จากข่าวการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของ ไวรัสโคโรน่า หรือ COVID-19 โรคติดต่ออันตรายที่กำลังแพร่ระบาดไปยังหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในหลายๆประเทศ ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อ รวมถึงผู้ที่เข้าเกณฑ์ต้องเฝ้าระวังที่ผ่านมานับพันราย และได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ COVID-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายแล้ว จากเหตุการณ์นี้แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการหลายรายในประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการร้านอาหารก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แล้วร้านอาหารต้องปรับตัวอย่างไรกับสถานการณ์นี้
ไวรัสโคโรน่า (COVID-19) กระทบหนัก!
ร้านอาหารปรับตัวอย่างไรในวิกฤตนี้
ไวรัสกระทบร้านอาหาร เสียรายได้หลักหมื่นล้านบาท
นักท่องเที่ยวที่น้อยลงส่งผลกระทบต่อร้านอาหารตั้งแต่ SME รายย่อยไปจนถึงรายใหญ่ ซึ่งข้อมูลจากศูนย์วิจัยธนาคารออมสินคาดการณ์ว่า หากประเทศไทยควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้ภายใน 3 เดือน ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มในประเทศจะสูญเสียรายได้ไปแล้วประมาณ 16,000 ล้านบาท แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดลากยาวไปจนถึง 6 เดือน อาจจะสูญเสียรายได้มากถึง 34,000 ล้านบาท
พฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
จำนวนลูกค้าต่างชาติที่ลดลงส่งผลอย่างมากต่อร้านอาหารในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี รวมถึงร้านอาหารริมทางหรือ Street Food ที่กระจายอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ นอกจากนี้ ลูกค้าคนไทยเองก็มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ได้แก่
- หลีกเลี่ยงการออกไปในที่สาธารณะ และใช้เวลาที่บ้านมากขึ้น
- สั่งอาหารเดลิเวอรี่มากขึ้น
- เลือกทานอาหารในร้านที่คนไม่แออัด
- ซื้ออาหารสำเร็จรูปกลับไปทานที่บ้านแทน
พฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไปนี้ค่อนข้างเป็นผลเสียต่อยอดขายของร้านอาหารส่วนใหญ่ ทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้และกำไรลดลง และยังส่งผลกระทบถึงพนักงานในร้านอีกด้วย ถ้าขั้นรายแรงก้อาจทำให้บางร้านไม่สามารถอยู่รอด อาจจะต้องปิดกิจการไปได้
♦ ข้อแนะนำในการปรับตัวของร้านอาหาร เพื่อให้ร้านอยู่รอดและสูญเสียรายได้น้อยที่สุด
- สร้างความเชื่อมั่นในความสะอาด และสุขอนามัยของร้านให้แก่ลูกค้า เช่น มีการฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาทำความสะอาด หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ ในบริเวณที่มีการสัมผัสร่วมกันบ่อยครั้ง เช่น โต๊ะทานอาหาร ลูกบิดประตูของร้าน จัดหาเจลแอลกอฮอล์ล้างมือไว้ให้บริการในจุดที่ลูกค้าเข้าถึงได้ง่าย นอกจากนี้ พนักงานภายในร้านก็ควรสวมหน้ากากอนามัย รวมถึงใส่ถุงมือเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอาหารโดยตรง เป็นการป้องกันการติดเชื้อ และแสดงถึงความใส่ใจของร้าน
- จัดพื้นที่ในร้านให้ดูไม่แออัด หากภายในร้านมีจำนวนที่นั่งมากเกินไป เวลามีลูกค้าเข้ามาใช้บริการอาจจะรู้สึกอึดอัด ลองลดจำนวนที่นั่งที่ไม่ค่อยได้ใช้ออก หรือวางผังที่นั่งใหม่ เพื่อให้ลูกค้าที่มองเข้ามาในร้านจะรู้สึกได้ถึงความโปร่งสบายมากขึ้น
- ปรับตัวตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้า โดยเพิ่มรายการอาหารที่ลูกค้าสามารถสั่งซื้อกลับบ้านได้ทันที นอกจากนี้อาจจะทำเป็นอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ซึ่งเหมาะกับช่วงนี้ที่ลูกค้าใส่ใจสุขภาพเป็นพิเศษ
- ติดตามข่าวสารที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ เช่น ธนาคารออมสิน มีมาตรการผ่อนปรนการชำระเงินกู้สำหรับร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไวรัสแพร่ระบาด โดยลดอัตราดอกเบี้ย พักชำระเงินต้น และขยายระยะเวลาชำระหนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
- เพิ่มช่องทางบริการลูกค้าโดยให้ลูกค้าสั่งอาหารผ่าน Food Delivery เพราะลูกค้าเริ่มมีพฤติกรรมที่ออกจากบ้านน้อยลงและสั่งอาหารผ่าน Food Delivery มากยิ่งขึ้น ดังนั้นการเพิ่มช่องทางนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางออกที่น่าสนใจ แต่อาจจะต้องคำนวณในเรื่องของต้นทุนด้วย เพราะมีเรื่องของค่าบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงอาจจะต้องวางระบบการทำงานหน้าร้านให้ดี เพื่อไม่ให้ออเดอร์อาหารกระทบกับลูกค้าที่มาใช้บริการหน้าร้าน
แม้ว่าในตอนนี้ผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารจะยังไม่แย่ถึงที่สุด แต่ก็สร้างแรงกดดันอย่างมากแก่ผู้ประกอบการร้านอาหารในปัจจุบัน รวมไปถึงกลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่กำลังสนใจจะเปิดร้านอาหาร ว่าจะมีกลยุทธ์ในการปรับตัวอย่างไรเพื่อให้สามารถเปิดร้านต่อไปได้ หากสถานการณ์ไวรัสยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่จะทำให้ร้านอาหารสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว เราควรจะต้องมีความยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพในการปรับตัวต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งวิกฤตในระยะนี้อาจเป็นช่วงเวลาที่ดีในการขยายตลาดเข้ามาทำตลาดออนไลน์ให้มากขึ้น ในประเทศจีนเองก็มีการสั่งอาหารออนไลน์เพิ่มมากขึ้นถึง 154% ซึ่งทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่เติบโตขึ้นมาก ทางบริษัทก็มีการปรับตัวโดยจะจัดส่งอาหารไว้ในสถานที่ที่นัดแนะกันไว้ เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องเจอกับผู้ส่งอาหารโดยตรง ซึ่งเป็นทั้งโอกาสของธุรกิจและยังได้รับความชื่นชมจากลูกค้าในสถานการณ์ที่ยากลำบากแบบนี้อีกด้วย
ขอบคุณภาพ : Christopher PB / xinhua.net