Patom Organic Living คาเฟ่ออร์แกนิก ต่อยอดธุรกิจจาก “สามพราน ริเวอร์ไซด์” - Amarin Academy

Patom Organic Living คาเฟ่ออร์แกนิก ต่อยอดธุรกิจจาก “สามพราน ริเวอร์ไซด์”

Patom Organic Living ต่อยอดธุรกิจจาก “สามพราน ริเวอร์ไซด์

หากเอ่ยถึงสามพราน ริเวอร์ไซด์ หรือสวนสามพราน คงไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเป็นรีสอร์ทที่อยู่คู่จังหวัดนครปฐมมานานกว่า 50 ปี วันนี้ คุณฟี่ อนัฆ นวราช ทายาทรุ่นที่ 3 จะมาแนะนำธุรกิจใหม่ ที่ต่อยอดจากรีสอร์ทให้เราได้รู้จัก นั่นคือ ปฐม ออร์แกนิค ลีฟวิ่ง ( Patom Organic Living ) คาเฟ่แห่งใหม่ใจกลางเมือง ที่เปิดบริการเพียงไม่กี่เดือน แต่กลับได้รับผลตอบรับดีเกินคาด เขามีแนวคิดการต่อยอดธุรกิจอย่างไร และปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดกลุ่มลูกค้ารักสุขภาพ ให้แวะเวียนที่ร้านเป็นประจำคืออะไร วันนี้คุณฟี่จะมาเผยเคล็ดลับให้ฟัง

เริ่มต้นต่อยอดธุรกิจ จากรีสอร์ทชานเมือง มาเป็นคาเฟ่ใจกลางเมือง ได้อย่างไร

จุดเริ่มต้นมาจากพี่ชายของผม (อรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ สามพราน ริเวอร์ไซด์) เป็นคนรักสุขภาพ จึงสรรหาวัตถุดิบออร์แกนิคเข้ามาใช้ในโรงแรม ร้านอาหารและนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น แชมพู สบู่ และครีมอาบน้ำ

จากนั้นเราเริ่มทำฟาร์มออร์แกนิคเอง และรวมกลุ่มเกษตรกร ตั้งตลาดสุขใจ ให้เกษตรกรมาขายผลผลิตอินทรีย์ให้นักท่องเที่ยวภายในสามพราน ริเวอร์ไซต์ พร้อมก่อตั้งมูลนิธิสังคมสุขใจขึ้น โดยได้รับทุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จากนั้นนำเงินจากมูลนิธิมาตั้ง โครงการสามพรานโมเดล เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครปฐมและใกล้เคียง ปลูกผัก ผลไม้ออร์แกนิค

หน้าที่หลักของมูลนิธิคือ กระจายสินค้าของเกษตรกร พัฒนาเรื่องระบบต่างๆ และช่วยหาช่องทางการตลาด ซึ่งมีทั้งส่งให้สามพราน ริเวอร์ไซต์เอง โรงแรม และร้านอาหารต่างๆ

ตอนนี้โครงการสามพรานโมเดลมีอายุ 7 ปีแล้ว โดยเราเริ่มรีแบรนด์เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา พยายามทำให้ภาพลักษณ์ดูเด็กลง เข้าถึงง่ายขึ้น เพราะคนภายนอกมักมองว่า สวนสามพรานดูโบราณ เข้าถึงยาก

เมื่อปรับทุกอย่างจนเข้าที่แล้ว ผมเริ่มเห็นช่องทางการตลาดว่า เราน่าจะต่อยอดเป็นธุรกิจในกรุงเทพฯ ได้ เนื่องจากเรามีวัตถุดิบคือ ผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์ Body Care ที่เป็นออร์แกนิคอยู่แล้ว จึงคิดว่าควรจะสร้างร้านๆ หนึ่ง ให้เป็นจุดกระจายสินค้าสู่คนในเมือง จึงเกิดเป็น Patom organic living โดย ปฐม หมายถึง สินค้าเรามาจากจุดเริ่มต้น คือเกษตรกรจริงๆ ส่วน organic living หมายถึง ทุกๆ อย่างรอบตัวเราเต็มไปด้วยของออร์แกนิค

คุณฟี่ อนัฆ นวราช

ร้านนี้จำหน่ายสินค้าอะไรบ้าง

เรามีเครื่องดื่ม พวกชา กาแฟ เมล็ดกาแฟเรามาจากไร่กาแฟออร์แกนิคที่เชียงดาว ผมไปลงพื้นที่จริงๆ ว่าเขาปลูกอย่างไร ไปมา 2 ครั้ง ก็มั่นใจได้ว่าเขาปลูกแบบออร์แกนิคจริงๆ แล้วรสชาติดี ดื่มง่าย ไม่ขมจนเกินไปและไม่เปรี้ยว จึงนำมาจำหน่ายในร้าน เครื่องดื่มอีกชนิดที่เราทำเองคือ น้ำผลไม้ออร์แกนิคคั้นสด เช่น น้ำฝรั่ง มะเฟือง ชมพู่ ซึ่งเป็นผลผลิตจากเกษตรกรในเครือข่าย ส่วนขนมจะส่งตรงมาจากสวนสามพราน เป็นขนมไทยพวกตะโก้ ขนมสอดไส้ ขนมกล้วย ฯลฯ ต่อมาเป็นอาหาร เราจำหน่ายเฉพาะข้าวกล่อง หมุนเวียนเมนูกันไปตามแต่ละสัปดาห์ ซึ่งใช้วัตถุดิบจากสวนสามพรานทั้งหมด แล้วนำมาปรุงที่นี่

อีกส่วนเป็นผลิตภัณฑ์ Body care ที่เราผลิตเอง เช่น สบู่ โลชั่น แชมพู เรามีโรงงานเล็กๆ ที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย แต่ส่วนผสมของเราไม่ใช่ออร์แกนิคร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าทำเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ เราต้องซื้อวัตถุดิบเยอะมาก จะทำให้ต้นทุนสูงจนผู้บริโภคเข้าไม่ถึง ฉะนั้นเราต้องดูกำลังซื้อของผู้บริโภคด้วย

นอกจากจำหน่ายสินค้าแล้ว ทุกวันเสาร์ที่ 2 ของทุกเดือนเวลา 10.0-16.00 น. เรายังจัดกิจกรรมเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ โดยพาเกษตรกรมาสอนเพาะเมล็ด ทำปุ๋ย เลี้ยงไส้เดือนดิน ลงแปลง และมีทีมงานจากสวนสามพรานมาสอนกิจกรรมวิถีไทย เช่น สานปลาตะเพียน วาดร่ม ในวันเดียวกันมี Farmer market เชิญเกษตรกรจากตลาดสุขใจ มาขายของให้คนในเมือง จุดสำคัญคือ ตั้งใจให้เกษตรกรมาขายของให้ผู้บริโภคด้วยตัวเอง

เพราะอะไรจึงเลือกจำหน่ายข้าวกล่อง แทนที่จะเสิร์ฟอาหารแบบคาเฟ่ทั่วไป

ผมอยากให้บรรยากาศร้านสบายๆ ง่ายๆ ไม่อยากทำเป็นร้านอาหารให้พนักงานเดินไปเดินมา ตั้งใจว่าทุกอย่างต้องเป็น Self service ลูกค้าเดินไปหยิบน้ำ หยิบอาหารเอง แล้วมาจ่ายที่เคาท์เตอร์ จากนั้นนำไปรับประทาน เก็บจานเอง หรือใครอยากนำกลับไปรับประทานที่บ้านก็ได้เหมือนกัน

ทั้งนี้ข้าวกล่องเป็นโครงการที่เราทำร่วมกับ สสส. เพื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้กินของที่ดี กินผักผลไม้วันละ 400-500 กรัม ฉะนั้นข้าวกล่องทุกกล่อง จะมีข้อมูลระบุว่ากล่องนี้ผักกี่กรัม ผลไม้กี่กรัม เพื่อสร้างการรับรู้ว่า วันนี้คุณกินผักผลไม้เพียงพอหรือยัง

พฤติกรรมผู้บริโภคในเมืองต่างจากชานเมือง เขาไม่นิยมทำอาหารเอง และยอมจ่ายมากกว่าเพื่อความสะดวกสบาย เราจึงพยายามหาของแปรรูปมาจำหน่ายมากขึ้น พยายามเปลี่ยนตามเทรนด์ลูกค้า

การจำหน่ายข้าวกล่องมีข้อดีข้อเสียอย่างไร

ตอนแรกเราคิดว่าการบริหารจัดการน่าจะง่ายกว่า แต่จริงๆ แล้วไม่ง่ายเลย เราอาจจะตัดเรื่องขั้นตอนการบริการไป แต่ปัญหาสำคัญของเราคือของเสีย เพราะเราทำวันต่อวัน ไม่เก็บค้างคืน สมมติวันนี้ทำมา 30 กล่อง ขายได้แค่ 25 กล่อง 5 กล่องที่เหลือต้องตัดเป็นต้นทุนไป หรือนำมาขายครึ่งราคาช่วงก่อนปิดร้าน

ตอนนี้ตัวเลขที่ขายได้เฉลี่ยยังไม่แน่นอน จึงต้องค่อยๆ ปรับลดกันไป บางวันผมทำ 30 กล่อง เหลือ 10 กล่อง อีกวันทำเท่ากัน แต่ขายหมดตั้งแต่เที่ยง ต้องมาวิเคราะห์อีกที แล้วปรับลดจำนวนตามแต่ละวัน

การทำอาหารสดอาจไม่เจอปัญหานี้ เพราะวัตถุดิบเก็บได้ ลูกค้าไม่สั่งก็ไม่ต้องทำ แต่ต้องเจอปัญหาเรื่องการบริการอื่นๆ แทน ซึ่งผมว่าอาจจะปวดหัวกว่าเรื่องขายไม่หมดด้วย

กลุ่มลูกค้าของที่นี่แตกต่างจากกลุ่มลูกค้าเดิมที่สามพราน ริเวอร์ไซต์หรือเปล่า

ต่างครับ ที่สามพราน ลูกค้าจะเน้นซื้อวัตถุดิบ ผัก ผลไม้เพื่อนำกลับไปปรุงอาหารเองที่บ้าน ขณะที่กลุ่มลูกค้าที่นี่ เน้นอาหารพร้อมรับประทาน และอาหารที่แปรรูปแล้ว

ตอนแรกผมกับพี่ชายคาดว่าผักสดต้องขายดีที่สุด ไปๆ มาๆ กลับขายได้น้อยที่สุด เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคในเมืองต่างจากชานเมือง เขาไม่นิยมทำอาหารเอง และยอมจ่ายมากกว่าเพื่อความสะดวกสบาย เราจึงพยายามหาของแปรรูปมาจำหน่ายมากขึ้น พยายามเปลี่ยนตามเทรนด์ลูกค้า สมมติเราขายฝรั่ง 3 ลูก ราคาเท่านี้ ขายฝรั่งเฉาะแล้ว 1 ลูก ราคาไม่ต่างกันมาก คนส่วนใหญ่จะซื้อแบบเฉาะแล้ว ทั้งๆ ที่ปริมาณ 3 ลูกเยอะกว่า

แต่ผมยังขายผักสดและผลไม้อยู่เหมือนเดิม เพราะมีกลุ่มลูกค้าของสวนสามพราน ที่ยังซื้อของสดอยู่ตามมาซื้อที่นี่

จุดแข็งหรือข้อโดดเด่นของร้านนี้คืออะไร

ความโปร่งใส ชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์เรามีที่มาที่ไปและตรวจสอบได้ ในร้านเรามีแผนที่บอกเลยว่า ใครปลูกอะไรส่งให้เรา ฝรั่งมาจากไหน มะพร้าวมาจากใคร เข้ามาแล้วผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า สินค้าที่เราขายมีมาตรฐานและมาจากเกษตรกรจริงๆ

ที่สำคัญร้านนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพียงเพื่อขายกาแฟ แต่จุดประสงค์จริงๆ คือให้ที่นี่เป็นจุดกระจายสินค้าดีๆ สู่มือผู้บริโภค พยายามทำให้คนรู้จักมูลนิธิสังคมสุขใจ และที่สำคัญไม่ลืมสวนสามพราน เพราะร้านแห่งนี้จะเป็นจุดที่ขายสวนสามพรานได้ต่อ ธุรกิจมันเชื่อมโยงกันหมด

ถ้ามองเรื่องการแข่งขัน ผมว่าตัวเองเปิดช้ามาก เป็นเจ้าหลังๆ ที่การแข่งขันเยอะมากอยู่แล้ว เราเป็นเพียงส่วนเล็กมาก ฉะนั้นจึงต้องยึด concept ตัวเองให้แน่นและนิ่ง

วางแผนจะเชื่อมโยงกลับไปสู่ สามพราน ริเวอร์ไซต์อย่างไร

ต่อไปเราอยากทำแพคเกจเที่ยวกับปฐม อาจจะไปเจอกันที่สามพราน พัก 1 คืน เช้าไปดูต้นน้ำก่อน คือไปพบเกษตรกร เรียนรู้การปลูกผัก ผลไม้ออร์แกนิค ห่อฝรั่ง เดินแปลง เก็บผักมาทำอาหารเอง ช่วงบ่ายทำกิจกรรมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เช่น สอนทำสบู่ สุดท้ายไปจบที่ตลาดสุขใจ เราก็จะเน้นแบบครบทั้งวงจร ให้ลูกค้าเห็นตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ผมว่าน่าสนุกดี น่าจะสร้างความสุขใจให้เขาได้

ช่วงที่เปิดร้านใหม่ๆ ทำการตลาดอย่างไรบ้าง จึงเป็นที่รู้จักได้อย่างรวดเร็ว

ตอนที่เปิดร้าน 2 สัปดาห์แรก ไม่มีคนเข้าร้านเลย เพราะเรายังไม่ทำการตลาดใดๆ จนถึงช่วงที่เราจะเปิด Farmer Market ครั้งแรก จึงคิดว่า ควรต้องโปรโมทอะไรสักหน่อย ไม่อย่างนั้นคนจะงงว่าตลาดมาได้อย่างไร ผมเลยตั้งแฟนเพจและถ่ายภาพร้านแล้วโพสต์ลงเฟซบุ๊ก

ตอนที่ลงภาพไป ผลตอบรับดีมาก คนแชร์กันเต็มไปหมด จากวันนั้นมาทุกวันเสาร์-อาทิตย์ คนแน่นร้าน ไม่มีที่จอดรถเลย โดยตอนนี้เราทำการตลาดช่องทางเดียวคือเฟซบุ๊ก เพราะคนเข้าถึงง่าย อัพเดตทุกอย่างได้รวดเร็ว เช่น สัปดาห์นี้ข้าวกล่องมีเมนูอะไรบ้าง วันเสาร์มีกิจกรรมพิเศษอะไร ก็จะเผยแพร่ผ่านช่องทางนี้ทั้งหมด

ส่วนช่องทางอื่นๆ ก็จะเป็นนิตยสารมาขอรีวิวร้าน หรือเว็บไซต์ต่างๆ มาขอถ่ายรูป เป็นสิ่งที่ทำให้คนรู้จักมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันมีคาเฟ่ที่เน้น concept ออร์แกนิค เปิดเยอะมาก กลัวเรื่องการแข่งขันไหม

เราไม่เคยคิดแข่งกับใคร แต่โฟกัสกับสิ่งที่เราทำมากกว่า ถ้ามองเรื่องการแข่งขัน ผมว่าตัวเองเปิดช้ามาก เป็นเจ้าหลังๆ ที่การแข่งขันเยอะมากอยู่แล้ว เราเป็นเพียงส่วนเล็กมาก ฉะนั้นจึงต้องยึด concept ตัวเองให้แน่นและนิ่ง

ผมไม่ห่วงว่าถ้ามีร้านอย่างนี้เยอะขึ้น เราจะขายได้น้อยลง กลับคิดว่าการมีร้านเยอะขึ้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะเราจะได้สร้างเครือข่าย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หรือใครจะมาร่วมมือกับเรา ก็ยินดี ขออย่างเดียวต้องผ่านมาตรฐานและกฎระเบียบของมูลนิธิ

สิ่งที่เรากลัวคือเรื่องกระแสมากกว่า เพราะทุกวันนี้ร้านเรามีวัยรุ่นมาเยอะ กลัวว่าถ้ากระแสเริ่มซาแล้วเขาจะหายไป ฉะนั้น ช่วงนี้จึงต้องพยายามสร้างลูกค้าประจำ คือพยายามทำให้คนรักสุขภาพมากขึ้น  เพราะเมื่อเขาเริ่มเปลี่ยนมากินอาหารสุขภาพ ก็อาจจะไม่หันกลับไปกินเดิม

ปัญหาและอุปสรรคที่เจอในการเปิดร้าน

ปัญหาหลักๆ คือเรื่องระบบการขนส่ง เพราะวัตถุดิบทุกอย่างเราส่งตรงมาจากสวนสามพราน เราต้องคำนวนว่าต้องจัดส่งอย่างไร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สัปดาห์หนึ่งส่งกี่ครั้ง เพื่อให้ของใหม่สดและคุ้มค่าขนส่ง และการขนส่งก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราเพียงฝ่ายเดียว แต่ขึ้นกับเกษตรกรด้วย ต้องดูว่าเขามาส่งผักวันไหน ใช้เวลาการล้าง บรรจุถุงนานเท่าไร ฉะนั้นต้องวางแผนและปรับกันพอสมควร

ตอนนี้ระบบเริ่มเข้าที่แล้ว คือเกษตรกรจะมาส่งผักสัปดาห์ละ 2 วัน คือกลางสัปดาห์และปลายสัปดาห์ สมมติ เขามาส่งวันพุธ วันนั้นทั้งวัน คนของมูลนิธิจะทำหน้าที่บรรจุถุง วันพฤหัสบดี รถของปฐมก็จะเข้าไปรับผัก พร้อมผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ขนม น้ำผลไม้ Body care มาจำหน่าย กว่าจะได้ระบบนี้ก็เปลี่ยนหลายหน เพราะว่าต้องขนส่งให้มีประสิทธิภาพที่สุด

เคล็ดลับความสำเร็จของ Patom organic living คืออะไร

ผมก็ยังไม่รู้ว่าสำเร็จหรือยังนะ (หัวเราะ) แต่ผมว่าการที่เราเป็นปลายน้ำ ที่ลูกค้าสามารถมองกลับไปที่ต้นน้ำได้อย่างชัดเจน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจยั่งยืน ผมมองว่า ไม่ว่าร้านดีไซน์สวยอย่างไร กาแฟอร่อยแค่ไหน ใครๆ ก็ทำตามได้ ถ้าเราไปเน้นจุดนั้น เราก็เป็นแค่ร้านๆ หนึ่ง แต่การที่เรามีต้นน้ำที่ชัดเจน ทำให้เราแตกต่าง

ลูกค้าเข้าร้านมาในร้าน เขาอาจจะไม่ได้ถามว่า ฝรั่งมาจากที่ไหน แต่สมมติวันหนึ่งเขาถามขึ้นมา แล้วเราตอบไม่ได้จะทำอย่างไร ถ้าเราไม่มีต้นน้ำที่ชัดเจน ไปซื้อเขามาทั้งๆ ที่เราไม่มีแหล่งวัตถุดิบที่เชื่อถือได้ ถ้าเราเองยังไม่มั่นใจ แล้วลูกค้าจะมั่นใจได้อย่างไร ผมว่าตรงนี้สำคัญ ความโปร่งใสคือสิ่งที่ทำให้ลูกค้าเชื่อใจและเป็นลูกค้าประจำ

วางแผนพัฒนาธุรกิจต่อไปอย่างไร

ส่วนของร้าน ผมอยากเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายขึ้น เช่น เพิ่มเมนูมังสวิรัติ แยมผลไม้ พวกส้มโอ มะนาว กระเจี๊ยบ มัลเบอร์รี่ และเพิ่มบริการ Delivery ส่งสินค้าตรงถึงบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนที่ไม่มีเวลา

ส่วนของแบรนด์ปฐม ผมกำลังมองเรื่องการส่งออก ปลายปีที่ผ่านมาผมเริ่มหาตลาดในญี่ปุ่น ฮ่องกง เป็นลักษณะการขายแบบ B2B ส่งพวกผลิตภัณฑ์ Body care ไปตามโรงแรมที่ต้องการผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค ตอนนี้อยู่ในช่วงการศึกษาตลาด เพราะการทำธุรกิจกับต่างชาติค่อนข้างต่างจากในเมืองไทย อย่างประเทศญี่ปุ่นเขาต้องการเป็นตัวแทนจำหน่ายเพียงรายเดียว เราส่งของให้เขา แล้วเขาไปกระจายต่อเอง เราจะกระจายสินค้าเองไม่ได้ ฉะนั้นจึงต้องค่อยๆ ศึกษา ไม่อยากรีบร้อน

วางแผนจะขยายสาขาหรือทำ เฟรนด์ไชน์ Patom organic living ไหม

ยังไม่มีครับ ผมคิดว่า ณ ตอนนี้คิดว่าคงจะเปิดที่เดียว เพราะเราไม่ต้องการเงินมาก ไม่อยากขยายสาขาเยอะๆ จนสุดท้ายวัตถุดิบไม่พอ แบบนั้นไม่มีประโยชน์ แต่เราต้องการให้ร้านเติบโตอย่างมั่นคง ไปพร้อมๆ กับมูลนิธิสังคมสุขใจ เติบโตไปพร้อมๆ กับเกษตรกร

การทำธุรกิจต้องไม่หยุดพัฒนาตัวเอง Patom organic living ถือเป็นตัวอย่างในเรื่องการต่อยอดธุรกิจที่น่าสนใจ และน่าจะเป็นแนวทางสำหรับผู้ประกอบการท่านอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี

ภาพ: KTC / Patom organic living

เรื่องแนะนำ

ขายขนมสุขภาพ

Meloliz healthy อยาก ขายขนมสุขภาพ ต้องทำยังไง ?

แทนที่จะขายอาหารสุขภาพ ที่เน้นผักเหมือนร้านทั่วๆ ไป ซึ่งการแข่งขันสูงมาก Meloliz healthy กลับเลือก ขายขนมสุขภาพ เพื่อเลี่ยงการแข่งขันที่รุนแรงแทน

ทำไมเปิด “คาเฟ่” แล้วไม่รุ่ง? เจ้าของร้านกาแฟ พร้อมสมาชิกกลุ่ม “คนบ้ากาแฟ” แชร์เหตุผลทำไมไม่สำเร็จ

ถอดบทเรียน เจ้าของร้านกาแฟแชร์เหตุผล ทำไมเปิด ” คาเฟ่ ” แล้วไม่รุ่ง? สมาชิกกลุ่ม “คนบ้ากาแฟ” ร่วมแสดงความเห็น และปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่ประสบความสำเร็จ   เพราะเหตุผลนี้ทำให้เปิด คาเฟ่ ไม่รุ่ง! เจ้าของร้านกาแฟดังแชร์ปัจจัยที่เป็นต้นเหตุให้การทำร้าน คาเฟ่ ได้รับการตอบรับที่ไม่ดีเท่าที่ควร ในกลุ่มคนบ้ากาแฟ โดยมีเจ้าของร้านกาแฟ คาเฟ่ คนอื่นๆ ร่วมแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้ด้วย . เจ้าของร้านรายนี้ได้สรุปเหตุผลที่ทำให้การทำคาเฟ่ไม่รุ่งไว้ว่า “ เหตุผลที่คนทำ cafe ไม่รุ่ง 1. ไม่มีความรู้เรื่องผลิตภัณฑ์ และธุรกิจ ของตัวเอง (ไม่กินกาแฟ อยากทำร้านกาแฟได้มั้ยคะ 55555 ) 2. ไม่รู้ต้นทุนตัวเอง ต้นทุนต่อแก้ว /ค่าเช่า /ค่าพนักงาน/ ต้นทุนแฝง ฯลฯ 3. เลือกทำเลไม่เป็น ไม่รู้จักช่องทางขาย (เลือกทำเลราคาถูก แต่ไม่มีลูกค้า ) 4. สนองความต้องการตัวเองจนลืมเหตุและผล (ของมันต้องมี) […]

a lot of cuisine

A lot of Cuisine รื้อ ระบบร้านอาหาร ใหม่ จบทุกปัญหา

ทำร้านอาหาร “คุณต้องเหนื่อยเป็นและต้องหยุดเหนื่อยให้เป็นด้วย” คือประโยคเด็ดจากคุณปั๊บ - กษิดิ์เดช เจ้าของร้าน A lot of cuisine ที่ตัดสินใจรับช่วงต่อธุรกิจร้านอาหารตามสั่งจากที่บ้าน เพื่อพัฒนาร้านและวาง ระบบร้านอาหาร ให้ดีขึ้น

ร้านเบเกอรี่

เผยเคล็ดลับการจัดการ ร้านเบเกอรี่ จาก “สวนดุสิตโฮมเบเกอรี่”

ร้านเบเกอรี่ เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสเช่นกัน เพราะจะไม่ใช่อาหารมื้อหลักที่ผู้บริโภคจะซื้อทุกวัน รวมถึงวัตถุดิบที่มีอายุการเก็บรักษาสั้น ในบทความนี้ อาจารย์จันทร์จนา ศิริพันธ์วัฒนา จากสวนดุสิตโฮมเบเกอรี่ ร้านเบเกอรี่ต้นแบบที่มี “ทอฟฟี่เค้ก” ในตำนาน และมีกลุ่มลูกค้าเป็นธุรกิจจัดเลี้ยง จะมาแนะนำเคล็ดลับการจัดการวัตถุดิบ และการยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ (Shelf Life Extension) ที่ผู้ประกอบการควรรู้ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเบเกอรี่ เพื่อลดการสูญเสียต้นทุนจากสินค้าที่หมดอายุ  เคล็ดลับการจัดการ ร้านเบเกอรี่ จาก “สวนดุสิตโฮมเบเกอรี่” วิธีถนอมอาหารเพื่อยืดอายุการขาย หรือลด waste จากสินค้าที่หมดอายุ         โดยปกติสินค้าเบเกอรี่ที่เราวางจำหน่ายก็จะมีการหาอายุการเก็บรักษาอยู่แล้ว ในช่วงนี้ทางบริษัทที่อาจารย์ส่งสินค้าด้วยก็จะสั่งเป็นสินค้าที่มีอายุการเก็บรักษานานขึ้น ถ้าเป็นเบเกอรี่ก็จะเลือกเป็นเบเกอรี่ที่มีค่า Water Activity (aw) หรือค่าความชื้นในสินค้าต่ำ โดยอาจจะเลือกบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยให้อายุการเก็บรักษานานขึ้น หรือใส่ซองดูดออกซิเจน (Oxygen absorber) เพื่อช่วยป้องกันการเจริญของจุลินทรีย์ และไม่ให้เบเกอรี่มีกลิ่นเหม็นหืน         นอกจากนี้ ในส่วนของการเก็บรักษาวัตถุดิบบางชนิด เช่น ธัญพืช ส่วนใหญ่ไม่ได้เสียเพราะจุลินทรีย์ แต่เสียเพราะเหม็นหืนได้ง่าย เราอาจจะต้องหาอุปกรณ์มาช่วย […]

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท เอเอ็มอี อิมเมจิเนทีฟ จำกัด
ในเครือ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

ติดต่อแจ้งปัญหาหรือร้องเรียน
02-422-9999 ต่อ 4180
(จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น)
bdcx@amarin.co.th

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.