ร้านอาหารบริการดี เป็นอย่างไร - Amarin Academy

ร้านอาหารบริการดี เป็นอย่างไร

ร้านอาหารบริการดี เป็นอย่างไร

สิ่งที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่คาดหวังเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเข้าไปใช้บริการร้านอาหาร คือ การบริการ เขาไม่สนหรอกว่า ร้านจะตกแต่งสวยงาม หรูหราแค่ไหน อาหารจะอร่อยเพียงใด ถ้าบริการแย่ ทุกอย่างก็จบ นอกจากจะไม่ประทับใจในมื้ออาหารนั้น และไม่คิดจะกลับมาใช้บริการอีกแล้ว ยังอาจบอกต่อเพื่อนๆ หรือคนรู้จักไม่ให้มากินร้านอาหารของคุณอีกต่างหาก ฉะนั้นเจ้าของร้านต้องเอาใจใส่ในการบริการให้มากเป็นพิเศษ จะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง อย่างนั้นลองมาดูเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ กันดีกว่าว่า ร้านอาหารบริการดี เป็นอย่างไร

1.ลูกค้าถูกเสมอ

นี่คือกฎข้อสำคัญในการทำธุรกิจทุกประเภท แม้ว่าลูกค้าจะผิดจริงๆ ก็ตาม คุณไม่ควรพูดออกไป เพราะนั่นอาจส่งผลเสียต่อร้านโดยตรง

ก่อนอื่นเจ้าของร้านต้องเข้าใจธรรมชาติของลูกค้าว่า เขาต้องการบริการที่ดีที่สุด หากมีส่วนใดขาดตกบกพร่องไปจากที่คาดหวัง ถือว่าเป็นความผิดของร้าน ฉะนั้นหากลูกค้าไม่พอใจ ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม สิ่งแรกที่พนักงานบริการควรทำคือ รับฟังคำตำหนิหรือข้อแนะนำอย่างเต็มใจ กล่าวคำขอโทษ และรีบแก้ไขข้อผิดพลาดโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้วิธีที่คุณนำมาใช้จัดการปัญหาที่เกิดขึ้น จะเป็นตัวตัดสินเลยว่า ลูกค้าจะกลับมาเป็นลูกค้าประจำ หรือไม่กลับมาที่ร้านคุณอีกเลย

2.บริการที่ดี ต้องดีแบบครบวงจร

เริ่มตั้งแต่พนักงานต้อนรับ ซึ่งเป็นเหมือนหน้าตาของร้านอาหาร พนักงานเสิร์ฟ พนักงานในครัว ไปจนถึงพนักงานทำความสะอาด ทุกคนในร้านต้องเต็มใจบริการ มีมนุษย์สัมพันธ์ดี ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เพื่อสร้างความประทับใจให้ลูกค้า

เช่น เมื่อลูกค้าเข้ามาในร้าน พนักงานต้องต้อนรับด้วยรอยยิ้ม สอบถามข้อมูลและความต้องการเบื้องต้น เช่น มากี่ท่าน หากมีเด็กมาด้วย ต้องการเก้าอี้เสริมหรือไม่ จากนั้นจึงพาเข้าไปในร้าน ดูแลการนั่งให้เรียบร้อย และส่งเมนูอาหารให้เลือก รอสักพัก พนักงานจึงรับออร์เดอร์ โดยคอยให้คำแนะนำและใส่ใจสิ่งที่ลูกค้าพูดตลอดเวลา ไม่หันไปคุยกันเองหรือผละไปทำงานอื่นๆ

เมื่อลูกค้าสั่งเสร็จ ต้องทวนรายการอาหาร จากนั้นจึงส่งออร์เดอร์เข้าครัว  โดยพนักงานในครัวควรตรวจสอบรายการอาหารก่อนลงมือทำ และต้องสังเกตว่ามีคำขอพิเศษอื่นๆ หรือไม่ เช่น ไม่ใส่ผัก ไม่ใส่กระเทียม เป็นต้น เพื่อจะได้ทำอาหารให้ตรงตามที่สั่ง จากนั้นจึงนำมาเสิร์ฟ อย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ปล่อยให้อาหารเย็นชืด หมดความอร่อย

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของขั้นตอนการบริการเท่านั้น  จริงๆ แล้วยังมีขั้นตอนอีกมาก เจ้าของร้านควรสร้างวัฒนธรรมภายในร้านให้พนักงานบริการดีที่สุด เพื่อจะได้ทำให้ลูกค้าประทับใจมากที่สุด

3.อย่าเปิดให้จองโต๊ะเกินจำนวน

หากร้านอาหารของคุณมีบริการจองโต๊ะ สิ่งสำคัญคือ ต้องแน่ใจว่า คุณมีที่พอสำหรับช่วงเวลานั้นจริงๆ ไม่ใช่ลูกค้าจองโต๊ะตอน 6 โมงเย็น เมื่อเขาเดินทางมาถึงกลับบอกว่าต้องรอประมาณ 30 นาที แบบนี้เป็นใครก็ไม่ชอบใจจริงไหม

ทั้งนี้หากเจ้าของร้านบริหารจัดการการจองโต๊ะได้ดี จะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น จัดสรรโต๊ะอย่างเป็นระบบ พนักงานครัวรู้ว่าต้องเตรียมอาหารสำหรับคนลูกค้ากี่ที่ เป็นต้น

กลับกันหากวางแผนการจองที่ไม่ดี ก็อาจทำให้ร้านวุ่นวาย ที่นั่งไม่พอ ลูกค้าไม่พอใจ คนในครัวทำอาหารไม่ทัน เป็นต้น

สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือ คุณควรสร้างสมดุลระหว่างคนที่จองโต๊ะกับแขกที่ Walk-in ด้วย โดยไม่ควรเปิดให้จองโต๊ะทั้งหมด โดยไม่เหลือที่สำหรับลูกค้า walk-in เลย เพราะถ้ามาถึงแล้วมีโต๊ะว่างเต็มไปหมด แต่กลับเข้าไปนั่งกินไม่ได้ เขาต้องอารมณ์เสียแน่นอน

 

6.ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของลูกค้าประจำ

ร้านอาหารหลายร้านคงมีลูกค้าประจำที่มาร้านคุณบ่อยมากๆ (แต่อาจจะไม่ได้สั่งอาหารมาก) เช่น คู่รักที่มากินมื้อเย็นที่ร้านคุณทุกสัปดาห์ พนักงานออฟฟิศที่มานั่งดื่มเบียร์ร้านคุณทุกเย็น เจ้าของร้านอาหารควรลองสังเกตว่าพวกเขาชอบรับประทานอะไร มาเวลากี่โมง เมื่อเขามาครั้งถัดไป อาจลองทักทายว่า วันนี้มาตรงเวลาเหมือนเดิมเลยนะครับ หรือพวกพูดว่า เมนู…เหมือนเดิมใช่ไหมครับ พร้อมรอยยิ้ม เพื่อแสดงให้เขาเห็นว่า คุณจำเขาได้และใส่ใจเขาจริงๆ

5.เงินทิป บอกอะไรได้มากกว่าที่คุณคิด

เงินทิป คือเครื่องมือที่บ่งชี้ว่าลูกค้าประทับใจในร้านอาหารของคุณมากน้อยแค่ไหน การที่ร้านคุณได้ทิปน้อย ไม่ได้หมายความว่า บริการของพนักงานเสิร์ฟย่ำแย่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่อาจหมายถึงเขาไม่พอใจในรสชาติอาหาร ไม่พอใจเรื่องความสะอาดของร้าน หรือไม่พอใจเรื่องราคา ก็เป็นได้ ฉะนั้น แทนที่คุณจะไล่บี้กับพนักงานเสิร์ฟเพียงอย่างเดียว ต้องลองสังเกตส่วนอื่นๆ ของร้านประกอบด้วย

6.สอบถามความพึงพอใจจากลูกค้าเสมอ

ทุกครั้งที่ลูกค้าเรียกเก็บเงิน ควรสอบถามความพึงพอใจจากเขา เช่น รสชาติอาหารเป็นอย่างไรบ้างครับ การบริการเป็นอย่างไร อยากให้ปรับปรุงอะไรเพิ่มเติมหรือเปล่าครับ เป็นต้น แต่ลูกค้าบางคนอาจไม่กล้าแสดงความคิดเห็น คุณอาจใช้วิธีให้เขียน Comment แทน

เมื่อรวมรวม Feedback แล้ว ไม่ว่าดีหรือแย่ ควรแจ้งพนักงานทุกครั้ง แม้ว่าคำตำหนิจะเป็นสิ่งที่พวกเขา หรือแม้แต่คุณเองไม่อยากได้ยิน แต่มันคือเครื่องมือชิ้นสำคัญในการพัฒนาร้านอาหารให้ดีขึ้น

7.รู้วิธีจัดการกับลูกค้าที่ “มีปัญหา”

หากร้านอาหารของคุณเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขอฟันธงเลยว่า ต้องเจอปัญหาลูกค้า “ดื่มมากเกินไป” อย่างแน่นอน ดังนั้น คุณต้องเทรนด์พนักงานทุกคนให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวให้ได้ เพื่อที่ลูกค้าคนนั้นจะได้ไม่สร้างความรำคาญใจให้พนักงานคนอื่น

อย่างแรก คุณต้องงดเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเสนอเครื่องดื่มอื่นๆ หรือให้เขาแทน โดยใช้การเจรจาอย่างสุภาพ แต่ถ้าเขาเริ่มโวยวายหรือส่งเสียงดัง ควรพาเขาออกนอกร้านโดยเร็ว และสุดท้ายหากควบคุมสถานการณ์ไม่ได้จริงๆ อาจต้องแจ้งตำรวจให้มาจัดการแทน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกการกระทำต้องทำอย่างสุภาพ และให้เกียรติลูกค้าให้มากที่สุด

8.ใช้สื่อโซเชียลมีเดียให้เกิดประโยชน์

หากร้านอาหารของคุณมีเพจในเฟซ์บุ๊ก หรือ IG ลองใช้ช่องทางนี้สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ตอบโต้กับเขาด้วยความเป็นกันเอง หากพวกเขาลงรูปภาพที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหารของคุณ ก็ควรเข้าไปขอบคุณ กดไลค์ หรือแชร์ลงเพจ เพื่อให้ลูกค้าประทับใจ แม้ไม่ได้เดินทางมาใช้บริการที่ร้านก็ตาม

หากร้านอาหารไหน สามารถทำได้ตามนี้ รับรองว่าลูกค้าจะประทับใจในการบริการของคุณแน่นอน

เรื่องแนะนำ

เผยสูตรคำนวณ ต้นทุนร้านอาหาร คุมค่าใช้จ่ายให้เป๊ะก่อนเปิดร้าน

เพราะการทำร้านอาหารจะกำไรหรือขาดทุน ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของร้านอาหารควบคุม ต้นทุนร้านอาหาร ได้ดีขนาดไหน การกำหนดโครงสร้างต้นทุนร้านอาหาร จะช่วยทำให้ตั้งราคาขาย และกำหนดยอดขายในแต่ละวันได้อย่างเหมาะสม  ที่สำคัญยังช่วยให้ป้องกันปัญหาต้นทุนพุ่งจนกระทบยอดรายได้  เพราะสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างเหมาะสม   โครงสร้าง ต้นทุนร้านอาหาร ที่สำคัญมีอะไรบ้าง คำนวณอย่างไรไม่ขาดทุน   1.ต้นทุนอาหาร (วัตถุดิบ) ต้นทุนวัตถุดิบอาหาร หมายรวมถึงวัตถุดิบที่ใช้ปรุง การตกแต่งจาน รวมถึงบรรจุภัณฑ์ต่างๆ โดยทั่วไปแล้ว ต้นทุนวัตถุดิบที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 25-30 เปอร์เซ็นต์ นอกจากร้านอาหารประเภทบุฟเฟต์ จะมีต้นทุนวัตถุดิบอยู่ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ การทราบต้นทุนอาหาร ช่วยให้กำหนดราคาขายต่อเมนูได้อย่างแม่นยำ สูตรการคิดคำนวณต้นทุนอาหาร ต้องคำนวณจาก Yield หรือวัตถุดิบที่ใช้ได้จริง เป็นหลัก เพราะฉะนั้นร้านอาหารจะต้องหา Yield ของวัตถุดิบทุกชนิด โดยขั้นตอนก็คือ การชั่งน้ำหนักวัตถุดิบ และทำการเตรียมวัตถุดิบพร้อมสำหรับการปรุง เช่น เนื้อปลา เมื่อหั่นให้ได้ขนาดชิ้นตามสูตร SOP ที่กำหนดแล้ว ให้นำเนื้อปลาหลังตัดแต่ง และเนื้อปลาส่วนที่ตัดทิ้ง มาชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบเพื่อคำนวณ   ค่าเปอร์เซ็นต์ Yield =  ปริมาณหลังตัดแต่ง […]

ธุรกิจขนาดเล็ก

กลยุทธ์ในการรับมือปัญหาใหญ่ของ ธุรกิจขนาดเล็ก

เจ้าของธุรกิจอาจต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายมากมาย จากการบริหารจัดการและการเติบโตของธุรกิจ แต่ถ้ามองให้เรื่องท้าทายเป็นโอกาสและเป็นตัวช่วยให้คุณเข้มแข็งขึ้น นั่นก็จะเป็นพลังสำคัญในการผลักดันให้ธุรกิจของคุณเติบโต

ธุรกิจ ขายดี

ธุรกิจ ขายดี ที่สุด ไม่จำเป็นต้องราคาถูกที่สุด

เคยสงสัยไหมว่า ทำไมบาง ธุรกิจ ขายดี มาก ทั้งๆ ที่ราคาสูงกว่าเจ้า นั่นเป็นเพราะเขาไม่ได้ขายแค่สินค้าหรือบริการ แต่ขายประสบการณ์ให้ลูกค้าด้วย

ลูกค้าล้นร้าน

ลูกค้าล้นร้าน ทำอาหารไม่ทัน ทำอย่างไรดี?

วันก่อนมีโอกาสไปกินข้าวที่ร้านอาหาร แล้วเจอเหตุการณ์คลาสิกคือ ลูกค้าล้นร้าน ทำอาหารไม่ทัน จึงอยากเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ทุกคนครับ

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท เอเอ็มอี อิมเมจิเนทีฟ จำกัด
ในเครือ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

ติดต่อแจ้งปัญหาหรือร้องเรียน
02-422-9999 ต่อ 4180
(จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น)
bdcx@amarin.co.th

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2025 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.