั้นเจ้าของธุรกิจต้องวางระบบการทำงานให้เหมาะสม กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบให้พนักงานแต่ละตำแหน่งให้ชัดเจน เพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น ร้านอาหารขนาดใหญ่ ควรสร้างระบบการดูแลลูกค้าให้พนักงาน โดยรับผิดชอบเป็นโซน อาจแบ่งเป็น A B C เพื่อให้พนักงานดูแลลูกค้าได้ทั่วถึง หรือสร้างระบบงานครัว เมื่อรับออร์เดอร์แล้ว ตำแหน่งใดจะเป็นคนส่งต่อออร์เดอร์นั้นให้เชฟ ใครจะคอยเช็คว่าอาหารทุกจานถูกต้องและตรงตามที่ลูกค้าสั่ง หรือมีเมนูใดตกหล่นหรือเปล่า เป็นต้น
- Check ทีมให้พร้อม
ไม่มีใครสามารถทำธุรกิจด้วยตัวคนเดียวได้ ดังนั้นทีมงานคือส่วนสำคัญ เจ้าของธุรกิจจะต้องประเมินความรู้ ความสามารถและทักษะของพนักงานอย่างสม่ำเสมอ พร้อมหาวิธีผลักดันให้พวกเขาพัฒนาตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการจัดเทรนด์นิ่ง ฝึกทักษะการทำงาน หรืออย่างร้าน Factory Coffee ที่ใช้การแข่งขันบาริสต้า เป็นเครื่องผลักดันบาริสต้าภายในร้านให้เก่งขึ้น
ยิ่งทีมงานของคุณเก่งขึ้นเท่าไร ธุรกิจของคุณก็เติบโตได้มากขึ้นเท่านั้น
- Check คุณภาพสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐาน
ไม่ว่าคุณจะทำการตลาดเก่งขนาดไหน ถ้าสินค้าหรือบริการคุณไม่ดีพอ หรือทำให้ลูกค้าประทับใจไม่ได้ โอกาสที่คุณจะประสบความสำเร็จก็น้อยตามไปด้วย ฉะนั้นก่อนจะพัฒนางานด้านอื่นๆ หรือวางแผนการเติบโต เจ้าของธุรกิจต้องทำให้สินค้าหรือบริการมีมาตรฐานคงที่ให้ได้เสียก่อน รวมทั้งพัฒนาให้ดีขึ้นอยู่เสมอด้วย
- Check บัญชีให้ถูกต้อง
เรื่องเงินๆ ทองๆ กับธุรกิจเป็นของคู่กัน เจ้าของธุรกิจบางคนอาจรู้สึกปวดหัวกับเรื่องบัญชี รายรับ – รายจ่าย หรือไม่มีความรู้เรื่องบัญชีเลย จึงตัดสินใจให้ลูกน้องจัดการทั้งหมด แล้วตัวคุณเองดูแค่ตัวเลขบรรทัดสุดท้ายว่าได้กำไรหรือขาดทุน กำไรก็แล้วไป ขาดทุนค่อยมาว่ากัน แต่!!! การทำอย่างนั้นคือหายนะขั้นสุด เพราะเรื่องเงินคืองานที่คุณจะไว้ใจใครไม่ได้เลย บางครั้งลูกน้องอาจทำงานผิดพลาดหรือเกิดการทุจริตขึ้นมา ธุรกิจของคุณเสียหายแน่นอน แต่หากคุณไม่เก่งเรื่องตัวเลขจริงๆ อาจลองนำเทคโนโลยีเกี่ยวกับระบบการจัดการบัญชีที่แสดงผลแม่นยำเข้ามาช่วย เท่านี้ก็ไม่ต้องปวดหัวกับตัวเลขแล้ว
- Check ช่องทุจริต
ทำธุรกิจ มีรอยรั่วได้ทุกจุด เจ้าของธุรกิจต้องหมั่นตรวจสอบว่าธุรกิจของคุณมีรอยรั่วที่จุดใด เช่น หากคุณทำร้านอาหาร ต้องเริ่มเช็คตั้งแต่การรับออร์เดอร์ของพนักงานว่า จำนวนอาหารที่เสิร์ฟตรงกับยอดเงินที่ได้รับไหม วัตถุดิบที่ใช้ในแต่ละวัน เหลือเท่าไร สอดคล้องกับยอดขายไหม ยอดการสั่งซื้อวัตถุดิบ ตรงกับจำนวนวัตถุดิบที่ได้รับไหม จำนวนเงินในลิ้นชัก ตรงกับยอดขายจริงหรือเปล่า ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือช่องทางที่สามารถทุจริตได้ทั้งสิ้น เจ้าของร้านจะต้องวางระบบให้มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันการทุจริตให้ได้มากที่สุด
- Check ต้นทุน ไม่ให้พุ่ง
ต้นทุน คือสิ่งที่เจ้าของธุรกิจต้องควบคุมให้ได้ เพราะถ้าต้นทุนสูง กำไรของคุณก็น้อยตามไปด้วย ดังนั้นเจ้าของธุรกิจต้องหมั่นเช็คต้นทุนอย่างสม่ำเสมอว่าเหมาะสมหรือไม่ ถ้าหากสูงเกินไป ก็ต้องตรวจสอบว่าเกิดจากสาเหตุใด เพื่อจะได้แก้ไขได้ตรงจุด เช่น ถ้าคุณทำธุรกิจโรงแรม แล้วพบว่าค่าไฟสูงมาก ต้องไล่หาสาเหตุว่ามาจากอะไร เช่น ลูกค้าเปิดแอร์ทิ้ง
- Check คู่แข่ง อย่าปล่อยให้แซงหน้า
ไม่มีธุรกิจใด ไม่มีคู่แข่ง ฉะนั้นถ้าเรามัวแต่อยู่เฉยๆ หรือเดินช้าๆ คู่แข่งอาจจะวิ่งแซงจนไม่เห็นฝุ่น เจ้าของธุรกิจต้องคอยตรวจสอบว่า ตอนนี้คู่แข่งเขาเดินเกมอย่างไร วางกลยุทธ์หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบไหน แต่ดูในที่นี้ไม่ใช่ดูเพื่อทำตาม แต่ต้องนำมาเป็นเกณฑ์ในการประเมินว่า เรากำลัง “ช้า” ไปหรือเปล่า เมื่อรู้จักคู่แข่งอย่างรอบด้านแล้ว เราก็จะรู้ว่าควรจะโตอย่างไร จึงแตกต่างและดีกว่าคู่แข่ง
- Check เทรนด์ผู้บริโภค
ทุกวันนี้เทรนด์ผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สังเกตได้จากกระแสความนิยมที่เปลี่ยนแทบทุกสัปดาห์ (ก่อนหน้านี้ชากุหลาบก็มาแรง ต่อด้วยกระแสชาเขียว มันม่วง ฯลฯ ) ดังนั้นเจ้าของธุรกิจต้องไม่นิ่งเฉย หรือปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไป แต่ต้องศึกษาเทรนด์ผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเทรนด์ในต่างประเทศ ที่มักเกิดขึ้นเร็วกว่าประเทศไทย หากผู้ประกอบการจับทางได้ถูกก็มีโอกาสปลุกกระแส สร้างยอดขายได้ไม่ยาก
- Check โอกาสในการเติบโต
ทำธุรกิจ ใครๆ ก็อยากเติบโต แต่ถ้ามัวนั่งรอให้โอกาสเข้ามาถึงที่ คุณอาจไม่มีโอกาสโตเลยก็ได้ ฉะนั้นผู้ประกอบการต้องวิ่งหาโอกาส เพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตได้เร็วที่สุด เช่น แทนที่จะรอให้เงินทุนพร้อมแล้วค่อยขยายสาขา ก็อาจเปลี่ยนเป็นการโตด้วยวิธีอื่นที่ใช้เงินทุนไม่มากนัก เช่น โตด้วยการสร้างพันธมิตร จับมือกับธุรกิจอื่นออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาตีตลาด หรือขยายช่องทางการขาย กรณีที่น่าสนใจคือ Starbucks ที่จับมือกับ After you นำเมนูเด็ดคือ ชิบูย่าฮันนี่ โทสต์ และ ช็อคโกแลตบราวนี่ เข้าไปจำหน่ายในสาขาต่างๆ เป็นต้น
การทำธุรกิจต้องหมั่นตรวจสอบระบบและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพราะหากคุณหยุดนิ่งเมื่อไร โอกาสที่ธุรกิจจะหายไปจากตลาดก็สูงตามไปด้วย ดังนั้น Checklist ที่เราแนะนำมานี้ อย่าลืมนำไปปรับใช้กันนะครับ