สื่อออนไลน์นับเป็นช่องทางการทำการตลาดยอดฮิตในยุคนี้ เพราะด้วยฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์สุดๆ ทั้งราคาถูก อัปเดตข้อมูลได้รวดเร็ว และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ในวงกว้าง แต่แน่นอนว่าเมื่อมีข้อดี ย่อมมีข้อเสีย เพราะหากพนักงานของคุณทำงานผิดพลาด หรือมีวิธีการสื่อสารบนโลกออนไลน์ไม่ถูกใจกลุ่มลูกค้ามากนัก อาจกลายเป็น “ดราม่าใหญ่” จนทำให้ยอดขายตกฮวบได้ วันนี้เราจึงมี 5 ข้อควรรู้ ซึ่งเป็นเทคนิคการ สื่อสาร บนโลกออนไลน์ในเบื้องต้น มาแนะนำให้ทราบกัน
อย่าปล่อยให้โลกออนไลน์ทำ ร้านเจ๊ง!
5 ข้อควรรู้ สื่อสาร บนโลกออนไลน์ไม่ให้เกิดดราม่า
1.สุภาพเสมอ
คำหยาบคาย สอดเสียด ดูถูกหรือถากถาง ถือเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับการสื่อสารบนโลกออนไลน์ แม้ว่าหลายแบรนด์อาจวางคาแรกเตอร์ว่าเป็นเพจที่สนุกสนาน เป็นกันเอง เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงง่าย แต่ก็ต้องระมัดระวังในการใช้คำพูดเพื่อไม่ให้ “ล้ำเส้น” จนเกินไป เพราะลูกค้าแต่ละคนมีลักษณะนิสัยที่ต่างกัน หากสื่อสาร “ผิดจังหวะ” อาจส่งผลกระทบร้ายแรงกลับมาได้ ดังนั้นเพื่อความเหมาะสม (และปลอดภัย) ใช้คำสุภาพจะดีที่สุด
ตัวอย่างเพจที่สามารถสื่อสารและตอบโต้กับลูกค้าได้ดี คือ KFC ที่เคยเป็นกระแสโด่งดังในโลกออนไลน์ว่าแอดมินนั้นมีไหวพริบในการตอบคำถาม จนเรียกยอดไลก์และยอดแชร์บนโลกโซเชียลได้ถล่มทลาย ซึ่งเมื่อลองสังเกตดูดีๆ จะพบว่า ภายใต้ความสนุกสนานนั้น แอดมินก็ใช้ประโยคที่สุภาพและเหมาะสม
2.คุมอารมณ์ให้อยู่
เชื่อว่าเจ้าของธุรกิจหลายๆ คนคงเคยประสบปัญหา “ลูกเพจไม่น่ารัก” กันมาบ้าง เช่น ก่อกวนหน้าเพจ ใช้คำไม่สุภาพหรือตำหนิด้วยถ้อยคำรุนแรงเกินควร จนทำให้เจ้าของธุรกิจหรือแอดมินเพจรู้สึกไม่พอใจขึ้นมาบ้าง แม้ว่าคุณจะไม่พอใจมากเพียงใด ก็ต้องควบคุมอารมณ์ให้อยู่ และไม่ควรตอบโต้กับกลุ่มคนเหล่านั้น เพราะอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ ทั้งนี้หากเป็นข้อความตำหนิเรื่องสินค้าหรือบริการ ก็ควรตอบกลับด้วยคำสุภาพ พร้อมแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่หากเป็นข้อความก่อกวน ก็ควรใช้วิธีลบหรือซ่อนข้อความนั้นๆ จากหน้าเพจแทน จะเป็นทางออกที่เหมาะสมกว่า
3.ถอดตัวตนออก แล้วพูดในฐานะแบรนด์
แอดมินหรือผู้ที่ดูแลเพจ ต้องคำนึงเสมอว่า ทุกประโยคที่พิมพ์ลงบนหน้าเพจ ล้วนสะท้อนตัวตนของแบรนด์ทั้งหมด ซึ่งลูกค้ามักจะเชื่อมโยงข้อความเหล่านั้นเข้ากับภาพลักษณ์ของแบรนด์ ดังนั้นหากคุณอยากให้ลูกค้ารับรู้ภาพลักษณ์ร้านคุณอย่างไร ก็ต้องสื่อสารด้วยข้อความเช่นนั้น โดยทุกครั้งที่พิมพ์ข้อความหรือตอบคำถามลูกค้า แม้ว่าช่วงเวลานั้นคุณจะอารมณ์ไม่ดีแค่ไหน ก็ต้องถอดอารมณ์นั้นออกไปให้หมด แล้วคิดเสมอว่า คุณกำลังพูดในฐานะแบรนด์ ไม่ได้พูดในฐานะตัวคุณเอง
4.คิดเสมอว่า ทุกคำตอบ คงอยู่ตลอดไป
ก่อนที่กดโพสต์ข้อความใดๆ ลงบนเพจ ต้องคำนึงเสมอว่า ข้อความนั้นจะคงอยู่ตลอดไป แม้ว่าเทคโนโลยีปัจจุบันจะสามารถกดแก้ไข หรือลบข้อความได้ แต่ก็อาจมีผู้ที่กดเซฟข้อความนั้นไว้ และหากข้อความนั้นเป็นข้อความที่ไม่เหมาะสม ย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจของคุณในภายหลังอย่างแน่นอน โดยกรณีตัวอย่างการโพสข้อความผิดพลาดนั้นมีมากมาย เช่น ประกาศโปรโมชั่นผิด ตอบลูกค้าด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม หรือบางครั้งอาจลืมสลับบัญชี โดยเข้าใจว่ากำลังจะโพสต์ข้อความตำหนิลูกค้าลงบัญชีส่วนตัว แต่จริงๆ กลับเป็นหน้าเพจของร้าน ฯลฯ และยิ่งถ้าข้อความนั้น ถูกแชร์ต่อกันเรื่อยๆ หายนะมาเยือนร้านของคุณแน่นอน
5.ใจเขา ใจเรา
สุดท้ายนี้ถือว่าผู้ดูแลเพจต้องคำนึงถึงตลอดเวลาคือ ก่อนจะสื่อสารหรือตอบคำถามใดๆ นั้น ต้องคิดเสมอว่า หากคุณเป็นลูกค้า จะคาดหวังคำตอบในรูปแบบใด เช่น หากลูกค้าเข้ามาสอบถามโปรโมชั่น (ทั้งๆ ที่คุณระบุรายละเอียดทั้งหมดไว้ในโพสต์ด้านบนแล้ว) คุณย่อมไม่อยากได้รับคำตอบว่า “ข้างบนก็มี อ่านสิ” จริงไหม แต่คงอยากได้รับคำอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้กระจ่างขึ้น หรือหากลูกค้าร้องเรียนเรื่องการบริการที่ขาดตกบกพร่อง เขาย่อมต้องการคำขอโทษและการแสดงความรับผิดชอบอย่างจริงใจ ไม่ใช่คำพูดห้วนๆ หรือไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ เลย ดังนั้นก่อนพิมพ์ ต้องคิดถึงใจเขา ใจเราด้วย
5 ข้อควรรู้ที่เรานำเสนอมานี้ เป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้นในการสื่อสารบนโลกออนไลน์เท่านั้น แต่เมื่อลงมือปฏิบัติจริงผู้ดูแลเพจจะต้องอาศัยการคิด วิเคราะห์ว่า ควรตอบคำถามหรือสื่อสารอย่างไร เพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจมากที่สุด
กลับมาอีกครั้งกับหลักสูตร HR for Food Business บริหารคน สำหรับธุรกิจอาหาร รุ่นที่ 3 หลักสูตรที่จะทำให้ผู้ประกอบการเรียนรู้การบริหารบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ ไขข้อข้องใจปัญหาเรื่องพนักงานลาออกบ่อย ขาด ลา มาสาย ทะเลาะกัน การหาพนักงานที่ดี โครงสร้างเงินเดือน สัญญาจ้างงาน รวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานต่างๆ ที่ต้องรู้ โดยวิทยากร คือ อาจารย์ พีรพัฒน์ กองทอง ผู้มีประสบการณ์จากธุรกิจอาหารเชนใหญ่อย่าง แมคโดนัลด์ ประเทศไทย ที่จะมาพร้อมแขก สุดพิเศษ ร่วมแชร์ประสบการณ์การบริหารจัดการพนักงานในร้าน งานนี้จะจัดขั้นในวันอังคารที่ 31 มีนาคม – วันพุธที่ 1 เมษายน 2563 เวลา 9.00-17.00 น.
คลิกสมัครด่วน! หลักสูตร HR for Food Business บริหารคน สำหรับธุรกิจอาหาร รุ่นที่ 3