จัดการเงินทุนหมุนเวียน ป้องกันอาการ ขายดีจนเจ๊ง
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ขายดีจนเจ๊ง กันมาบ้างแล้ว อาการอย่างนี้มักเกิดกับธุรกิจที่ไม่ได้มีการวางแผน เรื่องการจัดการเงินทุนหมุนเวียน หากคุณกำลังสงสัยว่าธุรกิจของตัวเอง กำลังเข้าข่ายมีความเสี่ยงในด้านขาดสภาพคล่องอยู่หรือไม่ ลองมาตรวจเช็กเหล่านี้ดู
-ธุรกิจของคุณ…มีหนี้สินหมุนเวียน สูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน
-ธุรกิจของคุณ…มีอัตราการหมุนเวียนของสินค้าช้าลง (สต๊อกสินค้ามาก แต่ปล่อยสินค้าออกได้ช้า)
-ธุรกิจของคุณ…มีระยะเวลาในการเก็บหนี้ที่ยาวขี้น (ลูกหนี้การค้าที่ยังไม่พร้อมจ่ายเงินให้)
-ธุรกิจของคุณ…ไม่มีอำนาจในการต่อรองกับเจ้าหนี้การค้า ทำให้ต้องซื้อสินค้าโดยการจ่ายเงินสดทันทีที่ได้รับสินค้า
-ธุรกิจของคุณ…จำเป็นต้องหาแหล่งเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยสูงกว่าปกติ
-ธุรกิจของคุณ…มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานติดลบ
หากธุรกิจของคุณกำลังประสบกับสัญญาณเหล่านี้อยู่ นั่นแสดงว่าธุรกิจเริ่มมีความเสี่ยงในด้านขาดสภาพคล่องกันแล้ว
เรื่องที่ทำให้เงินหล่นหายไปอย่างไม่รู้ตัว อาจมาจากหลายปัจจัย ทั้งลืมคิดเงินเดือนตัวเอง ค่าเสื่อมราคา ของหมดอายุการใช้งาน ค่าใช้จ่ายการตลาด การทำ Branding และ Digital marketing ค่าใช้จ่ายด้านบริหารเอกสารต่างๆ ภาษีที่ต้องจ่าย รวมไปถึงการสต๊อกสินค้าเอาไว้เยอะแต่กลับขายไม่ออก
ในเรื่องการจัดการสภาพคล่อง สิ่งที่เริ่มได้ในทันทีคือการจัดการสต๊อก โดยไม่ควรเก็บสต๊อกให้มากจนเกินความจำเป็น เพราะจะทำให้สูญเสียโอกาสในการนำเงินสดไปบริหารจัดการในด้านอื่น
ในหลายธุรกิจ มักมีการบันทึกข้อมูลลูกค้าเอาไว้อยู่แล้วว่า พฤติกรรมของลูกค้าเป็นอย่างไร มียอดใช้จ่ายต่อคนเท่าไหร่ ลูกค้าเข้าร้านมากในช่วงวันและเวลาไหน ก็สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องในสินทรัพย์หมุนเวียนให้มากขึ้น
สำหรับเทคนิคในการจัดการเงินทุนหมุนเวียน ให้มีประสิทธิภาพ ที่เจ้าของธุรกิจควรรู้มี 4 ข้อ ดังนี้
1.เรียกเก็บเงินทันที หรือ มีการเจรจาข้อตกลงกันล่วงหน้า ในการกำหนดชำระเงินอย่างสม่ำเสมอ แทนที่จะปล่อยให้มียอดหนี้สะสมจนสิ้นสุดโครงการ
2.สร้างแรงจูงใจในการชำระเงินของลูกหนี้ ให้เร็วขึ้นกว่าเดิม เช่น เสนอลดให้ 1 – 2 % หากชำระภายใน 10 วัน
3.พยายามเลือกลูกค้า หลีกเลี่ยงลูกค้าประเภทชำระหนี้ช้าหรือไม่ชำระหนี้ตั้งแต่ต้น
4.ลดปริมาณสินค้าคงคลัง พยายามไม่สต๊อกสินค้าเอาไว้มากเกินความจำเป็น หรือ หาวิธีบริหารจัดการสต๊อกที่ดี ที่สามารถหมุนเวียนสินค้าออกได้ในเวลาอันรวดเร็ว
สิ่งสำคัญที่สุด ในการประคองธุรกิจให้ดำเนินไปได้คือ กิจการต้องมีเงินสดเพียงพอที่จะใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น ถึงแม้ปัจจุบันอาจจะขาดทุน แต่หากยังมีสภาพคล่อง กิจการก็มีโอกาสที่จะฟื้นตัวและสร้างกำไรได้อีกในอนาคต
บทความที่เกี่ยวข้อง
จัดการเงินธุรกิจ ก่อนจะ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง”
4 กลโกง พนักงาน รูรั่วทางการเงินที่มองข้ามไม่ได้!
บริหารเงินในธุรกิจ ทำไมต้องแยกเงินธุรกิจ กับเงินส่วนตัว?