“First, Best or Different" 3 ทางรอดของธุรกิจ ยุคนี้ - Amarin Academy

“First, Best or Different” 3 ทางรอดของธุรกิจ ยุคนี้

 “The first The best or The different” 3 ทางรอดของธุรกิจ

“To make it in this business, you either have to be first, best, or different” เป็นคำกล่าวของ Loretta Lynn นักร้องเพลงคันทรี่ในตำนานที่ยังมีชีวิตอยู่ ผมยอมรับว่าไม่รู้จัก แต่พอได้ยินครั้งแรกก็รู้สึกว่าจริงเป็นที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ธุรกิจร้านอาหารมีการแข่งขันรุนแรงอย่างเช่นทุกวันนี้ ในระยะเวลา 1 ปี มีหลายร้านล้มหายตายจากไป ขณะเดียวกันก็มีผู้เล่นหน้าใหม่ที่พร้อมจะกระโจนสู่ธุรกิจนี้ตลอดเวลา เมื่อเราวิเคราะห์กันดีๆ จะพบว่า ทางรอดของธุรกิจ ในยุค นี้มีธุรกิจเพียง 3 ประเภทเท่านั้น คือ ร้านแรก ร้านที่ดีที่สุด และร้านที่แตกต่าง

  1. The first

ผู้เริ่มธุรกิจเป็นคนแรกหรือกลุ่มแรก ย่อมมีโอกาสกอบโกยได้ก่อนเจ้าอื่นๆ การที่เราจะเป็นคนแรกในธุรกิจนี้ได้ จำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ที่มากกว่าคนอื่น และคาดการณ์ตลาดได้ดีกว่า บางทีลูกค้าอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า จริงๆ แล้วตัวเองต้องการอะไร ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่เราที่ต้องสร้างความต้องการให้ลูกค้า

การเป็นเจ้าแรกอาจหมายถึง การเป็นเจ้าแรกในประเภทอาหารนั้นๆ หรือเป็นเจ้าแรกในทำเลนั้น

เช่น ร้านเฝอ 54 ร้านอาหารชื่อดังย่านโชคชัยสี่และลาดพร้าววังหิน เป็นเจ้าแรกที่นำเสนอ เฝอ ก๋วยเตี๋ยวเวียดนาม ในรูปแบบหม้อไฟ จึงได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างล้นหลาม เพราะยังไม่เคยมีในตลาดมาก่อน รวมถึงรสชาติอาหารที่ถูกปากกลุ่มลูกค้า (อ่านบทสัมภาษณ์ ร้านเฝอ 54)

อย่างไรก็ตาม การเป็นเจ้าแรกไม่ได้การันตีว่าจะสามารถอยู่รอดได้ คุณอาจจะแฮปปี้ในช่วงแรก (ที่ยังไม่มีคู่แข่งเข้ามา) แต่เมื่อไรที่คุณหยุดพัฒนาตัวเอง หรือไม่สามารถรักษาฐานลูกค้าได้อย่างเหนียวแน่น ย่อมมีโอกาสที่เจ้าที่มาทีหลัง จะแซงคุณขึ้นไปได้อย่างแน่นอน

  1. The best

ถ้าคุณไม่ได้เป็นเจ้าแรกในตลาด สิ่งที่จะทำให้คุณแชร์ตลาดหรือเป็นที่รู้จักได้คือ การเป็นที่หนึ่งหรือทำให้ดีกว่าเจ้าเดิม ดังเช่นคำที่ว่า me too but do better จำไว้ว่าลูกค้าจะจดจำเฉพาะร้านใน 3 อันดับแรกเท่านั้น ถ้าชื่อร้านคุณไม่สามารถขึ้นไปเป็นอันดับต้นๆ ในใจลูกค้าได้ ก็เตรียมตัวถูกลืมไปได้เลย

คำว่าดีที่สุด ไม่ได้หมายถึง ต้องเสิร์ฟอาหารที่อร่อยที่สุด หรือใช้วัตถุดิบที่ดีที่สุดเสมอไป แต่คือสิ่งที่ลูกค้าบอกว่าคุณดีที่สุดในมุมมองของเขา

ร้านข้าวมันไก่ประตูหน้าโกอ่าง เป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่ง แน่นอนว่าร้านนี้อาจไม่ใช่ร้านข้าวมันไก่เจ้าแรกในกรุงเทพฯ หรือแม้แต่ในย่านประตูน้ำ แต่ความใส่ใจในการบริการที่มีมาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี บวกกับการพัฒนาคุณภาพและรสชาติอาหารอยู่ตลอด ทำให้ปัจจุบันแทบจะไม่มีใครไม่รู้จัก และจำนวนคนที่ยืนรอหน้าร้านในทุกๆ วัน (ชาวต่างชาติบางคนถึงกับต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมากต่อคิว) คงเป็นเครื่องยืนยันคำว่า “ดีที่สุด” ได้เป็นอย่างดี (อ่านบทสัมภาษณ์ ร้านข้าวมันไก่ประตูน้ำโกอ่าง)

3.The different

ถ้าเราไม่ได้มากลุ่มแรกหรือทำได้ดีที่สุด สิ่งสุดท้ายที่เราต้องทำเพื่อให้อยู่รอดคือ ความแตกต่าง ไม่ว่าจะแตกต่างด้วยอาหาร แบรนด์ดิ้ง หรือการบริการ

ความแตกต่างอาจทำให้เราได้กลุ่มลูกค้าเฉพาะ (niche market) คนพวกนี้อาจกำลังเบื่อสิ่งที่มีอยู่และกำลังมองหาอะไรใหม่ๆ ถ้าเราทำให้คนกลุ่มนี้รักเราได้ ก็มีโอกาสที่พวกเขาจะบอกต่อให้เพื่อนมาใช้บริการเพิ่มขึ้น ความแตกต่างทำให้คุณมีที่ยืนในตลาด มีกลุ่มลูกค้าเฉพาะ โดยที่คุณอาจไม่ใช่เจ้าแรกหรือเจ้าที่ดีที่สุด

ร้าน Penguin Eat Shabu ได้ยึดถือความแตกต่างมาตั้งแต่ตอนเริ่มทำธุรกิจ ด้วยความที่ร้านอาหารประเภทชาบูชาบูหรือสุกี้ เป็นประเภทอาหารที่หาความแตกต่างในตัวผลิตภัณฑ์ได้ค่อนข้างยาก อีกทั้งมีผู้เล่นในตลาดนี้เป็นร้อยๆ เจ้าอยู่แล้ว การสร้างความแตกต่างในเรื่องของแบรนด์จึงเป็นจุดที่เราโฟกัส ตั้งแต่การตั้งชื่อร้านซึ่งเราใช้เพนกวินเป็นตัวสื่อสารกับลูกค้า การตกแต่งที่ต่างจากร้านญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง รวมถึงการทำการตลาด แม้วิธีนี้จะค่อนข้างเสี่ยง แต่ถ้าเราเลือกทำเหมือนร้านชาบูทั่วไป เราก็คงเป็นได้แค่ผู้ตามตลอดไป (อ่านบทสัมภาษณ์ ร้าน Penguin Eat Shabu)

ทั้งนี้สิ่งที่ต้องคำนึง เมื่อเราเลือกนำเสนอความแตกต่างคือ แตกต่างได้ แต่ต้องตอบโจทย์ลูกค้าของเราด้วย เพราะต่อให้เราต่างมากแค่ไหน แต่ถ้าไม่ตรงกับความต้องการของลูกค้าก็เปล่าประโยชน์

ถ้าธุรกิจใดเป็นได้ทั้ง 3 ประเภทนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะนั่นหมายถึงโอกาสประสบความสำเร็จก็มากตามไปด้วย แต่หากทำเช่นนั้นไม่ได้ อย่างน้อยที่สุดเราต้องเลือกเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง

ทุกวันนี้ การเป็นเจ้าแรก ดีที่สุด หรือ แตกต่าง อาจไม่ได้การันตีผลสำเร็จในระยะยาวอีกต่อไป ผู้นำอาจกลายเป็นผู้ตามได้ในชั่วข้ามคืน ฉะนั้นการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดจะทำให้เรายังมีที่ยืนอยู่ในตลาดนี้ได้

เรื่องแนะนำ

ร้านอาหารต้องพัฒนาเมนู

3 ปัจจัยที่ทำให้ ร้านอาหารต้องพัฒนาเมนู อยู่เสมอ

บางร้านอาจคิดว่า เมื่อเมนูเดิมดีอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องพัฒนา แต่รู้ไหม นี่เป็นจุดอ่อนสำคัญของธุรกิจ ฉะนั้นมาดูปัจจัยที่ทำให้ ร้านอาหารต้องพัฒนาเมนู ดีกว่า

ตั้งราคาขาย

ตั้งราคาขาย อย่างไร ให้ขายได้และร้านอยู่รอด

        ในช่วงวิกฤตแบบนี้ สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ร้านอาหารอยู่รอดได้ คือการบริหารจัดการต้นทุนที่ดี และการ ตั้งราคาขาย (Price Strategy) ของอาหารที่เหมาะสม โดยเฉพาะในวงการอาหารเดลิเวอรีที่มีการแข่งขันสูง มีร้านอาหารแบบเดียวกันเป็นจำนวนมาก ผู้ประกอบการจะต้องใช้กลยุทธ์ทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อจากร้านของเรา ลองมาดูการตั้งราคาขายอาหารและกลยุทธ์ต่างๆ ที่อาจจะช่วยร้านของคุณได้ครับ ตั้งราคาขาย อย่างไร  ให้ขายได้และร้านอยู่รอด         พื้นฐานของการ ตั้งราคาขาย อาหาร ต้องคำนวณมาจากต้นทุนของร้าน เช่น ต้นทุนวัตถุดิบ ควรอยู่ที่ 30-35% ของยอดขาย ตัวอย่างเช่น ต้นทุนวัตถุดิบเท่ากับ 30 บาท ราคาขายก็ควรจะตั้งไว้ประมาณ 100 บาท เป็นต้น          แต่ไม่ใช่ว่าการคำนวณแบบนี้จะเหมาะสมกับทุกร้านอาหาร เพราะยังมีต้นทุนอื่นๆ ได้แก่ ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าที่ และค่าการตลาดอื่นๆ ส่วนใครที่นำร้านอาหารเข้าร่วมกับผู้ให้บริการเดลิเวอรีต่างๆ ก็อย่าลืมต้นทุนค่า GP […]

กลยุทธ์การเพิ่มยอดขาย

กลยุทธ์การเพิ่มยอดขาย โดยไม่เพิ่มราคา

เมื่อเศรษฐกิจโดยภาพรวมก็ไม่ค่อยดี จะเพิ่มราคาก็ไม่ได้ ลดคุณภาพผลิตภัณฑ์ก็ไม่ดี วันนี้เราจึงมี กลยุทธ์การเพิ่มยอดขาย ที่ช่วยให้ยอดขายของคุณพุ่งกระฉูดมาฝาก

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท เอเอ็มอี อิมเมจิเนทีฟ จำกัด
ในเครือ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

ติดต่อแจ้งปัญหาหรือร้องเรียน
02-422-9999 ต่อ 4180
(จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น)
bdcx@amarin.co.th

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.