ในจุดอ่อนมีจุดขาย Guyasuka Hostel&Cafe โฮสเทลไกลแหล่งท่องเที่ยว
ถ้าคุณมีเงินสักก้อนและอยากจะลงทุนทำโฮสเทลสักแห่งในกรุงเทพฯ คุณคงเลือกปักหมุดแถวย่านพระนคร สาทร สยาม สุขุมวิท หรือที่ไหนสักแห่งที่ไม่ไกลจากแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ แต่คุณวอ – วรวิทย์ พัฒนกำจรกิจ กลับเลือกเปิด Guyasuka Hostel&Cafe โฮสเทลและคาเฟ่ในย่านบางนา ย่านที่รายล้อมไปด้วยห้างสรรพสินค้า ไม่ได้ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวแนะนำที่ไหนเลยในไกด์บุ๊คเมืองไทย ถึงอย่างนั้นโฮสเทลของเขากลับมีนักท่องเที่ยวจากหลายชาติเดินทางมาพัก ยิ่งไปกว่านั้นคนไทยเองยังแวะเวียนไปเช็คอินและกินอาหารในคาเฟ่บ่อยๆ เขามีวิธีเอาชนะจุดอ่อนด้านทำเลอย่างไร มาหาคำตอบกันครับ
Hightlight
- บางนาถือเป็นทำเลที่มีศักยภาพระดับหนึ่ง ซึ่งมีจุดแข็งคือไม่ต้องไปตีกับคนที่อยู่ในเมือง
- เรื่องการตลาดเหมือนจะเป็นเรื่องยาก แต่ในความยากก็มีความง่าย ตรงที่สมัยนี้เรามีเครื่องมือหลายๆ อย่างที่จะช่วยให้เราเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เลย
- ไม่ว่าธุรกิจอะไรก็ต้องเจอการแข่งขันหมด เลี่ยงไม่ได้จริงๆ แต่สิ่งที่เราควบคุมได้ก็คือคุณภาพของเราเอง ถ้าเรามีจุดยืนอยู่ตรงนี้ก็ไม่ต้องกลัวอะไร
จุดเริ่มต้นของ Guyasuka Hostel&Cafe
“ร้านนี้เริ่มต้นมาจากเพื่อนผมอยากทำร้านอาหาร ก็เลยมาชวนผม เราลองศึกษากันดูว่าจะทำยังไง จนกระทั่งมาเจอโฮสเทลและค่าเฟ่หลังนี้ ซึ่งเจ้าของเดิมทำไว้ให้ลูกชาย แต่ลูกชายเขาไม่ทำต่อ ภายในตกแต่งเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว ผมเลยลองติดต่อคุยกับเขาดูว่าสนใจ เพราะอยู่ไม่ไกลจากบ้าน จากนั้นเราเริ่มมาศึกษากันจริงจังว่าทำแล้วจะเวิร์คไหม ต้องปรับอะไรยังไงบ้าง แล้วบังเอิญว่าผมได้ลงเรียนคอร์สสัมมนาหลักสูตรเปิดร้านอาหาร…ไม่ให้เจ๊ง รุ่นที่ 1 กับอมรินทร์อะคาเดมี่ แล้วก็พบว่ามันมีความเป็นไปได้ ก็เลยตัดสินใจว่าเราจะทำ โดยลองเปิดทั้งส่วนคาเฟ่และโฮลเทลพร้อมกันดู จะได้รู้ว่าถ้ามีลูกค้าเข้ามาจะรับมือกับมันยังไง ช่วงแรกผมไม่ได้คิดว่าจะทำเป็นคาเฟ่ที่มีอาหารอะไรเยอะแยะ ตั้งใจอยากให้เป็นโฮสเทสเทลมากกว่าและมีเครื่องดื่มขายนิดหน่อย แต่พอลองทำไปแล้วก็รู้สึกว่า คาเฟ่มันน่าจะเป็นตัวช่วยดึงลูกค้าเข้ามาในร้านได้เรื่อยๆ และช่วยสร้างรายได้ให้เราได้เรื่อยๆ เลยลองคิดทำจริงจังมากขึ้น
“ในช่วงลงทุนผมต้องใช้เงินสามก้อนใหญ่ๆ ในการบริหารร้านทั้งหมด โดยแบ่งเงินสำหรับจ่ายค่าเซ้งก้อนหนึ่ง อีกก้อนหนึ่งเอามาใช้รีโนเวทเล็กๆ น้อยๆ เช่น เปลี่ยนไฟบางดวงที่ทำให้ร้านมืดเกินไป หรือซื้ออุปกรณ์เกี่ยวกับอาหารที่ยังไม่มีหรืออยากได้เพิ่ม เช่น เตาอบ ตู้เย็น แต่การตกแต่งยังใช้ของเดิมทั้งหมดเพราะเจ้าของเก่าหวง ไม่อยากให้เราทำลายของเดิมที่มีอยู่ ส่วนเงินก้อนที่สามจะเก็บไว้เป็นเงินหมุนเวียนในร้าน อย่างเช่น ค่าแรง และค่าอาหารสด รวมๆ แล้วตั้งแต่ค่าเซ้ง รีโนเวท รวมทั้งเงินตั้งต้นต่างๆ ผมหมดไปประมาณ 1-2 ล้านบาท แต่มันก็ยังไม่จบ เพราะผมตั้งใจว่าจะเอาระบบเทคโนโลยีจัดการร้านอาหาร (POS) เข้ามาใช้ด้วย หลังจากที่เมนูต่างๆ เสร็จเรียบร้อย
“ก่อนหน้าที่จะเปิดร้านนี้ ผมเคยทำร้านสอนนวดชื่อ Guyasuka Massage Station ที่ปากน้ำมาก่อน โดยมีน้องอีกคนมาเป็นวิทยากร เขาจบวิทยาศาสตร์การกีฬาจากจุฬาฯ แล้วไปลงเรียนคอร์สนวดที่วัดโพธิ์และสมาคมแพทย์แผนไทย ผมเห็นว่าร้านเดิมก็เป็นโรงเรียนนวดไทย ส่วนที่นี่ก็มีการตกแต่งแบบไทยๆ อยู่แล้ว เลยลองจับมันมาเจอกัน ด้วยการจัดกิจกรรมที่เปิดให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักที่นี่หรือใครที่ผ่านไปมาสามารถเข้ามานวดเท้าและคอ บ่า ไหล่ ได้ที่ชั้นสองของโฮสเทล หรือถ้าลูกค้าคนไหนสนใจอยากเรียนนวด เราก็จะส่งไปที่โรงเรียนสอนนวด หรือถ้าใครรวมกลุ่มกันมากพอ ก็สามารถออร์เดอร์ให้มาสอนที่นี่ได้เหมือนกัน”
เปิดโฮลเทลไกลแหล่งท่องเที่ยว…ในจุดอ่อนยังมีจุดขาย
“จะเห็นว่าส่วนใหญ่โฮลเทลนั้นตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยว ที่นี่ตั้งอยู่ไกลถึงบางนาก็จริง แต่ผมกลับมองว่าที่นี่มีศักยภาพอยู่สามอย่าง หนึ่ง ใกล้บีทีเอส ถ้าออกไปปากซอย สามารถเดินต่อไปบีทีเอสได้ภายใน 5 นาที พอเจอบีทีเอสแล้วผมว่าเรารอดตาย ไปไหนก็ได้ สอง ใกล้สุวรรณภูมิ จากตรงนี้สามารถเดินทางต่อไปสุวรรณภูมิได้ภายใน 30 นาที ฉะนั้นผมว่าที่นี่สะดวกสำหรับลูกค้าที่เดินทางมาด้วยไฟลท์ดึก หรือรอเดินทางต่อไปยังที่อื่น สาม ใกล้แหล่งท่องเที่ยวอื่นที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ เช่น สมุทรปราการ เมืองโบราณ บางปู ฟาร์มจระเข้ หรือบางคนอาจจะมาพักเพื่อรอเดินทางต่อไปพัทยาก็มี นอกจากนี้ที่นี่ยังไม่ไกลจากไบเทค ดังนั้นในช่วงรับปริญญาเราก็เปิดให้ครอบครัวที่จะมางานรับปริญญาเข้ามาพักก็ได้ ซึ่งในเคสนี้ผมจะปิดห้องให้เลยหนึ่งห้อง เพราะเข้าใจว่านิสัยคนไทยชอบอยู่ห้องส่วนตัวมากกว่าอยู่แบบดอร์มเหมือนฝรั่ง ผมเลยมองว่าตรงนี้ถือเป็นทำเลที่มีศักยภาพระดับหนึ่ง ซึ่งมีจุดแข็งคือไม่ต้องไปตีกับคนที่อยู่ในเมือง พอเรารู้ศักยภาพเหล่านี้แล้ว ก็ชูมันเป็นจุดขาย”
“ทุกวันนี้การขายอาหารหรือการทำธุรกิจมันไม่ง่ายเหมือนสมัยก่อนแล้ว ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ คุณอยากขายอาหารตามสั่ง ก็ลุกขึ้นมาขายได้เลย มันต้องทำการตลาด ทำแบรนด์ให้ชัดเจน”
เริ่มเป็นที่รู้จักด้วยการทำออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง
“ผมเริ่มทำการตลาดด้วยการเป็นพาร์ทเนอร์กับออนไลน์บุ๊คกิ้งทั้งหมดก่อน ทั้งอโกด้า (Agoda.com) บุ๊คกิ้งดอทคอม (Booking.com) แอร์บีเอ็นบี (Airbnb) เอ็กซ์พีเดีย (Expedia) โฮเทลดอทคอม (hotels.com) ทราเวลโลก้า (Traveloka) เราเป็นครบทุกเจ้า เขาจะทำการตลาดให้เรา แล้วดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาให้เราโดยอัตโนมัติ
“นอกจากนี้เรายังมีช่องทางทำการตลาดของเราเองคือเฟซบุ๊ก ผมโปรโมทโฆษณาโดยเลือกเจาะไปตามประเทศหรือเมืองที่เราอยากได้ เช่น ฝั่งยุโรป ผมเลือกลอนดอน ปารีส ฝั่งอเมริกา เลือกแอลเอ นิวยอร์ก ฝั่งเอเชีย เลือกสิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น ซึ่งการตลาดเหล่านี้ได้ผลมาก หลังจากทำไม่นานก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวฝั่งเอเชียเข้ามาพักแล้ว”
ทำเลบอด อุปสรรคที่จัดการได้
“ทำเลถือเป็นปัญหาสำคัญสำหรับผม ต้องยอมรับว่าร้านนี้ทำเลบอดนิดหน่อย เพราะมันเป็นทางผ่านของจุดเจริญกับจุดเจริญ คนขับรถผ่านร้านเราตลอดเวลา ดังนั้นผมต้องทำให้คนที่ผ่านไปมาหันมาสนใจเราให้ได้ และก่อนหน้านี้ร้านมันเปิดๆ ปิดๆ มาตลอด ผมก็ต้องทำให้คนรู้ว่าตอนนี้มันกลับมาเปิดอีกครั้งแล้ว ผมว่าปัญหาพวกนี้แก้ได้ด้วยการสร้างการรับรู้ให้กับคน ดังนั้นนอกจากการทำการตลาดออนไลน์แล้ว ผมต้องเอาป้ายกระดานไปตั้งหน้าร้านว่า Now open ด้วย ให้ลูกค้าที่ผ่านไปมารู้ว่าตอนนี้ร้านเราเปิดแล้ว
“ช่วงสามอาทิตย์แรกผมเปิดร้านคนละเวลากันเลย เละมาก วันแรกผมเริ่มเปิดอย่างที่เราอยากจะเปิดก่อนคือเปิดสายหน่อยและปิดสองทุ่ม แต่คนยังเงียบ ก็ลองเอาใหม่ คิดว่าร้านกาแฟควรจะต้องเปิดเช้า เลยลองเปิดเช้าขึ้น แต่ปรากฏว่าคนยังเงียบอยู่ ผมเลยลองศึกษาเรื่องทำเลจริงๆ เราเลยพบว่า คนเข้ามาร้านตอนกลางวันมากที่สุด ซึ่งเป็นคนที่ผ่านไปมาแถวนี้ รวมทั้งคนที่อยู่คอนโดใกล้ๆ สุดท้ายก็เลยกลับไปเปิดในเวลาที่เราอยากเปิดเหมือนเดิมคือ 9 โมงเช้า และปิด 3 ทุ่ม ทำแบบนี้เราไม่เหนื่อยมาก และพนักงานก็ไม่เหนื่อยด้วย
“เรื่องถัดมาที่ผมว่าเป็นปัญหาคือไม่มีที่จอดรถ ผมเลยลองขับรถวนอยู่แถวนี้ จนพบว่าซอยข้างๆ นี้มีพื้นที่ส่วนกลางที่สามารถเข้าไปจอดได้โดยไม่เสียงิน และสามารถเดินเข้ามาที่ร้านได้ในระยะทางไม่ไกล ผมเลยเขียนป้ายบอกลูกค้าไว้หน้าร้านว่าสามารถนำรถไปจอดที่ซอยนั้นได้ ผมว่าปัญหาที่เกี่ยวกับพื้นที่หรือสิ่งแวดล้อมเหล่านี้มันจัดการได้”
ไม่จำเป็นต้องลาออกจากงาน ก็บริหารธุรกิจได้
“ทุกวันนี้ผมยังทำธุรกิจควบคู่ไปกับงานประจำ เพราะต้องยอมรับว่า งานประจำเกี่ยวกับโฆษณาที่ผมทำนั้นมั่นคงอยู่แล้ว เรามีรายได้ประจำ แถมเป็นงานที่เรายังรู้สึกเอ็นจอยกับมันอยู่ ส่วนโฮลเทลคืองานเสริมที่เรารัก โดยโครงสร้างของธุรกิจโฮสเทลมันอยู่ได้ด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว เพราะธรรมชาติของโฮลเทลมันไม่ได้ต้องการการบริการมากเท่ากับโรงแรมทั่วไป คนที่มาพักเขารู้อยู่แล้วว่าจะได้รับบริการในระดับหนึ่ง
“ผมใช้วิธีแบ่งเวลาโดยในช่วงเช้าก่อนเริ่มงานจะเช็กอีเมลก่อน ซึ่งอีเมลผมผูกกับออนไลน์เอเจนซี่ไว้ทั้งหมดทุกเจ้า จากนั้นผมก็แจ้งเด็กไว้ว่าวันนี้จะมีใครเข้ามาพักบ้าง ใช้เวลาแค่แป๊บเดียวก็จบแล้ว ส่วนช่วงเลิกงานก็จะสลับเข้าไปดูร้านกับเพื่อน พอถึงวันศุกร์เป็นวันสั่งของ เด็กในร้านจะจดรายการสั่งซื้อของ เพื่อที่เช้าวันเสาร์ผมจะไปซื้อของแล้วกลับมาทำครัว วันเสาร์อาทิตย์ถือเป็นวันทำครัวของผม ผมจะอยู่ร้านตลอดวัน และทำอาหารที่สามารถสต๊อกได้เก็บเอาไว้ใช้ยาวทีเดียวทั้งสัปดาห์ เช่น ผักโขมอบชีส ขนมปังเนยกระเทียม นมสดทอด ในวันที่ผมทำงานเด็กในร้านก็จะสามารถเอาอาหารเหล่านี้มาอบ เอามาผสม เอามาท็อปปิ้งเองได้ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าเมนูที่นี่ส่วนใหญ่เป็นเมนูที่ทำส่วนประกอบไว้แล้ว ไม่ใช่เมนูอาหารสดๆ ระดับยำวุ้นเส้น เพราะเราไม่มีเวลาอยู่กับมันตลอด และเราไม่ได้มาสายทำอาหาร ฉะนั้นเราจะไม่สามารถทำอะไรยากๆ ได้ ผมเลยเลือกทำตามความถนัดของตัวเองมากกว่า
“ผมว่าอาหารอร่อยมันเป็นเรื่องเบสิคที่ทุกร้านควรทำอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญคือทำยังไงให้มันดูสวย ทำให้ลูกค้ามาแล้วรู้สึกอยากถ่ายรูป ตอนแรกๆ ผมยังไม่เก่งเรื่องนี้ อย่างกาแฟผมกวนมันเป็นโอเลี้ยงแล้วเทเลย แต่หลังจากนั้นก็มีคนแนะนำให้ลองทำแบบแยกชั้น ทำให้ดูมิติมากขึ้น มันก็เลยดูแพงขึ้น หรืออย่างขนมปัง ผมจะบอกเด็กตลอดว่า ต้องแต่งให้สวย อบให้ดีก่อนค่อยเสิร์ฟลูกค้า ดังนั้นอาหารในร้านเรา หนึ่ง ทำไม่ยาก เด็กทุกคนมีพื้นเท่ากันหมด สอง น่าถ่ายรูป ลูกค้าเอ็นจอยกับการนั่งดูมัน เพราะเดี๋ยวนี้คนไม่ได้มากินอาหารอย่างเดียวแล้ว เขามาหาประสบการณ์แปลกใหม่ในร้าน”
หัวใจสำคัญของการจัดการโฮสเทลและคาเฟ่
“หลักสำคัญในการจัดการส่วนของโฮสเทลคือความรวดเร็วและเซอร์วิส ผมบอกพนักงานว่า ให้คิดว่าลูกค้าเป็นเพื่อนหรือญาติที่มาพักกับเรา ให้นึกถึงเวลาเราไปต่างแดน ที่รู้สึกเคว้งคว้าง ไม่รู้ถนนอะไรอยู่ตรงไหน ดังนั้นเวลาลูกค้าถามอะไร ต้องการอะไรก็ต้องพยายามเซอร์วิสให้เขา ครั้งหนึ่งผมเคยเจอลูกค้าต้องการเตารีด แต่เราไม่มีเตารีดให้ เลยแก้ปัญหาด้วยการบอกลูกค้าว่า คุณนั่งรอนะ เดี๋ยวเอาไปรีดให้ที่ร้านซักรีด เขาก็จะรู้สึกประทับใจ หรืออีกครั้งมีลูกค้ามายืนอยู่หน้าร้านตอนสี่ทุ่ม แล้วโทรเข้ามาว่าขอดูห้องตอนนี้ เราก็ต้องเซอร์วิสให้ เรื่องที่เหลือมันเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว เช่น ความสะอาด ความสะดวกสบาย ความปลอดภัย แต่หลักสำคัญที่ต้องยึดไว้คือ หนึ่ง รวดเร็ว สอง เซอร์วิสด้วยใจ เขาก็จะกลับไปบอกต่อให้เอง
“ส่วนของคาเฟ่ต้องอาศัยความละเอียดและควบคุมคุณภาพมากกว่าส่วนของโฮสเทล เพราะอาหารทุกชิ้น เราจะต้องแน่ใจว่าวัตถุดิบมันใช้ได้จริง และต้องมีการจัดการสต๊อกที่ใช้ได้พอสมควร ในช่วงแรกๆ ผมใช้วิธีรับอาหารสำเร็จรูปเข้ามา เช่น เค้ก แต่เราก็พบว่า หนึ่ง เชลฟ์ไลฟ์มันสั้น เราคุมไม่ได้ สอง มันไม่ใช่เรา เราต้องมีเมนูเป็นของตัวเอง เราเลยเลิกรับเข้ามาและทำเมนูใหม่ขึ้นมาทั้งหมด พอเริ่มทำเมนูของตัวเองก็ได้กำไรดีขึ้น เพราะเราควบคุมทุกอย่างเองได้ ที่สำคัญคือสามารถตั้งราคาตามที่เราอยากได้ ผมเคยเจอเค้กเจ้าหนึ่งน่ากินมาก ขายชิ้นละ 120 บาท แต่ส่งมาให้เรา 110 บาท ได้กำไรแค่ 10 บาทเท่านั้นเอง ไม่รู้ต้องขายกี่พันชิ้นถึงจะได้กำไรอย่างที่อยากได้ ผมเลยคิดว่า การทำเมนูของตัวเองคุ้มกว่าเยอะ
“ผมยอมรับว่าช่วงแรกๆ ที่เราเริ่มทำเมนูของตัวเอง เรารวนกันมาก เพราะไม่รู้ว่า เราสามารถซื้อนมหรือขนมปังที่มีวันหมดอายุยาวๆ ได้ เราก็ไปซื้อแต่ของที่วันหมดอายุสั้นๆ มาสต็อกไว้เยอะๆ ทำให้ต้องรับมือกับสินค้าที่เก็บสต็อกและคุณภาพอาหารอยู่พอสมควร หลายอย่างก็ต้องยอมทิ้งไป เพราะเรายึดหลักว่าอาหารที่ลูกค้าสั่งต้องเป็นจานที่ดีและสดจริงๆ ตอนนี้ก็เลยรู้ว่า ของบางอย่างที่เชลฟ์ไลฟ์ (shelf life) สั้น เช่น นม ขนมปัง ไข่ เราต้องจ่ายออกไปให้เร็วและสต็อกน้อย ในขณะที่บางอย่าง เช่น เนย กระเทียม ชีส เราสามารถเก็บไว้ได้
“นอกจากเรื่องการจัดการวัตถุดิบแล้ว เรื่องระบบก็มีปัญหาเหมือนกัน ในช่วงวันแรกๆ ที่ให้แม่บ้านเข้ามาช่วยทำอาหารเขาไม่รู้เลยว่าต้องทำอะไรก่อนหรือหลัง ผมเลยต้องหาวิธีแก้ด้วยการทำตารางในโปรแกรม Excel เขียนขั้นตอนการทำทีละเมนู เพื่อให้เขามีไกด์ไลน์อยู่ในหัว พอเขาจำมันได้ แล้วก็ต้องสอนด้วยว่า อาหารอะไรต้องจัดใส่จานไหน ไม่ให้เขาสับสน”
ปั้นแบรนด์ให้ได้ ไปให้ไกลกว่าคาเฟ่…เป้าหมายของกายาสุขะ
“ในส่วนของอาหาร ผมว่าเรายังไปต่อได้อีก เพราะตอนนี้เราทำครัวน้อยมาก เจ้าของโฮลเทลคนเก่าทิ้งสมบัติไว้ให้ผมเยอะมาก ในครัวมีตั้งแต่จานไม้ จานเขียง หม้ออบวุ้นเส้น กระทะไข่กระทะ ซึ่งผมมองว่าเราเอามาใช้ประโยชน์ได้อีกเยอะ ตอนนี้ผมเลยวางแผนว่า ถ้าเมนูเครื่องดื่มและออลเดย์เบรคฟาสนิ่งแล้ว ผมจะเริ่มทำเมนูอย่างอื่นเพิ่ม
“นอกจากนี้ผมตั้งใจจะทำระบบเดลิเวอรี่ ตอนนี้เราผูกกับไลน์แมนแล้ว เหลือแค่รอให้เซ็ทอะไรในร้านให้เรียบร้อยก่อน เราก็จะเริ่มทำเต็มตัว ตอนนี้พยายามหาแพคเกจจิ้งที่เหมาะกับอาหารของเรา ซึ่งใช้ชีสเป็นหลัก ต้องสอนพนักงานเรื่องการจัดของสำหรับส่งต้องทำยังไงให้ของไปถึงแล้วยังดูน่ากิน ไม่ให้มันเซ็ง จะแนะนำให้เขาอุ่นมันยังไง
“นอกจากนี้ผมมองไปไกลกว่านั้นอีกว่า พวกขนมปังอบในกลุ่มออลเดย์เบรคฟาสมันสามารถแตกได้เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ ผมอยากตั้งเป็นคีออสเล็กๆ ในห้างสรรพสินค้า ขนมปังพวกนี้ใช้เวลาทำแค่ 10 นาทีก็เสร็จแล้ว แถมลูกค้ายังสามารถเลือกหน้าได้ เลือกซอสเองก็ได้ด้วย อันนี้คือเป้าหมายของผม”
บทเรียนจากธุรกิจอาหารที่อยากส่งต่อ
“ก่อนจะเปิดร้านอย่างแรกที่เราต้องทำคือศึกษาธุรกิจอาหารหรือคาเฟ่ให้มันถ่องแท้ก่อน ศึกษาว่าแต่ละสเต็ปของการเปิดคาเฟ่มันเป็นยังไงบ้าง สอง คือศึกษาเรื่องของทำเลให้ชัดเจน เพราะทำเลถือเป็นเรื่องสำคัญก่อนคิดจะลงทุน ศึกษาให้ดีว่าเราจะเปิดขายใคร คนจะเข้ามาร้านเราเวลาไหน สาม โฟกัสคุณภาพของอาหาร ความอร่อย ความสด ความสะอาด ต้องเป็นพื้นฐานของทุกร้านอาหารอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังรวมถึงเรื่องบริการด้วย เพราะคนสมัยนี้ต้องการได้รับการบริการที่ดี ไม่ว่าธุรกิจอะไรมันก็ต้องเจอการแข่งขันหมด เลี่ยงไม่ได้จริงๆ ไม่ว่าเขาจะก๊อปปี้เรา หรือเราไปก๊อปปี้เขาก็ตาม แต่สิ่งที่เราควบคุมได้ก็คือคุณภาพของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของบริการหรือคุณภาพของอาหาร ถ้าเรามีจุดยืนอยู่ตรงนี้ก็ไม่ต้องกลัวอะไร
“ต้องถามตัวเองก่อนว่า ทำกับมันมากพอหรือยัง ลงทุนกับมันมากพอหรือยัง เรา WORK HARD พอหรือยังกับสิ่งที่ตั้งใจไว้”
“สิ่งสำคัญอีกอย่างคือเรื่องการตลาด ทุกวันนี้การขายอาหารหรือการทำธุรกิจมันไม่ง่ายเหมือนสมัยก่อนแล้ว มันไม่ใช่ว่าอยู่ๆ คุณอยากขายอาหารตามสั่ง ก็ลุกขึ้นมาขายได้เลย มันต้องทำการตลาด ทำแบรนด์ให้ชัดเจนว่าจุดยืนเราเป็นยังไง รูปลักษณ์หน้าตาเราที่อยากให้คนเห็นเป็นยังไง เราจะขายใคร เรื่องการตลาดเหมือนจะเป็นเรื่องยาก แต่ในความยากมันก็มีความง่าย ตรงที่สมัยนี้เรามีเครื่องมือหลายๆ อย่างที่จะช่วยให้เราเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เลย อย่างเช่น เฟซบุ๊ก เราสามารถเลือกได้ว่าอยากได้คนทำงาน หรือเด็กนักเรียน ซึ่งมันใช้เงินไม่เยอะเลย หรือแม้กระทั่งไอจีหรือไลน์ มันเป็นสิ่งที่ควรใช้ ควรลงทุนกับมัน
“อย่างผมเปิดร้านได้ประมาณสองอาทิตย์ก็พบว่ามันยังไม่เวิร์ค เราก็มีคำถามกับตัวเองว่ามันไม่เวิร์คเพราะอะไร แล้วก็พบว่าเพราะเรายังไม่ได้ทำอะไรอีกหลายอย่าง ไหนว่าเราอยากจะทำเปิดตัว ไหนว่าเราอยากจะทำเมนูใหม่ๆ ไหนว่าอยากจะถ่ายรูป เชิญอินฟลูเอนเซอร์มา เรายังไม่ได้ทำอะไรเลย ฉะนั้นต้องถามตัวเองก่อนว่า ทำกับมันมากพอหรือยัง ลงทุนกับมันมากพอหรือยัง เรา Work hard พอหรือยังกับสิ่งที่ตั้งใจไว้”
Guyasuka Hostel&Café (กายาสุขะ โฮลเทลแอนด์คาเฟ่)
368 ซอยลาซาล 20 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพฯ 10620
โทร.092 561 5396
เฟซบุ๊ก www.facebook.com/guyasukahostel