หน้าที่ของฟู้ดสไตลิสต์ ( Food Stylist ) คือ ตกแต่งอาหารให้สวยงาม ชวนรับประทาน ส่วนใหญ่มักทำงานร่วมกับเชฟ ในการแต่งจานเพื่อถ่ายภาพประชาสัมพันธ์ แน่นอนว่าหน้าตาอาหารที่สวยงามขึ้นจะทำให้สามารถเพิ่มราคาอาหารให้สูงขึ้นตามไปด้วย
ฟู้ดสไตลิสต์ ( Food Stylist )
อาชีพFood Stylist เป็นอาชีพที่ต้องอาศัยเรื่องของรสนิยม เพราะฉะนั้นการหยิบจับ ผสมผสานของใกล้ตัวมาจัดวางให้เกิดเป็นเอกลักษณ์ สร้างความแตกต่าง กระตุ้นให้คนเห็นอาหารแล้วอยากทานจึงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการเรียนรู้ ประสบการณ์ และจินตนาการ
ฟู้ดสไตลิสต์ที่ดี ควรจะรักในการทำอาหาร เข้าใจธรรมชาติของวัตถุดิบ และวิธีการปรุงที่แตกต่างกัน มีความคิดสร้างสรรค์ พิถีพิถันใส่ใจในรายละเอียด และรักการเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ต้องเป็นผู้ที่สามารถดึงจุดเด่น จิตวิญญาณ ดึงความเป็นตัวตนของอาหารออกมาให้เด่นชัด นำเสนอแก่คนที่ต้องการเสพสื่อจากเราให้ได้มากที่สุด ทำอย่างไรให้คนรู้สึกว่าเห็นอาหารแล้วอยากหยิบเข้าปาก ไม่ใช่ทำอาหารให้แค่ดูสวยเพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องน่าทานด้วย
“Food Stylist อาจไม่ใช่คนที่ทำอาหารเป็นหรือเก่ง
แต่ต้องมีความเข้าใจในเรื่องของอาหาร”
หลักจิตวิทยากับหน้าตาของอาหาร
การจัดวางอาหารมีผลต่อความอยากรับประทานไม่น้อย
ในยุคที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาท ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนหันมาสนใจการถ่ายภาพมากขึ้น แม้แต่ตัวนักเขียนเองยังชื่นชอบการถ่ายภาพรีวิวอาหาร เพราะอาหารคือปัจจัย 4 เป็นเรื่องที่ทุกคนทุกระดับเข้าถึงได้ง่าย อีกทั้งภาพอาหารยังเป็นวิธีที่ผู้คนใช้บอกเล่าคนอื่นๆ ว่ากำลังทำอะไรอยู่ โดยการโพสต์ภาพเมนูจานเด็ดผ่านโซเชียล ถือได้ว่าเป็นการเผยแพร่เรื่องราวในชีวิตประจำวันของตนเองสู่สาธารณะ เพราะภาพของอาหารที่ดูน่ารับประทาน การจัดตกแต่งที่สวยงามเหล่านั้นสามารถสร้างภาพลักษณ์ให้คนอื่น ๆ มองเราในเชิงบวกได้ และอีกแง่ก็คือหน้าตาของอาหารค่อนข้างมีผลต่อการสั่งอาหารมาก ๆ เช่นกัน เพราะถ้าหากอาหารดูน่ารับประทาน มีสีสันที่สดใสสวยงาม ก็จะทำให้คนเลือกที่จะสั่งอาหารจานนั้น เลือกไปทานที่ร้านอาหารนั้น และที่สำคัญคือเวลาที่เราสั่งอาหารมาทาน เราไม่ได้หวังแค่ว่าจะทานให้เสร็จๆ ไป เราจะคำนึงถึงสัมผัสทั้ง 5 ด้วยนั่นก็คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
หลักการจัดอาหารให้ดูน่ารับประทาน
การจัดวางที่ดีทำให้ภาพที่ออกมา และหน้าตาอาหารดูน่าทานมากขึ้น
- สร้างโครงร่าง โดยเริ่มต้นจากการวาดรูป วาดโครงคร่าวๆให้เห็นภาพจานอาหาร เลือกหยิบส่วนผสมที่ต้องการวางลงไปบนจาน และใช้พื้นที่ว่างให้เป็นประโยชน์ เพื่อทำให้การตกแต่งอาหารดูเรียบง่าย
- สร้างสมดุลบนจาน เล่นสี รูปทรงและเนื้อพื้นผิว เพื่อให้มั่นใจว่าคนที่รับประทาน จะไม่รู้สึกว่าเยอะเกินไป และการจัดตกแต่งอาหาร ไม่ควรกลบรสชาติและประโยชน์ของอาหารนั้นด้วย
- สัดส่วน ปริมาณส่วนผสมที่ถูกต้อง และใช้ตัวจานช่วยเติมเต็มให้อาหารดูสมบูรณ์ โดยมีขนาดไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป ใช้สัดส่วนโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และผักที่ถูกต้อง เพื่อสร้างสรรค์อาหารที่ได้คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน
- เน้นส่วนผสมหลัก จัดจานโดยเน้นส่วนผสมหลักให้มีความโดดเด่นออกมา และให้ความสำคัญกับวัตถุดิบรองอื่น ๆ อย่างเท่าเทียมกัน เช่น ของตกแต่งจาน ซอส และแม้กระทั่งตัวจานเองด้วย
- จัดวางแบบคลาสสิก เทคนิคการจัดวางแบบคลาสสิกจะใช้อาหารพื้นฐาน 3 อย่าง คือแป้ง ผัก และอาหารหลัก ในการจัดวางที่เฉพาะเจาะจง แนวทางง่าย ๆ ในการจัดจานแบบคลาสสิกคือคิดว่าจานอาหารเป็นหน้าปัดนาฬิกา
เทรนด์การสร้างสรรค์อาหารตาที่จะเข้าไปเป็นหนึ่งในใจ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันคนเสพเรื่องของคอนเทนต์มากขึ้น เสพเรื่องของความแปลกใหม่ ความแตกต่าง เรื่องของประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ความสนุกสนาน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องราวและหน้าที่ของFood Stylist ที่ต้องนำเสนอเรื่องราวเหล่านั้นออกมาให้อาหารน่าสนใจมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น หากคุณเป็นผู้ประกอบร้านอาหารหรือเพียงแค่มีใจรักในเรื่องอาหาร การเริ่มต้นฝึกฝนอาจทำให้คุณกลายเป็นFood Stylist ที่สร้างสรรค์อาหารตาเข้าไปเป็นหนึ่งในใจของลูกค้าได้