A Cup Coffee พลิกธุรกิจจากเกือบเจ๊ง! สู่เส้นทางสายกาแฟ 10 ปี 10 สาขา! - Amarin Academy

A Cup Coffee พลิกธุรกิจจากเกือบเจ๊ง! สู่เส้นทางสายกาแฟ 10 ปี 10 สาขา!

A Cup Coffee พลิกธุรกิจจากเกือบเจ๊ง!

สู่เส้นทางสายกาแฟ 10 ปี 10 สาขา!

ใครที่ชื่นชอบกาแฟ คงเคยได้ยินชื่อเสียงของแบรนด์ A Cup Coffee กันมาบ้าง เพราะโดดเด่นเรื่องคุณภาพกาแฟ รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ แต่ขายในราคาถูกกว่าแบรนด์ดังเกือบครึ่ง! ด้วยจุดแข็งนี้เอง ทำให้ A Cup Coffee อยู่ในแวดวงกาแฟได้นานถึง 10 ปี ปัจจุบันมี 10 สาขา ยอดขายบางสาขาพุ่งสูงกว่า 500 แก้วต่อวัน!

แต่รู้หรือไม่ กว่าที่ A Cup Coffee จะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ ก็เคยเกือบเจ๊งมาก่อน A Cup Coffee มีวิธีสร้างความสำเร็จอย่างไร คุณโจ – สุขพัฒน์ ปิยะมาดา เจ้าของร้าน A Cup Coffee จะมาเผยให้รู้แบบหมดเปลือก!

เริ่มจาก Food Truck เพราะกลัวเจ๊ง

ก่อนที่ผมจะเปิดร้านกาแฟ ผมก็เป็นพนักงานออฟฟิศทั่วไป ที่เริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับงานประจำ และอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เราก็พยายามหาว่าอยากทำอะไร สุดท้ายก็มาลงตัวที่ร้านกาแฟ เพราะตอนทำงานประจำที่แมคโดนัลล์ ผมมีโอกาสได้ช่วยงานในส่วน แมคคาเฟ่ แล้วรู้สึกชอบ จึงคิดว่าถ้าเริ่มจากสิ่งที่ชอบ เราน่าจะทำได้ดี จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ แล้วมาเริ่มทำธุรกิจอย่างจริงจัง

ผมรู้ว่าการทำธุรกิจ “ทำเล” สำคัญมาก ซึ่งเราไม่เก่งเรื่องนี้ จึงเริ่มทำร้านกาแฟที่เป็น Food Truck เพราะถ้าขายไม่ดี เราก็ย้ายทำเลได้ง่ายๆ อุปกรณ์ทุกอย่างเรามีหมด แค่เปลี่ยนที่ขาย เปลี่ยนลูกค้า เลยคิดว่าโอกาสเจ๊งน่าจะน้อย ที่สำคัญ Food Truck ไม่ต้องลงทุนเยอะ แต่ถ้าเราเปิดร้าน ไหนจะค่าเช่า ค่าตกแต่ง ค่าภาษี โครงสร้างต่างๆ มันต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างมาก และอีกเหตุผลที่เลือก Food Truck คือคิดในแง่ที่แย่ที่สุด ถ้าร้านไปไม่รอดจริงๆ รถก็เอาไว้ใช้งานได้ อุปกรณ์ต่างๆ เราเอาไปชงกินเองก็ได้ จึงคิดว่าอย่างนั้นเราเริ่มจาก Food Truck ดีกว่า

กาแฟพรีเมี่ยม ราคาถูกกว่าแบรนด์ดังเกือบครึ่ง!

หลังจากที่รู้แล้วว่าอยากจะเปิดร้านกาแฟ เราก็พยายามหาจุดต่าง ตอนนั้นตลาดกาแฟแบ่งเป็น 2 ฝั่งอย่างชัดเจนคือ กาแฟคุณภาพดี วัตถุดิบดี ราคาแพง กับกาแฟคุณภาพทั่วไป ราคาถูก เราจึงคิดว่า อย่างนั้นเราจะขายกาแฟคุณภาพดี ในราคาไม่แพง เราจึงเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพ เมล็ดกาแฟพันธุ์อราบิก้าแท้ จากดอยช้าง (ซึ่งตอนนั้นร้านกาแฟส่วนใหญ่จะใช้กาแฟโรบัสต้าที่ราคาถูกกว่า)

แม้ว่าเราจะใช้วัตถุดิบคุณภาพดี แต่ก็ตั้งราคาถูกกว่าแบรนด์ดังๆ เกือบครึ่ง เพื่อสร้างความต่างและให้ลูกค้ามีโอกาสได้ดื่มกาแฟคุณภาพดีด้วย

หลายคนอาจสงสัยว่าถ้าเราเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพดี เท่ากับว่าต้นทุนจะสูงกว่า กำไรจะน้อยลงจริงไหม จริงๆ แล้ว กาแฟ 1 แก้ว ไม่ได้ใช้เมล็ดกาแฟเยอะมาก ฉะนั้นแม้ว่าเราจะใช้กาแฟที่มีคุณภาพดี ก็ไม่ได้ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบพุ่งสูงจนไม่ได้กำไร เรายังมีกำไร แต่อาจไม่มากนัก จึงใช้เทคนิคขายแบบเน้นจำนวน ตั้งราคาไม่แพงเพื่อให้ลูกค้ามาซื้อซ้ำบ่อยๆ แทนที่จะตั้งราคาสูง เพื่อให้ได้กำไรต่อแก้วมาก แต่ลูกค้านานๆ ซื้อที

ฝันว่าจะขายได้ 100 แก้ว ชีวิตจริง 30 แก้วก็หรูแล้ว!

เมื่อได้คอนเซ็ปต์ร้าน ตอนแรกเราวางแผนไว้สวยหรูมาก ถ้าขายแบบนี้ ราคานี้ น่าจะขายได้ประมาณ 100 แก้วต่อวัน เราก็อยู่ได้แล้ว เช้า 30 แก้ว กลางวัน 30 แก้ว เย็นอีก 30 แก้ว ก็เป็น 90 แก้ว อีก 10 แก้วที่เหลือก็ง่ายๆ แต่พอเปิดขายจริงๆ ปรากฏว่าทั้งวันขายได้แค่ 20 – 30 แก้วเท่านั้น บางวันขายได้แค่ 10 แก้ว จึงมารู้ว่า เราแบ่งเป็นเช้า กลางวัน เย็นไม่ได้ เพราะตอนเย็นไม่มีใครกินกาแฟกันแล้ว

พลิกธุรกิจ เพราะช่างสังเกต และเข้าใจลูกค้ามากขึ้น

ตอนนั้นยอดขายของเราเหมือนหนังคนละม้วนกับที่วาดฝันไว้เลย แต่เราก็ยังทนขายไปเรื่อยๆ ทำไปจนมันแย่มากๆ ไม่มีลูกค้าเลย ตอนนั้นเหนื่อยมาก ขับรถไปจะหลับระหว่างทาง เพราะเราไม่ได้พักเลย เย็นกลับมาก็ต้องเตรียมซื้อของ เช้าก็ต้องออกไปอีก

จนวันหนึ่งเรานั่งอยู่ที่สี่แยก เห็นคนมองมาที่รถเรา แต่เราหันหลังให้เขาอยู่ เขาเลยไม่รู้ว่าเรากำลังขายอะไร จึงคิดได้ว่า อย่างนั้นเราน่าจะติดป้ายไปเลยว่าเราขายอะไร และดีอย่างไร หลังจากนั้นเราเลยนำป้ายมาติดว่า เราเป็นกาแฟพรีเมี่ยม ใช้เมล็ดกาแฟพันธุ์อราบิก้า 100% ส่งตรงจากดอยช้าง ซึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อ 10 ปีที่แล้วแทบไม่มีใครขายเลย

หลังจากขึ้นป้าย ก็เริ่มมีลูกค้ามาซื้อกาแฟมากขึ้น เราสังเกตเห็นว่าส่วนใหญ่เขาจะขับรถวนเข้ามา ซื้อกาแฟ แล้วขับรถออกไป เราเลยเอาป้ายไปตั้งว่า Drive Thru ให้ขับรถเข้ามาซื้อแล้วขับออกไปง่ายๆ อำนวยความสะดวกให้เขามากขึ้น

จากนั้นยอดขายเราก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 20 แก้ว เป็น 30 แก้ว เป็น 50 แก้ว ในเวลาเพียง 2 เดือน แต่คำนวณแล้ว ทำงานประจำยังได้เงินเดือนดีกว่า เลยต้องวางแผนเพื่อเพิ่มยอดขาย

ตอนนั้นเรามาวิเคราะห์ทำเลที่เราจอดรถตั้งร้าน ปรากฏว่าเราอยู่บนทางผ่านที่มีออฟฟิศ สำนักงานอยู่โดยรอบ แต่คนที่จะแวะซื้อได้ต้องมีรถเท่านั้น นั่นแปลว่าถ้าลูกค้ามาด้วยรถไฟฟ้า จะซื้อกาแฟเราไม่ได้เลย

ประกอบกับตอนนั้นมีลูกค้ามาถามว่า “มีเดลิเวอรี่ไหม? อยากสั่งไปให้เพื่อน” เราเลยนำความต้องการนั้นมาต่อยอดด้วยการเพิ่มบริการเดลิเวอรี่ ใครมาซื้อกาแฟเราก็แจกใบปลิวเพื่อประชาสัมพันธ์ แล้วช่วงนั้นกาแฟจากดอยช้างเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาพอดี ลูกค้าเห็นว่าเราเป็นกาแฟดอยช้าง ก็สั่งให้เราไปส่งเยอะมาก บางทีสั่งครั้งละ 30 แก้ว ไม่นานยอดขายเราก็แตะที่ 100 แล้วต่อวัน จุดนั้นถือว่าพลิกธุรกิจเลยก็ว่าได้

ไม่หยุดแค่ยอดขาย แต่หมั่นพัฒนาตัวเองจนเป็นแชมป์บาริสต้าระดับประเทศ

ตอนนั้นเราเปิดร้านมาได้ประมาณ 3 ปี ยอดขายเริ่มอยู่ตัวมากขึ้น แต่เราอยากก้าวสู่ระดับสากล อยากรู้ว่าถ้าจะโตต่อไป ความสามารถเราถึงไหม มีมาตรฐานหรือยัง ประกอบกับตอนนั้นมีน้องแนะนำว่า ลองไปแข่งบาริสต้าไหม ซึ่งช่วงนั้นรายการ Thailand Indy Barista เปิดรับสมัครอยู่ เรามีเวลาเตรียมตัวน้อยมาก ประมาณ 1 สัปดาห์ แน่นอนว่า ตกรอบแรก กรรมการก็เรียกไปคุยว่า เทคนิคการชงกาแฟของคุณถูกต้องทุกอย่างเลยนะ แต่คุณเตรียมกาแฟมาไม่เหมาะกับการแข่งขัน เราเลยกลับมาทำการบ้าน ฝึกฝนใหม่ตั้งแต่วันนั้นเลย เดินทางไปชิมกาแฟ ไปเรียนรู้เทคนิคต่างๆ เพิ่มเติม ปีถัดมาก็ลงแข่งอีกรอบ จนได้แชมป์ระดับประเทศ ในปี 2012 พ่วงด้วยรางวัล Best Signature Drink

“ตำแหน่งแชมป์” ช่วยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด

หลังจากได้แชมป์มาแล้ว ร้านของเราก็มีชื่อเสียงมากขึ้น เวลาไปติดต่อขอเช่าพื้นที่ ก็มีเครดิตว่าเราเป็นกาแฟแชมป์ เขาก็กล้าให้เราเปิดร้านมากขึ้น จึงขยายสาขาได้เร็วขึ้น ลูกค้าเองก็เชื่อใจและมั่นใจว่ากาแฟเราน่าจะมีคุณภาพ ทำให้ยอดขายมันถีบตัวสูงขึ้นได้เร็ว เมื่อก่อนกว่าจะได้สัก 100 แก้ว ใช้เวลานานมาก แต่เมื่อได้แชมป์ เปิดเดือนแรกก็ได้เลย 100 แก้ว แล้วก็ไต่ขึ้นไปเรื่อยๆ จนขายได้ 500 แก้วต่อวัน

หัวใจหลักของร้านกาแฟคือ โมเดลธุรกิจ แบรนด์ดิ้งและ QSC

ผมเชื่อว่าโมเดลธุรกิจที่ดี มีการวิเคราะห์ทำเล หาจุดแข็ง จุดอ่อน เลือกช่องทางการขายที่หลากหลาย จะช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จใน 1-3 ปีแรก แต่ปีต่อๆ ไป ต้องอาศัยแบรนด์ดิ้ง ทำให้ลูกค้าจดจำได้ เชื่อใจและมั่นใจในคุณภาพสินค้าและบริการของเรา และกลับมาซื้อซ้ำหรือบอกต่อ เราต้องสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง เพื่อให้เขานึกถึงเราเป็นเจ้าแรกๆ ให้ได้

ต่อมาคือเรื่องการจัดการซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน การทำร้านกาแฟ มันต้องใส่ใจในรายละเอียดทุกอย่าง ตั้งแต่การชงกาแฟ ใส่ใจลูกค้า ใส่ใจการบริการ ผมยึดหลัก QSC นั่นคือ Q : Quality เครื่องดื่มต้องดี เพราะถ้ากาแฟไม่อร่อย ไม่ว่าโมเดลธุรกิจจะดีขนาดไหน แบรนด์จะแข็งแกร่งแค่ไหน ลูกค้าก็ไม่ซื้อซ้ำ S : Service การบริการต้องดี พนักงานต้องมี Service mind หรือมีใจรักการบริการ สุดท้ายคือ C : Cleanliness ความสะอาด ต้องทำให้ได้ครบทั้ง 3 ตัว ร้านกาแฟถึงจะอยู่รอด

สิ่งที่คนมักพลาดเวลาเปิดร้านกาแฟคือ “เข้าข้างตัวเองมากเกินไป”

สิ่งสำคัญที่ทำให้คนที่เปิดร้านกาแฟพลาดคือ เข้าข้างตัวเองว่าทุกอย่างมันจะราบรื่นไปหมด เปิดร้านวันแรกคนต้องเต็มร้าน เดือนแรกยอดขายต้องเป็นไปตามเป้า โดยไม่ได้เผื่อแผนสำรองเอาไว้ในกรณีที่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ สุดท้าย พอเกิดปัญหาจริงๆ ก็ไม่รู้จะหาทางออกยังไง และเมื่อทนภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหวก็ต้องปิดตัวลง

ฉะนั้นก่อนอื่นคุณต้องคิดลบๆ ไว้ก่อนเลย ถ้าขายไม่ได้จะทำอย่างไร ถ้าลูกค้าไม่มีต้องหาลูกค้าวิธีไหน ถ้ายอดขายไม่ถึงเป้า จะเพิ่มยอดขายได้อย่างไร ต้องเผื่อแผนสำรองเหล่านี้เอาไว้ให้พร้อม เวลาเกิดปัญหาจริงๆ จะได้แก้ไขได้ทัน

อีกข้อที่มักพลาดคือ เปิดร้านกาแฟแล้วไม่ได้เข้ามาดูแลร้านเอง ปล่อยให้ลูกน้องดูแล หรือว่าไม่ได้เอาใจใส่เท่าที่ควร เพราะคิดว่าแค่มีสูตรการชงและให้พนักงานทำตามก็ขายได้ แต่จริงๆ แล้วคุณต้องใส่ใจในการชงกาแฟทุกๆ แก้ว เพราะถ้าคุณพลาดเพียงแค่แก้วเดียว เสิร์ฟกาแฟไม่อร่อยให้ลูกค้า คุณอาจจะเสียลูกค้ารายนั้นไปทันที ดังนั้นต้องหมั่นควบคุมและตรวจสอบมาตรฐานด้วย

ธุรกิจกาแฟ กำไรดีจริงไหม?

หลายคนคิดว่าธุรกิจกาแฟกำไรดี คิดว่าแค่ค่าแก้ว ค่าวัตถุดิบนิดๆ หน่อยๆ กำไรน่าจะเกินครึ่ง แต่จริงๆ มันมีต้นทุนแฝงเยอะมาก ไหนจะค่าเช่าที่ ซึ่งถ้าอยู่ในทำเลดีๆ จะสูงมาก ค่าพนักงาน ค่าเสื่อมอุปกรณ์ ค่าน้ำ ค่าไฟ มันมี Fixed cost ที่คุณต้องจ่ายต่อเดือนค่อนข้างเยอะ จริงๆ กาแฟแก้วละ 60 บาท หักลบต้นทุนต่างๆ ออกไป อาจจะเหลือกำไรแค่ประมาณ 20% หรือประมาณ 12 บาทเท่านั้น ดังนั้นต้องคำนวณดีๆ ว่ากำไรที่ได้จะเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่คุณต้องเสียไหม

ถ้าไม่คุ้ม คุณต้องเอาตัวรอดให้ได้ บางคนอาจเพิ่มราคา จาก 60 บาท เพิ่มเป็น 70 บาท เพื่อให้มีกำไรเพิ่มขึ้น วิธีนี้ง่าย สะดวก แต่ก็มีความเสี่ยง เพราะถ้าคู่แข่งของเราเขาขายถูกกว่าในรสชาติและคุณภาพเท่ากัน ทำไมลูกค้าต้องซื้อของเรา หรือถ้าเราเพิ่มราคา จำนวนลูกค้าก็อาจจะลดลง เพราะเขารู้สึกว่าแพง ซื้อบ่อยไม่ได้

หรืออีกวิธีที่ทำได้คือเพิ่มยอดขาย ซึ่งเป็นเทคนิคที่ผมใช้อยู่ เช่น หาเมนูอื่นๆ เข้ามาขาย ที่เราทำเองได้ง่ายๆ อย่าง แซนวิช ขนมปังปิ้ง หรือจัดเซ็ตเมนู จับคู่กาแฟกับเมนูอื่นๆ ในร้าน เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าจ่ายมากขึ้น เป็นต้น

เปิดร้านกาแฟต้อง “อดทน ใช้เวลาและพัฒนาตัวเองเสมอ”

ข้อที่เราอยากให้เข้าใจคือ ธุรกิจกาแฟ สำคัญอยู่ที่จุดต่าง คุณต้องหาจุดต่างให้เจอ และต้องเป็นจุดต่างที่เหมาะกับความต้องการของลูกค้าด้วย แล้วธุรกิจมันจะไปได้ อีกข้อที่สำคัญคือ ธุรกิจกาแฟมันต้องใช้เวลา กว่าที่ยอดขายมันจะมา ต้องอาศัยความอดทน ความใส่ใจในรายละเอียด และต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอด้วย

หากจะกล่าวว่าธุรกิจร้านกาแฟเป็นธุรกิจที่ “ฉาบฉวย” คงไม่ถูกนัก เพราะ 10 ปีที่ผ่านมาคุณโจได้พิสูจน์แล้วว่า ร้านกาแฟสามารถเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืนได้ แต่ต้องอาศัย “ความจริงใจ” เสิร์ฟสินค้าที่ดี มีคุณภาพให้ลูกค้า เพราะถ้าสินค้าไม่ดีจริง อย่างไรลูกค้าก็คงไม่กลับมาซื้อซ้ำ อาศัยความ “อดทน” ในการก้าวผ่านปัญหาและอุปสรรคต่างๆ สุดท้ายคืออาศัยความ “ทุ่มเท” พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง 3 ข้อนี้ คือหลักสำคัญที่ทำให้ A Cup Coffee ประสบความสำเร็จได้จนถึงปัจจุบัน

 

____________________________________________________________________________

หลักสูตรแนะนำ !!

COFFEE TO SUCCESS ..สูตรสำเร็จเปิดร้านกาแฟให้รอด..

ชง เข้ม กับหลักสูตรสุด เข้มข้น! กลมกล่อม กับประสบการณ์สุด Exclusive!

ที่รับประกันว่าไม่เคยมีใครสอนลึกและละเอียดเท่านี้มาก่อน!

https://amarinacademy.com/4623/course/course-coffee/

เรื่องแนะนำ

sushi shin

Sushi Shin เผยเคล็ดลับ รักษาลูกค้าเดิมให้อยู่หมัด!

แม้ปัจจุบันธุรกิจอาหารญี่ปุ่นจะไม่ได้อยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ Sushi Shin กลับยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เคล็ดลับสำคัญคืออะไร ไปติดตามกัน

ขายขนมสุขภาพ

Meloliz healthy อยาก ขายขนมสุขภาพ ต้องทำยังไง ?

แทนที่จะขายอาหารสุขภาพ ที่เน้นผักเหมือนร้านทั่วๆ ไป ซึ่งการแข่งขันสูงมาก Meloliz healthy กลับเลือก ขายขนมสุขภาพ เพื่อเลี่ยงการแข่งขันที่รุนแรงแทน

ผ่านวิกฤติ COVID-19 ไปด้วยกัน กับเทคนิคปรับตัวของร้านอาหารในช่วงวิกฤติ COVID-19 จาก Penguin Eat Shabu

Penguin Eat Shabu ในสถานการณ์ที่อะไรๆ ก็ดูไม่เป็นใจ มองไปทางไหนก็เห็นแต่ความเศร้าปกคลุม จะดีกว่าไหม ถ้าเรามาเติมไฟในตัวให้ลุกโชนด้วยการนั่งดูสาระดีๆ เก็บความรู้ไปต่อยอด สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารผ่าน LIVE บนช่องทาง LINE Official Account : LINE for Business กันดีกว่าครับ เมื่อวันศุกร์ที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา ผมได้นั่งฟัง “คุณต่อ-ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี ผู้ร่วมก่อตั้ง Penguin Eat Shabu” พูดคุยถึงเรื่อง ธุรกิจร้านอาหารต้องปรับตัวอย่างไรในช่วง COVID-19? พร้อมคุณโซอี้-ภญ.โสภา พิมพ์สิริพานิชย์ LINE Certified Coach ที่มาให้ความรู้เพิ่มเติมในการใช้ LINE เพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างน่าสนใจมาก ผมเลยนำประเด็นมาสรุปและเรียบเรียงออกมาให้เพื่อนๆ อ่านกันครับ Penguin Eat Shabu ไม่อร่อย ให้ต่อยเพนกวิ้น ร้านบุฟเฟ่ต์ชาบูขวัญใจทั้งวัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ ที่มาพร้อมกับสโลแกนน่ารักๆ ว่า “ไม่อร่อย ให้ต่อยเพนกวิ้น” […]

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท เอเอ็มอี อิมเมจิเนทีฟ จำกัด
ในเครือ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

ติดต่อแจ้งปัญหาหรือร้องเรียน
02-422-9999 ต่อ 4180
(จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น)
bdcx@amarin.co.th

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.