8 ค่าใช้จ่ายไม่คาดคิด ในการเปิดร้านอาหาร - Amarin Academy

8 ค่าใช้จ่ายไม่คาดคิด ในการเปิดร้านอาหาร

8 ค่าใช้จ่ายไม่คาดคิด ในการเปิดร้านอาหาร

สิ่งที่คนเริ่มต้นทำร้านอาหารควรจะต้องคำนึงถึงก็คือ ค่าใช้จ่ายไม่คาดคิด ในการเปิดร้านอาหาร ซึ่งอาจกระทบโดยตรงต่อการลงทุนและการดำเนินงานในภายหลัง

เหตุผลหลักที่ทำให้คนทำร้านอาหารไม่ประสบความสำเร็จ เพราะวางแผนการลงทุนผิดพลาด พวกเขามักลงทุนมากกว่าที่ตั้งไว้ แต่รายได้กลับไม่เป็นไปตามเป้า

ขนาดผมเป็นสถาปนิกและมีประสบการณ์ในการเปิดร้านอาหารทั้งของตัวเองและคนอื่นมาไม่ต่ำกว่า 10 ร้าน ก็ยังเจอค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดอยู่ตลอด วันนี้เลยถือโอกาสรวบรวม 8 ค่าใช้จ่ายไม่คาดคิด ในการเปิดร้านอาหาร จากประสบการณ์โดยตรงมาให้ดูกัน

  1. ค่ามัดจำสถานที่และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง

ถ้าคุณไม่ได้เปิดร้านอาหารบนที่ดินของตัวเอง ค่ามัดจำสถานที่เป็นสิ่งที่คุณหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ปกติค่ามัดจำพื้นที่นอกห้างสรรพสินค้าจะอยู่ประมาณ 3 เดือนของค่าเช่า ส่วนค่ามัดจำพื้นที่ในห้างฯ คือ 6 เดือน ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ อาจเป็นเงินก้อนใหญ่ที่สุด รองจากค่าตกแต่งร้านได้เลย

นอกจากค่ามัดจำแล้ว เจ้าของพื้นที่เช่าส่วนใหญ่จะให้ชำระค่าเช่าล่วงหน้า 1 เดือนก่อนเริ่มทำงาน รวมไปถึงค่าประกันภัยและค่าธรรมเนียมสถานที่ต่างๆ หมายความว่า คุณควรจะเตรียมเงินสำหรับหัวข้อนี้ไม่น้อยกว่า 4-7 เดือนของค่าเช่า

  1. ค่าก่อสร้างที่ over budget

หลังทำสัญญากับผู้รับเหมาแล้ว อย่าลืมเผื่องบประมาณไว้ไม่น้อยกว่า 10-15 % เพราะแทบไม่มีร้านไหนจบงบประมาณตามแผนได้เลย เนื่องจากคุณมีโอกาส (สูงมาก) ที่จะเจอค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ไม่คาดฝัน ไม่ว่าจะเป็นความต้องการที่เพิ่มขึ้นของเจ้าของเอง เช่น เพิ่มตำแหน่งไฟฟา อัพเกรดวัสดุตกแต่ง อุปสรรคหน้างานที่ไม่สามารถทำตามที่ออกแบบได้ ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงแบบ เป็นต้น

  1. ค่าอุปกรณ์ครัวที่ไม่คาดคิด

หากคุณไม่ใช่เชฟหรือไม่เคยมีประสบการณ์ทำร้านอาหารมาก่อน รับรองได้ว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้อาจทำให้คุณหงายหลังได้เลย อุปกรณ์ครัวเป็นส่วนที่ประเมินค่าใช้จ่ายได้ยากที่สุดส่วนหนึ่ง อุปกรณ์บางอย่างแค่คนละยี่ห้ออาจมีราคาต่างกันหลายสิบเท่า ฉะนั้นการปรึกษากับเชฟหรือคนทำร้านอาหารที่มีประสบการณ์ก่อนเริ่มทำร้าน ย่อมทำให้คุณสามารถประเมินค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้แม่นยำมากขึ้น

  1. ค่าขออนุญาตและ ใบอนุญาตต่างๆ

กว่าจะเปิดร้านอาหารได้ เจ้าของต้องทำเรื่องขออนุญาตและใบอนุญาตต่างๆ เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่การก่อสร้าง (หากคุณเริ่มสร้างร้านจากที่ดินเปล่า) ไปจนถึงตอนที่กำลังจะเปิดร้าน เช่น การขอใบอนุญาตจำหน่ายสุรา การจดทะเบียนพาณิชย์ หรือบางร้านที่จดเป็นนิติบุคคลก็จะมีค่าใช้จ่ายมากกว่าร้านปกติ

แม้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อาจจะไม่ได้มากมาย แต่หากคุณละเลยจนโดนปรับ รับรองว่านอกจากค่าปรับสูงกว่าค่าขออนุญาตหลายเท่าแล้ว อาจทำให้ร้านโดนปิดจนสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมากก็ได้

  1. ค่าจ้างพนักงานก่อนเปิดร้าน

ก่อนเปิดร้านคุณจำเป็นต้องจ้างพนักงานล่วงหน้า ไม่เช่นนั้นร้านคุณได้วุ่นวายแน่นอน ตำแหน่งสำคัญเช่น เชฟ ผู้จัดการร้าน หรือแคชเชียร์ รวมถึงพนักงานเสริฟ์บางตำแหน่ง จำเป็นที่จะต้องถูกฝึกก่อนเปิดร้านไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวหน้าเชฟที่มีส่วนช่วยเราคิดเมนูด้วยแล้ว ควรเข้ามาตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบด้วยซ้ำ เพราะจะช่วยลดความผิดพลาดจากการวางตำแหน่งงานระบบลงไปได้

อ่านเพิ่มเติม 10 พฤติกรรมพนักงานบริการที่ร้านอาหารควรปรับปรุง

  1. ค่าวัตถุดิบช่วงเปิดร้าน

ถ้าร้านคุณมีเมนูใหม่ ที่ยังไม่เคยทำมาก่อน การทดลองเมนูช่วงก่อนเปิดร้าน รวมถึงการทำ Soft Opening จะช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่ารสชาติอาหารในมุมมองลูกค้าเป็นไปตามที่คิดไว้หรือยัง แถมยังเป็นการตรวจสอบว่าต้นทุนวัตถุดิบเป็นไปตามที่คุณวางแผนไว้ในตอนต้นหรือไม่ ข้อนี้ยังรวมไปถึงการสต๊อกวัตถุดิบในช่วงที่คุณกำลังจะเปิดร้านด้วย ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประเภทอาหารที่คุณขาย ยิ่งคุณมีเมนูที่หลากหลายเท่าไร นั่นหมายถึงต้นทุนการสต๊อกวัตถุดิบที่จะเพิ่มขึ้น

  1. ค่าโฆษณาและการตลาด

ร้านส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเผื่อเงินไว้สำหรับการโฆษณาหรือทำการตลาดก่อนเปิดร้านสักเท่าไร เพราะมักคิดว่าเปิดร้านเสร็จแล้วค่อยโฆษณาก็ได้ ถึงแม้ร้านคุณจะดีแค่ไหน ถ้าลูกค้าไม่รู้จักหรือไม่เคยแม้แต่ได้ยินชื่อ ร้านดีแค่ไหน อร่อยแค่ไหนก็เปล่าประโยชน์ เงินส่วนนี้รวมไปถึงงบประมาณในการทำโปรโมชั่นในช่วงเปิดร้าน เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้ามาทดลองร้านคุณด้วย

  1. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ

นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เช่น ค่าอุปกรณ์และซอรฟ์แวร์ POS ค่าประกันภัย ค่าลิขสิทธ์เพลง ค่าจ้างที่ปรึกษาต่างๆ ฯลฯ และอาจมีรายละเอียดนอกเหนือจากนี้อีก ที่อาจจะไม่ได้นึกถึงต่อให้คุณมีประสบการณ์แค่ไหนก็ตาม ทางที่ดีที่สุดคือ การเผื่องบประมาณไว้ระดับหนึ่ง จากงบประมาณทั้งหมด และพยายามควบคุม ตรวจสอบการลงทุนเพื่อให้เงินที่ลงไปเกิดประโยชน์สูงสุด

งบประมาณถือเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าลองศึกษาดีๆ เผื่อเงินไว้สักก้อน รับรองว่าคุณไม่ต้องมานั่งกุมขมับกับงบประมาณที่บานปลายแน่นอน

เรื่องแนะนำ

หุ้นกับเพื่อนเปิดร้านอาหารดี….แต่ต้องคุยเรื่องนี้กันก่อน

คนที่มีความฝันเหมือนกัน ตกลงจับมือร่วมกันทำธุรกิจร้านอาหาร แต่เมื่อลงขันร่วมกันแล้ว กลับขัดแย้งกันในทุกเรื่อง ก็ไม่สามารถทำร้านอาหารให้ประสบความสำเร็จได้   เมื่อต้องลงเรือลำเดียวกัน เป้าหมายในการทำร้านอาหาร และทัศนคติในการทำธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทำความรู้จักหุ้นส่วนให้มากพอ นอกจากนี้การเลือกหุ้นส่วนที่มีความถนัดที่แตกต่างกันจะช่วยส่งเสริมในส่วนที่อีกฝ่ายหนึ่งขาด และควรมอบสิทธิ์ขาดในการตัดสินใจในเรื่องที่แต่ละคนถนัดดูแล ก็เป็นอีกแนวทางในการสรุปข้อขัดแย้งที่เกิดจากการคิดเห็นที่ไม่ตรงกันได้   ลงทุนกับลงแรง การลงทุนทำร้านอาหารกับเพื่อนมักเป็นลักษณะลงทั้งทุนและแรงด้วยกัน เมื่อมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องทำมากกว่า หรือได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่า จะนำไปสู่ข้อขัดแย้งได้มากที่สุด เพราะฉะนั้นต้องแบ่งเรื่องงานและเรื่องเงินให้ลงตัว ถ้าลงแรงด้วยควรกำหนดค่าตอบแทนเงินเดือนให้อยู่ในค่าใช้จ่าย ในขณะเดียวกันควรมีระบบตรวจสอบที่โปร่งใส และสัดส่วนต้องเป็นไปตามเงินลงทุนตามหุ้นที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรก   ไม่มีสัญญาใจ ในโลกของการทำธุรกิจ อย่าทำสัญญาปากเปล่าแม้ว่าจะเป็นเพื่อนสนิทหรือคนรัก ถึงจะเป็นแค่ร้านอาหาร หรือร้านกาแฟเล็ก ๆ ที่เริ่มต้นลงทุนไม่กี่บาทก็ตาม การเขียนข้อสัญญาร่วมกันมีผลทางด้านกฎหมาย ซึ่งจะต้องกำหนดบทบาทหน้าที่รับผิดชอบ เงินลงทุน จำนวนหุ้น  การคิดเงินปันผลและระยะเวลาในการคืนผลกำไร ยังเป็นหลักฐานการจ่ายเงิน ที่ยืนยันการร่วมลงทุนระหว่างคุณและหุ้นส่วน ซึ่งหากสุดท้ายเกิดปัญหาจนไปต่อไม่ได้ ข้อกำหนดที่ทำร่วมกันยังเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายในการหาข้อสรุปข้อขัดแย้งร่วมกันด้วย   อย่าอะไรก็ได้….แผนธุรกิจต้องชัดเจน ช่วงเริ่มต้นอะไรก็ดี เพราะไม่มีใครมองเห็นถึงปัญหา และมักจะตกม้าตายด้วยความคิดที่ว่าคนกันเองไม่โกงแน่นอน แผนธุรกิจจะช่วยให้การทำกิจการร้านอาหารเป็นไปอย่างมีทิศทาง ทั้งงบประมาณในการลงทุน การทำการตลาด การพัฒนาสินค้าและบริการ เป้าหมายธุรกิจ รวมถึงระยะเวลาในการลงทุนเพิ่ม ควรเลือกที่จะทะเลาะกันตั้งแต่มันอยู่ในกระดาษ ก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติงานจริงที่เป็นการตกลงแล้วของทุกฝ่ายเท่านั้น    อย่ามองข้าม…เรื่องเล็กที่กลายเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เพียงแค่ผลประโยชน์ที่ทำให้หุ้นส่วนร้านขัดแย้งกันเสมอไป […]

Cloud Kitchen

Cloud Kitchen เช่าครัวลดต้นทุน-ขยายสาขาได้ไม่ยาก

ในปัจจุบันมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบ Cloud มากมาย ซึ่งมีทั้งการใช้เก็บข้อมูล การดูหนังฟังเพลงออนไลน์ และยังขยายมาถึงธุรกิจอาหารอย่าง “ Cloud kitchen ” ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจอาหารที่กำลังมาแรงในช่วงนี้ โมเดลนี้มีจุดเด่นอย่างไร และเหมาะกับร้านอาหารแบบไหน มาหาคำตอบจากบทความนี้กันครับ  Cloud Kitchen เช่าครัวลดต้นทุน-ขยายสาขาได้ไม่ยาก  Cloud.kitchen คือ ? Cloud.kitchen เป็นร้านอาหารในรูปแบบไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน มีแค่ครัวสำหรับทำอาหารส่งทางเดลิเวอรีเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็น Ghost kitchen ในแบบที่มีความร่วมมือทางธุรกิจมากขึ้น จากมีการใช้ “ครัวกลาง” ซึ่งเป็นการเช่าพื้นที่ทำครัวและอุปกรณ์ต่างๆ แชร์ร่วมกับร้านอาหารแบรนด์อื่นด้วย เข้าร่วมครัวกลางได้ประโยชน์อย่างไร ?  จุดเด่นสำหรับโมเดลนี้ จะคล้ายกับการเปิด Ghost kitchen ก็คือต้นทุนที่ลดลงมากในส่วนของค่าเช่าที่ การตกแต่งร้าน ค่าแรงพนักงาน และยังช่วยแก้ปัญหาทำเลของร้าน ซึ่งโดยปกติแล้วทำเลที่ดีจะมีราคาสูง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหรือการเช่าพื้นที่ การเช่าครัวกลางจึงช่วยให้ร้านสามารถจัดตั้งอยู่ในทำเลที่ดี สะดวกต่อการจัดส่งถึงลูกค้ามากขึ้น โดยไม่ต้องใช้ค่าเช่าที่ในราคาแพง หรือกังวลว่าพื้นที่ร้านจะเล็กเกินไปหรือไม่  ธุรกิจอาหารแบบไหนที่เหมาะกับโมเดลนี้ โมเดลนี้นอกจากจะเหมาะสำหรับการทดลองเปิดร้านอาหารใหม่แล้ว ยังเปิดโอกาสให้ร้านอาหาร สามารถขยายสาขาร้านได้ในงบประมาณที่ไม่สูงจนเกินไป โดยเฉพาะในรูปแบบเดลิเวอรี ไม่ต้องเปิดหน้าร้านเต็มรูปแบบ บริหารจัดการได้ง่ายขึ้น แค่เช่าพื้นที่และจ้างพนักงานมาทำอาหารในครัว […]

copper buffet

ถอดบทเรียน Copper Buffet ทำอย่างไรให้ยอดขายทะลุร้อยล้าน!

Copper Buffet ร้านอาหารที่มาแรงสุดๆ ในตอนนี้ เราจะมาถอดบทเรียนให้ฟังว่า เพราะอะไรร้านที่ไม่ได้อยู่ใจกลางเมือง กลับมีลูกค้าจองเต็มแทบทุกวัน!

5 คุณสมบัติที่ ผู้จัดการร้าน ต้องมี แล้วร้านคุณจะไม่มีวันเจ๊ง

ผู้จัดการร้าน เปรียบเสมือนตัวแทนของเจ้าของร้านอาหาร  ถ้าผู้จัดการร้านทำหน้าที่ได้อย่างดี เจ้าของร้านอาหารแทบจะไม่ต้องแก้ปัญหาจุกจิกใด ๆ เลย และยังมีส่วนสำคัญให้ร้านของคุณเติบโตได้ตามเป้าหมายอีกด้วย   5 คุณสมบัติที่ ผู้จัดการร้าน ต้องมี แล้วร้านคุณจะไม่มีวันเจ๊ง เก่งคน             การจัดสรรหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงานให้เหมาะสม  ให้คำแนะนำในการทำงานแก่พนักงาน  ผู้จัดการที่ดีจะต้องเป็นตัวแทนในการคัดเลือก ฝึกอบรม จ้างพนักงาน รักษาพนักงานที่ดี และคัดพนักงานที่เป็นปัญหาออก รวมถึงการสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานอีกด้วย ถ้าผู้จัดการร้านไม่สามารถจัดการทีมงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะถ้าเกิดปัญหาหน้างานขึ้นมาแล้วก็เหมือนงูกินหาง ทำให้ร้านล้มเหลวไม่เป็นท่าในที่สุด   เก่งลูกค้า             ผู้จัดการร้านอาหารจะต้องมีหน้าที่ตรวจสอบความพึงพอใจของลูกค้า ควบคุมและพัฒนาการบริการของพนักงานเพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจ   และฝึกให้สามารถรับมือกับลูกค้าเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี เพราะหากลูกค้าไม่พอใจด่านสำคัญที่จะต้องตัดสินใจแก้ปัญหาคือ ผู้จัดการร้าน  นอกจากกำหนดนโยบายในการรับมือถ้าหากลูกค้าไม่พอใจแล้ว เจ้าของร้านควรให้บทบาทที่เหมาะสมในการตัดสินใจแก่ผู้จัดการร้านไว้เป็นกิจจะลักษณะ เช่น สิทธิในการให้ส่วนลดเพื่อชดเชยความไม่พอใจแก่ลูกค้า   เก่งวางแผน             หน้าที่ในการตรวจเช็คของใช้ต่าง ๆ ที่จำเป็น ตั้งแต่ของเล็กน้อย อย่างกระดาษเช็ดปาก ที่รองจาน อุปกรณ์ตกแต่ง ของใช้จำเป็นอื่น ๆ รวมถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อมในการใช้งาน การจัดทำสต็อกสินค้าเพื่อจัดซื้อตามรอบ ในบางร้านอาจต้องประสานกับทีมครัวเพื่อจัดซื้อวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ เพราะฉะนั้นความละเอียดรอบคอบ และความสามารถในการคาดการณ์จำนวนให้เพียงพอต่อการใช้งานจึงเป็นสิ่งจำเป็น […]

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท เอเอ็มอี อิมเมจิเนทีฟ จำกัด
ในเครือ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

ติดต่อแจ้งปัญหาหรือร้องเรียน
02-422-9999 ต่อ 4180
(จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น)
bdcx@amarin.co.th

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.