8 ข้อสำคัญที่ลูกค้า อยากบอกเจ้าของร้านอาหาร - Amarin Academy

8 ข้อสำคัญที่ลูกค้า อยากบอกเจ้าของร้านอาหาร

8 ข้อสำคัญที่ ลูกค้าอยากบอกเจ้าของ ร้านอาหาร

แน่นอนว่าร้านอาหารทุกร้านย่อมอยากให้ลูกค้าพึงพอใจมากที่สุด จะได้มาใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเรื่องรสชาติและการบริการที่ร้านอาหารหลายร้านใส่ใจเป็นอันดับต้นๆ แต่รู้ไหมว่าลูกค้ายังมีความคาดหวังด้านอื่นๆ ซ่อนอยู่ด้วย หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรล่ะ ว่าลูกค้าต้องการอะไรบ้าง ไม่ต้องกังวลไป เพราะเรารวบรวม 8 ข้อสำคัญที่ ลูกค้าอยากบอกเจ้าของ ร้านอาหารมาให้คุณแล้ว

ถูกแพงไม่ว่า คุ้มค่าสำคัญกว่า

ร้านอาหารหลายร้าน มักไม่กล้าตั้งราคาอาหารสูง เพราะเกรงว่าลูกค้าจะคิดว่าแพง ไม่กล้าซื้อ แต่จริงๆ แล้วจากการสอบถามผู้บริโภคส่วนใหญ่ มักกล่าวว่า “ถ้าแพง แต่คุ้มค่า ก็พร้อมจ่าย” เมื่อเจาะลึกว่าคำว่าคุ้มค่าหมายความอะไร ส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับคุณภาพและปริมาณต้องเหมาะสมกับราคา กินแล้วอิ่ม อร่อย ได้คุณภาพ ถัดมาเป็นการบริการและประสบการณ์ที่ได้สัมผัสระหว่างการรับประทานอาหาร ควรทำให้รู้สึกประทับใจ เหมาะสมกับเงินที่จ่ายไป

ความสะอาดคือสิ่งสำคัญ

ข้อนี้ก็ถือเป็นคำตอบอันดับต้นๆ ของผู้บริโภคส่วนใหญ่ เริ่มตั้งแต่ก้าวเข้าร้าน ไม่ว่าจะเป็นมือจับประตูต้องสะอาด ไม่ใช่เต็มไปด้วยคราบน้ำมัน พื้น โต๊ะและเก้าอี้ ไม่ควรมีน้ำหรืออาหารหกเลอะเทอะ ผ้ากันเปื้อนของพนักงานก็เช่นกัน ต้องดูใหม่และสะอาดเสมอ แก้วน้ำต้องไม่มีคราบสกปรก ไม่เป็นรอยนิ้วมือ ส่วนอาหารไม่จำเป็นต้องจัดจานสวยอลังการ แต่ขอบจานต้องไม่เขรอะ เช่น อาหารจานเส้นไม่ควรมีเส้นห้อยที่ขอบจาน หรือผัดผัก น้ำมันหอยก็ไม่ควรหยดเลอะขอบจาน และเวลาเสิร์ฟพนักงานไม่ควรเอานิ้วจับล้ำเข้าไปในขอบจานมากจนเกินไป และสำคัญที่สุดคือ ต้องไม่มีสัตว์เล็กๆ น้อยๆ โผล่มาให้เห็น โดยเฉพาะแมลงสาบ ที่ลูกค้าทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกัน รับไม่ได้จริงๆ

รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ พนักงานหรือเจ้าของร้านบางคนอาจมองข้าม แต่ลูกค้าบางคนเขาสังเกตจริงๆ เพราะเขาคิดว่าถ้าหน้าร้านยังไม่ใส่ใจขนาดนี้ หลังร้านจะขนาดไหนล่ะเนี่ย

ไม่จำเป็นต้องใช้ของแพงๆ แต่ขอให้อร่อย ถูกปาก

ใครๆ ก็ชอบบอกว่าอาหารของตัวเองอร่อยที่สุด ใช้วัตถุดิบดีที่สุด คุณภาพพรีเมี่ยม หรือใช้ของนำเข้าจากต่างประเทศ จริงๆ แล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่แทบไม่สนใจเลยว่าคุณจะใช้วัตถุดิบดีขนาดไหน เขาตัดสินจากรสชาติมากกว่า “ถ้ากินกุ้ง เนื้อก็ต้องสด หวาน ไม่จำเป็นต้องตัวใหญ่ ไซส์จัมโบ้ก็ได้ แค่ขอให้สดอร่อยก็พอ”

ฉะนั้นไม่ต้องมัวไปสรรหาของนำเข้า หรือวัตถุดิบพรีเมี่ยมราคาสูง แค่เลือกซื้อของที่ใหม่ สดเสมอ และปรุงด้วยความใส่ใจและพิถีพิถันก็เพียงพอแล้ว

บริการด้วยความเต็มใจ จริงใจและใส่ใจ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการบริการ คือหนึ่งในปัจจัยที่ลูกค้าคาดหวังสูงมาก โดยลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการความ “เต็มใจ” คือ ต้องยิ้มแย้ม พร้อมบริการลูกค้าเสมอ “จริงใจ” คือ ต้องบริการดีเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ใช่หน้าร้านยืนเรียกลูกค้าด้วยความกระตือรือร้น เมื่อลูกค้านั่งที่โต๊ะปุ๊บ ก็เปลี่ยนเป็นโหมดไม่รับแขกขึ้นมาทันที (เพราะคิดว่าเมื่อลูกค้าเข้าร้านแล้วก็จบ) “ใส่ใจ” คือ เมื่อเห็นลูกค้าต้องการความช่วยเหลือ ต้องรีบเข้าไปช่วยทันที ไม่ต้องรอให้ลูกค้าเรียกซ้ำแล้วซ้ำอีก

แถมอีกข้อ ที่ลูกค้าหลายคนพูดว่าจะทำให้รู้สึกประทับใจมากขึ้นคือ จดจำรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของเขาได้ “เราจะรู้สึกดีมากเลย ถ้าไปบ่อยๆ แล้วเจ้าของร้านจำเราได้ เช่น พอเราเดินเข้าร้านปุ๊บก็ทักทาย เมนูเดิมรึเปล่าคะ วันนี้กุ้งไม่ค่อยสด ไม่ได้เอามาขายนะ สั่งอย่างอื่นแทนได้รึเปล่า ความใส่ใจเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ จะทำให้เราอยากกลับไปใช้บริการอีกครั้ง”

อาหารต้องรวดเร็ว มาก่อนควรได้ก่อน

 

คงไม่มีใครอยากเข้าไปนั่งในร้านอาหารประมาณ 20 นาทีก็แล้ว ครึ่งชั่วโมงก็แล้ว แต่อาหารยังไม่มาเสิร์ฟจริงไหม ลูกค้าแทบทุกคนก็รู้สึกอย่างนั้นเช่นกัน “ช่วงเวลาเร่งด่วนเราก็เข้าใจ แต่บางครั้งนานเกินไปเราก็อารมณ์เสียเหมือนกัน ยิ่งเวลาคนมาทีหลังแต่ได้รับอาหารก่อน จะรู้สึกหงุดหงิดเพิ่มขึ้น ฉะนั้นก็อยากให้ร้านอาหารบริหารจัดการเรื่องเวลาดีๆ ที่สำคัญขอให้ทำตามคิวจะดีกว่า”

ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา

ความซื่อสัตย์ก็เป็นสิ่งสำคัญ ซื่อสัตย์ในที่นี้ทั้งด้านอาหาร ต้องใช้ของที่ดี มีคุณภาพ ไม่นำของไม่สด ของเก่า ของหมดอายุมาให้ลูกค้า ด้านราคา ต้องมีมาตรฐาน ไม่ใช่กินวันนี้ราคาหนึ่ง อีก 2 วันเปลี่ยนเป็นราคาอื่น “ถ้าจะขึ้นราคาอาหารควรแจ้งลูกค้าก่อน เราจะได้รู้ว่าต้องจ่ายเท่าไร บางร้านไม่ยอมแจ้ง อาจจะเพราะว่ากลัวลูกค้าไม่เข้าร้าน แต่สุดท้ายเราก็ต้องรู้ราคาอยู่ดี และเป็นการรู้ที่เสียความรู้สึกมากกว่าด้วย เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่ตรงไปตรงมา” อีกข้อหนึ่งคือเรื่อง vat และ service charge ถ้าจะบวกเพิ่มจากราคาอาหาร ต้องแจ้งให้เห็นเด่นชัด เพื่อที่ลูกค้าจะได้ประเมินได้ว่า มื้อนี้ต้องจ่ายเงินเท่าไร

โต๊ะ เก้าอี้อย่าวางแน่นเกินไป หายใจไม่ออกแล้ว

ร้านอาหารบางร้านจัดวางโต๊ะเก้าอี้แน่นมาก เพื่อจะได้รองรับลูกค้าได้เยอะๆ แต่รู้หรือไม่ว่า ลูกค้าบางคนก็อยากได้พื้นที่ส่วนตัวบ้าง ไม่ใช่ขยับตัวก็ชนนั่น เอื้อมมือไปหยิบของก็ชนนี่ ที่วางกระเป๋าก็ไม่มี เจอแบบนี้เข้าเป็นใครก็เซ็ง เพราะไม่มีความเป็นส่วนตัวเลย ฉะนั้นจัดวางโต๊ะเก้าอี้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ดีกว่า ช่วยให้ลูกค้ารู้สึกดีขึ้นกว่าเดิมเยอะ

วิธีเก็บจานเราก็สนใจนะ

หลังจากรับประทานอาหารเรียบร้อยแล้ว เจ้าของร้านหลายคนคงโล่งใจว่าลูกค้าพึงพอใจ ไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ ให้ถูกตำหนิ แต่รู้หรือเปล่า ขั้นตอนการเก็บจานก็ไม่ควรละเลย เพราะขั้นตอนนี้อาจทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าร้านอาหารของเรามีการจัดการหลังร้านที่สะอาดหมดจด หรือทำอย่างลวกๆ กันแน่

“เวลาเก็บจานเราก็ดูนะ ลูกค้าบางคนกินอาหารแล้วคายเศษอาหารไว้บนโต๊ะ เราเห็นพนักงานกวาดเศษอาหารเหล่านั้นใส่จาน เรารู้สึกว่ามันสกปรก จริงๆ ควรมีถังแยกไว้เทเศษอาหารเหล่านี้มากกว่า ซึ่งถังแยกก็ควรดูสะอาดสะอ้าน เพราะขณะที่เรากินอาหารหันไปเห็นภาพเศษอาหารรวมกันเยอะๆ ถังสกปรกๆ ก็เป็นภาพที่ไม่ค่อยน่าดูเท่าไร”

พอจะเห็นภาพแล้วใช้ไหมว่าลูกค้า คาดหวังอะไรจากร้านอาหารบ้าง จริงๆ อาจจะลองนำแนวทางไปปรับใช้ ไม่ต้องทำตามเป๊ะๆ ก็ได้ แต่ทางที่ดี ทำให้ดีที่สุด และสุดความสามารถดีกว่า ลูกค้าจะได้รู้สึกประทับใจ อยากเป็นลูกค้าประจำ

เรื่องแนะนำ

ต้นทุนแฝงร้านอาหาร โฟกัสให้ดี ถ้าไม่อยากผิดพลาด

กำไรที่เกิดขึ้นจากร้านอาหาร จะมากหรือน้อยไม่ได้อยู่ที่ยอดขายเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากความสามารถในการจัดการต้นทุนได้อย่างดีด้วย ต้นทุนที่เรากำหนดไว้อยู่แล้วไม่ว่าจะเป็น วัตถุดิบ ค่าเช่าสถานที่ ค่าบริหารจัดการ หรือต้นทุนทางการตลาดก็ตาม มักจะมี ต้นทุนแฝงร้านอาหาร ที่เกิดขึ้นด้วย หากไม่โฟกัสให้ดีก็ส่งผลให้ร้านสูญเสียค่าใช้จ่าย สูญเสียโอกาสทางธุรกิจโดยไม่จำเป็น    ต้นทุนแฝงร้านอาหาร โฟกัสให้ดี ถ้าไม่อยากผิดพลาด  ต้นทุนจากการสูญเสียวัตถุดิบ           ต้นทุนวัตถุดิบเป็นต้นทุนที่มากที่สุดของร้านอาหารที่เรียกว่า Prime Cost ซึ่งส่งผลต่อค่าใช้จ่ายของร้านมากที่สุด ต้นทุนวัตถุดิบจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประเภทของร้านอาหาร โดยเฉลี่ยร้านอาหารทั่วไปจะควบคุมต้นทุนให้ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อรวมกับต้นทุนแรงงานแล้วไม่ควรจะเกิน 45 – 60 % เพื่อควบคุมให้กำไรต่อเดือนเมื่อหักค่าใช้จ่ายภาษีและค่าเสื่อมแล้ว ไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์           การควบคุมต้นทุนวัตถุดิบ อาจจะต้องวิเคราะห์ต้นทุนอาหารแต่ละเมนู ปริมาณการจัดเสิร์ฟ จัดการสต๊อกสินค้าให้ดี โดยเฉพาะการสั่งซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์แต่ละครั้ง ต้องดูความพร้อมในการจัดเก็บวัตถุดิบของร้านด้วย นอกจากวัตถุดิบเสียแล้วการจัดเก็บยังเป็นภาระต้นทุนแฝงที่เกิดขึ้น ซึ่งร้านอาหารใหม่ ๆ ส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักพฤติกรรมของลูกค้าเพียงพอจะสามารถคาดเดายอดขายได้   ต้นทุนค่าจ้างแรงงาน  ต้นทุนแรงงานเป็นต้นทุนที่อยู่ใน Prime Cost เช่นเดียวกัน กระทบต่อค่าใช้จ่ายเป็นอันดับรองลงมาจากต้นทุนวัตถุดิบ ซึ่งควรควบคุมให้ไม่เกิน […]

ธุรกิจขนาดเล็ก

กลยุทธ์ในการรับมือปัญหาใหญ่ของ ธุรกิจขนาดเล็ก

เจ้าของธุรกิจอาจต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายมากมาย จากการบริหารจัดการและการเติบโตของธุรกิจ แต่ถ้ามองให้เรื่องท้าทายเป็นโอกาสและเป็นตัวช่วยให้คุณเข้มแข็งขึ้น นั่นก็จะเป็นพลังสำคัญในการผลักดันให้ธุรกิจของคุณเติบโต

เทคนิค หาพนักงานร้านอาหาร ชั้นเซียน ก่อนเปิดร้าน!

หาพนักงานร้านอาหาร จนท้อ แถมทำงานได้ไม่ถึงเดือนก็ลาออก ต้องหาพนักงานมาแทนกันให้วุ่น ลดปัญหาน่าปวดหัวเรื่องพนักงาน ด้วยเทคนิคการหาคนให้ตรงใจตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อลดผลกระทบที่เกิดกับร้านของคุณให้มากที่สุดกันดีกว่า   เทคนิค หาพนักงานร้านอาหาร ก่อนเปิดร้าน! WHAT  หาอะไร ประเภทของร้านอาหารแต่ละแบบ ต้องการพนักงานที่ต่างประสบการณ์กัน  รวมถึงจำนวนที่เหมาะสมก็ต่างกันด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับการวางโครงสร้างต้นทุนร้านอาหารที่เหมาะสม ทีมงานร้านอาหารแบ่งเป็น 2 ทีมงานหลัก ๆ  คือ ทีมงานหลังบ้าน เช่น เชฟ ผู้ช่วยเชฟ คนปรุงอาหาร คนแพ็คอาหาร พนักงานล้างจาน และทีมงานหน้าบ้าน เช่น  ผู้จัดการร้าน ผู้ช่วยผู้จัดการ พนักงานต้อนรับ แคชเชียร์พนักงานรับออร์เดอร์  ซึ่งแต่ละตำแหน่งมีหน้าที่การทำงานที่ชัดเจน จำนวนการจ้างงานก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของร้าน เช่น ถ้าคุณทำร้านอาหาร Quick Service  เน้นพนักงานแคชเชียร์รับ Order ลูกค้า ไม่ต้องจ้าง Food Runner  ก็ได้  หรือร้านขนาดเล็ก ผู้จัดการคนเดียว โดยไม่ต้องมีผู้ช่วยก็สามารถดำเนินงานได้ Tips : ต้นทุนแรงงานเป็น Fix […]

เซตอัพระบบ ร้านบุฟเฟต์ ต้องอย่างไรให้ได้กำไร

ทำร้านอาหารบุฟเฟต์อย่างไรให้ได้กำไร ? คงเป็นคำถามของเจ้าของร้านอาหารหลาย ๆ คน เนื่องจาก ร้านบุฟเฟต์ ได้รับความนิยมในปัจุบัน จึงกลายเป็นตลาดแมสของธุรกิจร้านอาหารที่มีผู้เข้ามาเล่นจำนวนมาก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ประสบความสำเร็จ ปัญหาสำคัญก็คือ ขาดการเซตอัพระบบการจัดการร้านอาหารที่เหมาะสมกับร้านบุฟเฟต์ ซึ่งแตกต่างจากร้านอาหารประเภทอื่น เพราะอะไรจึงทำให้ร้านบุฟเฟต์แตกต่าง แล้วต้องวางระบบอย่างไรจึงเหมาะสมเรามีคำตอบค่ะ   เซตอัพระบบ ร้านบุฟเฟต์ อย่างไร ให้ได้กำไร   เพราะต้นทุนอาหารสูง….จึงต้องบริหารจัดการวัตถุดิบให้ดี ในขณะที่ร้านอาหารประเภทอื่น ๆ กำหนดต้นทุนวัตถุดิบที่ 25 – 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ร้านอาหารประเภทร้านบุฟเฟต์ จะมีต้นทุนวัตถุดิบอยู่ที่ 35 -45 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าต้นทุนอื่น ๆ ของร้าน  จึงต้องมีการกำหนดโครงสร้างที่เหมาะสม เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายต้นทุนอื่น ๆ ให้ดีด้วย อย่างไรก็ตาม ต้นทุนวัตถุดิบสามารถควบคุมได้ โดยการเซตอัพระบบการจัดการวัตถุดิบไว้อย่างรัดกุม ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ การหาซัพพลายเออร์ที่สอดคล้องกับความต้องการ เพราะซัพพลายเออร์เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คุณได้กำไรมากขึ้นหรือน้อยลง เช่น ปัญหาที่พบบ่อย ๆ คือ มาตรฐานในการตัดแต่งวัตถุดิบ ใหญ่บ้างเล็กบ้าง ทำให้ควบคุมการใช้งานยาก เป็นต้น […]

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท เอเอ็มอี อิมเมจิเนทีฟ จำกัด
ในเครือ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

ติดต่อแจ้งปัญหาหรือร้องเรียน
02-422-9999 ต่อ 4180
(จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น)
bdcx@amarin.co.th

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2025 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.