5 สิ่งอย่าทำ สำหรับร้านอาหารเปิดใหม่
การเปิดร้านอาหารเป็นธุรกิจปราบเซียน ที่มีผู้เล่นเกิดใหม่ และดับได้ในทุกวัน จึงไม่แปลกใจว่า หลายร้านสามารถติดตลาดได้อย่างรวดเร็วจนต้องจองคิวล่วงหน้าเป็นเดือน แต่กลับพบว่าต้องปิดตัวลง นี่คือหลุมพราง 5 ข้อ ที่หลายร้านเจอมาแล้วเจ็บจนต้องเจ๊ง ไม่กล้าบอกใคร
1.โปรโมชั่นกระตุ้นยอด… ดีแต่อายุสั้น
ร้านค้าเปิดใหม่จำเป็นต้องทำการส่งเสริมการตลาด เพื่อให้ลูกค้ารู้จักและตัดสินใจมาลองกิน เมื่อร้านขายดีหลายร้านเลือกลงทุนเพิ่ม สต็อกของเพิ่ม แต่พบว่าร้านกลับเงียบหลังจากนั้น เพราะยอดขายที่เกิดจากการทำโปรโมชั่นในช่วงแรกนั้นคือภาพลวง และเกิดจากลูกค้าขาจรโดยส่วนใหญ่ การทำโปรโมชั่นบ่อย ๆ อาจทำให้ลูกค้าเคยชินที่จะซื้อแค่ระยะเวลาโปรโมชั่นเท่านั้น เพราะฉะนั้นควรเลือกทำโปรโมชั่นที่เหมาะสมกับทิศทางของร้านที่จะช่วยเปลี่ยนลูกค้าขาจรให้เป็นลูกค้าประจำ เตรียมความพร้อมการจัดการหน้าร้านเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้า และโปรโมชั่นที่เลือกทำต้องสามารถวัดพฤติกรรมของลูกค้าได้ เพื่อส่งเสริมร้าน ซึ่งจะทำให้สามารถวางแผนในการทำการตลาดได้ดียิ่งขึ้น
2.ดังแค่ไหน,,,ทะเลาะกับลูกค้าคุณไม่มีวันชนะ
ทุกวันนี้ลูกค้าสามารถคอมเพลนร้านอาหารได้โดยตรง และการคอมเพลนของลูกค้านั้นกระจายถึงลูกค้าคนอื่นได้ง่ายและกว้าง ร้านอาหารบางร้านมีชื่อเสียงขายดีย่อมถูกคาดหวังสูงจากลูกค้า การตอบโต้กลับเมื่อถูกคอมเพลนจึงส่งผลเสียมากกว่า ร้านอาหารควรรู้จักการบริหารวิกฤตที่เกิดขึ้น คือ ขอโทษ เยียวยา แก้ไข และพลิกวิกฤตนั้นให้เป็นโอกาส
3.ไม่อยากพลาด…ไล่ตามกระแส
การจับกระแสได้เร็ว อาจทำให้คุณเป็นที่สนใจของลูกค้า มียอดเพิ่มมากขึ้นจากสินค้าใหม่ แต่ก่อนจะทำควรตอบให้ได้ว่า จุดยืนของร้านคืออะไร ชัดเจนว่าจะเป็นร้านแบบไหนในใจของลูกค้า ไม่ว่าจะอยู่ในกระแส นำกระแส หรือตามกระแส ก็ประสบความสำเร็จได้ จะต้องคำนึงถึงถึงความพร้อมทางด้านเงินทุนในการพัฒนาและการทำการตลาด รวมถึงความพร้อมของบุคคลากรของร้านด้วย
4.พยายามขายอาหารให้กับลูกค้าทุกคน
ร้านที่มีอาหารทุกประเภททั้งไทย จีน ฝรั่ง ญี่ปุ่น อาจขายไม่ดีเท่า ร้านข้าวที่มีแค่ผัดกะเพราเมนูเดียว เพราะการที่ร้านมีเมนูที่หลากหลาย ไม่ได้เป็นการตอบความต้องการของลูกค้าเสมอไป แต่การได้รับในสิ่งที่ดีที่เหมาะสมกับความต้องการของเขามากกว่าที่ตอบโจทย์ลูกค้าในปัจจุบัน ร้านอาหารหลายร้านไปไม่ถึงฝัน เพราะพยายามจะเอาใจลูกค้าทุกคน เสนอเมนูหลายรายการ แต่ไม่มีความโดดเด่นที่ทำให้ลูกค้าถูกใจและจดจำได้
5 . ลดคุณภาพลง จำนวนลูกค้าก็ลดลง
การบริหารจัดการต้นทุนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ร้านขาดทุนหรือได้กำไรเพิ่มขึ้น เมื่อร้านเริ่มติดตลาด ต้นทุนของสินค้าและต้นทุนการจัดการหน้าร้านก็เพิ่มขึ้น การเลือกลดต้นทุนด้านวัตถุดิบ หรือลดปริมาณการเสิร์ฟลง ส่งผลต่อความพอใจของลูกค้า นอกจากจะไม่กลับมาที่ร้านอีก ร้านคุณอาจถูกบอกต่อในแง่ลบ ตัดโอกาสที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ เพราะฉะนั้นหากประสบกับปัญหาต้นทุนต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น ควรหาไอเดียที่จะเพิ่มมูลค่าสิ่งที่มีอยู่ เพื่อให้ขายได้จำนวนมากขึ้น โดยที่ลูกค้ายังได้รับประสบการณ์ที่ดี
แม้ว่าคุณจะไม่มีประสบการณ์ แต่การตั้งรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในการบริหารจัดการร้านอาหาร การศึกษาบทเรียนของร้านอาหารที่ต้องปิดตัวลงไว้บ้าง รวมถึงการคำนึงถึงข้อดีและข้อเสีย ก่อนตัดสินใจดำเนินการใด ๆ ก็จะทำให้คุณประสบความสำเร็จแทนที่จะเจ๊งได้ในที่สุด!!