ร้านอาหารฟื้นตัว จากวิกฤตได้หรือไม่? เนื่องจาก “อาหาร” เป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่ขาดไม่ได้ ธุรกิจอาหารจึงเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ไม่มีวันตาย เพียงแต่ว่าธุรกิจนี้มีการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ประกอบการจำนวนมากในตลาด ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจขาลง ทำให้ผู้ประกอบการต้องรู้จักปรับตัวพัฒนาอยู่เสมอ ในช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้ ก็ทำให้ร้านอาหารหลายๆร้านสามารถคิดหาหนทางใหม่ในการดำเนินธุรกิจ แบบที่ไม่เคยคิดว่าจะทำได้ หรือไม่เคยลองทำมาก่อนในภาวะปกติ เรียกได้ว่าเป็นความท้าทายที่ผลักดันให้หลายคนได้ลองเปิดประตูบานใหม่
ในด่านต่อไปที่ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องคิดวางแผนคือ หากสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น และการแพร่ระบาดของไวรัสอยู่ในการควบคุมแล้ว ธุรกิจร้านอาหารจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ไปต่อได้เร็ว และสามารถคว้าโอกาสได้ก่อน ลองมาดูปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ ร้านอาหารฟื้นตัว ได้เร็วหลังผ่านวิกฤตกันครับ
ปัจจัยสำคัญช่วยให้ “ร้านอาหารฟื้นตัว” เร็วหลังวิกฤต
1. สร้างฐานลูกค้าประจำให้กลับมาซื้อซ้ำ
การขายแบบเดลิเวอรีหรือทางออนไลน์มากขึ้น ย่อมทำให้ทางร้านเก็บข้อมูลของลูกค้า และข้อมูลการขายเมนูอาหารต่างๆ ได้ง่ายขึ้นมาก กลุ่มเป้าหมายของร้านก็จะชัดเจนมากขึ้น ทางร้านก็ต้องสร้างช่องทางการติดต่อ และช่องทางการสั่งอาหารให้ครบถ้วน มีแผนการตลาดที่ช่วยรักษาลูกค้ากลุ่มนี้ให้กลับมาซื้ออาหารซ้ำอีก อำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าที่ใช้บริการ หากได้รับคำติชมก็สามารถแสดงความรับผิดชอบ และปรับปรุงแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ การตลาดออนไลน์ของร้านอาหารก็เป็นเรื่องสำคัญมากเช่นกัน ควรมีการอัพเดตข้อมูลเมนูอาหาร โปรโมชันต่างๆ มาตรฐานความสะอาดในร้าน เพื่อสร้าง Brand awareness และเรียกความมั่นใจของลูกค้า รวมถึงพร้อมประชาสัมพันธ์ร้านอาหารในกรณีที่สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว
2. รักษาพนักงานที่ดีไว้กับร้าน
ในช่วงวิกฤตที่ผ่านมานี้ รายได้ที่ลดลงทำให้ผู้ประกอบการต้องจัดการกับต้นทุนที่ยังคงต้องจ่ายเท่าเดิม ตัวอย่างเช่น ค่าแรงพนักงาน ซึ่งร้านอาหารแต่ละที่ก็มีการจัดการแตกต่างกันไป บางแห่งใช้วิธีพูดคุยถึงปัญหาและหาทางออกร่วมกัน ทั้งการลดเงินเดือนพนักงานบางส่วน การเปลี่ยนช่วงเวลาทำงาน คิดหาผลิตภัณฑ์ใหม่มาจำหน่าย รวมถึงหารายได้เสริมทางอื่นๆ เพื่อให้ทั้งร้านและทีมงานสามารถไปต่อด้วยกันได้
อย่าลืมว่าการบริหารจัดการพนักงานเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของร้านอาหาร กว่าที่ร้านจะรับสมัครพนักงานในทีมที่เหมาะสมมาได้ไม่ใช่เรื่องง่าย การรักษาพนักงานที่ดีไว้กับร้าน จะช่วยลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการหาพนักงานใหม่ ประหยัดเวลาที่ใช้เทรนงาน และการดำเนินงานในร้านไหลลื่นขึ้น เพราะร้านอาหารไม่สามารถทำคนเดียวได้ และทีมงานที่ดีจะช่วยให้ธุรกิจฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วขึ้นแน่นอน
3. วางแผนธุรกิจล่วงหน้า
การวิเคราะห์และวางแผนล่วงหน้าจะช่วยให้ธุรกิจไปต่อได้เร็วขึ้น เพราะทุกอย่างได้ผ่านการคิดหาลู่ทางไว้แล้ว ไม่ใช่แค่ Plan A แต่จะต้องมี Plan B, C, D และอื่นๆ เท่าที่จะคิดได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อรองรับในแต่ละสถานการณ์ ซึ่งอาจจะวางแผนในด้านต่างๆ ตามหลัก 7Ps ซึ่งเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดสำหรับธุรกิจบริการ
- People (พนักงาน)
เช่น จำนวนพนักงานที่พร้อมทำงานเมื่อสามารถเปิดหน้าร้านได้ เงินเดือนที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานต่างๆ การฝึกอบรมพนักงานใหม่ให้ได้ตามมาตรฐานของร้าน - Process (ขั้นตอนการทำงาน)
การแบ่งหน้าที่ภายในร้านที่จะเปลี่ยนไปหลังจากให้คนนั่งทานในร้านได้ การปรับเปลี่ยนเวลาทำการของร้านหลังจบเคอร์ฟิว จะมีการจัดการต้นทุนอย่างไรให้ร้านมีกำไรเท่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ - Physical Evidence (สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ)
การรักษามาตรฐานความสะอาดของอาหาร และภายในร้านเพื่อความมั่นใจของลูกค้า - Price (ราคา)
การตั้งราคาเมนูอาหารที่ขายหน้าร้าน และราคาอาหารเมนูทางเดลิเวอรีที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่า และร้านยังสามารถบริหารจัดการต้นทุนให้ได้กำไร - Product (ผลิตภัณฑ์)
ต้องปรับเมนูอาหารในร้านอย่างไรเมื่อสามารถให้ลูกค้านั่งทานในร้านได้แล้ว จะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่คิดไว้ในช่วงปิดร้านมาต่อยอดอย่างไร ให้ร้านมีช่องทางหารายได้มากขึ้น - Place (ช่องทางการจัดจำหน่าย)
ทั้งการขายผ่านสื่อออนไลน์ แอปพลิเคชันเดลิเวอรี และการขายหน้าร้าน ร้านอาหารจะสามารถรองรับลูกค้าได้แค่ไหน หรือวางผังที่นั่งในร้านอย่างไรจึงจะมี social distance ที่เหมาะสม? ทำเลของร้านอาหารเหมาะสมหรือไม่? - Promotion (การส่งเสริมการขาย) ร้านจะมีแผนการตลาดที่จะดึงดูดลูกค้าอย่างไร
หรือแม้แต่คิดว่าถ้าเกิดการระบาดอีกครั้งจะมีแผนรองรับอย่างไร? คำถามเหล่านี้ก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร เพราะต้องคำนึงถึงรายละเอียดมากมาย แต่การวางแผนเหล่านี้จะช่วยให้คว้าโอกาสในช่วงเวลาที่เหมาะสมได้ง่ายขึ้น และลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดปัญหาต่างๆ
4. สร้างคุณค่าด้วยจุดเด่นของร้าน
ในสถานการณ์ที่เพิ่งฟื้นตัว เกือบทุกร้านต้องแข่งกันเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปจากการปิดหน้าร้าน และแน่นอนว่าร้านอาหารขนาดกลางไปจนถึงขนาดเล็ก ย่อมไม่สามารถจัดโปรโมชันสู้ “สงครามราคา” กับเครือข่ายธุรกิจอาหารขนาดใหญ่แบบ Food Chain Restaurant ได้
การแข่งขันลดราคาอย่างเดียวจึงไม่ใช่ทางออกที่ดี จะต้องใช้การตลาดแบบไหนที่จะช่วยดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น? ร้านควรหาสิ่งที่เป็นจุดเด่นของร้านมาชูเป็นจุดขาย สร้างความแตกต่างด้วยความคิดสร้างสรรค์ ทำเมนูใหม่ๆ ที่น่าประทับใจ และทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยต้นทุนที่มีอยู่
หากช่วงเวลาที่แย่ที่สุดผ่านพ้นไป สถานการณ์ของร้านอาหารก็จะดีขึ้น เพราะมีผู้บริโภคที่ออกมาใช้จ่ายกันมากในช่วงแรกๆ แต่อย่างไรก็ตาม ยอดขายของร้านในระยะยาวอาจจะไม่สามารถกลับมาเท่ากับช่วงปกติ ด้วยสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่ต้องใช้เวลาในการพักฟื้น ทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายอย่างประหยัด รวมถึงบางส่วนก็มาทำอาหารเองมากขึ้น
ทำให้ความท้าทายของผู้ประกอบการร้านอาหารก็ยังมีอยู่เสมอ เราก็คงต้องติดตามข่าวสารต่างๆ ปรับแผนการไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่หยุดที่จะพัฒนาต่อไปครับ