ปีที่ผ่านมาธุรกิจหลักของ โออิชิ กรุ๊ป ที่เราเห็นได้ชัดก็คือ ธุรกิจเครื่องดื่ม ที่เรารู้จักกันก็คือ เครื่องดื่มชาเขียว ต่อมาคือ ธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งเป็นร้านอาหารญี่ปุ่น แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา โออิชิ ได้เริ่มกลับมาดันธุรกิจกลุ่มอาหารพร้อมทาน หรือแพ็กเกจจิ้งฟู้ด อีกครั้ง เพื่อตอบรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค ที่ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น
สำหรับผลประกอบการของ โออิชิ กรุ๊ป รอบปีงบประมาณ 2562 (ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2561 ถึง 30 ก.ย. 2562) มียอดรายได้รวม 13,631 ล้านบาท เติบโต 8.2% และผลกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,229 ล้านบาท
- ธุรกิจเครื่องดื่ม 6,501 ล้านบาท เติบโต 6%
- ธุรกิจอาหาร 7,130 ล้านบาท เติบโต 9%
- กำไรสุทธิรวมของบริษัท 1,229 ล้านบาท เติบโต 9%
- กำไรจากธุรกิจเครื่องดื่ม 869 ล้านบาท เติบโต 6%
- กำไรจากธุรกิจอาหาร 360 ล้านบาท เติบโต 4%
โออิชิ กรุ๊ป เปิดกลยุทธ์ ปี 2020
ความท้าทายของโออิชิ กรุ๊ป ในปี 2020 ก็คือ การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ผู้บริโภคให้ความสำคัญด้านสุขภาพ ความสะดวกสบาย ความพรีเมียม ทั้งยังตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งกลยุทธ์ที่โออิชิ เตรียมพร้อมรุกในปีนี้ ทั้ง 3 ธุรกิจ คือ ธุรกิจเครื่องดื่ม ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจอาหารพร้อมทาน (แพ็กเกจจิ้งฟู้ด) มีดังนี้
>> ธุรกิจเครื่องดื่ม <<
สำหรับธุรกิจเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นธุรกิจใหญ่และยังคงมีแนวโน้มที่ดีอยู่นั้น โจทย์หลักของปีนี้ก็คือ การเป็นที่หนึ่งอย่างยั่งยืน โดยการกระตุ้นผู้บริโภคด้วย 3 กลยุทธ์ ดังนี้
1.ขยายฐานผู้ดื่ม โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างฐานผู้บริโภคใหม่ เจาะกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น โดยใช้แพลตฟอร์มเกมผ่านแคมเปญ OISHI x ROV ซึ่งทำให้ฐานผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายในช่วงอายุ 13-24 ปี มีจำนวนเพิ่มขึ้น
2. ขยายฐานพรีเมียม เช่น การเปิดตัว “โออิชิ โกลด์ เกียวคุโระ” ชาเขียวที่ได้รับการยกย่องจากชาวญี่ปุ่นว่าเป็นหนึ่งในชาที่หายาก และให้รสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ ทำจากยอดอ่อนใบชาแท้นำเข้าจากไร่ชารางวัลจักรพรรดิ ประเทศญี่ปุ่น กลยุทธ์นี้เป็นการตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพ และผู้บริโภคที่เห็นความสำคัญของผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าจากธรรมชาติ ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้พร้อมยอมจ่ายในราคาที่สูงขึ้น เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพและดีต่อสุขภาพ
3. ขยายตลาดส่งออก จากเดิมส่งออกเพียง 13 ประเทศ ปัจจุบันสามารถขยายการส่งออก 33 ประเทศทั่วโลก โดยสร้างความแข็งแกร่งในตลาดหลักคือ ประเทศกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รวมถึงสร้างความเป็นผู้นำในตลาดเกิดใหม่ ขยายตลาดในกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและขายในระดับภูมิภาคด้วย
>> ธุรกิจร้านอาหาร <<
สำหรับธุรกิจร้านอาหาร ก็ยังคงจุดยืนของความเป็น เจ้าตำรับอาหารญี่ปุ่น”(King of Japanese Food) เช่นเคย และมีแพลนขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเตรียมเปิดแบรนด์ใหม่เพื่อเข้ามาเสริมให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งในปีนี้จะดำเนินการด้วย 4 กลยุทธ์หลัก ประกอบด้วย
1.Growth Engine สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ ผ่านผลิตภัณฑ์ และเมนูใหม่ๆ สร้างสรรค์แคมเปญการตลาดที่น่าสนใจ และการขยายสาขาต่อเนื่อง เพื่อเข้าถึงและขยายฐานกลุ่มผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงพัฒนาช่องทางการสั่งซื้อออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มของตัวเอง เช่น oishidelivery.com และ Food Delivery อย่าง GrabFood, LINE MAN และ foodpanda
2. Re-engineering Brand’s Business Model ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นให้มีความทันสมัย เช่น รูปแบบโมเดลธุรกิจใหม่ ชาบูชิ บริการ 24 ชั่วโมง ตอบโจทย์สังคมคนนอนดึก
3. Reinvented Customers Experience สร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคผ่านสินค้า และบริการใหม่ๆ
4. Spin-off Brands พัฒนาและเปิดตัวแบรนด์ใหม่ ทั้งร้านอาหาร และร้านขนมหวานสไตล์ญี่ปุ่น เช่น โฮว ยู (HOU YUU), ซากาเอะ (SAKAE) จับกลุ่มลูกค้าระดับบน และ โอโยกิ (OYOKI) ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ ซึ่งเป็นแบรนด์ร้านขนมหวานแบรนด์แรกของโออิชิ
>> ธุรกิจอาหารพร้อมทาน (แพ็กเกจจิ้งฟู้ด) <<
หลายปีที่ผ่านมา ตลาดอาหารอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุง พร้อมทาน เข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนเมืองมากขึ้น และได้รับความนิยมสูง เนื่องจากมีความสะดวกในการบริโภค และมีความหลากหลายของประเภทอาหาร
เทรนด์อาหารสำเร็จรูปมาแรงและโตต่อเนื่อง ในปี 2019 ที่ผ่านมาตลาดมีมูลค่า 40,000 ล้านบาท เติบโต 7-8% เป็นอาหารที่อยู่ในตู้เย็น และอาหารแช่แข็ง หรือ RTE (Ready to Eat)
ในปี 2019 โออิชิจึงทำการรีแบรนด์กลุ่มอาหารพร้อมทาน ให้อยู่ภายใต้แบรนด์ “โออิชิ อีทโตะ” ทั้งหมด เพื่อทำการตลาด ให้เกิดการสื่อสารที่ง่ายขึ้น และเป็นการใช้จุดแข็งของแบรนด์โออิชิในการทำตลาดด้วย
โออิชิเห็นโอกาสในตลาดนี้ ในปี 2020 จึงมีเป้าหมายที่ต้องทำให้เติบโตเรื่อยๆ และให้เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคให้ได้
ขอบคุณข้อมูล : OISHI
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ
20 เทรนด์ ธุรกิจอาหาร ปี 2020 ที่ผู้ประกอบการควรรู้!
ดังกิ้น โดนัท ทุ่ม 10 ล้าน ลุย Food Truck เข้าหาลูกค้าถึงที่
CRG ผุดแบรนด์ “ อร่อยดี ” เจาะตลาดสตรีทฟู้ด ทำรายได้แล้วกว่า 1.2 ล้านบาท/สาขา
4 เหตุผล ทำไม เนื้อจากพืช (plant-based meat) ถึงกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น
ส่องแบรนด์ใหญ่ เดินหน้าลด ขยะพลาสติก แบบใช้แล้วทิ้ง Single-use plastics