ร้านอาหารแม้จะเปิดในเมืองไทย แต่ ป้ายร้าน มีแค่ภาษาไทยอาจจะไม่พอแล้วในยุคนี้ ยิ่งร้านไหนอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยว หรืออยู่ในจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติแวะเวียนไปบ่อยๆ คงต้องเพิ่มภาษาต่างชาติเข้าไปด้วย ทั้งในป้ายร้านและเมนู
ป้ายร้าน แค่ภาษาไทยคงไม่พอ
เรื่อง ป้ายร้าน เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้ประกอบการหลายคนมักมองข้าม ทั้งร้านใหญ่ หรือแม้แต่ร้าน Street Food ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายของชาวต่างชาติ วึ่งบางครั้งชาวต่างชาติไม่รู้ว่า คุณขายอะไร บางครั้งจะเห็นนักท่องเที่ยว เดินผ่านร้านอาหารแล้วยืนด้อมๆ มองๆ อยากลองกิน แต่ไม่รู้จะสั่งอย่างไร หรือข้างในมีส่วนผสมอะไรบ้าง สุดท้ายก็ได้แต่เดินผ่านไป โอกาสที่เจ้าของร้านจะได้ลูกค้าเพิ่มก้เสียไปอย่างน่าเสียดาย ฉะนั้นถ้าอยากได้ฐานลูกค้าต่างชาติเพิ่ม อาจจะต้องเพิ่มภาษาอื่นๆ เข้าไปด้วยครับ
ป้ายร้าน สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
ร้านอาหารเปิดใหม่สมัยนี้ ส่วนใหญ่ก็มีป้ายร้านภาษาอังกฤษกันหมดแล้ว เพราะเป็นภาษาสากล อ่านและจำได้ง่าย (แต่มีภาษาไทยกำกับด้วยก็ดีนะครับ ตัวเล็กๆ ก็ยังดี ลูกค้าคนไทยจะได้อ่านชื่อร้านเราได้ถูกต้อง) ส่วนร้านไหน ที่ป้ายร้านยังเป็นภาษาไทยอยู่ อาจจะต้องปรับนิดหน่อย โดยมีภาษาอังกฤษกำกับไว้มุมด้านล่างป้ายก็ได้ ส่วนร้านไหนที่รู้สึกว่า แค่ชื่อร้านยังไม่พอ ลองทำป้ายบอกสไตล์อาหารที่คุณขาย หรือเมนูเด็ดเป็นภาษาอังกฤษ ไว้หน้าร้านสักหน่อย ก็จะช่วยดึงดูดลูกค้าได้อีกทาง
นอกจากจดจำง่ายแล้ว ข้อดีที่สำคัญอีกเรื่องคือ หากว่ามีร้านอาหารสองร้านตั้งอยู่ข้างกัน ขายเมนูเหมือนๆ กัน ตกแต่งร้านคล้ายๆ กัน ต่างกันตรงที่ร้านหนึ่งไม่มีป้ายภาษาอังกฤษ ไม่มีอะไรบกบ่องถึงอาหารที่ขาย ขณะที่อีกร้านมีป้ายภาษาอังกฤษ มีเมนูแนะนำติดไว้ นักท่องเที่ยวตัดสินใจง่ายเลยครับ ว่าจะเข้าร้านไหน
นอกจากป้ายร้านอาหารแล้ว เมนูก็สำคัญ
เมนูสำคัญอย่างไร? เคยไหมครับ ไปกินร้านอาหารอิตาลี ร้านอาหารฝรั่งเศส หรือชาติอื่นๆ ที่เมนูอาหารที่เป็นชื่อเฉพาะมากๆ อ่านเมนูแล้วไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่ามีส่วนผสมอะไรบ้าง จะถามก็ไม่กล้า สรุปสั่งมาแล้วไม่ถูกปาก แล้วก็ทำให้ไม่กลับไปกินอีก เมนูอาหาร จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
ดังนั้น นอกจากเมนูจะต้องน่าสนใจ อ่านง่ายแล้ว ถ้าเป็นเมนูภาษาไทย ควรจะมีคำอ่านภาษาอังกฤษ หรือที่เรียกติดปากว่า ภาษาคาราโอเกะ กำกับไว้ด้วย รวมถึงคำอธิบายเมนูอาหารนั้นๆ และราคาต่อจาน ลูกค้ามองครั้งเดียวก็เข้าใจทันที ทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น แถมพนักงานก็ไม่ต้องเสียเวลาอธิบายอาหารแต่ละอย่างทุกครั้ง และลูกค้ายังจำชื่ออาหารได้ด้วย หรือถ้าร้านไหนที่เสิร์ฟอาหารต่างชาติ แล้วกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนไทย ก็อาจจะมีภาษาไทยกำกับไว้ก็ได้ บางร้านมีรูปอาหาร อยู่ในเมนูด้วย ยิ่งดีเลยครับ ขอแนะนำอีกสักนิด อย่างเมนูอาหารไทย อาจจะเขียนไว้ด้วยว่า อาหารจานไหนเผ็ดมาก เผ็ดน้อย เพราะต่างชาติบางคน ค่อนข้างกังวลเรื่องอาหารรสจัด
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าแถวไหนนักท่องเที่ยวชาวจีนเยอะ ภาษาอังกฤษอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เพราะจากสถิติใน 10 ปีที่ผ่านมา ชาวจีนมาเที่ยวประเทศเรากันเยอะมาก จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเที่ยว ในประเทศไทยโตขึ้นกว่า 1000% ตั้งแต่ปี 2548 ฉะนั้นหากอยากได้กลุ่มลูกค้านี้อาจจะต้องมีภาษาจีนกำกับไว้สักหน่อย ทั้งป้ายร้าน เมนูอาหาร และเมนูที่แนะนำ
ข้อควรระวัง!
การจะทำป้ายร้านค้า และเมนูอาหารเป็นภาษาอื่นๆ แนะนำว่าควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะของภาษานั้นๆด้วย เพื่อความถูกต้องของเนื้อหา การสะกด และคำแปล เพราะหากใช้คำที่ผิด ความหมายอาจเปลี่ยนไปและเกิดความสับสนได้ เช่น
ทีมงานบังเอิญเห็นภาพหนึ่งจากอินเทอร์เน็ต เป็นร้านรถเข็นข้าวมันไก่ เขียนว่า ‘Chicken Rice Episode ข้าวมันไก่ตอน’ ผมแอบยิ้มแล้วคิดว่า ก็ถูกของเขา Episode ก็คือ ตอน แต่มันคนละตอนกันสิครับ ไก่ตอน กับ ตอนของภาพยนต์ ใช้ด้วยกันไม่ได้ ข้าวมันไก่ของไทย สามารถแปลได้ว่า Thai Chicken Rice หรือ ถ้าใครเคยไปสิงค์โปร์ ก็จะรู้จักในอีกชื่อคือ Hainanese Chicken Rice ครับ
วิธีการหาชื่ออาหารภาษาอังกฤษง่ายๆ คือ เบื้องต้นลองค้นหาจาก Google ดูได้เลย ถ้าอาหารไทยทั่วไป ส่วนใหญ่ Google จะมีคำตอบให้อยู่แล้ว แต่ห้ามค้นหาใน Google Translate เด็ดขาด เพราะอาจจะเสี่ยงที่จะผิดพลาด หรือจะลองสอบถามจากในเว็บไซต์พันทิป มีคนตั้งกระทู้ถามไว้มากมายเรื่องชื่อของอาหาร หรือลองจ้างคนรับแปลภาษาก็ได้ จะชัวร์ที่สุด