ตั้งราคาขาย อย่างไร ให้ขายได้และร้านอยู่รอด - Amarin Academy

ตั้งราคาขาย อย่างไร ให้ขายได้และร้านอยู่รอด

        ในช่วงวิกฤตแบบนี้ สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ร้านอาหารอยู่รอดได้ คือการบริหารจัดการต้นทุนที่ดี และการ ตั้งราคาขาย (Price Strategy) ของอาหารที่เหมาะสม โดยเฉพาะในวงการอาหารเดลิเวอรีที่มีการแข่งขันสูง มีร้านอาหารแบบเดียวกันเป็นจำนวนมาก ผู้ประกอบการจะต้องใช้กลยุทธ์ทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อจากร้านของเรา ลองมาดูการตั้งราคาขายอาหารและกลยุทธ์ต่างๆ ที่อาจจะช่วยร้านของคุณได้ครับ

ตั้งราคาขาย อย่างไร 

ให้ขายได้และร้านอยู่รอด

        พื้นฐานของการ ตั้งราคาขาย อาหาร ต้องคำนวณมาจากต้นทุนของร้าน เช่น ต้นทุนวัตถุดิบ ควรอยู่ที่ 30-35% ของยอดขาย ตัวอย่างเช่น ต้นทุนวัตถุดิบเท่ากับ 30 บาท ราคาขายก็ควรจะตั้งไว้ประมาณ 100 บาท เป็นต้น 

        แต่ไม่ใช่ว่าการคำนวณแบบนี้จะเหมาะสมกับทุกร้านอาหาร เพราะยังมีต้นทุนอื่นๆ ได้แก่ ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าที่ และค่าการตลาดอื่นๆ ส่วนใครที่นำร้านอาหารเข้าร่วมกับผู้ให้บริการเดลิเวอรีต่างๆ ก็อย่าลืมต้นทุนค่า GP ที่เพิ่มขึ้นมาด้วย ดังนั้น สิ่งแรกๆ ที่ต้องทำคือการลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นให้ได้มากที่สุด เพื่อจะเหลือกำไรมากพอที่จะบริหารร้านให้อยู่รอดต่อไป รวมถึงนำกลยุทธ์ในการตั้งราคาขายอาหารมาใช้ ได้แก่

ตั้งราคาขาย

        ตั้งราคาล่อตาล่อใจ (Leader Pricing) 

        เป็นการตั้งราคาอาหารให้ต่ำกว่าราคาตลาด เพื่อดึงดูดลูกค้าให้สนใจ และใช้ประโยชน์จากความสนใจนี้กระตุ้นการขายเมนูอาหารอื่นๆ ในร้าน และได้กำไรจากเมนูอื่นๆ มาชดเชย ซึ่งการเลือกเมนูมาตั้งราคาแบบนี้ ควรเป็นอาหารที่มีต้นทุนไม่สูงจนเกินไป และอย่าลืมว่าควรจำกัดจำนวนที่ซื้อได้ของลูกค้าแต่ละราย โดยกลยุทธ์แบบนี้สามารถจัดเป็นช่วงโปรโมชันสั้นๆ หรือจะทำแบบประจำก็ได้ เช่น จัดเป็นเมนูอาหารราคาพิเศษประจำสัปดาห์ของร้าน หรือเป็นอาหารทานเล่นราคาเบาๆ เพื่อจะส่งเสริมการขายเมนูอาหารหลัก  

        ตั้งราคาสูงพิเศษ (Premium Pricing) 

        คือการตั้งราคาที่สูงขึ้น สำหรับอาหารที่มีคุณภาพสูงขึ้นมากกว่า แทนที่จะลดราคาแข่งกับร้านคู่แข่ง ทางร้านต้องเน้นการสร้างภาพลักษณ์ว่า เป็นอาหารที่มีคุณภาพสูงใช้วัตถุดิบที่ดีกว่า เสนอบริการที่ดีกว่า มีความพิเศษที่หาไม่ได้จากร้านอื่น รวมถึงต้องมีการตลาดส่งเสริมภาพลักษณ์ของร้านและอาหารร่วมด้วย และควรตอบสนองความคาดหวังที่มากขึ้นของลูกค้าให้ได้ด้วย

ตั้งราคาขาย


        ตั้งราคาเพื่อเจาะตลาด
(Penetration Pricing)

        เป็นวิธีที่ตั้งราคาอาหารเมนูใหม่ในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เฉพาะในช่วงแรกที่เปิดตัวเมนูนั้นๆ แก่ลูกค้า เพื่อให้อาหารราคาถูกกว่าปกติเป็นสิ่งดึงดูดให้ลูกค้าสนใจ และหันมาซื้ออาหารของร้าน เมื่อเวลาผ่านไปก็กลับมาตั้งในราคาปกติ เรียกได้ว่าเป็นราคาโปรโมชันในช่วงสั้นๆก็ได้  

        กลยุทธ์ราคาเลขคี่ (Odd Pricing) 

        คือการตั้งราคาให้ลงท้ายด้วยเลขคี่ ส่วนมากที่นิยมทั่วไปคือการลงท้ายด้วยเลข 9 ก่อนที่จะขึ้นหลักต่อไป เช่น 99 บาท 199 บาท โดยในเชิงจิตวิทยาลูกค้าจะรู้สึกว่าราคาดูต่ำลง และคุ้มค่าที่จะซื้อมากขึ้น แม้ว่าจริงๆแล้วจะต่างกันแค่ 1 บาทก็ตาม 

        การตั้งราคาตามช่วงเวลา (Seasonal Pricing) 

        การตั้งราคาตามช่วงเวลานี้ คือวิธีที่กำหนดราคาสินค้าให้ต่ำลง ในช่วงที่มีลูกค้ามาซื้ออาหารน้อย ขึ้นอยู่กับทำเลและลักษณะของร้าน เช่น ในร้านอาหารที่ไม่ได้อยู่ในทำเลที่มีคนมากนัก อาจจะตั้งราคาขายให้ถูกลงในช่วงบ่ายหรือช่วงดึกที่มีลูกค้าเข้ามาน้อย เพื่อกระตุ้นให้มีลูกค้ามาซื้ออาหารมากขึ้น 

ตั้งราคาขาย

        กลยุทธ์ราคาชุด (Product Set Pricing)

        การขายอาหารเป็นเซตเมนู คือรวมเมนูอาหารมากกว่า 1 เมนูมารวมกันเพื่อขายเป็นชุด จะมีความน่าสนใจของรูปภาพที่นำมาโฆษณา และลูกค้ารู้สึกคุ้มค่ามากกว่าเดิม แม้ว่าเราอาจจะตั้งราคารวมของชุดอาจจะต่ำกว่าราคาปกติเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เป็นการกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อสินค้าในปริมาณที่มากขึ้นต่อครั้ง 

        แนวระดับราคา (Price Lining)

        การที่ร้านอาหารมีตัวเลือกของเมนูประเภทเดียวกัน แต่หลายราคาขึ้นอยู่กับขนาดของอาหาร หรือคุณภาพของวัตถุดิบที่นำมาใช้ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้เลือกซื้อเมนูอาหารที่อยู่ในระดับราคาที่พอใจตามความต้องการของแต่ละคน การตั้งราคาแบบแนวระดับราคานี้จะช่วยเพิ่มความหลากหลาย และเพิ่มโอกาสในการขายได้ดีกว่าทำเมนูที่คล้ายๆกันในราคาที่ใกล้เคียงกัน

        กลยุทธ์ราคาเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มยอดขาย และดึงดูดลูกค้า แต่ไม่ว่าร้านอาหารของคุณจะมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแบบไหน อย่าลืมนำเสนอให้ลูกค้ารู้สึกถึงความคุ้มค่าจากการซื้อสินค้าและบริการ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบที่ผ่านการคัดสรรมาอย่างดี อาหารรสชาติอร่อย สะอาด ปลอดภัย และมีราคาที่สมเหตุสมผลครับ

 

เรื่องแนะนำ

ผักคะน้าคละ หรือ ผักคะน้าคัด ? เตรียมวัตถุดิบอย่างไรให้ได้จานเด็ดมัดใจลูกค้า

ผักคะน้าคละ หรือ ผักคะน้าคัด ? เตรียมวัตถุดิบอย่างไรให้ได้จานเด็ดมัดใจลูกค้า  ( SOP การเตรียมวัตถุดิบ + Portion Control = Perfect Dish ) ก่อนจะได้อาหารเลิศรสสักหนึ่งจานต้องผ่านกระบวนการต่างๆ มากมาย เริ่มตั้งแต่การซื้อวัตถุดิบ และหากว่าร้านอาหารของคุณต้องใช้ผักคะน้าจำนวนมาก แล้วคุณกำลังหาซื้ออยู่ที่ตลาดไท คุณจะเลือกผักคะน้าคละ หรือผักคะน้าคัดดีล่ะ ? สมมติว่าราคาผักคะน้าคละ ในตลาดไท ราคากิโลกรัมละ 23 บาท ก่อนจะนำมาปรุงได้ ต้องตัดใบแก่ ใบเหี่ยว ใบเหลืองทิ้ง ไป และตัดส่วนลำต้นที่แข็งออก คุณอาจจะเหลือผักคะน้าที่ใช้จริงแค่เพียง 7 ขีดเท่านั้น เท่ากับว่าต้นทุนจะไม่ใช่ 23 บาทต่อ 1 กิโลกรัมอีกต่อไป แต่จะเป็น 33 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม   นอกจากนี้คุณยังต้องเสียเวลาไปกับการคัดแยกเอาผักคะน้าสวยๆ ออกจากกองที่คละกันอยู่อีกต่างหาก ทำให้ต้องเสียคนไปด้วยหนึ่งคนกับกระบวนการนี้ และอย่าลืมว่าวัตถุดิบ คน และเวลา […]

ลดต้นทุนวัตถุดิบ

7 วิธีสุดเจ๋ง ช่วย ลดต้นทุนวัตถุดิบ ได้ชัวร์!

ต้นทุนวัตถุดิบ หรือ food cost ถือเป็นค่าใช้จ่ายสูงที่สุดในร้านอาหาร หากเจ้าของร้านสามารถ ลดต้นทุนวัตถุดิบ ได้มาก กำไรก็จะมากตามไปด้วย

บริหารร้านอาหารกับหุ้นส่วน

หลักการ บริหารร้านอาหารกับหุ้นส่วน

การจะเริ่มทำธุรกิจร้านอาหารกับใครนั้น ควรมีหลักการบริหารที่ชัดเจน เราจึงมีหลักการ บริหารร้านอาหารกับหุ้นส่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหามาฝาก 

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท เอเอ็มอี อิมเมจิเนทีฟ จำกัด
ในเครือ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

ติดต่อแจ้งปัญหาหรือร้องเรียน
02-422-9999 ต่อ 4180
(จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น)
bdcx@amarin.co.th

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.