นวัตกรรมกับ ธุรกิจผลิตอาหาร ในวันที่ผู้บริโภคต้องการความแตกต่าง
หลายคนอาจเคยสังเกตว่า เวลาไปเดินซูเปอร์มาร์เก็ตเดี๋ยวนี้ บนชั้นวางสินค้าต่างมีสินค้าให้เลือกมากมาย ทั้งๆ ที่เป็นสินค้าชนิดเดียวกัน แต่ก็มีหลากหลายยี่ห้อเสียจนเลือกหยิบไม่ถูกกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพที่มีให้เลือกมากขึ้น จากกระแสรักสุขภาพในช่วงที่ผ่านมา
ไม่เพียงแต่การบริโภคภายในประเทศที่กำลังเติบโตขึ้น แต่ธุรกิจการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตรของไทย ก็เติบโตขึ้นถึงปีละ 4.5 – 6.5% ต่อปี มีมูลค่าการตลาดกว่า 620,000 ล้านบาท ส่งออกมากเป็นอันดับที่ 13 ของโลก และเป็นที่ 3 ของเอเชีย รองจากจีนและอินเดียเท่านั้น โดยเทรนด์การบริโภคอาหารให้เป็นยา อาหารที่ผ่านการปรุงแต่งน้อย จนถึงขั้นเกิดกระแสลดการบริโภคเนื้อสัตว์กำลังเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจผลิตอาหารต้องใส่ใจการบอกข้อมูลทางโภชนาการและส่วนประกอบทุกอย่างของผลิตภัณฑ์บนฉลากสินค้า เพื่อตอบสนองต่อความต้องการเลือกที่มากขึ้นของผู้บริโภค
สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจผลิตอาหารต้องมีการปรับตัว และพยายามสร้างสินค้าของตนเองให้มีเอกลักษณ์แตกต่างจากสินค้าของเจ้าอื่น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการสินค้าใหม่ๆ ของผู้บริโภค โดยปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้สินค้าของคุณมีความโดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่งคือ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในธุรกิจ ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ได้รับการพูดถึงใน “เปิดมุมมองใหม่ ไขความสำเร็จธุรกิจผลิตอาหาร” งานสัมมนาที่ธนาคารกสิกรไทยได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และท็อปส์ มาร์เก็ต ได้จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้และพัฒนาผู้ประกอบการ โดยเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมในการเพิ่มศักยภาพธุรกิจ
นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างคุณโจ – ณัฐวุฒิ เผ่าปรีชา ผู้นำนวัตกรรมของทานเล่นเพื่อสุขภาพ แบรนด์
“Wel-B” ที่มียอดขาย 100 ล้านบาทต่อปี และคุณปิ่น – รัชยา จันจิตร ผู้ประกอบการแปรรูปมะขาม แบรนด์
“ปิ่นเพชร” ที่พลิกเอาของเหลือทิ้งอย่างเมล็ดมะขามมาเพิ่มมูลค่า เป็นตัวอย่างของธุรกิจผลิตอาหารที่นำเอางานวิจัยและนวัตกรรมมาเป็นตัวช่วยต่อยอดธุรกิจของตน
เริ่มต้นจากความสงสัยและสังเกตสิ่งรอบตัว
คุณปิ่นบอกว่า เดิมทีทำมะขามแปรรูป มะขามสดขายอยู่แล้ว แต่มีช่วงหนึ่งมีบริษัทจากญี่ปุ่นและอินเดียมารับซื้อเมล็ดมะขามจึงเกิดความสงสัยว่าเขานำไปทำอะไร เลยไปหาข้อมูลจนพบว่าในเมล็ดมะขามมีสารต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์ช่วยสมานแผล ช่วยให้ผิวเรียบเนียน จึงติดต่อขอความช่วยเหลือจากสกว.ในการทำวิจัยร่วมกัน จนได้สารสกัดเจลโลสจากแป้งเมล็ดมะขาม ที่สามารถนำไปต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นเยลลี่ ไอศกรีม ซอสผัดไทย เซรั่มบำรุงผิว ฯลฯ
ด้านคุณโจ เล่าว่า “ผมอยากจะทำสินค้าที่ไม่มีใครเลียนแบบได้ นั่นคือสินค้าเกษตรแปรรูป เพราะประเทศไทยมีวัตถุดิบที่เป็นสินค้าเกษตรมาก เลยนั่งหาข้อมูลว่าสินค้าการเกษตรสามารถนำเอาเทคโนโลยีไหนมาใช้แปรรูปได้บ้าง จึงพบข้อมูลว่าการ Freeze – Dried หรือเทคโนโลยีการทำแห้งเยือกแข็งแบบสุญญากาศ ช่วยรักษาคุณค่าทางอาหารที่มีอยู่เดิมได้มากที่สุด ตอบโจทย์คนรักสุขภาพได้อย่างดี” ตามหลักการที่ว่าหาสินค้าอะไรที่ขายให้คนกินแล้วถูกใจให้ได้ จนได้รับเสียงตอบรับดีสามารถวางขายได้ทั้งในและต่างประเทศ
งานวิจัยสร้างความแตกต่าง
ทั้งที่นวัตกรรมมีส่วนช่วยผลักดันให้ธุรกิจก้าวหน้าต่อไปได้ แต่ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตอาหารก็ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับงานวิจัยและนวัตกรรม คุณพีชยา จิระธรรมกิจกุล ผู้จัดการงานอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และสุขภาพ โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ITAP (สวทช.) เปิดเผยว่าสาเหตุหนึ่งน่าจะมาจาก การนำนวัตกรรมมาใช้กับธุรกิจเป็นสิ่งที่ต้องเกิดการลงทุน ในมุมของผู้ประกอบการอาจมองว่าสินค้ายังขายได้ จึงไม่จำเป็นต้องใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย แต่ผู้ประกอบการควรตระหนักว่าในการแข่งขันทางการตลาดทุกวันนี้ แบรนด์ต้องสร้างความแตกต่างให้ผลิตภัณฑ์ของตน เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ซึ่งนวัตกรรมเข้ามาช่วยสร้างความแตกต่างได้
สร้างงานวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่า
รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
เพิ่มเติมว่า เมื่อมีไอเดียแล้วกระบวนการต่อไป คือการนำงานวิจัยมาต่อยอดผลิตภัณฑ์ ยกตัวอย่างแบรนด์ Dairy Home ที่ขายนมอินทรีย์ มาขอความช่วยเหลือเรื่องงานวิจัย จนเกิดเป็น “Bedtime Milk” นมสำหรับดื่มก่อนนอน เพราะในนมมีสารเมลาโทนินที่ช่วยให้นอนหลับสบายขึ้น โดยหน่วยงานอย่างสกว.และสวทช.มีส่วนช่วยให้ทุนสนับสนุน ช่วยต่อยอด และช่วยลดความเสี่ยงในการทำการวิจัยและพัฒนา (R&D) ให้สั้นลง
การเริ่มต้นบางคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องยาก แต่คุณปิ่นบอกว่าเพียงคุณมีไอเดียแล้วลองเข้าไปคุยกับหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนงานวิจัย จะมีทีมที่คอยให้คำปรึกษา “โจทย์ของปิ่นเพชรในการขอทุนสนับสนุนการวิจัยตั้งต้นเลยก็คือ คุณสมบัติของเมล็ดมะขามสามารถใช้ทำอะไรได้บ้าง” นั่นก็เพราะเธออยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากเมล็ดมะขาม เปลี่ยนขยะเหลือทิ้งปีละกว่า 500 ตันมาเพิ่มมูลค่าให้มันได้
เคล็ดลับสู่ความสำเร็จในธุรกิจด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม
เจ้าของแบรนด์ “ปิ่นเพชร” ยังบอกแนวคิดที่ช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้เพิ่มเติมอีกว่า เธอคิดว่านวัตกรรมอยู่รอบๆ ตัว วัตถุดิบแต่ละอย่างมีประโยชน์และคุณค่าในตัวอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าคุณจะนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มมูลค่าอย่างไรได้บ้าง เมื่อได้คุณสมบัติที่ต้องการ ก็ลองมาสำรวจว่าตอนนี้ลูกค้าสนใจผลิตภัณฑ์ประมาณไหน ก่อนจะปรับให้เข้ากับกระแสเพื่อทำการตลาดได้ถูกจุด
ส่วนคุณโจจาก “Wel-B” บอกว่ากว่าจะผลิตสินค้าออกมาชิ้นหนึ่งได้ ต้องผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้วมากมาย การคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เป็นเรื่องง่ายกว่าการทำยังไงให้ขายได้ เพราะสินค้าที่ใหม่เกินไป ราคาสูงเกินไป ผู้บริโภคอาจยังไม่พร้อมรับ จึงทำให้ขายยาก หากคิดของใหม่ขึ้นมา 10 อย่าง แล้วทำสำเร็จได้เพียง 1 อย่าง เพียงเท่านี้เขาก็พอใจแล้ว
“ผมยึดคติที่ว่าดีแล้วต้องดีอีก เพื่อพัฒนาตัวเองต่อไป ไม่ให้หยุดนิ่งอยู่กับที่ เพราะงานวิจัยและพัฒนา
ไม่มีวันจบ ถ้าหากคุณมัวแต่กลัวก็จะไม่ได้ทำอะไรสักที ผมจะคิดถึง 2 สิ่งเสมอเมื่อออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ คือ เงินที่ผู้บริโภคจะต้องจ่ายและคุณค่าที่ผู้บริโภคจะได้รับ หน้าที่ของผมคือทำให้คุณค่าที่เขาได้รับมากกว่าราคาที่จ่ายไป” คุณโจกล่าว
สุดท้ายแล้วทุกอย่างขึ้นอยู่กับประสบการณ์ อย่าเพิ่งล้มเลิกแม้จะผิดหวัง แม้ว่าสินค้าจะออกมาดี รสชาติอร่อย ก็ยังไม่จบ เพราะยังมีเรื่องของการตลาดและองค์ประกอบต่างๆ หลายอย่าง ดังนั้นธุรกิจผลิตอาหารต้องหาจุดแข็งของตัวเองให้เจอ โดยนวัตกรรมถือเป็นตัวติดอาวุธให้ธุรกิจของคุณ ในการสู้กับคู่แข่งในทุกวันนี้