กุ้งเบ้อเร่อ กุ้งเผาไซส์ยักษ์ มีแค่ 3 เมนู แต่รายได้ไม่ธรรมดา!: Amarinacademy

กุ้งเบ้อเร่อ กุ้งเผาไซส์ยักษ์ มีแค่ 3 เมนู แต่รายได้ไม่ธรรมดา!

กุ้งเบ้อเร่อ กุ้งเผาไซส์ยักษ์ มีแค่ 3 เมนู แต่รายได้ไม่ธรรมดา!

เตรียมตัวเปิดร้าน 2 สัปดาห์ มีเพียง 3 เมนู เปิดร้านแค่ 2 เดือน แต่ยอดขายทะลุ 7 แสน! ฟังแค่นี้ก็น่าสนใจแล้วใช่ไหมครับว่า กุ้งเบ้อเร่อ ร้านกุ้งเผาน้องใหม่ในโคราช ทำได้อย่างไร วันนี้คุณปรินทร อินทปัต เจ้าของร้าน กุ้งเบ้อเร่อ จะมาเผยขั้นตอนการเตรียมตัว เทคนิคการบริหารจัดการร้าน และเคล็ดลับความสำเร็จให้ฟังกัน!

เพราะชอบกินกุ้ง ก็เลยต้องเปิดร้านกุ้ง!

ก่อนที่ผมจะเปิดร้านกุ้งเบ้อเร่อ ผมเคยเปิดบริษัทเครื่องสำอาง จนกระทั่งธุรกิจเครื่องสำอางไปต่อได้ยากขึ้น เลยตัดสินใจว่าลองเปิดร้านอาหารดีกว่า สาเหตุที่เลือกธุรกิจร้านอาหาร เพราะผมมองเรื่องปัจจัย 4 เป็นหลัก ไม่ว่าอย่างไรคนก็ต้องกิน

ผมอยู่โคราช ซึ่งร้านอาหารในโคราชก็มีเยอะมาก โจทย์สำคัญคือเราจะสร้างความต่างได้อย่างไร ด้วยความผมชอบกินกุ้งมาก โดยเฉพาะกุ้งแม่น้ำ แต่ในโคราชไม่มีร้านที่ขายกุ้งแม่น้ำเลย ยิ่งเป็นกุ้งไซส์ใหญ่ๆ 2 ตัวโล ไม่เคยเจอในโคราชมาก่อน ถ้าอยากกินต้องขับรถไปกรุงเทพหรือไปอยุธยา เลยคิดว่าอย่างนั้นเรามาเปิดร้านกุ้งแล้วกัน

พอตัดสินใจได้ว่าเปิดร้านกุ้งแน่ๆ ก็เริ่มสำรวจตลาดทันทีว่าในโคราชร้านไหนขายกุ้ง ผมไปตลาดทุกที่ในโคราชเลย และศึกษาว่ากุ้งมีสายพันธุ์อะไรบ้าง Supplier ที่ไหนส่งกุ้ง และไปหาเชฟที่มีความรู้เรื่องกุ้ง ทั้งการเลือกกุ้ง การผ่า การแล่ ตัดกระเพาะ ผมไปเรียนรู้เองทั้งหมดเลย

จากนั้นก็มาคิดเรื่องการตั้งชื่อ โจทย์คือทำอย่างไรให้คนรู้ว่าเราขายกุ้งใหญ่ล่ะ เลยคิดขึ้นมาว่า กุ้งเบ้อเร่อดีไหม เพราะมันก็พ้องกับคำว่า จานเบ้อเร่อ เลยคิดว่าเอาชื่อนี้แหละ ใช้เวลาคิดแค่ 2 นาทีเอง

ทำเล สิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้

ผมว่าทำเลคือสิ่งสำคัญ เพราะต่อให้ร้านสวย รสชาติอาหารอร่อยแค่ไหน ถ้าทำเลไม่ดี ทุกอย่างก็จบ ตอนแรกผมเลือกทำเลจาก Traffic เลยตั้งใจว่าจะขายตลาดนัด เพราะวันหนึ่งๆ คนเดินเป็นพันคน แต่ลองมาวิเคราะห์ดูว่า ราคากุ้งที่ผมตั้งไว้คือตัวละ 350 บาท แต่ตลาดนัด วิเคราะห์จากกำลังซื้อแล้ว ราคาอาหารไม่ควรเกิน 100 บาท ฉะนั้นถ้าผมเปิดร้านที่ตลาดนัด อาจจะได้แค่คนเห็น แต่ไม่มีแค่คนซื้อ

ประกอบกับช่วงนั้นมีพี่คนหนึ่งแนะนำให้เช่าหน้าร้านอาหารที่เป็นสไตล์ Loft และอยู่ในย่านที่คนมีกำลังซื้อมักมารับประทานอาหารเย็น แม้คนจะผ่านไปมาไม่มาก แต่เขาตั้งใจมาเพื่อรับประทานอาหารจริงๆ พอผมเข้าไปดูพื้นที่ก็ชอบ และตัดสินใจภายในชั่วโมงเดียวเลยว่า เอาตรงนี้แหละ

ผมเลือกทำเลจากกลุ่มเป้าหมายว่าต้องมีกำลังซื้อ และเป็นกลุ่มที่ต้องการประสบการณ์ในการรับประทานอาหาร เพราะร้านเราไม่ได้ตั้งใจขายแค่รสชาติอาหารเท่านั้น แต่ยังขายประสบการณ์ให้ลูกค้าด้วย ลูกค้าบางคนอาจจะไม่เคยกินกุ้งไซส์ 2 ตัวโล เราก็อยากมอบประสบการณ์ใหม่ๆ ประสบการณ์ดีๆ ให้เขา

ตั้งแต่ผมตัดสินใจว่าอยากทำร้านอาหาร ผมใช้เวลาศึกษาหาข้อมูล รวมทั้งเตรียมความพร้อมแค่ 2 สัปดาห์ก็เริ่มเปิดขายจริงเลย ถือว่าเร็วมาก

การตลาดออนไลน์ ช่องทางสำคัญทำให้ยอดขายพุ่ง

ผมตัดสินใจสร้างเพจ กุ้งเบ้อเร่อ ก่อนเปิดร้านประมาณ 1 สัปดาห์ ถ่ายภาพ ให้ข้อมูลแล้วก็ Boost post โดยไม่ได้ทำการตลาดช่องทางอื่นเลย จากนั้นก็รออย่างเดียวว่าลูกค้าจะเข้าร้านไหม

ผมตั้งเป้าไว้ว่าวันแรกถ้าขายได้ 10 ตัวก็เก่งแล้ว เพราะเรายังใหม่มาก กุ้งตัวละ 350 บาท 10 ตัว ได้ 3,500 บาท ก็หรูแล้ว แต่ผลตอบรับกลับเกินคาดมากๆ วันแรกผมขายได้ 30 ตัว วันถัดๆ มาก็ขายได้เฉลี่ยประมาณเท่านี้  จนปัจจุบันยอดขายเฉลี่ยอยู่ที่ 50-60 ตัวต่อวัน และขายหมดทุกวัน ร้านเราเปิด 5 โมงเย็น ถึง 4 ทุ่ม บางวันกุ้งหมดตั้งแต่ทุ่มครึ่ง ถือว่าเกินคาดมากๆ

และถือเป็นโชคดีอีกข้อหนึ่งคือ มี Blogger มาช่วยรีวิวให้ โดยที่เขาไม่ได้คิดค่าโฆษณาเลย เขาเข้ามาแบบลูกค้าปกติ แล้วขออนุญาตไปลงเพจ เราก็ยินดีมาก ปรากฏว่าหลังจากลงเพจไป กระแสตอบรับดีมาก วันรุ่งขึ้นกุ้งหมดตั้งแต่ 6 โมงเย็น เปิดร้านต่อไม่ได้เลย (หัวเราะ)

ตัวผมเองก็สร้างการรับรู้ได้แค่ระดับหนึ่ง แต่ที่เหลือเป็นการบอกต่อจากลูกค้า ทำให้มันกระจายไปในวงกว้าง บางคนก็เดินมาบอกผมว่าที่มาเพราะเพื่อนแนะนำมานะ

ผมเชื่อว่าสิ่งที่ทำให้เกิดการบอกต่อคือคุณภาพและการบริการของเรา กุ้งของเราสดมาก Supplier จะมาส่งวันเว้นวัน ฉะนั้นมั่นใจได้เลยว่าลูกค้าจะได้กินของที่มีคุณภาพจริงๆ อาหารทุกๆ จานที่เสิร์ฟ แม้แต่เศษขี้เถ้าจุดเดียวเราก็ไม่ให้ติดออกไป หรือถ้ามันกุ้งหาย ผมไม่เสิร์ฟ และผมจะเข้าไปคุยกับลูกค้าทุกๆ โต๊ะ สอบถามความพึงพอใจ

มีครั้งหนึ่งที่ผมรู้สึกดีมากๆ คือ ลูกค้าบอกว่า บริการที่นี่ดีสมคำร่ำรือจริงๆ ผมชื่นใจมาก ชื่นใจกว่าที่ลูกค้าบอกว่าอาหารอร่อยอีก (หัวเราะ)

ทำร้านอาหาร อย่าลืมประเมินตัวเลข

เราโชคดีที่ต้นทุนของเราไม่สูงมาก อย่างค่าสถานที่ เราเช่าพื้นที่จากร้านอาหาร เปิดคล้ายๆ เป็น Pop-up Store หน้าร้าน ค่าเช่าก็เลยไม่สูงมาก และร้านอาหารก็มีพนักงานเสิร์ฟเข้ามาช่วยเก็บ ช่วยเคลียร์โต๊ะ เราจึงใช้พนักงานของตัวเองไม่กี่คน คือฝ่ายย่าง ฝ่ายครัว ฝ่ายเสิร์ฟ ฉะนั้นต้นทุนพนักงานของเราจะไม่มาก

แต่ต้นทุนหลักๆ จะตกอยู่ที่กุ้งและน้ำจิ้ม เราโชคดีที่ได้ Supplier ที่ดี เขาช่วยคุมราคาให้ อย่างกุ้งไซส์ 4 ตัวโล เขาจะคุมขนาดว่าตัวหนึ่งต้องหนักระหว่าง 2.5-3.2 ขีด ไม่เกินจากนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ที่ส่งมาจะอยู่ที่ 2.7 ซึ่งเขาก็ยังคิดราคาเท่าเดิม

ส่วนค่าน้ำจิ้มเราประเมินได้แล้วว่า กุ้งประมาณ 40 ตัว ต้องใช้น้ำจิ้มประมาณ 100 บาทต่อชนิด โดยเรามีน้ำจิ้ม 2 ชนิด หักทุกอย่างแล้วกำไรของเราจะอยู่ที่ 25% ก็ถือว่าพออยู่ได้แล้ว ต้องไม่ต่ำไปกว่านี้และก็คงไม่สูงไปกว่านี้ เพราะกุ้งที่เรารับมาก็ราคาไม่ได้ถูก เนื่องจากเราคัดไซส์

สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากการทำร้านอาหาร กุ้งเบ้อเร่อ

ตั้งแต่เปิดร้านมาสิ่งสำคัญที่ผมได้เรียนรู้คือ รักษาคุณภาพ ในทุกๆ เรื่อง ตั้งแต่รสชาติอาหาร ความสะอาด การบริการ แต่สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เกิดกรซื้อซ้ำ คือการบริการ ไม่ว่าคุณจะทำอาหารรสชาติดีแค่ไหน อร่อยแค่ไหนก็ตาม ถ้าบริการห่วย คุณจะขายได้ครั้งเดียว แต่ถ้ารสชาติดี คุณภาพดี และบริการดีด้วย ไม่ว่ายังไงลูกค้าก็รักคุณ

โตช้าๆ แต่ยั่งยืน

ร้านเราโตเร็วมาก แต่ผมไม่ใจร้อน เพราะรุ่นพี่ที่เคยทำร้านอาหารเขาสอนมาว่า อย่าใจร้อน ด้วยเศรษฐกิจแบบนี้ ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป และโตอย่างต่อเนื่องดีกว่า จริงๆ ถ้าผมใจร้อน ด้วยยอดขายขนาดนี้ สัปดาห์ที่ 2 ผมวางแผนขยายสาขาแน่นอน

ฉะนั้นตอนนี้ผมเลยวางแผนว่าขอดูยอดขายไปเรื่อยๆ ก่อน (ยอดขายยังไม่หักค่าใช้จ่าย 2 เดือนแรก เฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 บาทต่อวัน นับรวมแล้วประมาณ 7 แสนบาท!) ถ้ายังคงรักษาระดับเอาไว้ได้ก็วางแผนว่าจะเพิ่มเมนู เพราะตอนนี้เรามีแค่ 3 เมนูเอง คือ กุ้งเผาออริจินัล กุ้งเผาชีส และกุ้งเผาพาร์สลีย์ ก็วางแผนว่าจะเพิ่มโดยใช้คำว่ากุ้งเบ้อเร่อเป็นแกนหลัก เช่น ต้มยำกุ้งเบ้อเร่อ ข้าวผัดกุ้งเบ้อเร่อ ผมเตรียมแผนไว้แล้ว แต่ยังรอจังหวะก่อน

ฝากถึงคนที่อยากเปิดร้านอาหาร

สิ่งที่ผมอยากแนะนำคือ ข้อแรกคุณต้องชอบก่อน ผมเองไม่เคยเป็นเจ้าของร้านอาหารมาก่อน แต่จุดเริ่มต้นของผมคือคนที่ชอบทาน และชอบทำ เราต้องเลือกขายในสิ่งที่เราชอบ แล้วเวลาที่เราไปคุยกับลูกค้า เราจะมีเรื่องราวไปเล่า อย่างผมขายกุ้ง ผมจะเข้าไปคุยกับลูกค้าทุกโต๊ะ เน้นว่าทุกโต๊ะจริงๆ เข้าไปถามว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ยิ่งถ้าเขาถามเราว่า กุ้งมาจากไหน ก็เข้าทางเลย ผมจะมีเรื่องไปเล่าให้เขาฟังได้

แต่ถ้าคุณเลือกทำตามกระแส หรือทำในสิ่งที่ไม่ได้อิน เช่น คุณขายเบียร์ แต่คุณไม่ดื่มเบียร์ มันก็ไม่มีเรื่องราวไปเล่าต่อ ลูกค้าก็จะไม่ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ

พอชอบแล้ว ผมว่าที่เหลือคือ “ลงมือทำ” ข้อนี้สำคัญมาก ผมเจอมาหลายคนมาก ที่คิดๆๆ อยากทำๆๆ แต่ไม่ทำ สุดท้ายโดนคนอื่นลงมือทำไปก่อน ก็ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าลงมือทำแล้วอย่าคาดหวังเต็มร้อยว่าจะสำเร็จ คุณต้องเผื่อใจรับความเสี่ยงในอนาคตด้วย เพราะบางทีมันอาจจะไม่ได้สำเร็จในครั้งแรกที่ทำก็ได้


2 สัปดาห์ก่อนเปิดร้าน ผมอ่าน amarin academy ทุกวันเลย บางเรื่องผมอ่านซ้ำ อ่านทั้งในเว็บไซต์ ทั้งในเพจ เพราะผมพยามหาหนังสือสอนเปิดร้านอาหาร แต่ไม่เคยเจอเลย พอมาอ่านแล้วมันได้ไอเดียดีๆ ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ทั้งเรื่องการทำเมนู การตั้งราคา เห็นร้านสวยๆ ก็ทำให้ผมรู้สึกว่าอยากมีร้านในฝันแบบนี้บ้าง

ผมกล้าพูดได้เลยว่าที่มาถึงจุดนี้ได้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ amarin academy

กระทั่งผมเปิดร้านแล้วเห็นความสำเร็จระดับหนึ่ง มันอาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่มาก ไม่ได้เป็นร้านใหญ่ๆ แต่ก็ถือเป็นความภูมิใจ ผมเลยตัดสินใจส่งข้อความมาในเพจ ก็อยากขอบคุณมากๆ ครับ

ข้อมูลเพิ่มเติม
Facebook: กุ้งเบ้อเร่อ
โทร: 083 681 5485


บทความที่เกี่ยวข้อง

Maguro ซูชิพรีเมียม กับปรัชญาให้มากกว่าที่คาดหวัง

4 Fingers ขั้นตอนนำแฟรนไชส์ต่างชาติ สร้างตลาดในเมืองไทย

เรื่องแนะนำ

หม้อเบ้อเร่อ

ถอดบทเรียน “ หม้อเบ้อเร่อ “ พลิกวิกฤติร้านเกือบเจ๊ง ให้กลับมาอยู่รอดอีกครั้ง

หลายคนทำร้านอาหารตามกระแส เห็นร้านอื่นขายดี ก็เลยอยากจะขายบ้าง แต่บอกเลยว่าการทำร้านอาหารหนึ่งร้านนั้น ใช่ว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จ ร้าน หม้อเบ้อเร่อ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างร้านชาบูบุฟเฟต์ที่น่าสนใจ ที่ผ่านทุกช่วงมาแล้ว ตั้งแต่เริ่มขายรายได้หลักแสน จนเข้าขั้นวิกฤติขาดทุนวันละหมื่น แล้วฟื้นตัวกลับมาขายดีมีลูกค้าต่อเนื่องอีกครั้ง หม้อเบ้อเร่อ พลิกธุรกิจที่เกือบเจ๊ง ให้กลับมาปังอีกครั้งได้อย่างไร มาฟังคำตอบจาก คุณป๊อป ฐิติพงศ์ เนตรพ่วง เจ้าของร้านกันครับ >> หม้อเบ้อเร่อ เปิดใหม่กระแสดี ยอดขายหลักแสนต่อวัน ช่วงแรกที่เปิด หม้อเบ้อเร่อ เป็นกระแสดีมาก เป็นชาบูถาดใหญ่ จานใหญ่ๆ ยังไม่เคยมีใครทำ และอยู่ต่างจังหวัดด้วย คนยังไม่เคยเห็นแบบนี้ เรียกว่าใหม่มาก แปลก ออกสื่อเยอะ ลูกค้าจองเป็นเดือน ตอนนั้นเราเลยคิดว่าเรามาถูกทางแล้ว เราขายดีอยู่เป็นปีครับ แต่หลังจากนั้นพอกระแสมันหมด นี่คือชีวิตจริงแล้ว ทีนี้เราต้องมองให้ออกว่า อะไรคือกระแส อะไรคือของจริง วันที่เราแย่สุดๆ เคยขายได้วันละแสนขึ้น ลงมาเหลือสี่พัน แย่สุดๆเลย อยู่แบบนั้นประมาณ 3-4 เดือนจนเราคิดว่ามันลงถึงจุดที่ต่ำสุดแล้ว ถึงขั้นขาดทุนวันละหมื่น คิดว่าอยู่แบบนี้ไม่ไหวแล้ว ทั้งค่าพนักงาน ค่าเช่า ถ้าปล่อยไปแบบนี้ไม่รอด วิกฤติมาก […]

a lot of cuisine

A lot of Cuisine รื้อ ระบบร้านอาหาร ใหม่ จบทุกปัญหา

ทำร้านอาหาร “คุณต้องเหนื่อยเป็นและต้องหยุดเหนื่อยให้เป็นด้วย” คือประโยคเด็ดจากคุณปั๊บ - กษิดิ์เดช เจ้าของร้าน A lot of cuisine ที่ตัดสินใจรับช่วงต่อธุรกิจร้านอาหารตามสั่งจากที่บ้าน เพื่อพัฒนาร้านและวาง ระบบร้านอาหาร ให้ดีขึ้น

ดราม่าคนทำร้านกาแฟ “เอสเย็น” มีจริงไหม ? เมนูที่ลูกค้าสั่ง แต่บางร้านไม่เข้าใจ

ดราม่าคนทำร้านกาแฟ “เอสเย็น” มีจริงไหม ? เมนูที่ลูกค้าสั่ง แต่บางร้านไม่เข้าใจ แชร์มุมมองประเด็น “เอสเย็น” โดยคุณนิว นฤพล วงษ์สุข เจ้าของร้าน Nap’s coffee x rama 2 “เอสเย็น” “เอสเพรสโซ่เย็น” มีจริงไหม ? เป็น Topic ที่ถูกพูดถึงกันบ่อยมากในกลุ่มคนทำร้านกาแฟ จนบางทีก็เกิดเป็นดราม่าระหว่างคนทำร้านกาแฟกับลูกค้า และคนทำร้านกาแฟด้วยกันเอง ด้วยเหตุผลที่ว่าเมนูเอสเย็นนี้ไม่ใช่เมนูที่อยู่ในสูตรสากล ผู้ขายกาแฟบางคนก็มีความคาดหวังความเข้าใจของชื่อและสูตรกับลูกค้า ในขณะที่ลูกค้าก็คาดหวังรสชาติที่ถูกใจ ทำให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน นำไปสู่ดราม่าบ่อย ๆ ดังนั้นวันนี้เราลองมาหาคำตอบกันว่าเอสเย็นมีจริงไหม ? ในมุมมองของพี่นิว นฤพล วงษ์สุข เจ้าของร้าน Nap’s coffee x rama 2 กัน! เคยมีคนสั่งเอสเย็นไหม ? . เอสเพรสโซ่ คือ เมนูที่มีแค่กาแฟอย่างเดียวเลย มันคือสารตั้งต้นของทุกเมนู ซึ่งที่ร้านก็มีคนสั่งเมนูเอสเย็นบ่อยเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้เยอะมาก . “เอสเย็น” […]

Creamery

Creamery boutique ice creams ทำอย่างไร ในวันที่กลุ่มลูกค้าเดิมเปลี่ยนไป?

Creamery boutique ice creams ร้านไอศกรีมโฮมเมด และคุกกี้ลาวา เป็นอีกหนึ่งร้าน ที่เจ้าของเริ่มต้นเปิดร้านจากความรักและความชื่นชอบในการทำขนมมากๆ และกล้าพูดได้ว่าเป็นร้านแรกๆ ที่เริ่มคิดค้นเมนูลาวาจากไข่เค็ม ที่ยังคงเป็นเมนูยอดฮิตจนถึงทุกวันนี้ คุณชมพูนุช จอมสง่าวงษ์ เจ้าของร้านจะมาเผยถึงวิธีคิดเมนูให้เป็นจุดเด่นของร้าน รวมถึงความท้าทายที่ร้านต้องเจอ เมื่อกลุ่มลูกค้าเดิมเปลี่ยนไป จะมีวิธีอย่างไร มาดูกันครับ   Creamery boutique ice creams ร้านที่เริ่มต้นจากความรักในการทำขนม ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว เดิมเราทำงานประจำอยู่ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล ทำขนมอยู่ที่นั่น เราชอบทำขนมอยู่แล้ว เลยอยากเปิดร้านขนมทำเป็นงานเสริมก่อน ก็เลยเปิดร้าน Creamery boutique ice creams สาขาแรกแถวสามย่าน ซึ่งก่อนจะเปิดร้านเคยไปกินร้านที่สเปน แล้วชอบช็อกโกแลตที่นั่นมาก อยากกินอีก เลยคิดว่าทำเองดีกว่า เลยลองทำช็อกโกแลตมาใส่คุกกี้ สินค้าตัวแรกของร้านเลยออกมาเป็นช็อกโกแลตลาวา ตัวนี้ทำให้เราเป็นที่น่าจดจำมากขึ้น เพราะความแปลกใหม่ ที่ยังไม่มีใครทำคุกกี้ที่เป็นลาวา รวมถึงพลังของโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้คนเห็นเมนูเรามากขึ้น พอเอาไอศกรีมมาวางบนคุกกี้ ลาวาในคุกกี้ก็จะไหลออกมา ลูกค้าก็ว๊าวมาก คนก็ถ่ายแล้วแชร์ ซึ่งเราคิดว่า เราจับเทรนด์นี้ได้ทันพอดี คุกกี้ลาวาไข่เค็มชาโคล […]

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

ติดต่อแจ้งปัญหาหรือร้องเรียน
02-422-9999 ต่อ 4180
(จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น)
bdcx@amarin.co.th

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.