พลังของการรีวิวบนโลกออนไลน์ เข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในยุคนี้เป็นอย่างมาก แม้แต่การเลือกร้านอาหาร ทำให้ปัจจุบันมีอาชีพใหม่ที่เรียกว่า Food Blogger / Food Reviewer หรือนักรีวิวอาหารนั่นเอง ร้านอาหารหลายๆร้าน เริ่มให้ความสนใจกับนักรีวิวอาหารมากขึ้น บางร้านเลือกใช้นักรีวิวอาหารที่ได้รับความนิยม อยู่ในกระแสที่มีผู้ติดตามจำนวนมากในการโปรโมทร้าน หากร้านไหนถูกพูดถึงมาก หรือมีรีวิวที่ดี ก็มีแนวโน้มที่จะขายดีและเป็นที่รู้จักมากขึ้น
“ Food Blogger ช่วยในการขยายฐานลูกค้าหรือชักนำไปสู่ร้านก็จริง
แต่ที่สำคัญ ร้านต้องทำตัวเองให้แข็งแกร่งก่อน ”
อาหารที่เป็นมากกว่าปัจจัย 4
ร้านอาหารเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะอาหารถือได้ว่าเป็นปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต แต่ทุกวันนี้อาหารเป็นมากกว่าปัจจัย 4 ไปแล้ว เพราะอาหารสามารถบ่งบอกไลฟ์สไตล์ของคุณได้เลย ผ่านภาพถ่ายที่คุณแชร์ ว่ามีไลฟ์สไตล์อย่างไร ชื่นชอบอาหารแนวไหน ทำให้เหล่านักชิมและนักรีวิวอาหาร หรือFood Blogger / Food Reviewer เริ่มต้นในการทำเพจอาหารหรือเพจชิมอาหารตามร้านต่างๆ เพื่อตอบโจทย์กับผู้บริโภคที่มักหาข้อมูลรีวิวต่างๆ จากสื่อโซเชียลก่อนไปลองทานที่ร้านจริงๆ คราวนี้เรามาดูกันว่าFood Blogger และ ร้านอาหาร สามารถทำงานร่วมกันได้อย่าง WIN WIN ทั้งสองฝ่ายได้อย่างไร
สิ่งสำคัญของการเป็นFood Blogger
ไม่ว่าจะธุรกิจสายไหนก็ตามมันคือการ Weight หรือการให้น้ำหนักที่ต้อง Balance กันระหว่างงานกับความเป็นตัวเอง เช่น ในส่วนของงานก็อาจจะต้องทำตามความต้องการของลูกค้า ทำตามความต้องการของคนอ่านยังไง แต่ก็ต้องให้สอดคล้องกับความเป็นตัวเอง ไปในแนวทางเดียวกันกับเพจ ไลฟ์สไตล์ของเพจที่มีฐานผู้ติดตาม (Follower) เป็นแบบไหน การรับงานรีวิวร้านอาหารบางร้าน อาจไม่เหมาะกับแนวทางของเพจที่เป็นอยู่ก็ได้ ดังนั้นFood Blogger ต้องพยายามหาจุดที่ลงตัวของสองสิ่งนี้ คือ ความเป็นตัวเองกับความต้องการฝั่งคนทำธุรกิจ ให้เกิดสมดุลให้ได้ จึงจะถือได้ว่าเป็น Blogger ที่ดีค่ะ
นักรีวิวอาหาร (Food Blogger) ได้อะไรจากการรีวิว
การสร้างคอนเทนท์ลงเพจจากร้านอาหารที่จ้างให้ไปรีวิวนั้น บางร้านจ่ายเป็นเงิน บางร้านแค่ให้ไปทานอาหารฟรี! แต่สิ่งที่นักรีวิวที่ดีควรคิดเสมอ คือ ไม่ใช่เพียงแค่ค่าตอบแทน แต่คือการสื่อสารกับคนที่มาอ่านรีวิว เพราะทุกครั้งของการรีวิวอาหาร นักรีวิวจะต้องรับฟังและคิดตามว่าคนที่คิดเมนูออกมา เขาต้องการจะสื่อสารอะไรกับคนที่จะมาทานอาหาร แต่ละเมนูมีจุดเด่นตรงไหน ต้องสื่อสารกับคนที่มาอ่านรีวิวให้ได้ เพราะอาหารกลายเป็นเทรนด์อย่างหนึ่งไปแล้ว นักรีวิวเองก็ต้องตามให้ทันอย่างเข้าใจ เพราะการตามให้ทันนั้นไม่ใช่แค่เห็นเขาฮิต ก็ไปถ่ายๆ มาลงให้คนกดไลค์ กดแชร์ แต่ควรคิดตามเสมอว่า คนที่ทำอาหารออกมาขายและได้รับความนิยมถึงขนาดว่าคนต้องไปต่อคิวซื้อให้ได้ เขาใช้วิธีไหนเล่าเรื่องราวอาหารของเขา ทำไมช่วงเวลานั้นถึงต้องฮิตเมนูนี้ ที่มาคืออะไร และคนในยุคนั้นกำลังเสพเทรนด์ไหนกันอยู่ นี่เป็นสิ่งที่นักรีวิวได้รับมากกว่าแค่การไปชิมอาหารและบอกแค่ว่ามันอร่อยหรือไม่อร่อย
ร้านต้องมีเคล็ดลับปรับกลยุทธ์ให้เข้าตาลูกค้า และบล็อกเกอร์
ร้านอาหารยุคนี้ต้องทำยังไงถึงจะเข้าตานักรีวิว มีของดีอะไรให้เขารีวิว??
สิ่งแรกเลยที่ต้องคิดถึงเมื่อจะจ้างบล็อคเกอร์มาทำรีวิว คือ ร้านเรามีอะไรดี Signature Menu ของร้านคืออะไร แตกต่างจากร้านอื่นอย่างไร บรรยากาศร้านเป็นอย่างไร ยิ่งยุคนี้ถ้าร้านนั้นๆ มีเรื่องราว(Story) ที่น่าสนใจมากกว่าแค่รสชาติ ก็ยิ่งเป็นที่ดึงดูดลูกค้า รวมถึงเหล่านักรีวิวได้ไม่น้อยค่ะ
นอกจากนี้ คุณต้องหาจุดขายเฉพาะตัว (Unique Selling Point) ให้ได้ก่อน ต้องมี! เพื่อให้เกิด Story นำไปรีวิว หากเป็นกรณีร้านเปิดมานานแล้ว เคยรีวิวไปแล้วหลายรอบต้องการจะรีวิวซ้ำ ก็ควรหาเมนูใหม่ ๆ เพื่อสร้างจุดขายใหม่ขึ้นมา การมี Unique Selling Point จะช่วยให้เกิดความน่าสนใจเป็นพิเศษ เพื่อให้การรีวิวมีประสิทธิภาพทางการตลาดอย่างที่เราต้องการเต็มที่
บางคนอาจจะมองว่าทำร้านอาหารหรือธุรกิจอะไรก็ตามแค่มีคนมารีวิวดี ๆ อวย ๆ ก็ดังได้แล้ว ใคร ๆ ก็ทำได้ แต่ลองนึกดูว่ามีกี่ร้านที่ต้องปิดตัวลง เพราะฐานไม่แข็งแกร่งพอ นักรีวิวอาหาร (Food Blogger) เป็นเพียงแค่กระบอกเสียงหนึ่งในการช่วยโปรโมทร้านอาหารของคุณ แต่การทำธุรกิจร้านอาหารนั้นมีเรื่องให้ท้าทายอยู่เสมอ หากคุณเข้าใจลูกค้าในยุคนี้ รู้ว่าพวกเขาต้องการอะไร อีกทั้งยังพร้อมปรับเปลี่ยนตัวเองอยู่เสมอเพื่อตามเทรนด์ให้ทัน การทำธุรกิจร้านอาหารให้ประสบความสำเร็จก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับคุณ
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ
How to 10 เทคนิค ถ่ายภาพอาหารให้น่ากิน
วิธีเก็บผัก เก็บอย่างไรให้ถูกต้อง และเก็บได้นาน
วิธี คำนวณต้นทุนร้านอาหาร ที่เจ้าของร้านต้องรู้! by คุณ ธามม์ ประวัติตรี
อย่าปล่อยให้ ระบบงานครัว ทำร้านเจ๊ง ถึงเวลาเจ้าของร้านต้องวางแผน
วิธีรับมือลูกค้า ที่มีปัญหา รับมืออย่างไรให้เจ๋ง พลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้