8 ข้อสำคัญที่ลูกค้า อยากบอกเจ้าของร้านอาหาร - Amarin Academy

8 ข้อสำคัญที่ลูกค้า อยากบอกเจ้าของร้านอาหาร

8 ข้อสำคัญที่ ลูกค้าอยากบอกเจ้าของ ร้านอาหาร

แน่นอนว่าร้านอาหารทุกร้านย่อมอยากให้ลูกค้าพึงพอใจมากที่สุด จะได้มาใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเรื่องรสชาติและการบริการที่ร้านอาหารหลายร้านใส่ใจเป็นอันดับต้นๆ แต่รู้ไหมว่าลูกค้ายังมีความคาดหวังด้านอื่นๆ ซ่อนอยู่ด้วย หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรล่ะ ว่าลูกค้าต้องการอะไรบ้าง ไม่ต้องกังวลไป เพราะเรารวบรวม 8 ข้อสำคัญที่ ลูกค้าอยากบอกเจ้าของ ร้านอาหารมาให้คุณแล้ว

ถูกแพงไม่ว่า คุ้มค่าสำคัญกว่า

ร้านอาหารหลายร้าน มักไม่กล้าตั้งราคาอาหารสูง เพราะเกรงว่าลูกค้าจะคิดว่าแพง ไม่กล้าซื้อ แต่จริงๆ แล้วจากการสอบถามผู้บริโภคส่วนใหญ่ มักกล่าวว่า “ถ้าแพง แต่คุ้มค่า ก็พร้อมจ่าย” เมื่อเจาะลึกว่าคำว่าคุ้มค่าหมายความอะไร ส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับคุณภาพและปริมาณต้องเหมาะสมกับราคา กินแล้วอิ่ม อร่อย ได้คุณภาพ ถัดมาเป็นการบริการและประสบการณ์ที่ได้สัมผัสระหว่างการรับประทานอาหาร ควรทำให้รู้สึกประทับใจ เหมาะสมกับเงินที่จ่ายไป

ความสะอาดคือสิ่งสำคัญ

ข้อนี้ก็ถือเป็นคำตอบอันดับต้นๆ ของผู้บริโภคส่วนใหญ่ เริ่มตั้งแต่ก้าวเข้าร้าน ไม่ว่าจะเป็นมือจับประตูต้องสะอาด ไม่ใช่เต็มไปด้วยคราบน้ำมัน พื้น โต๊ะและเก้าอี้ ไม่ควรมีน้ำหรืออาหารหกเลอะเทอะ ผ้ากันเปื้อนของพนักงานก็เช่นกัน ต้องดูใหม่และสะอาดเสมอ แก้วน้ำต้องไม่มีคราบสกปรก ไม่เป็นรอยนิ้วมือ ส่วนอาหารไม่จำเป็นต้องจัดจานสวยอลังการ แต่ขอบจานต้องไม่เขรอะ เช่น อาหารจานเส้นไม่ควรมีเส้นห้อยที่ขอบจาน หรือผัดผัก น้ำมันหอยก็ไม่ควรหยดเลอะขอบจาน และเวลาเสิร์ฟพนักงานไม่ควรเอานิ้วจับล้ำเข้าไปในขอบจานมากจนเกินไป และสำคัญที่สุดคือ ต้องไม่มีสัตว์เล็กๆ น้อยๆ โผล่มาให้เห็น โดยเฉพาะแมลงสาบ ที่ลูกค้าทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกัน รับไม่ได้จริงๆ

รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ พนักงานหรือเจ้าของร้านบางคนอาจมองข้าม แต่ลูกค้าบางคนเขาสังเกตจริงๆ เพราะเขาคิดว่าถ้าหน้าร้านยังไม่ใส่ใจขนาดนี้ หลังร้านจะขนาดไหนล่ะเนี่ย

ไม่จำเป็นต้องใช้ของแพงๆ แต่ขอให้อร่อย ถูกปาก

ใครๆ ก็ชอบบอกว่าอาหารของตัวเองอร่อยที่สุด ใช้วัตถุดิบดีที่สุด คุณภาพพรีเมี่ยม หรือใช้ของนำเข้าจากต่างประเทศ จริงๆ แล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่แทบไม่สนใจเลยว่าคุณจะใช้วัตถุดิบดีขนาดไหน เขาตัดสินจากรสชาติมากกว่า “ถ้ากินกุ้ง เนื้อก็ต้องสด หวาน ไม่จำเป็นต้องตัวใหญ่ ไซส์จัมโบ้ก็ได้ แค่ขอให้สดอร่อยก็พอ”

ฉะนั้นไม่ต้องมัวไปสรรหาของนำเข้า หรือวัตถุดิบพรีเมี่ยมราคาสูง แค่เลือกซื้อของที่ใหม่ สดเสมอ และปรุงด้วยความใส่ใจและพิถีพิถันก็เพียงพอแล้ว

บริการด้วยความเต็มใจ จริงใจและใส่ใจ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการบริการ คือหนึ่งในปัจจัยที่ลูกค้าคาดหวังสูงมาก โดยลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการความ “เต็มใจ” คือ ต้องยิ้มแย้ม พร้อมบริการลูกค้าเสมอ “จริงใจ” คือ ต้องบริการดีเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ใช่หน้าร้านยืนเรียกลูกค้าด้วยความกระตือรือร้น เมื่อลูกค้านั่งที่โต๊ะปุ๊บ ก็เปลี่ยนเป็นโหมดไม่รับแขกขึ้นมาทันที (เพราะคิดว่าเมื่อลูกค้าเข้าร้านแล้วก็จบ) “ใส่ใจ” คือ เมื่อเห็นลูกค้าต้องการความช่วยเหลือ ต้องรีบเข้าไปช่วยทันที ไม่ต้องรอให้ลูกค้าเรียกซ้ำแล้วซ้ำอีก

แถมอีกข้อ ที่ลูกค้าหลายคนพูดว่าจะทำให้รู้สึกประทับใจมากขึ้นคือ จดจำรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของเขาได้ “เราจะรู้สึกดีมากเลย ถ้าไปบ่อยๆ แล้วเจ้าของร้านจำเราได้ เช่น พอเราเดินเข้าร้านปุ๊บก็ทักทาย เมนูเดิมรึเปล่าคะ วันนี้กุ้งไม่ค่อยสด ไม่ได้เอามาขายนะ สั่งอย่างอื่นแทนได้รึเปล่า ความใส่ใจเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ จะทำให้เราอยากกลับไปใช้บริการอีกครั้ง”

อาหารต้องรวดเร็ว มาก่อนควรได้ก่อน

 

คงไม่มีใครอยากเข้าไปนั่งในร้านอาหารประมาณ 20 นาทีก็แล้ว ครึ่งชั่วโมงก็แล้ว แต่อาหารยังไม่มาเสิร์ฟจริงไหม ลูกค้าแทบทุกคนก็รู้สึกอย่างนั้นเช่นกัน “ช่วงเวลาเร่งด่วนเราก็เข้าใจ แต่บางครั้งนานเกินไปเราก็อารมณ์เสียเหมือนกัน ยิ่งเวลาคนมาทีหลังแต่ได้รับอาหารก่อน จะรู้สึกหงุดหงิดเพิ่มขึ้น ฉะนั้นก็อยากให้ร้านอาหารบริหารจัดการเรื่องเวลาดีๆ ที่สำคัญขอให้ทำตามคิวจะดีกว่า”

ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา

ความซื่อสัตย์ก็เป็นสิ่งสำคัญ ซื่อสัตย์ในที่นี้ทั้งด้านอาหาร ต้องใช้ของที่ดี มีคุณภาพ ไม่นำของไม่สด ของเก่า ของหมดอายุมาให้ลูกค้า ด้านราคา ต้องมีมาตรฐาน ไม่ใช่กินวันนี้ราคาหนึ่ง อีก 2 วันเปลี่ยนเป็นราคาอื่น “ถ้าจะขึ้นราคาอาหารควรแจ้งลูกค้าก่อน เราจะได้รู้ว่าต้องจ่ายเท่าไร บางร้านไม่ยอมแจ้ง อาจจะเพราะว่ากลัวลูกค้าไม่เข้าร้าน แต่สุดท้ายเราก็ต้องรู้ราคาอยู่ดี และเป็นการรู้ที่เสียความรู้สึกมากกว่าด้วย เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่ตรงไปตรงมา” อีกข้อหนึ่งคือเรื่อง vat และ service charge ถ้าจะบวกเพิ่มจากราคาอาหาร ต้องแจ้งให้เห็นเด่นชัด เพื่อที่ลูกค้าจะได้ประเมินได้ว่า มื้อนี้ต้องจ่ายเงินเท่าไร

โต๊ะ เก้าอี้อย่าวางแน่นเกินไป หายใจไม่ออกแล้ว

ร้านอาหารบางร้านจัดวางโต๊ะเก้าอี้แน่นมาก เพื่อจะได้รองรับลูกค้าได้เยอะๆ แต่รู้หรือไม่ว่า ลูกค้าบางคนก็อยากได้พื้นที่ส่วนตัวบ้าง ไม่ใช่ขยับตัวก็ชนนั่น เอื้อมมือไปหยิบของก็ชนนี่ ที่วางกระเป๋าก็ไม่มี เจอแบบนี้เข้าเป็นใครก็เซ็ง เพราะไม่มีความเป็นส่วนตัวเลย ฉะนั้นจัดวางโต๊ะเก้าอี้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ดีกว่า ช่วยให้ลูกค้ารู้สึกดีขึ้นกว่าเดิมเยอะ

วิธีเก็บจานเราก็สนใจนะ

หลังจากรับประทานอาหารเรียบร้อยแล้ว เจ้าของร้านหลายคนคงโล่งใจว่าลูกค้าพึงพอใจ ไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ ให้ถูกตำหนิ แต่รู้หรือเปล่า ขั้นตอนการเก็บจานก็ไม่ควรละเลย เพราะขั้นตอนนี้อาจทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าร้านอาหารของเรามีการจัดการหลังร้านที่สะอาดหมดจด หรือทำอย่างลวกๆ กันแน่

“เวลาเก็บจานเราก็ดูนะ ลูกค้าบางคนกินอาหารแล้วคายเศษอาหารไว้บนโต๊ะ เราเห็นพนักงานกวาดเศษอาหารเหล่านั้นใส่จาน เรารู้สึกว่ามันสกปรก จริงๆ ควรมีถังแยกไว้เทเศษอาหารเหล่านี้มากกว่า ซึ่งถังแยกก็ควรดูสะอาดสะอ้าน เพราะขณะที่เรากินอาหารหันไปเห็นภาพเศษอาหารรวมกันเยอะๆ ถังสกปรกๆ ก็เป็นภาพที่ไม่ค่อยน่าดูเท่าไร”

พอจะเห็นภาพแล้วใช้ไหมว่าลูกค้า คาดหวังอะไรจากร้านอาหารบ้าง จริงๆ อาจจะลองนำแนวทางไปปรับใช้ ไม่ต้องทำตามเป๊ะๆ ก็ได้ แต่ทางที่ดี ทำให้ดีที่สุด และสุดความสามารถดีกว่า ลูกค้าจะได้รู้สึกประทับใจ อยากเป็นลูกค้าประจำ

เรื่องแนะนำ

เมนูเยอะ

จิตวิทยาร้านอาหาร เมนูเยอะ ทำให้ลูกค้าพอใจ จริงหรือ?

เชื่อว่าหลายคนที่เคยไปรับประทานอาหารนอกบ้าน น่าจะเคยเจอร้านที่มีเมนูอาหารเยอะมาก บางร้านมีเป็นร้อยเมนู เพราะอาจจะคิดว่า การมีเมนูอาหารเยอะๆ ไว้ก่อน จะช่วยเพิ่มทางเลือกให้แก่ลูกค้า และทำให้ร้านมีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย แต่คำถามก็คือ การที่ร้านอาหารมี เมนูเยอะ ช่วยทำให้ลูกค้าพอใจจริงหรือ?     จิตวิทยาร้านอาหาร เมนูเยอะ ทำให้ลูกค้าพอใจ จริงหรือ? การที่ลูกค้าตัดสินใจเลือกเมนูนาน เมื่ออยู่ในร้านอาหารที่มีเมนูหลากหลายนั้น สามารถอธิบายในทางจิตวิทยาได้จากปรากฏการณ์ The Paradox of Choice คือ เมื่อคนเรามีทางเลือกมากขึ้น เรามักจะพอใจกับสิ่งที่เลือกน้อยลง พูดง่าย ๆ คือการรักพี่เสียดายน้องนั่นเอง และในบางครั้ง ความเสียดายที่ไม่ได้เลือกตัวเลือกอื่นๆ อาจจะทำให้ลูกค้าตัดสินใจไม่เลือกอะไรเลยก็ได้ เช่น ร้านอาหารที่มีเล่มเมนูอยู่หน้าร้านและมีเมนูให้เลือกเยอะเกินไป อาจทำให้ลูกค้าแค่ดูเฉยๆ เลือกไม่ได้ และเดินผ่านไปก็เป็นได้ ดังนั้น ร้านอาหารที่มีเมนูอาหารมากจนเกินไป นอกจากจะทำให้ลูกค้าสับสน และตัดสินใจเลือกได้ยากแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อร้านอาหารในอีกหลายๆ ด้านด้วย ไม่ว่าจะเป็น วัตถุดิบ : ร้านจะต้องสต๊อกวัตถุดิบหลายชนิด เพื่อเตรียมสำหรับทำทุกเมนูในร้าน แม้ว่าบางเมนูอาจจะไม่เป็นที่นิยมและไม่มีลูกค้าสั่ง จึงอาจจะทำให้วัตถุดิบที่ไม่ได้ใช้มีคุณภาพลดลงหรือหมดอายุไปก่อน เหล่านั้นล้วนเป็นต้นทุนวัตถุดิบทั้งสิ้น ต้นทุน : ทางร้านจะต้องใช้ต้นทุนในการสต๊อกวัตถุดิบมากขึ้น […]

หุ้นกับเพื่อนเปิดร้านอาหารดี….แต่ต้องคุยเรื่องนี้กันก่อน

คนที่มีความฝันเหมือนกัน ตกลงจับมือร่วมกันทำธุรกิจร้านอาหาร แต่เมื่อลงขันร่วมกันแล้ว กลับขัดแย้งกันในทุกเรื่อง ก็ไม่สามารถทำร้านอาหารให้ประสบความสำเร็จได้   เมื่อต้องลงเรือลำเดียวกัน เป้าหมายในการทำร้านอาหาร และทัศนคติในการทำธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทำความรู้จักหุ้นส่วนให้มากพอ นอกจากนี้การเลือกหุ้นส่วนที่มีความถนัดที่แตกต่างกันจะช่วยส่งเสริมในส่วนที่อีกฝ่ายหนึ่งขาด และควรมอบสิทธิ์ขาดในการตัดสินใจในเรื่องที่แต่ละคนถนัดดูแล ก็เป็นอีกแนวทางในการสรุปข้อขัดแย้งที่เกิดจากการคิดเห็นที่ไม่ตรงกันได้   ลงทุนกับลงแรง การลงทุนทำร้านอาหารกับเพื่อนมักเป็นลักษณะลงทั้งทุนและแรงด้วยกัน เมื่อมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องทำมากกว่า หรือได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่า จะนำไปสู่ข้อขัดแย้งได้มากที่สุด เพราะฉะนั้นต้องแบ่งเรื่องงานและเรื่องเงินให้ลงตัว ถ้าลงแรงด้วยควรกำหนดค่าตอบแทนเงินเดือนให้อยู่ในค่าใช้จ่าย ในขณะเดียวกันควรมีระบบตรวจสอบที่โปร่งใส และสัดส่วนต้องเป็นไปตามเงินลงทุนตามหุ้นที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรก   ไม่มีสัญญาใจ ในโลกของการทำธุรกิจ อย่าทำสัญญาปากเปล่าแม้ว่าจะเป็นเพื่อนสนิทหรือคนรัก ถึงจะเป็นแค่ร้านอาหาร หรือร้านกาแฟเล็ก ๆ ที่เริ่มต้นลงทุนไม่กี่บาทก็ตาม การเขียนข้อสัญญาร่วมกันมีผลทางด้านกฎหมาย ซึ่งจะต้องกำหนดบทบาทหน้าที่รับผิดชอบ เงินลงทุน จำนวนหุ้น  การคิดเงินปันผลและระยะเวลาในการคืนผลกำไร ยังเป็นหลักฐานการจ่ายเงิน ที่ยืนยันการร่วมลงทุนระหว่างคุณและหุ้นส่วน ซึ่งหากสุดท้ายเกิดปัญหาจนไปต่อไม่ได้ ข้อกำหนดที่ทำร่วมกันยังเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายในการหาข้อสรุปข้อขัดแย้งร่วมกันด้วย   อย่าอะไรก็ได้….แผนธุรกิจต้องชัดเจน ช่วงเริ่มต้นอะไรก็ดี เพราะไม่มีใครมองเห็นถึงปัญหา และมักจะตกม้าตายด้วยความคิดที่ว่าคนกันเองไม่โกงแน่นอน แผนธุรกิจจะช่วยให้การทำกิจการร้านอาหารเป็นไปอย่างมีทิศทาง ทั้งงบประมาณในการลงทุน การทำการตลาด การพัฒนาสินค้าและบริการ เป้าหมายธุรกิจ รวมถึงระยะเวลาในการลงทุนเพิ่ม ควรเลือกที่จะทะเลาะกันตั้งแต่มันอยู่ในกระดาษ ก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติงานจริงที่เป็นการตกลงแล้วของทุกฝ่ายเท่านั้น    อย่ามองข้าม…เรื่องเล็กที่กลายเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เพียงแค่ผลประโยชน์ที่ทำให้หุ้นส่วนร้านขัดแย้งกันเสมอไป […]

เทคนิค วางผังครัว ให้ได้อาหารมากขึ้น ลดต้นทุนได้มหาศาล!

ทำครัวร้านอาหารใหญ่ ๆ เสียค่าใช้จ่ายสูง เหลือพื้นที่ขายนิดเดียว ทำกี่ปีถึงจะคืนทุน  แล้วถ้าลูกค้าเยอะแต่ทำครัวไว้เล็ก ทำอาหารออกไม่ทัน ขายกันทั้งวันรายได้นิดเดียว แถมลูกค้าหนีเพราะช้าอีก เพราะครัวไม่ใช่แค่พื้นที่ทำอาหาร แต่เป็นปัจจัยสำคัญของการทำร้านอาหารว่าจะทำรายได้ให้คุณได้แค่ไหน การวางระบบร้านอาหารโดยคำนึงถึงครัว จึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดให้ดีก่อน แล้วครัวที่ดีต้องมีการ วางผังครัว อย่างไร?   ครัวที่ดีสัมพันธ์กับตุ้นทุนอย่างไร ต้นทุนแรงงาน ขนาดครัวที่เหมาะสมจะช่วยให้สามารถกำหนดกำลังคนในการทำงานได้ ช่วยลดต้นทุนแรงงานที่ไม่จำเป็น มีการปฏิบัติงานที่ได้ประสิทธิภาพ ป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากอุปกรณ์และการใช้งาน ต้นทุนวัตถุดิบ ผังครัวที่ดีต้องคำนึงถึงพื้นที่สำหรับการจัดการวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บ พื้นที่เตรียม การปรุง พื้นที่ทำความสะอาด ที่ง่ายต่อการใช้งาน การลดโอกาสของเสีย ช่วยให้เกิดต้นทุนวัตถุดิบที่เหมาะสม ร้านจึงสามารถมีรายได้สุทธิที่มากขึ้น ต้นทุนเวลา การวางผังครัวที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดปัญหาพื้นที่ในการใช้งานทำให้ออกอาหารช้า ขายได้น้อยขึ้น โดยเฉพาะช่วงเวลาพีคไทม์ที่ร้านต้องสามารถรันให้เร็วมากกว่าปกติ ผังครัวที่ไม่ได้คิดเผื่อการจัดเก็บวัตถุดิบ อาจทำให้เกิดต้นทุนแฝง เช่น ต้นทุนเวลาในการไปซื้อของที่ขาด เสียหาย ครัวควรมีขนาดเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม             ควรกำหนดให้สัดส่วนของครัวสอดคล้องกับพื้นที่ขาย โดยมีพื้นที่เหมาะสมกับการปรุงและจัดเก็บวัตถุดิบ พื้นที่ครัวควรมีขนาด 20-30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด  เนื่องจากครัวถือเป็นพื้นที่ใหญ่ในการออกแบบร้านอาหาร ซึ่งส่งผลกับค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ครัวใหญ่ค่าใช้จ่ายก็สูงตามไปด้วย การกำหนดพื้นที่ครัวที่เหมาะสมจึงต้องสอดคล้องกับความจำเป็นในการใช้งานที่แท้จริง ซึ่งจะช่วยให้ค่าใช้จ่ายในการเปิดร้านอาหารต่ำลง คืนทุนได้เร็วขึ้น   […]

วิเคราะห์ SWOT

วิธี วิเคราะห์ SWOT อย่างง่ายๆ เปิดร้านอาหารไม่มีเจ๊ง

การ วิเคราะห์ SWOT คือเทคนิคการวิเคราะห์ จุดอ่อน จุดแข็ง - โอกาส อุปสรรค เป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้เจ้าของกิจการรู้ว่าควรจะดำเนินกิจการไปในทิศทางใดจะประสบความสำเร็จ

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

ติดต่อแจ้งปัญหาหรือร้องเรียน
02-422-9999 ต่อ 4180
(จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น)
bdcx@amarin.co.th

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.