แม้ว่าวิกฤต COVID-19 จะกระทบต่อประชาชนคนไทยทุกคน แต่ มาตรการเยียวยา ของภาครัฐนั้นเข้าถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบทั่วถึงหรือไม่? เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จึงได้ทำการสำรวจ ผลกระทบเบื้องต้นจากการใช้มาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก COVID-19 ผ่านระบบ online ในช่วงวันที่ 9-13 เม.ย. 63 โดยมีผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถาม 8,929 คน จากทั้ง 77 จังหวัดในประเทศไทย
สถิติประชาชน 4 กลุ่มอาชีพ
ที่เข้าถึง มาตรการเยียวยา จากภาครัฐ
โดยผู้ตอบแบบสอบถามจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ นายจ้าง พนักงาน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และผู้ว่างงาน ในภาพรวมแล้ว มีคนไทยมากถึง 88% ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐ เพราะส่วนใหญ่ “ติดเงื่อนไข” ซึ่งมีทั้งผู้ที่ไม่เข้าข่าย และผู้ที่ควรได้รับสิทธิ์แต่ถูกปฏิเสธ โดยมาตรการที่คนได้รับมากที่สุดเป็นมาตรการของนโยบายการคลัง แต่มาตรการเหล่านี้ก็ไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน ในกรณีที่สถานการณ์ยาวนานมากกว่า 3 เดือน
กลุ่มนายจ้าง
เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่มีรายได้ลดลงหรือถูกสั่งปิด นายจ้างโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs จึงต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือในด้านเงินทุนสำหรับฟื้นฟูธุรกิจ ลดภาระค่าจ้างแรงงาน ค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่อง แต่มีกลุ่มนายจ้างแค่เพียง 11% จากทั้งหมดที่ได้รับความช่วยเหลือ ในด้านการพักเงินต้นและดอกเบี้ย การผ่อนผันภาษี และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ดอกเบี้ย 2% ต่อปี)
นอกจากนี้ มาตรการด้านการเงินที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอต่อการพยุงธุรกิจ หรือแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินในช่วงวิกฤติ 3-6 เดือน ประชาชนกลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมในด้านการลดภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจ การเตรียมเงินทุนสำหรับการฟื้นฟูกิจการ รวมถึงหาช่องทางในการระบายสินค้า
กลุ่มพนักงาน ลูกจ้าง แรงงาน
ผลกระทบต่อประชาชนในกลุ่มนี้มีทั้งการถูกลดค่าจ้าง รายได้ลดลง หรือธุรกิจที่ทำงานถูกสั่งปิด โดยมีผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 12% และความช่วยเหลือส่วนใหญ่ที่ได้รับเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายและมาตรการด้านการคลัง เช่น การลดหย่อนเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ลดหรือเลื่อนจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ พักเงินต้นและดอกเบี้ย เงินเยียวยา 5,000 บาทจากโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ปรับเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้ สินเชื่อพิเศษ ฯลฯ
มาตรการที่กลุ่มลูกจ้างต้องการเพิ่มเติม คือการลดค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีพเพิ่มเติม อาทิเช่น ค่าไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ อาหารและสินค้าที่จำเป็น รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าเทอม กำหนดมาตรฐานการพักหนี้ให้ทุกสถาบันการเงินไปในลักษณะเดียวกัน เพื่อลดเงื่อนไขที่ยุ่งยากลง สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้ความช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบ และชดเชยผลประโยชน์แก่ผู้ที่อยู่ในประกันสังคม
กลุ่มอาชีพอิสระ
ฟรีแลนซ์เป็นกลุ่มอาชีพที่มีรายได้ไม่แน่นอน จึงไม่ผ่านเงื่อนไขต่างๆ ที่ภาครัฐตั้งไว้ ทำให้ส่วนใหญ่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ และมีกลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือแค่ 11% ที่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ลดหรือเลื่อนการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ดังนั้น กลุ่มนี้จึงต้องการให้ภาครัฐปรับเงื่อนไขให้เหมาะสม ครอบคลุมทุกกลุ่มที่เดือดร้อน ประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจนทั่วถึง ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค ยกเว้นการชำระภาษีทุกชนิด โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) รวมถึง เพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ หรือต้องการให้รัฐมีงานทางเลือกให้
กลุ่มผู้ว่างงาน
ผู้ว่างงานเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด แต่กลับเข้าถึงความช่วยเหลือได้แค่ 9% ที่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ลดหรือเลื่อนการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ซึ่งหากภาครัฐไม่เร่งเข้าช่วยเหลือ กลุ่มนี้ก็อาจจะอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน โดยผู้ว่างงานต้องการมาตรการที่ลดภาระหนี้สินและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ช่วยจัดหางาน หรือส่งเสริมการพัฒนาทักษะ และการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ให้มากขึ้น
ข้อเสนอแนะในภาพรวมของผู้ตอบแบบสอบถามทุกกลุ่ม คือต้องการให้รัฐบาลขยาย มาตรการเยียวยา ให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม ลดเงื่อนไขการเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือ จัดหางานให้ประชาชนที่ถูกเลิกจ้าง ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่จำเป็น เพื่อนำงบประมาณกลับมาช่วยเหลือประชาชน ลดความซับซ้อนในการเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ คืนภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือลดหย่อนภาษี รวมถึง ผ่อนปรนให้บางธุรกิจกลับมาเปิดทำการได้โดยมีเงื่อนไขที่เหมาะสมและปลอดภัย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สามารถดูรายละเอียดของการสำรวจต่อได้ที่นี่