เคล็ด (ไม่) ลับ ทำร้านบุฟเฟต์ให้มีกำไร - Amarin Academy

เคล็ด (ไม่) ลับ ทำร้านบุฟเฟต์ให้มีกำไร

เคล็ด (ไม่) ลับ ทำร้านบุฟเฟต์ให้มีกำไร

ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีร้านบุฟเฟต์เยอะมากๆ เมื่อเทียบกับประเทศในแถบเอเชียด้วยกัน ไล่ไปตั้งแต่ อาหารญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็น ยากินิกุ ชาบูชาบู ซูชิบุฟเฟต์ หรืออาหารนานาชาติตามโรงแรมต่างๆ อาหารไทย เช่น หมูกระทะ ไก่ย่าง ส้มตำ ขนมจีน ไปจนถึงร้านขนม เนื่องด้วยพฤติกรรมและนิสัยของคนไทยที่ชอบกินอาหารเป็นกลุ่ม โดยไม่อยากมานั่งกังวลว่าจะต้องจ่ายเงินเท่าไหร่ ทำให้ธุรกิจร้านอาหารบุฟเฟต์โตสวนกระแสร้านอาหารประเภทอื่น แต่ขณะเดียวกันกลับมีไม่กี่ร้านที่สามารถยืนหยัดท่ามกลางการแข่งขันเหล่านี้ได้ ส่วนที่เหลือต่างล้มหายไปในระยะเวลาอันรวดเร็ว ด้วยหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นควบคุมต้นทุนไม่ได้ ลูกค้าน้อยลงทำให้กำไรไม่เหลือ คู่แข่งตัดราคา ไม่มีจุดเด่นเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ฯลฯ วันนี้เลยอยากสรุปเทคนิคการ ทำร้านบุฟเฟต์ให้มีกำไร มาฝากกัน

1.ทำให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่า

จริงๆ แล้วลูกค้าไม่ได้สนใจว่าราคาบุฟเฟต์ของคุณจะถูกหรือแพง เขาสนใจแค่ว่าคุ้มหรือไม่คุ้มมากกว่า ฉะนั้นไม่ว่าคุณจะตั้งราคาบุฟเฟต์เท่าไหร่ จะ 99 บาทหรือ 1000 บาท จงมั่นใจว่าทุกเมนูที่คุณเสิร์ฟให้ลูกค้า จะทำให้เขารู้สึกคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป โดยที่ไม่ได้รู้สึกว่าถูกยัดเยียดหรือเอาเปรียบ จำไว้ว่าลูกค้ามีทางเลือกเสมอ เมื่อเขารู้สึกว่าคุณไม่แฟร์ เขาก็พร้อมจะไปร้านอื่นทันที เพราะไม่ได้มีร้านคุณร้านเดียวที่ขายอาหารแบบนี้

2.บริหารจัดการต้นทุนให้ดี

“You can’t manage what you can’t measure” “คุณไม่สามารถบริหารจัดการอะไรที่คุณไม่สามารถตรวจวัดได้” ก่อนที่คุณจะเริ่มคิดถึงการบริหารจัดการต้นทุน คุณต้องรู้ก่อนว่าในแต่ละเมนูมีต้นทุนเท่าไหร่ มีส่วนประกอบอะไรบ้าง อย่างละกี่กรัม เมนูไหนออกมากหรือออกน้อย เหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่คนทำร้านอาหารบุฟเฟต์มักละเลย เพราะชอบคิดว่าดูไปทำไม ในเมื่อเราไม่สามารถบังคับลูกค้าให้กินอย่างที่เราต้องการได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าเรารู้ว่าเมนูไหนมีต้นทุนที่สูงและไม่เป็นที่นิยม แค่เราตัดออกจะทำให้เราสามารถลด food costs ได้ทันที

3.บริหารของเสียให้เหลือน้อยที่สุด

ยิ่งคุณทำให้ของเสียในร้านเหลือน้อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้คุณมีกำไรที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น หากคุณใส่ใจในรายละเอียดและรู้จักมองหาไอเดียอะไรใหม่ๆ อาจทำให้คุณได้เมนูใหม่โดยที่ต้นทุนวัตถุดิบแทบไม่เพิ่มขึ้นเลยก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ปลาแซลมอน 1 ตัว แทนที่เราจะแล่เอาหนังหรือเอาส่วนหัวปลาทิ้งไป คุณอาจเอามาทำหัวปลาต้มซีอิ๊ว หรือหนังปลาทอดกรอบ ก็จะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าไลน์บุฟเฟต์ของคุณหลากหลายมากขึ้น โดยที่คุณแทบจะไม่เหลือเศษทิ้งเลย

เหล่านี้รวมไปถึงการทำให้ portion ของอาหารน้อยลง ก็อาจลดโอกาสที่ลูกค้าจะกินเหลือให้น้อยลงได้ เนื่องจากพฤติกรรมของคนที่กินบุฟเฟต์มักชอบลองอะไรหลายๆ อย่าง การที่แต่ละเมนูมีขนาดไม่ใหญ่นัก จะทำให้ลูกค้ามีโอกาสลองเมนูอื่นๆ มากขึ้น

4.คิดให้ดีก่อนทำโปรโมชั่น

ท่าไม้ตายที่คนทำร้านบุฟเฟต์ส่วนใหญ่ใช้ในการทำการตลาดก็คือการลดราคา ไม่ว่าจะเป็นลด 30% จากราคาเต็ม มา 4 จ่าย 3 หรือแม้กระทั่งมา 4 จ่าย 2 แน่นอนลูกค้าคุณอาจเพิ่มขึ้นอย่างถล่มทลายในระยะเวลาอันสั้น แต่เมื่อไหร่ที่คู่แข่งคุณลดราคาถูกกว่า หรือมีโปรโมชั่นที่ดึงดูดมากกว่า ก็มีโอกาสที่ลูกค้ากลุ่มนี้จะไหลไปร้านคู่แข่งคุณในทันที และสุดท้ายเกมมักจบลงที่ ไม่คุณก็คู่แข่งขาดทุนย่อยยับและต้องออกจากธุรกิจนี้ไป

ฉะนั้นก่อนที่จะทำให้โปรโมชั่น ให้กลับมาดูที่จุดยืนของแบรนด์ (Brand Positioning) ของคุณด้วยว่า ขายอะไรและขายใคร คุณอาจจะได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ที่มาเพราะโปรโมชั่น แต่ในขณะเดียวกันคุณก็อาจเสียลูกค้ากลุ่มเดิมที่จงรักภักดีกับร้านคุณไป เพราะเขาคิดว่าคุณสูญเสียความเป็นตัวตนไปแล้ว และอาจทำให้คุณภาพของอาหารและการบริการที่เขาเคยได้รับลดลง

5.รสชาติและบริการคือพื้นฐานที่สำคัญที่สุด

คนทำร้านบุฟเฟต์มักคิดว่า ลูกค้าที่มาร้านบุฟเฟต์เขาคงดูที่ความคุ้มด้านปริมาณเป็นหลัก รสชาติอาหารหรือบริการคงไม่ซีเรียสมาก ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง คงไม่เป็นไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดมหันต์ แท้จริงแล้วไม่ว่าลูกค้าจะเสียเงินให้คุณเพื่อมากินบุฟเฟต์หรืออะลาคาร์ท คงไม่มีใครอยากกินอาหารที่ไม่อร่อยหรือไม่มีคุณภาพแน่นอน

ฉะนั้นควรตั้งใจทำอาหารทุกจาน รวมถึงใส่ใจในการบริการให้ดีที่สุดไม่ต่างจากร้านอาหารทั่วไป และถ้าคุณต้องการลดค่าใช้จ่าย ขอให้คุณเลือกที่จะบริหารจัดการต้นทุนก่อนที่จะลดคุณภาพของอาหารหรือบริการ เพราะเมื่อไหร่ที่คุณเลือกลดคุณภาพของวัตถุดิบ โอกาสที่ลูกค้าของคุณจะเลิกใช้บริการร้านคุณก็ย่อมมีมากขึ้นด้วยเช่นกัน

การทำร้านบุฟเฟต์มีขั้นตอน รายละเอียดและเคล็ดลับอีกมากมาย อย่าคิดเพียงว่า คนอื่นเปิดได้ เราก็เปิดได้ ศึกษาให้ดี แล้วลงมือทำอย่างมั่นใจดีกว่า

เรื่องแนะนำ

เพิ่มกำไรอย่างก้าวกระโดด! ด้วยกลยุทธ์ ยกระดับธุรกิจอย่างมืออาชีพ

การทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไรก็ตาม การพัฒนาและต่อยอดกิจการนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มยิ่งอยู่เฉยไม่ได้ แม้จะเคยเป็นร้านดังในอดีต เคยมีลูกค้ามากมาย ก็อาจจะถูกร้านหน้าใหม่แซงยอดขายเอาได้ง่ายๆ จะเห็นว่าแม้แต่ร้านอาหารแบรนด์ดัง ก็ยังต้องปรับตัวและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มาเรียกลูกค้าอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ เข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจอาหารอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากคุณไม่อยากเดินตามหลังคนอื่นหนึ่งก้าว และกำลังหาวิธี ยกระดับธุรกิจอย่างมืออาชีพ บทความนี้มีเทคนิคดี ๆ ที่คุณไม่ควรพลาดมาฝาก ปรับโครงสร้างต้นทุน จัดการทำงานอย่างเป็นระบบ ก่อนจะเริ่มไอเดียใหม่ ๆ ต้องหันกลับมาแก้ปัญหาเดิม ๆ และอุดรอยรั่วของธุรกิจเสียก่อน โดยโครงสร้างต้นทุนในแต่ละด้านจะต้องอยู่ในเปอร์เซ็นต์ที่เหมาะสมกับประเภทของร้าน ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าที่ ค่าแรงพนักงาน ต้นทุนวัตถุดิบ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ หากคำนวณแล้วด้านไหนมีต้นทุนสูงจนเกินไป อาจจะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้ธุรกิจได้กำไรตามเป้าหมาย นอกจากนี้ ระบบการทำงานในร้านก็ต้องชัดเจน ทั้งการเลือกซื้อวัตถุดิบจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือเพื่อให้ได้คุณภาพคงที่ มีการจัดทำ Standard Operation Procedures (SOPs) หรือคู่มือการทำงานและสูตรมาตรฐานสำหรับเมนูอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้รสชาติของอาหารผิดเพี้ยน ช่วยลดปัญหาด้านพนักงาน และยังควบคุมต้นทุนได้ดียิ่งขึ้น ช่วยให้ธุรกิจไปต่อได้โดยที่เจ้าของร้านไม่ต้องเข้ามาควบคุมดูแลเองทุกขั้นตอน   สร้างความโดนเด่นและแตกต่าง ตอบโจทย์ให้ได้ว่าลูกค้าจะจดจำแบรนด์ร้านของเราอย่างไร นอกจากรสชาติอาหารและเครื่องดื่มที่อร่อยแล้ว ยังต้องหาจุดขายที่ทำให้ธุรกิจเป็นที่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสตอรี่ให้กับแบรนด์ การตกแต่งร้านสไตล์ต่างๆ การนำเสนอที่แปลกใหม่ […]

หุ้นกับเพื่อนเปิดร้านอาหารดี….แต่ต้องคุยเรื่องนี้กันก่อน

คนที่มีความฝันเหมือนกัน ตกลงจับมือร่วมกันทำธุรกิจร้านอาหาร แต่เมื่อลงขันร่วมกันแล้ว กลับขัดแย้งกันในทุกเรื่อง ก็ไม่สามารถทำร้านอาหารให้ประสบความสำเร็จได้   เมื่อต้องลงเรือลำเดียวกัน เป้าหมายในการทำร้านอาหาร และทัศนคติในการทำธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทำความรู้จักหุ้นส่วนให้มากพอ นอกจากนี้การเลือกหุ้นส่วนที่มีความถนัดที่แตกต่างกันจะช่วยส่งเสริมในส่วนที่อีกฝ่ายหนึ่งขาด และควรมอบสิทธิ์ขาดในการตัดสินใจในเรื่องที่แต่ละคนถนัดดูแล ก็เป็นอีกแนวทางในการสรุปข้อขัดแย้งที่เกิดจากการคิดเห็นที่ไม่ตรงกันได้   ลงทุนกับลงแรง การลงทุนทำร้านอาหารกับเพื่อนมักเป็นลักษณะลงทั้งทุนและแรงด้วยกัน เมื่อมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องทำมากกว่า หรือได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่า จะนำไปสู่ข้อขัดแย้งได้มากที่สุด เพราะฉะนั้นต้องแบ่งเรื่องงานและเรื่องเงินให้ลงตัว ถ้าลงแรงด้วยควรกำหนดค่าตอบแทนเงินเดือนให้อยู่ในค่าใช้จ่าย ในขณะเดียวกันควรมีระบบตรวจสอบที่โปร่งใส และสัดส่วนต้องเป็นไปตามเงินลงทุนตามหุ้นที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรก   ไม่มีสัญญาใจ ในโลกของการทำธุรกิจ อย่าทำสัญญาปากเปล่าแม้ว่าจะเป็นเพื่อนสนิทหรือคนรัก ถึงจะเป็นแค่ร้านอาหาร หรือร้านกาแฟเล็ก ๆ ที่เริ่มต้นลงทุนไม่กี่บาทก็ตาม การเขียนข้อสัญญาร่วมกันมีผลทางด้านกฎหมาย ซึ่งจะต้องกำหนดบทบาทหน้าที่รับผิดชอบ เงินลงทุน จำนวนหุ้น  การคิดเงินปันผลและระยะเวลาในการคืนผลกำไร ยังเป็นหลักฐานการจ่ายเงิน ที่ยืนยันการร่วมลงทุนระหว่างคุณและหุ้นส่วน ซึ่งหากสุดท้ายเกิดปัญหาจนไปต่อไม่ได้ ข้อกำหนดที่ทำร่วมกันยังเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายในการหาข้อสรุปข้อขัดแย้งร่วมกันด้วย   อย่าอะไรก็ได้….แผนธุรกิจต้องชัดเจน ช่วงเริ่มต้นอะไรก็ดี เพราะไม่มีใครมองเห็นถึงปัญหา และมักจะตกม้าตายด้วยความคิดที่ว่าคนกันเองไม่โกงแน่นอน แผนธุรกิจจะช่วยให้การทำกิจการร้านอาหารเป็นไปอย่างมีทิศทาง ทั้งงบประมาณในการลงทุน การทำการตลาด การพัฒนาสินค้าและบริการ เป้าหมายธุรกิจ รวมถึงระยะเวลาในการลงทุนเพิ่ม ควรเลือกที่จะทะเลาะกันตั้งแต่มันอยู่ในกระดาษ ก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติงานจริงที่เป็นการตกลงแล้วของทุกฝ่ายเท่านั้น    อย่ามองข้าม…เรื่องเล็กที่กลายเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เพียงแค่ผลประโยชน์ที่ทำให้หุ้นส่วนร้านขัดแย้งกันเสมอไป […]

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท เอเอ็มอี อิมเมจิเนทีฟ จำกัด
ในเครือ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

ติดต่อแจ้งปัญหาหรือร้องเรียน
02-422-9999 ต่อ 4180
(จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น)
bdcx@amarin.co.th

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.