Thank God It’s Organic ธุรกิจเดลิเวอรี่ เพื่อสุขภาพ
จากพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพจึงเกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นคือ Thank God It’s Organic ธุรกิจเดลิเวอรี่ เพื่อสุขภาพ ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มเพื่อน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาสุขภาพ นำไปสู่ธุรกิจที่ตอบโจทย์คนเมือง โดดเด่นในเรื่องอาหารออร์แกนิกและน้ำผักผลไม้ปั่น ที่ให้ความสำคัญไม่เฉพาะตัววัตถุดิบเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงแหล่งที่มา การสนับสนุนคนท้องถิ่น ไปจนถึงเรื่องของภาชนะและการจัดส่ง ที่ล้วนแล้วแต่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืนทางสังคมไปพร้อม ๆ กัน
Thank God It’s Organic ธุรกิจที่เริ่มต้นจากเรื่องของสุขภาพ
“Thank God It’s Organic เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มเพื่อน 6 - 7 คนที่อยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชน เช่น เอเจนซี่ กราฟิกเฮ้าส์ กำกับหนังโฆษณา ซึ่งรับหน้าที่ตามความถนัดของแต่ละคนคุณต้อยและคุณต้นดูเรื่องดีไซน์ทั้งหมด ตั้งแต่ออกแบบโลโก้ ผลิตภัณฑ์ คุณต่ายดูส่วนของวิดีโอ อีกสองท่านเป็นเชฟและทำคอนเทนต์ โดยเราเริ่มสนใจเรื่องออร์แกนิกเนื่องจากความเจ็บป่วยต่าง ๆ อย่างออฟฟิศซินโดรม ไมเกรน ภูมิแพ้ เลยเริ่มศึกษาว่าถ้าเราไม่กินยา จะมีวิธีไหนบ้างที่ดูแลตัวเองให้ดีขึ้น
ช่วงนั้นมีคนแนะนำหนังสือของดร.อู๋ ซึ่งเป็นนักโภชนาการของจีนที่ป่วยเป็นมะเร็ง แล้วค้นพบว่าการกินผักผลไม้ที่ปั่นด้วยความเร็วสูง ใช้เวลาปั่นไม่นานทำให้ความร้อนสัมผัสกับผักผลไม้น้อย ได้น้ำผักผลไม้ 5 สีที่มีกากใยและเอนไซม์ต่างๆ ครบถ้วน ลองกินแล้วพบว่าอาการต่าง ๆ ดีขึ้น เมื่อรวมกับออกกำลังกายก็บาลานซ์ชีวิตเราได้ส่วนหนึ่ง
จากนั้นจึงเริ่มชักชวนเพื่อน ๆ มากินด้วยกันเพราะคิดว่าอาหารมีผลกับสุขภาพจริง ๆ แต่พอศึกษาลึกลงไปก็พบว่า การกินผักผลไม้บ่อย ๆ แทนที่สุขภาพจะดี กลับทำให้หลายคนเป็นมะเร็ง นั่นเป็นเพราะในบ้านเรามีการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง หรือปุ๋ยเยอะมาก ดังนั้นถ้าเลือกได้แบบที่ปลอดภัยน่าจะดีกว่า จึงนำไปสู่การลงพื้นที่ค้นหาแหล่งวัตถุดิบออร์แกนิก”
ตามหาแหล่งวัตถุดิบอินทรีย์
“เราเริ่มจากการลงพื้นที่ก่อนทำโปรเจ็คท์นี้ เพื่อหาแหล่งวัตถุดิบที่จะมาใช้ พร้อมกับทำสื่อโฆษณาให้กับร้าน มีโอกาสได้คุยกับเกษตรกร ที่เป็นปราชญ์ชาวบ้านอย่าง พ่อถาและคุณตุ๊หล่าง ที่จังหวัดยโสธร พบว่าการเป็นเกษตรกรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะ 50 ปีที่ผ่านมาเราถูกทำให้เชื่อไปแล้วว่าต้องใส่ปุ๋ย ใส่ยาเพื่อให้ได้ผลผลิต ขณะที่วิถีในอดีตชาวบ้านไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีเหล่านี้ เพราะเขามีวิธีการอื่นในการไล่แมลง สิ่งที่ตุ๊หล่างกับพ่อถาทำคือชักชวนชาวบ้านรอบ ๆ ให้ทำเกษตรอินทรีย์ด้วยกัน เมื่อได้ไปเห็นวิธีการต่าง ๆ ที่ตุ๊หล่างทำ เราถึงเข้าใจว่าข้าวพื้นที่ไหนก็เหมาะกับพื้นที่นั้น เพราะภูมิประเทศและภูมิอากาศไม่เหมือนกัน จากการลงพื้นที่นี่เอง เราจึงได้ข้าวที่เพาะปลูกแบบอินทรีย์จาก ศูนย์วิจัยพันธุ์พืชไทบ้าน ที่จังหวัดยโสธร ซึ่งทุกขั้นตอนปลอดสารเคมี นอกจากนี้ยังเลือกที่จะปลูกพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่เหมาะกับท้องถิ่น ข้าวที่ลูกค้าจะได้กิน จึงเป็นพันธุ์ข้าวผสมรวมกันมากถึง 108 - 120 สายพันธุ์ ซึ่งอุดมไปด้วยคุณประโยชน์
ถัดมาคือเรื่องของอาหารทะเล จากการลงพื้นที่จึงได้รู้ว่าอาหารทะเลกับฟอร์มาลีน เป็นของคู่กัน ที่เราเห็นทุกวันคือผ่านมาทั้งคลอรีน สารฟอกขาว เลยเสนอตัวเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับผู้บริโภค โดยเรารับวัตถุดิบจากกลุ่มประมงพื้นบ้าน เช่น ‘คนจับปลา’ ซึ่งเป็นการรวมตัวของชาวประมงพื้นบ้าน ที่จังหวัดประจวบฯ ยังมีเครือข่ายประมงพื้นบ้านอื่น ๆ ทั้งฝั่งอ่าวไทยฝั่งอันดามัน ส่วนผักและผลไม้เรารับจากกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ เช่น Harmony Life ที่ปากช่อง สหกรณ์บริการสินค้าเกษตรอินทรีย์เพชรบุรีจำกัด รวมถึง Organic & Co องค์กรผู้สนับสนุนเกษตรอินทรีย์”
หลากเมนูออร์แกนิกเพื่อสุขภาพและความอร่อย
“โปรดักต์ของเราจะมีน้ำผัก ผลไม้ปั่นและปิ่นโต โดยเป็นปิ่นโตที่เสิร์ฟเฉพาะมื้อกลางวันราคา 200 บาท มีวันละ 1 เมนู มาพร้อมข้าวและผลไม้ โดยมีเมนูไม่หลากหลายมากนัก เนื่องจากวัตถุดิบออร์แกนิกหายาก เราเลือกใช้ผักผลไม้ที่มีตามฤดูกาล ซึ่งการเพาะปลูกมีความไม่แน่นอน บางครั้งฝนตกน้ำท่วม แมลงลง ดังนั้นเชฟที่ปรุงอาหารต้องเป็นคนที่ครีเอตมาก ๆ หากวัตถุดิบชนิดนี้ไม่มีจะใช้อะไรแทนได้บ้าง หรืออย่างกุ้ง นอกจากกุ้งทะเลแล้วเรายังมีกุ้งนา ซึ่งเจ้าของบ่อทำนาข้าวอินทรีย์อยู่แล้ว เขาจะไม่ใช้สารเคมีใด ๆ กุ้งที่ได้จึงมีไซส์ใหญ่ เล็ก ปะปนกันตามธรรมชาติ เชฟจะนำกุ้งตัวเล็กมาทำขนมจีบลูกชิ้นกุ้ง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังเริ่มแตกไลน์ แปรรูปผลไม้ เป็นขนมที่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงซอส น้ำจิ้ม และน้ำสลัดต่าง ๆ ซึ่งมีติดบ้านไว้ก็สะดวก เช่น น้ำจิ้มสุกี้ที่ใช้มะเขือเทศแทนเต้าหู้ยี้ ซอสบาร์บีคิว น้ำสลัดจากผลไม้ตามฤดูกาล ทั้งหมดปลอดสารกันบูด และไม่ใส่ผงชูรส เราทำแบบบรรจุขวดขาย เป็นตัวเลือกให้กับลูกค้า
ขณะเดียวกันก็แตกไลน์โปรดักต์ใหม่ ๆ ที่รองรับความต้องการของลูกค้า เช่น อาหารปิ่นโตสำหรับไปทำบุญที่วัด กระเช้าผักผลไม้ สแน็คบ็อกซ์ ฯลฯ ยิ่งไปกว่านั้น เรายังให้ความสำคัญไปถึง เรื่องของกระบวนการจัดส่ง โดยเราใช้ปิ่นโตและแก้วน้ำ ซึ่งลูกค้าต้องล้างแล้วส่งกลับมา เพื่อรณรงค์ให้ทิ้งขยะให้น้อยที่สุด ทั้งยังจัดส่งด้วยจักรยาน (เขตกรุงเทพฯ)เพื่อให้คลีนตั้งแต่ต้นทางไปถึงปลายทาง”
สื่อสารชัดเจน เข้าถึงง่าย ดีไซน์เก๋
“จุดเด่นของเราคือ การที่ทำให้ออร์แกนิกเป็นเรื่องที่เข้าถึงง่าย รู้สึกว่าการกินอาหารแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก อย่างภาพที่นำเสนอผ่านทางเว็บไซต์ และแฟนเพจจะเห็นว่าสวยงามน่ากิน เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มักมองจากสิ่งที่สวยงามก่อนเรื่องของคุณภาพ อย่างที่ใส่ปิ่นโต เราก็ตั้งโจทย์กันว่าดีไซน์ยังไงให้คนอยากถือ ฟังก์ชันยังต้องตอบโจทย์ เช่น เก็บความร้อนได้ รวมถึงหน้าตาของกราฟิกทั้งหมดที่มีความดูดี ทันสมัย
นอกจากนี้ ถ้าสมัครเป็นลูกค้าของเรา ปิ่นโตที่ได้รับทุกวัน จะมาพร้อมข้อความที่บอกว่า วัตถุดิบที่นำมาปรุงในวันนี้ แต่ละอย่างมาจากที่ไหน เช่น เค้กกล้วย ใช้กล้วยจากไร่ทานตะวัน จังหวัดราชบุรี มัลเบอร์รี่มาจากปากช่อง ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสื่อสารมาตลอดเพื่อให้ลูกค้ากินด้วยความอร่อยและสบายใจ จึงคิดว่าการสื่อสารที่เราทำนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราเป็นที่รู้จักในวงกว้างแม้จะเริ่มทำแบรนด์มาเพียงปีกว่า ๆ”
ข้อมูลเพิ่มเติม 06-2654-2919 thankgoditsorganic@gmail หรือ www.thankgoditsorganic.com
ขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสาร Health&Cuisine
คอลัมน์ food biz & idea online eatery
เรื่อง : ปิยมาศ ภาพ : อัศวิน นรินท์ชัยรังษี และ FB: Thank God It’s Organic สไตล์ : Mangdoo
บทความที่น่าสนใจ
ปลูกปั่น น้ำผักผลไม้ปั่น ไม่มีหน้าร้าน แต่ขายได้ 400 ขวดต่อวัน!