8 ค่าใช้จ่ายไม่คาดคิด ในการเปิดร้านอาหาร - Amarin Academy

8 ค่าใช้จ่ายไม่คาดคิด ในการเปิดร้านอาหาร

8 ค่าใช้จ่ายไม่คาดคิด ในการเปิดร้านอาหาร

สิ่งที่คนเริ่มต้นทำร้านอาหารควรจะต้องคำนึงถึงก็คือ ค่าใช้จ่ายไม่คาดคิด ในการเปิดร้านอาหาร ซึ่งอาจกระทบโดยตรงต่อการลงทุนและการดำเนินงานในภายหลัง

เหตุผลหลักที่ทำให้คนทำร้านอาหารไม่ประสบความสำเร็จ เพราะวางแผนการลงทุนผิดพลาด พวกเขามักลงทุนมากกว่าที่ตั้งไว้ แต่รายได้กลับไม่เป็นไปตามเป้า

ขนาดผมเป็นสถาปนิกและมีประสบการณ์ในการเปิดร้านอาหารทั้งของตัวเองและคนอื่นมาไม่ต่ำกว่า 10 ร้าน ก็ยังเจอค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดอยู่ตลอด วันนี้เลยถือโอกาสรวบรวม 8 ค่าใช้จ่ายไม่คาดคิด ในการเปิดร้านอาหาร จากประสบการณ์โดยตรงมาให้ดูกัน

  1. ค่ามัดจำสถานที่และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง

ถ้าคุณไม่ได้เปิดร้านอาหารบนที่ดินของตัวเอง ค่ามัดจำสถานที่เป็นสิ่งที่คุณหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ปกติค่ามัดจำพื้นที่นอกห้างสรรพสินค้าจะอยู่ประมาณ 3 เดือนของค่าเช่า ส่วนค่ามัดจำพื้นที่ในห้างฯ คือ 6 เดือน ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ อาจเป็นเงินก้อนใหญ่ที่สุด รองจากค่าตกแต่งร้านได้เลย

นอกจากค่ามัดจำแล้ว เจ้าของพื้นที่เช่าส่วนใหญ่จะให้ชำระค่าเช่าล่วงหน้า 1 เดือนก่อนเริ่มทำงาน รวมไปถึงค่าประกันภัยและค่าธรรมเนียมสถานที่ต่างๆ หมายความว่า คุณควรจะเตรียมเงินสำหรับหัวข้อนี้ไม่น้อยกว่า 4-7 เดือนของค่าเช่า

  1. ค่าก่อสร้างที่ over budget

หลังทำสัญญากับผู้รับเหมาแล้ว อย่าลืมเผื่องบประมาณไว้ไม่น้อยกว่า 10-15 % เพราะแทบไม่มีร้านไหนจบงบประมาณตามแผนได้เลย เนื่องจากคุณมีโอกาส (สูงมาก) ที่จะเจอค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ไม่คาดฝัน ไม่ว่าจะเป็นความต้องการที่เพิ่มขึ้นของเจ้าของเอง เช่น เพิ่มตำแหน่งไฟฟา อัพเกรดวัสดุตกแต่ง อุปสรรคหน้างานที่ไม่สามารถทำตามที่ออกแบบได้ ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงแบบ เป็นต้น

  1. ค่าอุปกรณ์ครัวที่ไม่คาดคิด

หากคุณไม่ใช่เชฟหรือไม่เคยมีประสบการณ์ทำร้านอาหารมาก่อน รับรองได้ว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้อาจทำให้คุณหงายหลังได้เลย อุปกรณ์ครัวเป็นส่วนที่ประเมินค่าใช้จ่ายได้ยากที่สุดส่วนหนึ่ง อุปกรณ์บางอย่างแค่คนละยี่ห้ออาจมีราคาต่างกันหลายสิบเท่า ฉะนั้นการปรึกษากับเชฟหรือคนทำร้านอาหารที่มีประสบการณ์ก่อนเริ่มทำร้าน ย่อมทำให้คุณสามารถประเมินค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้แม่นยำมากขึ้น

  1. ค่าขออนุญาตและ ใบอนุญาตต่างๆ

กว่าจะเปิดร้านอาหารได้ เจ้าของต้องทำเรื่องขออนุญาตและใบอนุญาตต่างๆ เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่การก่อสร้าง (หากคุณเริ่มสร้างร้านจากที่ดินเปล่า) ไปจนถึงตอนที่กำลังจะเปิดร้าน เช่น การขอใบอนุญาตจำหน่ายสุรา การจดทะเบียนพาณิชย์ หรือบางร้านที่จดเป็นนิติบุคคลก็จะมีค่าใช้จ่ายมากกว่าร้านปกติ

แม้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อาจจะไม่ได้มากมาย แต่หากคุณละเลยจนโดนปรับ รับรองว่านอกจากค่าปรับสูงกว่าค่าขออนุญาตหลายเท่าแล้ว อาจทำให้ร้านโดนปิดจนสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมากก็ได้

  1. ค่าจ้างพนักงานก่อนเปิดร้าน

ก่อนเปิดร้านคุณจำเป็นต้องจ้างพนักงานล่วงหน้า ไม่เช่นนั้นร้านคุณได้วุ่นวายแน่นอน ตำแหน่งสำคัญเช่น เชฟ ผู้จัดการร้าน หรือแคชเชียร์ รวมถึงพนักงานเสริฟ์บางตำแหน่ง จำเป็นที่จะต้องถูกฝึกก่อนเปิดร้านไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวหน้าเชฟที่มีส่วนช่วยเราคิดเมนูด้วยแล้ว ควรเข้ามาตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบด้วยซ้ำ เพราะจะช่วยลดความผิดพลาดจากการวางตำแหน่งงานระบบลงไปได้

อ่านเพิ่มเติม 10 พฤติกรรมพนักงานบริการที่ร้านอาหารควรปรับปรุง

  1. ค่าวัตถุดิบช่วงเปิดร้าน

ถ้าร้านคุณมีเมนูใหม่ ที่ยังไม่เคยทำมาก่อน การทดลองเมนูช่วงก่อนเปิดร้าน รวมถึงการทำ Soft Opening จะช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่ารสชาติอาหารในมุมมองลูกค้าเป็นไปตามที่คิดไว้หรือยัง แถมยังเป็นการตรวจสอบว่าต้นทุนวัตถุดิบเป็นไปตามที่คุณวางแผนไว้ในตอนต้นหรือไม่ ข้อนี้ยังรวมไปถึงการสต๊อกวัตถุดิบในช่วงที่คุณกำลังจะเปิดร้านด้วย ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประเภทอาหารที่คุณขาย ยิ่งคุณมีเมนูที่หลากหลายเท่าไร นั่นหมายถึงต้นทุนการสต๊อกวัตถุดิบที่จะเพิ่มขึ้น

  1. ค่าโฆษณาและการตลาด

ร้านส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเผื่อเงินไว้สำหรับการโฆษณาหรือทำการตลาดก่อนเปิดร้านสักเท่าไร เพราะมักคิดว่าเปิดร้านเสร็จแล้วค่อยโฆษณาก็ได้ ถึงแม้ร้านคุณจะดีแค่ไหน ถ้าลูกค้าไม่รู้จักหรือไม่เคยแม้แต่ได้ยินชื่อ ร้านดีแค่ไหน อร่อยแค่ไหนก็เปล่าประโยชน์ เงินส่วนนี้รวมไปถึงงบประมาณในการทำโปรโมชั่นในช่วงเปิดร้าน เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้ามาทดลองร้านคุณด้วย

  1. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ

นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เช่น ค่าอุปกรณ์และซอรฟ์แวร์ POS ค่าประกันภัย ค่าลิขสิทธ์เพลง ค่าจ้างที่ปรึกษาต่างๆ ฯลฯ และอาจมีรายละเอียดนอกเหนือจากนี้อีก ที่อาจจะไม่ได้นึกถึงต่อให้คุณมีประสบการณ์แค่ไหนก็ตาม ทางที่ดีที่สุดคือ การเผื่องบประมาณไว้ระดับหนึ่ง จากงบประมาณทั้งหมด และพยายามควบคุม ตรวจสอบการลงทุนเพื่อให้เงินที่ลงไปเกิดประโยชน์สูงสุด

งบประมาณถือเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าลองศึกษาดีๆ เผื่อเงินไว้สักก้อน รับรองว่าคุณไม่ต้องมานั่งกุมขมับกับงบประมาณที่บานปลายแน่นอน

เรื่องแนะนำ

เจ๊จง หมูทอด

ถอดบทเรียน เจ๊จง หมูทอด ร้อยล้าน !

เจ๊จง หมูทอด เป็นร้านอาหารไม่กี่แห่งที่ขายดีมากอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีโอกาสคุยกับเจ๊จง เลยอดไม่ได้ที่จะชวนคุยถึงข้อคิดที่ทำให้ประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้

ทางออกร้านอาหาร ทำอย่างไรเมื่อ ต้นทุนอาหารแพง

ต้นทุนอาหารที่มีแนวโน้มว่า จะมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี นับว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เจ้าของร้านคิดหนัก ดังนั้น ถ้าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ต้องมาขึ้นราคาอาหารจนลูกค้าหนี ก็ต้องมีทางออกที่ดี มาดูกันว่า เจ้าของร้านต้องทำอย่างไรเมื่อ ต้นทุนอาหารแพง ขึ้นเรื่อยๆ   ทางออกร้านอาหาร ทำอย่างไรเมื่อ ต้นทุนอาหารแพง คาดการณ์ราคาวัตถุดิบให้ได้ สิ่งที่เจ้าของร้านอาหารต้องทำก่อนเปิดร้านอาหารก็คือ การกำหนดตัวเลขวัตถุดิบที่จะต้องสูงขึ้นในแต่ละปี เช่น วางแผนต้นทุนที่สูงขึ้นเฉลี่ยปีไว้ปีละ 5 เปอร์เซนต์  การคาดการณ์ล่วงหน้า เช่น มะนาวจะแพงขึ้นในเดือนเมษายนของทุกปีซึ่งเป็นหน้าแล้ง และมักจะฉุดราคาวัตถุดิบอื่น ๆ ให้ขึ้นไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นผัก แก๊สหุงต้ม น้ำมัน  หรือช่วงเทศกาลเจที่ผักจะมีราคาสูงขึ้น การประเมินสถานการณ์ จะช่วยให้สามารถกำหนดงบประมาณในการสั่งซื้อ หรือแผนการตลาดในช่วงนั้นๆ ได้ นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาของวัตถุดิบแบบฉับพลัน เช่น การผันผวนของเศรษฐกิจการเมือง หรือเกิดสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้ราคาของวัตถุดิบที่เป็นเมนูขายดีของร้านถีบตัวสูงขึ้น ยกตัวอย่าง ร้านของคุณเพิ่งเปิดใหม่ มีเมนูซิกเนเจอร์เป็นหอยสังข์ที่ได้รับความนิยม เปิดไปได้หนึ่งเดือนหอยสังข์ขาดตลาดราคาสูงลิ่ว การปรับเปลี่ยนราคา ปริมาณในการเสิร์ฟเพื่อลดต้นทุนทันที อาจส่งผลต่อการตอบรับของลูกค้าโดยตรง สิ่งที่จะทำให้การประเมินสถานการณ์เป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือ การมีระบบที่ช่วยบันทึกข้อมูลของวัตถุดิบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจำนวนที่ใช้ ราคา แหล่งซื้อ […]

เทคนิคตกแต่งจาน

เทคนิคตกแต่งจาน ช่วยประหยัดวัตถุดิบ

แต่งจานไปทำไม ในเมื่อไม่มีใครสนใจ และนอกจากลูกค้าไม่กินแล้ว ยังถือเป็นค่าใช้จ่ายที่คุณต้องแบบรับอีกด้วย เราจึงมี เทคนิคตกแต่งจาน ฉบับประหยัดวัตถุดิบมาแนะนำ

ธุรกิจขนาดเล็ก

กลยุทธ์ในการรับมือปัญหาใหญ่ของ ธุรกิจขนาดเล็ก

เจ้าของธุรกิจอาจต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายมากมาย จากการบริหารจัดการและการเติบโตของธุรกิจ แต่ถ้ามองให้เรื่องท้าทายเป็นโอกาสและเป็นตัวช่วยให้คุณเข้มแข็งขึ้น นั่นก็จะเป็นพลังสำคัญในการผลักดันให้ธุรกิจของคุณเติบโต

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2023 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.