ทำอาหารไม่เป็น เปิดร้านอาหารได้ไหม ? - Amarin Academy

ทำอาหารไม่เป็น เปิดร้านอาหารได้ไหม ?

ทำอาหารไม่เป็น เปิดร้านอาหารได้ไหม ?

ทำอาหารไม่เป็น เปิดร้านอาหารได้ไหม ? คำตอบคือ…เปิดได้ เพราะจากการที่เราไปสัมภาษณ์ผู้ประกอบการร้านอาหารหลายๆ ร้าน พวกเขาก็ตัดสินใจเปิดร้านอาหาร ทั้งๆ ที่ทำอาหารไม่เป็น ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ บางรายทำรายได้หลักล้านเสียด้วย! และจากการที่เราสังเกตและวิเคราะห์พบว่า ผู้ประกอบการเหล่านี้มีคุณสมบัติเหมือนกันบางอย่าง ที่ทำให้เขาเปิดร้านอาหารได้ ทั้งๆ ที่ ทำอาหารไม่เป็น เราจะมาสรุปให้ฟัง

1.ต้องชิมอาหารเป็น

คุณสมบัติพื้นฐานของเจ้าของร้านอาหารที่ดีคือ ต้องชิมอาหารเป็น ซึ่งการชิมอาหารในที่นี้ เราไม่ได้หมายถึงการบอกว่า “อาหารจานนี้อร่อยหรือไม่อร่อย” (เพราะความอร่อยเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล ไม่สามารถนำมาตัดสินได้อย่างชัดเจน) แต่เป็นการบอกว่าอาหารมีรสชาติที่ “ได้มาตรฐาน” หรือเปล่า หมายถึงรสชาติคงที่ กินกี่ทีรสชาติก็เหมือนเดิม

เช่น เมื่อชิมเมนูสเต๊กเนื้อ เจ้าของร้านต้องรู้ว่า ระดับความสุกของเนื้อนั้นตรงกับที่สั่งหรือเปล่า ซอสที่เสิร์ฟมาเค็มไป หวานไป จืดไป ข้นไป หรือรสชาติผิดเพี้ยนไปจากมาตรฐานไหม ฯลฯ เพราะมาตรฐานของรสชาติเป็นสิ่งที่เรากำหนดขึ้น และลูกค้าส่วนใหญ่ก็ยอมรับและชื่นชอบในรสชาตินี้ ฉะนั้นจึงต้องปรุงให้คงที่ เขาจะได้ไม่รู้สึกผิดหวัง

เราสามารถฝึกฝนการชิมอาหารได้ง่ายๆ ด้วยการหมั่นชิมอาหารบ่อยๆ และคอยสังเกตว่ารสชาติเป็นอย่างไร จะทำให้เราสามารถแยกแยะรสชาติและรสสัมผัสได้ดีขึ้น

2.ต้องมีสูตรอาหารเป็นของตัวเอง

หลายคนเริ่มทำร้านอาหารเพราะรู้จักกับเชฟฝีมือดี เลยคิดว่า อย่างนั้นจ้างเชฟมาเปิดร้านอาหารดีกว่า เรื่องในครัวให้เชฟคุม เรื่องอื่นๆ เราดูแล ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่บอกได้เลยว่าหากตัดสินใจเช่นนี้ ธุรกิจของคุณจะมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง เพราะหัวใจสำคัญของธุรกิจอาหารคือ “อาหาร” แล้วเราจะฝากความหวังทั้งหมดของร้านไว้ที่เชฟเพียงคนเดียวหรือ ?

ถ้าวันดีคืนดี เชฟลาออก ไม่อยากเป็นลูกจ้างคุณอีกต่อไปจะทำอย่างไร (บางร้านกลัวเกิดปัญหานี้ จึงตัดสินใจมอบหุ้นให้เชฟเป็นเครื่องดึงดูดใจ)

ทางที่ดีที่สุดคุณควรมีสูตรอาหารเป็นของตัวเอง หรือหากไม่มีก็ต้องเจรจากับเชฟตั้งแต่ต้น ให้ถอดสูตรอาหารออกมาเพื่อสร้างมาตรฐานให้ร้าน เวลาที่เชฟลาออก ร้านเราจะได้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้

3.ต้องมีความรู้ด้านวัตถุดิบ

ต่อเนื่องจากข้อที่แล้วที่ว่า เราไม่ควรฝากความหวังไว้ที่เชฟเพียงคนเดียว เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าเขาจะลาออกเมื่อไร ฉะนั้นนอกจากสูตรอาหารแล้ว เราก็ควรศึกษาเรื่องวัตถุดิบเอาไว้ด้วย เช่น วัตถุดิบที่ใช้ในร้านเราเป็นเกรดไหน คัดเลือกอย่างไร รับมาจาก Supplier เจ้าใด ราคาเท่าไร ช่วงเวลาใดที่วัตถุดิบราคาสูง – ราคาถูก

ข้อมูลเหล่านี้เราสามารถหาได้ง่ายๆ จากการสังเกต การสอบถามจาก Supplier รวมทั้งการเก็บสถิติการสั่งของภายในร้าน ยิ่งเรารู้ข้อมูลเกี่ยวกับร้านมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เราสามารถบริหารจัดการร้านได้ดียิ่งขึ้น เช่น หากเรารู้ว่าช่วงเวลานี้แซลมอนราคาถูกมาก ก็ควรนำมาจัดโปรฯ แซลมอน ดึงลูกค้าเข้ามาใช้บริการที่ร้าน เป็นต้น

4.ต้องมีระบบการทำงานที่เป๊ะ

แทบทุกบทความเราจะพูดเรื่องการวางระบบเสมอ เพราะมันเป็นสิ่งสำคัญจริงๆ ที่จะช่วยให้เจ้าของร้านไม่ต้องเหนื่อยกับการแก้ปัญหาเดิมซ้ำๆ ทุกวัน บางคนอาจไม่เข้าใจว่าจะเริ่มต้นวางระบบร้านอาหารอย่างไร เพราะไม่เคยมีความรู้ด้านการทำร้านอาหารมาก่อน จริงๆ เรากล้าบอกได้เลยว่าแทบทุกร้านมีระบบอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะมีระบบมาก หรือมีระบบน้อย

การกำหนดเวลาการเปิดร้าน ก็ถือเป็นระบบ การที่เจ้าของร้านกำหนดให้พนักงานเดินไปรับลูกค้า เดินไปส่งลูกค้าที่โต๊ะ ยื่นเมนู ยืนรอรับออร์เดอร์ ส่งออร์เดอร์เข้าครัว นำอาหารมาเสิร์ฟ คิดเงิน หรือหากย้ายไปที่ฝั่งครัว การที่เจ้าของร้านกำหนดว่าจะต้องเช็คสต๊อกวัตถุดิบทุกสิ้นวัน สั่งวัตถุดิบมาเติมใหม่ทุก 3 วัน ทุกเช้าต้องมีพนักงานเข้ามาเปิดร้าน จัดเตรียมวัตถุดิบ 3 คน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นระบบทั้งสิ้น แต่ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของร้านจะกำหนดให้ชัดเจน และละเอียดมากน้อยแค่ไหน

ยิ่งเราระบุรายละเอียด ขั้นตอนการทำงานให้พนักงานชัดเจนเท่าไร ปัญหาต่างๆ ก็จะลดน้อยลงเท่านั้น เพราะคุณไม่ต้องมานั่งปวดหัว คอยบอกขั้นตอนการทำงานให้พนักงานแทบทุกวัน

5.ต้องพร้อมเปิดใจเรียนรู้อยู่เสมอ

การเปิดใจพร้อมเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ คือคุณสมบัติข้อสุดท้ายที่เจ้าของธุรกิจต้องมี โดยเฉพาะธุรกิจอาหาร ที่ต้องทำงานกับผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งพฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลงไปแทบทุกวัน

สังเกตไหมว่ากระแสต่างๆ เดี๋ยวนี้มาเร็วไปเร็วมาก เมื่อก่อนโดนัทมาแรง ต่อมาเป็นชาบู ปิ้งย่าง บิงซู ฮันนี่โทสต์ ส่วนตอนนี้คงเป็นชานมไข่มุก (ซึ่งเมื่อ 5-6 ปีก่อนเคยบูมอยู่พักใหญ่แล้วก็ดับไปแบบเงียบๆ) ถ้าคุณไม่ปรับตัว ไม่พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ธุรกิจที่เคยมีคนต่อคิวซื้อยาวเหยียด อาจต้องปิดตัวลงภายในเวลาไม่ถึงปีก็ได้

สำหรับใครที่ฝันอยากเปิดร้านอาหาร แต่กังวลว่าทำอาหารไม่เป็น กลัวจะเปิดไม่ได้ ก็ไม่ต้องกังวลแล้ว ขอแค่มีคุณสมบัติที่กล่าวมาครบ และเพิ่มเติมเรื่องความมุ่งมั่น ตั้งใจ รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ กล้าที่จะต่าง คุณก็มีคุณสมบัติพร้อมที่จะเป็นเจ้าของร้านอาหารได้แล้ว

เรื่องแนะนำ

วิเคราะห์ ปัญหาร้านอาหาร ทำการตลาดดีแต่ไม่มีลูกค้าประจำ

เชื่อไหมว่า… ปัญหาร้านอาหาร ที่เจ้าของร้านประสบชะตากรรมยอดขายตก มักจะมีคำถามว่าทำการตลาดอย่างไรดีช่วงนี้ให้ลูกค้าเข้าร้านเยอะ ๆ แทนที่จะตั้งคำถามว่า Operation อย่างไรให้ดี จนลูกค้าบอกต่อโดยไม่ต้องทุ่มงบทำการตลาด ซึ่งเจ้าของร้านอาหารบางท่าน ก็ไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า Operation ทำหน้าที่ไล่ลูกค้าไปกี่คนแล้วต่อเดือน !   ทำไมการตลาดเรียกลูกค้า Operation ไล่ลูกค้า ?             ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา การจัดทำโปรโมชั่น ล้วนเป็นการสร้างความเคลื่อนไหวให้กับร้าน ทำให้ลูกค้าเกิดความสนใจ และตัดสินใจลองใช้บริการมากขึ้นในช่วงนั้น ๆ ซึ่งร้านอาหารมีโอกาสที่จะเปลี่ยนลูกค้าใหม่ให้เป็นลูกค้าประจำ และทำให้ลูกค้าประจำมีการซื้อมากขึ้นได้ ในทางกลับกันถ้า Operation มีจุดบอดก็จะเปิดโอกาสให้ลูกค้ามาเจอกับประสบการณ์ที่ไม่ดีได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริการไม่ดี อาหารออกช้า ความไม่คงที่ของรสชาติและปริมาณ แทนที่จะเพิ่มยอดขาย กลับทำให้ร้านเกิดผลกระทบด้านลบในระยะยาวแทน เช่นเดียวกัน ถ้าหากร้านของคุณยังมีปัญหาด้าน Operation ก็ยากที่จะครองใจลูกค้าไว้ได้ แม้จะดันการตลาดมากแค่ไหนก็ตาม   การตลาดที่ดีต้องคำนึงถึงการ Operation หน้าร้านด้วย             กรณีศึกษา เกิดขึ้นกับร้านอาหารในประเทศจีน ทำการตลาดกินฟรี โดยกำหนดช่วงเวลา เพื่อหวังให้ร้านเป็นที่รู้จักในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่ปรากฏว่าการจัดการหน้าร้านไม่สามารถรองรับจำนวนลูกค้าที่ล้นหลามได้ และยังทำให้ร้านอาหารประสบกับปัญหาขาดทุนจากการจัดการต้นทุนที่ผิดพลาด แทนที่ร้านจะมีชื่อเสียงกลับทำให้เจ้าของร้านต้องตัดสินใจปิดร้านในเวลาอันรวดเร็ว การทำการตลาดจึงต้องคำนึงถึงความพร้อมของการจัดการหน้าร้านด้วย […]

แก้ปัญหาลูกค้านั่งนาน

แก้ปัญหาลูกค้านั่งนาน ไม่สั่งอาหารเพิ่ม

ลูกค้านั่งนาน รับลูกค้าอื่นไม่ได้ ควรทำอย่างไรดี? ปัญหาน่าปวดหัวที่หากแก้ไขผิดอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ เราจึงมีเทคนิคที่ช่วย แก้ปัญหาลูกค้านั่งนาน มาแนะนำ

เรียนรู้นิสัยของทำเล ก่อนตัดสินใจเช่าพื้นที่

ย่านออฟฟิศ สำนักงาน (Office area) ทำเลย่านออฟฟิศ สำนักงานเป็นทำเลที่มีกลุ่มลูกค้าชัดเจนคือ พนักงานออฟฟิศ แต่อาจมีกำลังซื้อแตกต่างกันในแต่ละทำเล ยิ่งเป็นทำเลที่อยู่ใจกลางเมืองอย่าง สาทร สีลม อโศก ฐานรายได้เฉลี่ยของกลุ่มลูกค้าก็อาจจะมากขึ้น ค่าเช่าก็อาจจะสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้ราคาขายของร้านอาหารจะสูงกว่าย่านออฟฟิศสำนักงานที่อยู่ถัดออกมา เช่น ย่านพหลโยธิน ทาว์อินทาวน์ หรือแจ้งวัฒนะ ทำให้ร้านอาหารที่อยู่ในทำเลออฟฟิศ สำนักงานในเมืองส่วนใหญ่ จึงเป็นร้านที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก แต่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน (Check Average) ที่สูงกว่าย่านออฟฟิศสำนักงานนอกเมือง วันธรรมดา ช่วงเช้า – อาจจะขายแบบ Grab and go ได้ ถ้าทำเลตรงนั้นเป็นทำเลที่อยู่ในหรือใกล้อาคารสำนักงาน  หรืออาจจะอยู่ระหว่างสถานีรถไฟฟ้ากับอาคารสำนักงาน เพราะพนักงานออฟฟิศโดยมากมักจะซื้อก่อนขึ้นไปทำงานตอนเช้า ช่วงกลางวัน – จะขายดีช่วง 11.30 – 13.30 น. โดยอาหารอาจจะต้องเป็นประเภทที่ใช้เวลาปรุงไม่นาน เพื่อที่ทางลูกค้าจะได้รีบทานและรีบกลับไปทำงาน ในอีกมุมหนึ่งก็จะทำให้ร้านอาหารสามารถทำรอบ ได้มากขึ้นด้วย ช่วงเย็น – ช่วงเวลาหลังเลิกงานคือ 17.30 – 20.00 น. […]

ตั้งราคาอาหาร

ปัจจัยที่ต้องคำนึงก่อน ตั้งราคาอาหาร

ตั้งราคาอาหาร เท่าไรดี? คงเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย แต่ก่อนที่จะตัดสินใจ ตั้งราคาอาหาร อย่าลืมคำนึงถึงปัจจัยต่อไปนี้ ไม่อย่างนั้นอาจจะขาดทุนโดยไม่ทันตั้งตัว!

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

ติดต่อแจ้งปัญหาหรือร้องเรียน
02-422-9999 ต่อ 4180
(จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น)
bdcx@amarin.co.th

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.