หน้าที่ของเจ้าของร้านอาหาร คืออะไร
รู้ไหม สองสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ร้านอาหาร ต้องปิดตัวลงภายใน 3 ปีแรก คือ เจ้าของร้านทำงานน้อยเกินไป และเจ้าของร้านทำงานมากเกินไป หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วคำว่าพอดีอยู่ตรงไหน และ หน้าที่ของเจ้าของร้านอาหาร จริงๆ คืออะไร วันนี้เราจะมาเปิดเผยให้ฟัง
เจ้าของร้านทำงานน้อยเกินไป VS เจ้าของร้านทำงานมากเกินไป
เจ้าของร้านบางคนมักคิดว่า เปิดร้านอาหาร แค่จ้างเชฟมืออาชีพ จ้างผู้จัดการร้านที่มีประสบการณ์ทำงานสูง จ้างพนักงานที่ผ่านงานมานับไม่ถ้วน แล้วปล่อยให้ทุกคนดูแลงานทุกอย่าง ก็น่าจะช่วยให้ร้านอยู่รอดได้ ส่วนตัวเองก็ไม่ค่อยเข้าร้าน ไม่ตรวจสอบบัญชี ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดการร้าน ถ้าเป็นแบบนี้ คงไม่แปลกใจใช่ไหม เพราะอะไรร้านถึงต้องปิดตัว
แต่บางคนอาจสงสัยว่า แล้วการที่เจ้าของร้านทำงานหนัก ก็น่าจะช่วยให้ร้านเจริญรุ่งเรือง ทำไมถึงปิดตัวได้ล่ะ
ลองนึกภาพง่ายๆ หากเจ้าของร้านทำหน้าที่เป็นเชฟ ปรุงอาหารเสิร์ฟลูกค้าเอง เพราะคิดว่าตัวเองใส่ใจและพิถีพิถันในการทำอาหารที่สุด หากร้านดำเนินไปตามปกติก็น่าจะไม่มีปัญหา แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ใดแทรกเข้ามาล่ะ จะทำอย่างไร เช่น ขณะที่เจ้าของร้านกำลังวิ่งวุ่นเตรียมอาหารเพื่อรอลูกค้าที่จะเข้าร้านในตอนเที่ยง เกิด Supplier โทรศัพท์มาเสนอขายวัตถุดิบตัวใหม่ เกรดพรีเมี่ยม เจ้าของร้านต้องเสียเวลาไม่ต่ำกว่า 5 นาทีในการปฏิเสธ
หลังจากนั้นเกิดมีลูกค้าโทรมาจองโต๊ะสำหรับจัดงานปาร์ตี้วันเกิดในสัปดาห์ถัดไป แล้วขอทราบรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการจัดงาน พร้อมขอราคาอย่างคร่าวๆ เจ้าจองร้านก็ต้องเสียเวลาไปอีก 15 นาทีในการอธิบายรายละเอียดทั้งหมด
เมื่อถึงเวลาเที่ยง ที่ลูกค้ามารอเต็มร้าน อาหารก็อาจจะยังเตรียมไม่เสร็จ เมื่อลูกค้ารอนานเข้าก็เริ่มได้ยินเสียงต่อว่า สุดท้ายลูกค้าก็อาจจะไม่กลับมาใช้บริการร้านคุณอีกต่อไป และสุดท้ายเมื่อเจ้าของร้านวิ่งวุ่นทั้งวันจนไม่มีเวลาพักอย่างนี้ ก็ไม่มีเวลาไปโฟกัสกับการพัฒนาร้านด้านอื่นๆ เลย
เริ่มเห็นภาพแล้วใช่ไหมว่าการทำงานหนักเกินไป กอดงานไว้คนเดียว ส่งผลให้ร้านต้องปิดตัวลงได้จริงๆ อย่างนั้นเจ้าของร้านควรต้องทำอย่างไรล่ะ
หน้าที่สำคัญที่เจ้าของร้านอาจไม่เคยรู้
จริงๆ แล้วหน้าที่หลักๆ ของเจ้าของร้านอาหาร มี 3 ข้อ คือ
- เรียนรู้ที่จะมอบหมายงานให้ผู้อื่น
เจ้าของร้านอาหารบางคนอาจลงมือทำอาหารเสิร์ฟให้ลูกค้าเอง ก็ไม่ถึงกับต้องเลิกทำ เพียงแต่ว่าควรจ้างผู้ช่วยให้มาช่วยเตรียมของให้เรียบร้อย ระหว่างนั้นก็เอาเวลาไปจัดการงานด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับ supplier ตรวจดูความเรียบร้อยของร้าน เป็นต้น จากนั้นเมื่อถึงเวลาที่ลูกค้าสั่งอาหาร เจ้าของร้านค่อยเข้าครัวเพื่อลงมือทำ งานทุกอย่างก็จะราบรื่นขึ้น
2.จัดลำดับความสำคัญของงาน
ระหว่างทำอาหาร หากมีเหตุการณ์อื่นใดเข้ามาแทรก เช่น มีโทรศัพท์จากช่างแอร์ที่จะเข้ามาตรวจสอบระบบประจำปี หรือจากฝ่ายการเงินที่จะสอบถามเรื่องการเบิกจ่าย ฯลฯ เจ้าของร้านควรประเมินว่างานนั้นเร่งด่วนมากน้อยแค่ไหน หากไม่จำเป็นต้องคุยทันที ก็รอให้ลูกค้าคนสุดท้ายออกจากร้านก่อนแล้วค่อยโทรกลับก็ยังไม่สาย
3.กำหนดตำแหน่งงานของพนักงานให้ชัดเจน
เมื่อคุณจ้างพนักงานในร้านมากขึ้น (ตามข้อแรก) สิ่งที่ไม่ควรละเลยคือ กำหนดหน้าที่ของพนักงานแต่ละตำแหน่งให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการทำงานซ้ำซ้อน หรือละเลยงานบางส่วนเพราะคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของตนเอง ลองสละเวลาเขียน job description สักนิด แล้วงานต่างๆ จะราบรื่นยิ่งขึ้น
4.ตรวจสอบงานในภาพรวม และวางแผนพัฒนาร้านต่อไปในอนาคต
ข้อนี้ก็เป็นอีกหน้าหน้าที่สำคัญที่เจ้าของร้านไม่ควรมองข้าม คุณต้องหมั่นตรวจสอบการทำงานของพนักงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานเสิร์ฟ ว่ามีคำตำหนิจากลูกค้าหรือเปล่า หรือเรื่องเงินๆ ทองๆ ว่าขาดหายหรือตกหล่นหรือไม่ และหากเกิดปัญหาก็ต้องหาทางแก้ไขโดยทันที
นอกจากนี้ต้องไม่ลืมวางแผนพัฒนาร้านให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาปรับปรุงร้าน วางแผนการทำโปรโมชั่น การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ เพราะหัวใจสำคัญของธุรกิจทุกประเภท คือการก้าวไปข้างหน้าเสมอ ฉะนั้นหน้าที่นี้จึงถือเป็นหน้าที่สำคัญที่เจ้าของร้านต้องใส่ใจเป็นอันดับต้นๆ
การทำงานตามหน้าที่ที่เราแนะนำนี้ นอกจากเราจะไม่เหนื่อยจนเกินไปแล้ว ยังมีเวลาไปโฟกัสกับสิ่งสำคัญอื่นๆ ที่จ้างคนมาทำแทนไม่ได้อีกด้วย