เมื่อ ลูกค้าทำของหายในร้าน ยืนยันว่าพนักงานขโมย - Amarin Academy

เมื่อ ลูกค้าทำของหายในร้าน ยืนยันว่าพนักงานขโมย

เมื่อ ลูกค้าทำของหายในร้าน ยืนยันว่าพนักงานขโมย

เจ้าของร้านอาหารหลายราย คงเคยเจอเหตุการณ์ ลูกค้าทำของหายในร้าน กันใช่ไหมครับ หลายๆ คนก็มีวิธีแก้ไขสถานการณ์แตกต่างกันไป วันก่อนผมมีโอกาสไปรับประทานอาหาร ณ ร้านอาหารร้านหนึ่งในห้างสรรพสินค้า ก็บังเอิญอยู่ในเหตุการณ์นี้เช่นกัน ซึ่งการแก้ปัญหาของผู้จัดการร้านอาหารน่าสนใจมาก จึงอยากแชร์ให้เพื่อนๆ ได้ทราบกัน

เรื่องมีอยู่ว่า มีลูกค้าท่านหนึ่ง ลืมโทรศัพท์มือถือไว้บนโต๊ะอาหาร จึงเดินกลับมาสอบถามพนักงาน ปรากฏว่าโทรศัพท์เครื่องนั้นอันตรธานหายไปแล้วครับ

ลูกค้ายืนยันว่าวางไว้บนโต๊ะแน่นอน เพราะเธอหยิบขึ้นมากดสิทธิ์รับโปรโมชั่นเครื่องดื่มฟรี แล้ววางไว้บนโต๊ะ หากบนโต๊ะไม่มีแสดงว่าพนักงานหยิบไปแน่นอน พนักงานเสิร์ฟก็ยืนยันเช่นกันว่าไม่เจอโทรศัพท์บนโต๊ะเลย

เอาละสิครับ…ต่างฝ่ายต่างยืนยันในความเชื่อมั่นของตนเอง ผู้จัดการร้าน จึงต้องทำหน้าที่ เข้ามาไกล่เกลี่ยปัญหา ผมว่าการแก้ไขปัญหาของเขาน่าสนใจมากครับ

เริ่มจาก เขากล่าวขอโทษลูกค้าเป็นอันดับแรก แม้จะยังไม่ได้สืบสาวราวเรื่องใดๆ เลยก็ตาม เพราะลูกค้าเริ่มมีอารมณ์แล้วครับ มือถือหายทั้งเครื่อง ใครจะไปใจเย็นไหว

ถัดมาจึงขอเบอร์โทรศัพท์เครื่องที่หายจากลูกค้า แล้วโทรเข้ามือถือเครื่องที่หายไปทันที เพื่อตรวจสอบว่าตกหล่นไปที่ไหนหรือเปล่า เผื่อมีเสียงเรียกเข้าดังขึ้นมาจะได้หาเจอ ปรากฏว่าโทรติด แต่ไม่มีคนรับสาย แถมเจ้าของมือถือปิดเสียงและเปิดระบบสั่นไว้อีกด้วย

แต่โชคยังเข้าข้างครับ เพราะมีพนักงานคนหนึ่งในยินเสียงสั่นอยู่ใกล้ๆ เคาท์เตอร์วางเมนู ปรากฏว่าโทรศัพท์เครื่องเจ้าปัญหานอนสั่นอยู่ในเมนูครับ

ดูเหมือนเรื่องจะคลี่คลายแล้วใช่ไหม แต่เปล่าเลย เพราะเจ้าของโทรศัพท์กลับยิ่งโกรธ เธอบอกว่าพนักงานเก็บโต๊ะ ต้องจงใจซ่อนโทรศัพท์ของเธอในเมนูแน่นอน แล้วรอเวลาที่ปลอดคน ถึงค่อยมาหยิบไป เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่เห็นว่ามีโทรศัพท์อยู่ในเมนู เธอจึงขอดูกล้องวงจรปิด เพื่อพิสูจน์ว่าใครจงใจขโมยโทรศัพท์ของเธอกันแน่

ในตอนแรกผู้จัดการร้านขอยืนยันว่าพนักงานไม่ได้มีเจตนาขโมยแน่นอน เนื่องจาก ข้อแรกเมนูเล่มใหญ่และค่อนข้างหนา พนักงานจึงอาจไม่ทันได้ตรวจสอบว่ามีโทรศัพท์ติดไปหรือไม่ ข้อสอง เมนูไม่ใช่ที่ซ่อนของที่ปลอดภัยเลย เพราะอาจถูกส่งให้ลูกค้าโต๊ะใดโต๊ะหนึ่งเมื่อไรก็ได้

แต่เจ้าของโทรศัพท์ยืนยันคำเดิมว่าจะขอดูกล้องวงจรปิด ดังนั้นผู้จัดการร้านจึงแจ้งว่า หากต้องการดูกล้องวรจรปิดก็ได้เช่นกัน จากนั้นจึงอธิบายรายละเอียดของการขอดูภาพจากกล้องวงจรปิดภายในห้างฯ ว่าต้องมีเอกสารใดประกอบบ้าง หากเจ้าของโทรศัพท์เตรียมเรียบร้อยแล้ว สามารถนำเอกสารมาส่งที่ร้านได้เลย แล้วทางผู้จัดการจะเป็นผู้ประสานงานให้ทันที…เรื่องราวความวุ่นวายจึงจบลง

เทรนด์พนักงานเสิร์ฟ

สุดท้ายแล้วผมบอกไม่ได้ว่าตกลงพนักงานจงใจซ่อนโทรศัพท์จริงๆ หรือเปล่า เพราะว่าเอกสารที่เจ้าของโทรศัพท์ต้องนำมายื่นเรื่องคือใบแจ้งความ ซึ่งน่าจะต้องใช้เวลานานพอดู ผมเลยไม่ได้รอผล แต่สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากบทเรียนนี้คือ วิธีการปฏิบัติงานของผู้จัดการร้าน ที่เรียกได้ว่าเป็น “มืออาชีพ”

เขาสามารถคลี่คลายสถานการณ์ที่ตรึงเครียดได้ภายในเวลาไม่ถึง 10 นาที นอกจากนี้ยังสามารถควบคุมอารมณ์ น้ำเสียงและท่าทางการแสดงออกได้ดี พูดจาด้วยความสุภาพ อธิบายขั้นตอนทุกอย่างชัดเจน และแสดงถึงความบริสุทธิ์ใจได้เหมาะสม ทั้งหมดทั้งมวลผมว่าสิ่งสำคัญที่ผู้จัดการร้านคนนี้มีคือ “สติและประสบการณ์” ที่ช่วยให้เขาผ่านปัญหานี้มาได้

ผมคิดว่าวิธีการแก้ไขสถานการณ์ของเขาน่าจะเป็นกรณีตัวอย่างให้เพื่อนๆ เจ้าของร้านอาหาร นำไปประยุกต์ใช้ได้ดีทีเดียว

สำหรับเพื่อนๆ เจ้าของร้านอาหารคนไหนเคยเจอปัญหาจากการทำร้านอาหาร สามารถแชร์ความรู้กันได้นะครับ เพื่อเป็นวิทยาทานต่อเพื่อนๆ ท่านอื่นต่อไป

บทความน่าสนใจ ลูกค้าล้นร้าน ทำอาหารไม่ทัน ทำอย่างไรดี?

เรื่องแนะนำ

ผู้จัดการร้านอาหารที่ดี

4 คุณสมบัติสำคัญที่ ผู้จัดการร้านอาหารที่ดี ควรมี

ผู้จัดการร้านอาหาร คือคนที่ทำหน้าที่ควบคุมร้านอาหารให้ดำเนินงานไปได้โดยราบรื่น อย่างนั้นมาดูกันสิว่า ผู้จัดการร้านอาหารที่ดี ต้องมีคุณสมบัติใดบ้าง

ร้านอาหารประสบความสำเร็จ

กฎ 4 ข้อช่วยให้ ร้านอาหารประสบความสำเร็จ

ในธุรกิจร้านอาหารเราคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กว่าจะทำให้ ร้านอาหารประสบความสำเร็จ ได้นั้น ต้องใช้ความทุ่มเทพลังกายและพลังใจเป็นอย่างมาก

จัดการธุรกิจร้านอาหาร

5 เหตุผลที่ควรนำเทคโนโลยีมาใช้ในการ จัดการธุรกิจร้านอาหาร

เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถทำให้การจัดการสินค้าคงคลังเป็นไปอย่างสมบูรณ์ โดยใช้ข้อมูลการขายเพื่อคาดการณ์ความต้องการและลำดับการผลิต เพื่อลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด จึงสามารถรับประกันการสูญเสียให้เหลือน้อยที่สุด หรืออีกนัยหนึ่งคือจำกัดการสูญเสียและเพิ่มรายได้ให้กับร้านอาหารนั่นเอง

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท เอเอ็มอี อิมเมจิเนทีฟ จำกัด
ในเครือ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

ติดต่อแจ้งปัญหาหรือร้องเรียน
02-422-9999 ต่อ 4180
(จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น)
bdcx@amarin.co.th

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2025 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.