เดลิเวอรี่ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางทำกำไรในธุรกิจอาหารก็ว่าได้ค่ะ แต่แน่นอนว่ามีข้อดี ก็ย่อมมีข้อเสีย ถ้าหากลองติดตามกลุ่มเจ้าของร้านอาหารขนาดเล็ก ก็จะพบว่าหลายรายมีปัญหากับการเข้าร่วมให้บริการเดลิเวอรี่ ซึ่งส่งผลต่อการบริหารจัดการร้านอาหารอยู่ไม่น้อย วันนี้ Amarin Academy รวม 5 ปัญหาที่ต้องเจอ เมื่อร้านของคุณเข้าสู่ระบบ เดลิเวอรี่ และร้านอาหารต้องเตรียมรับมืออย่างไร
5 ปัญหา เมื่อนำร้านเข้าสู่ระบบ เดลิเวอรี่
1. ระบบการทำบัญชี
ระบบบัญชี การเงิน และกระแสเงินสดมีความสำคัญกับธุรกิจร้านอาหารมาก ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้น เมื่อนำร้านเข้าระบบ เดลิเวอรี่ ก็คือ การรายงานยอดขายที่ไม่ตรงกันระหว่างหน้าร้านและผู้ให้บริการ กำหนดและระบบการวางบิล การจ่ายเงินค่าคอมมิชชั่นที่ไม่สอดคล้อง ซึ่งถ้าหากต้องมีการจัดการแก้ไขทุกเดือนก็จะทำให้เสียเวลาในการบริหารจัดการอยู่ไม่น้อย
เพราะฉะนั้นก่อนการตกลงทำสัญญาเป็นพันธมิตรร่วมกับผู้ให้บริการรายใด ร้านอาหารจำเป็นต้องศึกษาระบบด้านการเงิน การบัญชี เพื่อเลือกผู้ให้บริการที่สอดคล้องกับระบบร้านของตัวเอง หรือเตรียมความพร้อมด้านระบบบัญชีหลังบ้าน เพื่อลดปัญหาในการดำเนินการให้มากที่สุด และควรคำนึงถึงการจัดการด้านภาษีจากรายได้ส่วนนี้ด้วย
2. รสชาติ และคุณภาพอาหารลดลง
เมื่อนำร้านเข้าระบบเดลิเวอรี่ อีกหนึ่งปัญหาที่อาจต้องเจอ ก็คือ รสชาติและคุณภาพอาหารที่ลดลง บางร้านถึงขั้นแย่เลยทีเดียว ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาในการจัดส่ง หรือการบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ดีพอ ตัวอย่างเช่น กรณี ลูกค้าต้องการขอเงินค่าอาหารที่สั่งผ่านเดลิเวอรี่คืน เนื่องจากพบว่ารสชาติอาหารแย่มาก ซึ่งร้านก็ได้ยืนยันว่าทำตามมาตรฐานที่กำหนด และชิมอาหารทุกครั้งก่อนจัดส่งแล้วก็ตาม สุดท้ายแล้วร้านก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ เพื่อรักษาลูกค้าเอาไว้ด้วยการยินดีคืนเงิน หากพิจารณาแล้ว กรณีนี้มีความเป็นไปได้ทั้งสองแบบ หนึ่งคือ ลูกค้าตั้งใจไม่จ่ายตั้งแต่แรก สองคือ ระยะเวลาการจัดส่งที่นานส่งผลต่อรสชาติของอาหารจริง ๆ ความเป็นไปได้ในกรณีแรกนั้นเป็นสิ่งที่ร้านคุณควบคุมลำบากเพราะเป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ แต่การหาวิธีในการรักษามาตรฐานของรสชาติอาหารไว้ เป็นสิ่งที่ร้านควรต้องทำ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับลูกค้ารายอื่น ๆ
3. ปัญหาจากราคาที่ไม่ตรงกัน
ผู้ให้บริการจัดส่งโดยส่วนใหญ่ จะคิดค่าจัดส่งเป็นค่าคอมมิชชั่นจากราคาอาหารโดยเฉลี่ย 15-30 เปอร์เซ็นต์ ตามข้อตกลงแต่ละร้าน ทำให้ร้านเล็ก ๆ ที่มีกำไรต่อเมนูไม่มากนัก จำเป็นต้องคิดราคาค่าอาหารเพิ่มจากเดิม หากบางร้านมีผู้ให้บริการจัดส่งหลายราย ก็ทำให้มีราคาที่แตกต่างกันมากเกินไปในมุมผู้บริโภค ซึ่งมองในแง่การแข่งขันทางการตลาด ลูกค้ามีสิทธิ์เลือกสั่งกับช่องทางที่เขาพึงพอใจมากที่สุดอยู่แล้ว แต่ถ้าหากมองในการบริหารจัดการร้านอาหาร ก็อาจกระทบต่อการจัดการด้านกำไรต้นทุน การบริหารจัดการความพึงพอใจของลูกค้าหน้าร้าน และประสบการณ์ที่ลูกค้ามีต่อร้านอาหารในด้านลบ
4. การจัดการคิวหน้าร้าน
ออเดอร์ที่เพิ่มมากขึ้นจากหลาย ๆ ทาง ทำให้หน้าร้านมีคิวแน่น และอาจเกิดปัญหาในการลำดับคิวก่อนหลัง ทำให้ลูกค้าหน้าร้านต้องรอนาน หรือการที่ลูกค้าบางรายเห็นผู้ให้บริการเดลิเวอรี่เยอะ ๆ มารอบริเวณหน้าร้าน ก็อาจตัดสินใจไม่เข้าร้านเลยก็เป็นได้ ส่งผลให้ร้านเสียลูกค้าไป ดังนั้น กรณีเช่นนี้ร้านที่มีลูกค้าจำนวนมาก จึงมักเซตระบบโดยการเปิดอีกช่องทางเพื่อรับออเดอร์เดลิเวอรี่โดยเฉพาะ แยกออกจากลูกค้าหน้าร้าน เพื่อแก้ปัญหาในจุดนี้
5. ต้นทุนแฝง
ปัญหาการจัดการที่ไม่ดีพอ ทำให้ร้านเกิดต้นทุนแฝงที่เพิ่มขึ้น คือ ค่าใช้จ่ายที่ร้านไม่ได้ประมาณการณ์ไว้ ไม่ว่าจะเป็น การจัดซื้อวัตถุดิบ การจัดการเอกสารของพนักงาน ค่าเช่า และดูแลอุปกรณ์ในการสั่งผ่านแอปพลิเคชัน หรือค่าเช่าระบบ เพราะฉะนั้นควรวางแผนให้ครอบคลุมเพื่อลดต้นทุนแฝงที่จะเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านการทุ่มงบการตลาดที่ไม่สอดคล้อง เพราะส่วนใหญ่ผู้ให้บริการจะกำหนดเงื่อนไขในการจัดทำโปรโมชั่นร่วมกับร้านอาหารรายย่อย เช่น ลดราคาทุกรายการ 10 – 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าหากไม่วางแผนงานให้สอดคล้องกัน ก็อาจทำให้ร้านต้องเสียเงินลงทุนไม่คุ้มกับผลที่ได้รับ ในขณะเดียวกันแม้จะเข้าร่วมการให้บริการเดลิเวอรี่แล้ว แต่การไม่จัดทำโปรโมชั่นให้ลูกค้าสนใจในเมนูอาหารก็อาจทำให้ยอดขายไม่ดีพอ
อย่างไรก็ดีระบบ เดลิเวอรี่ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้ร้านประสบความสำเร็จในการเพิ่มยอดขายในปัจจุบัน แต่ช่องทางนี้จะถือเป็นโอกาส หรืออุปสรรคของเจ้าของร้านนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าร้านได้เซตอัพระบบ Opeartion ไว้อย่างดีหรือไม่
เพื่อให้ร้านของคุณเติบโตได้มากกว่าที่คิดกับหลักสูตรที่เข้มข้นที่สุดในรอบปี Operation Setup วางระบบร้านอาหารอย่างมืออาชีพ รุ่นที่ 4 ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากวิทยากร ที่การันตีความสำเร็จ จากประสบการณ์การบริหารธุกิจร้านอาหาร ทั้งในและต่างประเทศ กับ Blue Elephant International, YUM Brand LSG Sky Chef , Minor Food และ Wow Thai Food Holding ประเทศเนเธอร์แลนด์ คุณธามม์ ประวัติตรี วันอังคารที่ 29 และวันพุธที่ 30 ตุลาคม 2562 เวลา 09.00 -17.00 น.
สมัครเลยถ้าคุณไม่อยากพลาดหลักสูตรที่จะช่วยแก้ทุกปัญหาให้กับคุณ คลิก!!
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ
Bartercard ทางเลือกคนทำธุรกิจ ช่วยเพิ่มยอดขาย ค่าใช้จ่ายลด
วิธี คำนวณต้นทุนร้านอาหาร ที่เจ้าของร้านต้องรู้! by คุณ ธามม์ ประวัติตรี
FIFO เทคนิคการจัดเก็บวัตถุดิบร้านอาหาร ที่ช่วยลดต้นทุนได้
อย่าปล่อยให้ ระบบงานครัว ทำร้านเจ๊ง ถึงเวลาเจ้าของร้านต้องวางแผน
วิธีรับมือลูกค้า ที่มีปัญหา รับมืออย่างไรให้เจ๋ง พลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้
เปิดร้านของตัวเอง VS ซื้อแฟรนไชส์ แบบไหนดีกว่ากัน?