ถอดบทเรียน การตลาดร้านอาหาร จากเทศกาลกินเจ - Amarin Academy

ถอดบทเรียน การตลาดร้านอาหาร จากเทศกาลกินเจ

ถอดบทเรียน การตลาดร้านอาหาร จากเทศกาลกินเจ

“ตลาดกินเจ มีมุลค่าสูงถึง 4,650 ล้านบาทและยังเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ จากกระแสรักสุขภาพ ทำให้ตลาดนี้น่าสนใจมากๆ ” อาจารย์ วิว ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดระดับประเทศ เล่าให้ผมฟังระหว่างพักเบรกการสอนที่จุฬา เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าเทศกาลกินเจในปีนี้จะจบลง แต่ช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่วันของเทศกาลนี้ของทุกปี ทำให้เงินสะพัดหลักพันล้านบาท และยังเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี มีมุมมองด้าน การตลาดร้านอาหาร ที่น่าสนใจ ว่าทำไมเทศกาลกินเจถึงได้เติบโตอย่างต่อเนื่องแบบไม่ต้องพึ่งโฆษณา ดังนั้น ผู้ประกอบการร้านอาหารน่าจะสามารถเรียนรู้เทคนิคเหล่านี้ และนำไปปรับใช้กันได้ครับ #งานจบการตลาดไม่จบ

เทคนิคที่ 1: การตลาดด้วย “ความเชื่อ” ของคน

เทศกาลกินเจ เป็นเทศกาลนึงที่เป็นตัวอย่างได้อย่างชัดเจนสำหรับการตลาดที่อาจารย์วิวเรียกว่า “Faith Marketing หรือ การตลาดที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อของคน”

ผมขอให้อาจารย์ยกตัวอย่าง พฤติกรรมของคนทานเจ ที่นำไปทำการตลาดได้ อาจารย์ตอบทันทีครับว่า “คนกลุ่มนี้ ถ้าเราทำความเข้าใจพวกเขาจริงๆ คนไม่ได้กินเจเพราะอยากจะทำบุญอย่างเดียว แต่กินเพราะอยากทำให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น มีสุขภาพแข็งแรงมากขึ้น”

อาจารย์ยกตัวอย่างกลยุทธ์ คือการทำเมนูอาหารที่จะช่วยเสริมดวง ให้กับคนในแต่ละราศี “คนเกิดราศีนี้ ถ้าทานแบบนี้แล้วจะดีกับความเชื่ออะไร หรือต้องทานเมนูที่เป็นเส้นหมี่ เพื่อให้ชีวิตยืนยาว”

“ความเชื่อและศรัทธา เป็นเสมือนที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ” และการที่ร้านเอาเมนูอาหาร มาทำการตลาดคู่กับความเชื่อและศรัทธา จึงกลายเป็นส่วนเพิ่มมูลค่าให้กับอาหารและเพิ่มมูลค่าทางจิตใจให้กับลูกค้าได้

เทคนิคที่ 2: “Function” ต้องมี “Emotion” ต้องมา

อาจารย์วิว อธิบายว่า การทำร้านอาหารให้แตกต่างจากเจ้าอื่น ต้องคิดถึงทั้งเรื่อง “ฟังก์ชัน” และ “อารมณ์”ควบคู่กันไปด้วยครับ

“ร้านอาหารเจไม่ต่างจากอาหารปกติ แม้ว่าจะมีเรื่องเล่าหรือ story ดีแค่ไหน ถ้าอาหารไม่อร่อยเค้าก็คงไม่กลับมาทานอีกรอบ อันนี้เรียกว่าฟังก์ชัน หรือลักษณะพื้นฐานที่จำเป็นต้องมี”

แต่สิ่งที่ร้านอาหารส่วนใหญ่ขาดคือ การเชื่อมโยงคุณค่าทางอารมณ์ของลูกค้าให้เข้ากับเมนูอาหารของเรา

อาหารเจ มักจะมีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพ “เราจะเห็นว่า ร้านอาหารเจหลายร้านจะโฆษณาเลยว่า ทานเห็ดชนิดนี้แล้วจะเป็นมงคลด้านไหน ทานผักชนิดนี้แล้วจะเป็นมงคลอย่างไร”

พูดง่ายๆ คือ เราต้องทำการบ้านว่า อาหารแต่ละชนิดมีประโยชน์ทางโภชนาการอะไร แล้วพยายามพลิกมุมคิดดูว่า ถ้าเอามาผูกกับเรื่องดีๆ สร้างให้เกิดเรื่องราว เช่น ด้านมงคลตามความเชื่อ หรือเป็นการดูแลสุขภาพให้แก่ร่างกาย ก็จะทำให้อาหารของเรามีทั้ง Function และ Emotion

เทคนิคที่ 3: มอบความหลากหลายให้ลูกค้า

“จะสังเกตเห็นว่า ธรรมชาติของลูกค้าที่ทานอาหารเจ คือ ส่วนใหญ่พอทานร้านนึงแล้ว ก็มักจะเปลี่ยนไปทานร้านอื่น ในช่วง 10 วันนี้”

การที่จะให้ลูกค้าไม่เบื่อ และมาทานอาหารเจ ที่ร้านเราบ่อยๆ ต้องใช้กลยุทธ์ทำเมนูอาหารใหม่ๆ ออกมาในทุกๆ วัน

“เราต้องรู้ว่า อาหารอะไรของร้านเราที่ขายได้แน่ๆ เราก็ต้องมีเมนูเหล่านี้ไว้ ยืนพื้นในทุกๆ วัน” “แต่เราต้องทำเมนูอาหารใหม่ๆออกมาในแต่ละวัน ที่ลูกค้าจะได้ทานเฉพาะวันนี้เท่านั้น ถ้ามาวันอื่นเมนูนี้จะไม่ขายแล้ว”

เทคนิคนี้ นำไปปรับใช้ในการทำโปรโมชั่นอาหารแนะนำ ก็ได้นะครับ

อาหารเจ
เมนูอาหารเจ ของร้านอาหารที่ต้องหมั่นเปลี่ยนเมนูใหม่ๆ ทุกวันเพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกที่หลากหลาย

เทคนิคที่ 4: สร้างความผูกพันกับลูกค้า

“นอกจากเราจะมีอาหารที่อร่อยแล้ว แต่เราสามารถสร้างความผูกพันกับลูกค้าด้วยการสร้างบรรยากาศและพัฒนาด้านบริการได้ครับ”

การสร้างบรรยากาศเทศกาลกินเจ ด้วยการตกแต่งร้านใหม่ ให้พนักงานแต่งกายชุดใหม่ ใส่ชุดจีน หรือแม้แต่สร้างมุมหนึ่งของร้านให้เป็นที่ไหว้เจ้า หลังทานอาหารเสร็จ

รวมถึงเทคนิคการสร้างความประทับใจ เช่น พอทานอาหารเสร็จเราก็ให้กระดาษที่เป็นคำอวยพรขอให้เสริมโชค เสริมลาภ เป็นต้น

“มาทานร้านเรา ก็เปรียบเสมือนการได้สะสมบุญ มาทานบ่อยๆ ก็เท่ากับการได้ช่วยชีวิตสัตว์ และนั่นคือการทำบุญ” กูรูเฉลยเทคนิคการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าตามแบบฉบับเทศกาลกินเจ

ร้านอาหารอื่นๆ ก็สามารถตกแต่งร้าน หรือสร้างแคมเปญตามแต่ละช่วงเทศกาลเพื่อให้ลูกค้ารู้สึกผูกพันกับร้าน เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมากขึ้นเช่นกัน

เทคนิคที่ 5: ราคา ก็เป็นอีกเครื่องมือในการเล่าเรื่อง

“ในเทศกาลเจ การตั้งราคาก็สามารถนำมาใช้เป็นการตลาดสื่อสารกับลูกค้าได้เช่นกัน”

อาจารย์วิว แนะนำให้สังเกตร้านอาหารเจ บางร้านตั้งราคาเมนูเป็นเลข 8 เพราะเป็นเลขมงคลของคนจีน (ไม่แนะนำให้ตั้งเป็นเลข 0 เพราะอาจจะสื่อความหมายว่าเป็นการศูนย์เสีย)

ดังนั้น ในเทศกาลอื่นๆ ลองตั้งราคาอาหารให้สอดคล้องกับเทศกาล ให้สอดคล้องกับการสื่อสารทางการตลาด เช่น เทศกาลฮาโลวีน อาจใช้เลข 13 หรือ 31 มาใช้ในการตั้งราคาโปนโมชั่น เพื่อให้เหมาะกับเทศกาลด

ความเห็น ถามอีกกับอิก เรื่องลงทุน

สิ่งที่ย้ำกันอยู่เสมอครับ “เราต้องเข้าใจ insight ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย”

สำหรับเทศกาลกินเจแล้ว “บางคนกินเจเพราะที่บ้านกิน ก็เลยกินตาม บางคนกินเพราะกลัวภาวะ FOMO (fear of missing out) หรือ กลัวตกกระแส บางคนกินเจ เพราะรู้สึกผิด ในแต่ละปีอย่างน้อยช่วงเวลา 10 วันนี้ก็ขอทำดีบ้าง”

อาจารย์ วิว แบ่งกลุ่มให้ผมเข้าใจภาพกว้างๆ ว่ากลุ่มลูกค้าที่กินเจ ไม่ได้แบ่งแยกตาม เพศ วัย หรืออาชีพ ตามตำราที่เราเคยเรียนมาครับ แต่แบ่งตามทัศนคติ ความเชื่อ วัฒนธรรม และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตครับ

“ยิ่งเราเข้าใจลูกค้ามากแค่ไหน เราก็มีโอกาสทำให้ร้านอาหารของเราปังเท่านั้น” เพราะว่าเราจะสามารถสื่อสารหรือทำโปรโมชั่น ให้ตรงกับเป้าหมายของแต่ละกลุ่มได้

เพราะฉะนั้น ลองทำความเข้าใจกลุ่มลูกค้าของเราแบบเชิงลึกครับ ว่านอกจากอาหารที่รสชาติดีถูกปากแล้ว พวกเขามองหาอะไร? ทำตามคำแนะนำนี้ รับรองเทศกาลหน้า ยอดขายพุ่งแน่นอน

เรื่องแนะนำ

แผนการตลาด

สำรวจก่อนเริ่มทำ แผนการตลาด ธุรกิจ E-Commerce

ธุรกิจ E-Commerce แต่ละประเภทอาจมีเป้าหมายและจุดขายที่แตกต่างกัน แต่โดยพื้นฐานส่วนใหญ่แล้วมักมีวัตถุประสงค์ 3 ข้อนี้รวมอยู่ด้วย คือ เพิ่มจำนวนผู้เข้าชมและสร้างการรับรู้ เปลี่ยนจากผู้เข้าชมเป็นลูกค้า และสื่อสารกับลูกค้าที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ

สร้าง Content ว้าว! จนลูกค้ามาต่อคิว

 ในการทำการตลาดออนไลน์หรือ Digital Marketing ในยุคปัจจุบันนี้ เจ้าของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มส่วนใหญ่จะไปโฟกัสแต่เครื่องมือ โฟกัสแต่เคล็ดลับเทคนิคต่างๆ ในการซื้อโฆษณา

โกยเงินรับปีใหม่ สิ่งที่ร้านค้าควรปรับรับนักท่องเที่ยว

ผู้ประกอบการหลายคนถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจก็คือ ทำอย่างไร?ให้ได้ “ยอดขาย” ตามที่ตั้งเอาไว้ ดังนั้นเรามี 4 เทคนิคง่ายๆ มาฝากกัน!!

การตลาดออนไลน์เบื้องต้น ที่คุณต้องรู้!

การทำธุรกิจในยุคดิจิตัลแบบนี้ คงปฏิเสธการใช้การตลาดออนไลน์ (Online Marketing) ได้ยาก ฉะนั้นอะไรบ้างที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับ การตลาดออนไลน์เบื้องต้น

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

ติดต่อแจ้งปัญหาหรือร้องเรียน
02-422-9999 ต่อ 4180
(จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น)
bdcx@amarin.co.th

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.