ปั้น พนักงานร้านอาหาร ให้บริการลูกค้าเหมือนเจ้าของร้าน
ทำยังไงให้พนักงานบริการดี ? นี่คือปัญหาลำดับต้นๆ ที่เจ้าของร้านอาหารส่วนใหญ่มักเจอ เพราะไม่ว่าจะเทรนด์พนักงานสักเท่าไร ก็ยังบริการไม่ดีเท่าที่เราคาดหวัง แล้วอย่างนี้จะมีวิธีไหนที่ช่วยให้พนักงานบริการดี เทียบเท่ากับที่เจ้าของร้านบริการเองได้บ้าง เราได้รวบรวมเทคนิคดีๆ จากการสัมภาษณ์เจ้าของร้านอาหารหลายๆ ร้าน ที่ใช้ในการ ปั้น พนักงานร้านอาหาร ให้บริการดี เหมือนที่เราบริการลูกค้าเองมาฝาก
1.ซื้อใจด้วยการกระทำ มากกว่าคำพูด
ปัญหาสำคัญที่ทำให้พนักงานบริการไม่ดีนัก มักมาจากตัวเจ้าของร้านเอง เจ้าของร้านอาหารหลายๆ รายมักใช้วิธี “บอกหรือสั่ง” ให้ลูกน้องทำตาม เช่น บริการลูกค้าดีๆ หน่อย ยิ้มให้เยอะๆ เขาจะได้ประทับใจ แต่ตัวเองกลับมีสีหน้าเคร่งเครียดทุกวัน ไม่เคยยิ้มแย้มเลย อย่างนั้นจะคาดหวังให้ลูกน้องบริการลูกค้าดี ได้อย่างไร
หรืออีกกรณีหนึ่งคือ สัญญากับลูกน้องว่าจะทำสิ่งนี้ให้ เช่น ขึ้นเงินเดือน มีโบนัส หรือแก้ปัญหาที่ลูกน้องกำลังเผชิญ แต่สุดท้ายก็ไม่ทำตามคำสัญญา ลูกน้องก็จะเริ่มหมดศรัทธาในตัวคุณ จนไม่อยากทุ่มเทในการทำงานอีกต่อไป
ฉะนั้นการทำให้ลูกน้องได้เห็น พิสูจน์ด้วยการกระทำ คือสิ่งสำคัญที่เจ้าของร้านต้องทำ เพราะจะทำให้เขารู้สึกเชื่อมั่น เชื่อใจว่าคุณเป็นต้นแบบที่ดีให้พวกเขาได้ จำไว้เสมอว่า “ถ้าอยากให้ลูกน้องบริการลูกค้าแบบไหน เราก็จงทำเช่นนั้น”
2.ให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม
“อย่าคาดหวังงานที่มีคุณภาพสูง จากค่าตอบแทนที่ต่ำ” นี่คือประโยคสุดคลาสิกที่เจ้าของร้านอาหารต้องรู้ ลองคิดดูง่ายๆ ถ้าคุณได้เงินเดือนต่ำมาก ไม่สมกับค่าเหนื่อยที่เสียไป เจ้าของร้านจ่ายเงินตรงเวลาบ้าง ไม่ตรงเวลาบ้าง หรือจ่ายขาด โอทีไม่ครบคุณจะตั้งใจทำงาน ทุ่มเทในหน้าที่หรือเปล่า คำตอบก็คงไม่
สิ่งที่ทุกคนคาดหวังจากการทำงานคือค่าตอบแทนที่คุ้มค่า ฉะนั้นเจ้าของร้านต้อง “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ลองคิดว่าตัวเองเป็นพนักงานคนหนึ่ง แล้วอยากให้ร้าน ทำอะไรให้บ้าง ก็ควรจะทำเช่นนั้นให้ลูกน้องเหมือนกัน
3.อย่าดูแลแค่ในหน้าที่
เจ้าของร้านอาหารบ้างคนมักแยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวชัดเจน พนักงานมีหน้าที่ทำงาน รับเงินเดือน เจ้าของร้านก็มีหน้าที่จ่ายเงินเมื่อถึงเวลาที่กำหนดเท่านั้น แม้ว่าการทำแบบนี้จะมีข้อดีคือ เจ้าของร้านไม่ต้องเหนื่อยรับฟังปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่ข้อเสียก็มีเช่นกัน เพราะเมื่อช่องว่างระหว่างพนักงานกับเจ้าของร้านมีมากเกินไป เวลาที่งานมีปัญหา เขาก็จะไม่กล้าบอก กว่าเจ้าของร้านจะรู้อีกที ปัญหาก็อาจลุกลามจนแก้ไขได้ยากแล้ว และเขาจะรู้สึกว่าตัวเองก็แค่ทำตามหน้าที่ ไม่ต้องทุ่มเทอะไรมากมาย เพราะเจ้าของร้านก็ไม่เคยใส่ใจ หรือทุ่มเทเพื่อเขาเหมือนกัน
ดังนั้นหากอยากให้พนักงานรู้สึกอยากทุ่มเทให้ร้านมากขึ้น ลองเข้าไปคลุกคลีกับพวกเขา รับรู้ความเป็นไป ดูแลให้มากกว่าการเป็นนายจ้างกับลูกน้อง เขาจะเริ่มซึมซับกับวัฒนธรรมนี้และดูแลลูกค้าเหมือนที่เราดูแลเขา
4.ให้ความสำคัญกับความคิดเห็น
บางคน อาจเห็นว่าพนักงานเป็นแค่ลูกน้อง ไม่ได้มีหน้าที่ในการช่วยวางแผน แก้ไข หรือพัฒนาร้าน จึงเลือกวางแผนทุกอย่างเองและให้ลูกน้องทำตามเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว ความคิดเห็นของพนักงานคือสิ่งสำคัญมาก อย่าลืมว่าเขาคือคนที่ทำงานทุกวัน อยู่กับร้านตลอดเวลา เห็นถึงกระบวนการและปัญหาต่างๆ มาโดยตลอด ดังนั้นลองรับฟังคำแนะนำจากพวกเขาดู เพราะนอกจากร้านจะได้วิธีการดีๆ มาพัฒนาหรือปรับปรุงร้านแล้ว ยังทำให้พนักงานรู้สึกภาคภูมิใจ ที่ความคิดเห็นของตัวเองมีส่วนช่วยร้านพัฒนายิ่งขึ้น ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ และอยากจะช่วยทำให้ร้านของคุณเติบโตต่อไป
5.สวัสดิการต้องพร้อม
สวัสดิการคือสิ่งที่ลูกน้องคาดหวังจากการทำงาน (ไม่แพ้เงินเดือน) ร้านอาหารหลายๆ ร้านมักบอกกับเราว่า สวัสดิการคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้พนักงานอยากทำงานกับร้านนานๆ โดยสวัสดิการที่ว่านี้ เช่น อาหารกลางวัน ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทาง ลาพักร้อน ลาป่วย ยูนิฟอร์มพนักงาน ที่พัก ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้พนักงานรู้สึกมั่นคงในการทำงานมากขึ้น และอยากจะทำงานให้คุ้มค่ากับสิ่งที่เจ้าของร้านมอบให้
6.คำชมต้องขยาย คำต่อว่าต้องส่วนตัว
ข้อสุดท้ายเป็นเรื่องของหลักจิตวิทยา สำหรับพนักงานที่ทำหน้าที่ได้ดี ย่อมต้องการคำชมเชย เพื่อเป็นกำลังใจในการทำงาน และหากเราชมต่อหน้าคนอื่นๆ ก็ยิ่งทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจยิ่งขึ้น
แต่ข้อควรระวังคือ เจ้าของร้านต้องชมพนักงานด้วยใจที่เป็นกลาง ชมที่เนื้องานจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดข้อครหาว่าพนักงานคนนี้เป็น “คนโปรด” กลายเป็นข้อขัดแย้งได้ แต่ถ้าใครกังวลกับปัญหานี้อาจใช้วิธีให้พนักงานคนอื่นๆ ร่วมกันโหวต ว่าใครทำหน้าที่ได้ดีที่สุด แล้วให้รางวัลตอบแทน ก็จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้
กลับกัน หากพนักงานทำผิด ไม่ควรต่อว่าเขาต่อหน้าพนักงานคนอื่นๆ อย่างรุนแรง อาจใช้วิธีตักเตือนได้ เพื่อไม่ให้คนอื่นทำตามได้ แต่ถ้าจะต่อว่าหรือตำหนิอย่างจริงๆ จังๆ ควรเรียกมาคุยส่วนตัว เพื่อไม่ให้พนักงานคนนั้นรู้สึกเสียหน้า หรืออับอาย และเปิดโอกาสให้เขาได้แก้ไขปรับปรุงตัวได้สะดวกใจยิ่งขึ้น (ไม่ต้องมานั่งกังวลกับสายตาและคำนินทาของเพื่อนร่วมงานว่า “โดนด่ายับ” )
การทำเช่นนี้จะทำให้พนักงานรู้สึกว่าเจ้าของร้านเข้าอกเข้าใจเขา และอยากทุ่มเทให้ร้านมากยิ่งขึ้น เป็นการตอบแทน
6 ข้อนี้คือส่วนหนึ่งของปัจจัยที่ทำให้พนักงานบริการดี อยากทุ่มเทกับร้านมากยิ่งขึ้น แต่มีอีกสิ่งสำคัญที่เจ้าของร้านจะมองข้ามไม่ได้คือ ต้อง “จริงใจ” กับลูกน้อง เพราะถ้าเขารู้สึกว่าเจ้าของร้าน “ให้ใจ” เขาก็จะให้ใจคุณกลับเช่นกัน