ผักคะน้าคละ หรือ ผักคะน้าคัด ?
เตรียมวัตถุดิบอย่างไรให้ได้จานเด็ดมัดใจลูกค้า
( SOP การเตรียมวัตถุดิบ + Portion Control = Perfect Dish )
ก่อนจะได้อาหารเลิศรสสักหนึ่งจานต้องผ่านกระบวนการต่างๆ มากมาย เริ่มตั้งแต่การซื้อวัตถุดิบ และหากว่าร้านอาหารของคุณต้องใช้ผักคะน้าจำนวนมาก แล้วคุณกำลังหาซื้ออยู่ที่ตลาดไท คุณจะเลือกผักคะน้าคละ หรือผักคะน้าคัดดีล่ะ ?
สมมติว่าราคาผักคะน้าคละ ในตลาดไท ราคากิโลกรัมละ 23 บาท ก่อนจะนำมาปรุงได้ ต้องตัดใบแก่ ใบเหี่ยว ใบเหลืองทิ้ง ไป และตัดส่วนลำต้นที่แข็งออก คุณอาจจะเหลือผักคะน้าที่ใช้จริงแค่เพียง 7 ขีดเท่านั้น เท่ากับว่าต้นทุนจะไม่ใช่ 23 บาทต่อ 1 กิโลกรัมอีกต่อไป แต่จะเป็น 33 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม
นอกจากนี้คุณยังต้องเสียเวลาไปกับการคัดแยกเอาผักคะน้าสวยๆ ออกจากกองที่คละกันอยู่อีกต่างหาก ทำให้ต้องเสียคนไปด้วยหนึ่งคนกับกระบวนการนี้ และอย่าลืมว่าวัตถุดิบ คน และเวลา ก็คือต้นทุนที่สำคัญทั้งสิ้น
แต่หากว่าคุณซื้อผักคะน้าคัดแล้ว ซึ่งตามท้องตลาดขายกันในราคา 30 บาทต่อ 1 กิโลกรัม และคุณสามารถใช้งานเกือบทั้งหมด อาจจะมีส่วนที่เหลือทิ้งเพียง 1 ขีด ซึ่งราคาที่คำนวณแล้วก็อาจจะขยับเป็น 33 บาทต่อ 1 กิโลกรัม เท่าๆ กับผักคะน้าคละ แต่แน่นอนว่าประหยัดคนและเวลามากกว่า แถมยังสามารถทำกระบวนต่อไปในการจัดเตรียมวัตถุดิบตาม SOP ได้เลย
แล้ว SOP ในการเตรียมวัตถุดิบคืออะไรล่ะ ? SOP ก็คือเอกสารที่ต้องเขียนขึ้นเพื่อแนะนำวิธีเตรียมวัตถุดิบนั่นเอง เพื่อให้เกิดความถูกต้องและมีทิศทางเดียวกันทั้งหมดนั่นเอง แถมยังทำให้ลดความผิดพลาดในการทำงานได้อีกด้วย
สำหรับขั้นตอนใน SOP เพื่อเตรียมผักคะน้าจะบอกว่า (1) ล้างผักคะน้าให้สะอาด และแช่น้ำยาล้างผักเป็นเวลา 10 นาที (2) ตัดใบแก่ ใบเหลือง ใบเหี่ยว และลำต้นที่แข็งทิ้ง (3) หั่นก้านคะน้า โดยหั่นเฉียงเป็นชิ้นเท่าๆ กัน (4) หั่นใบ โดยผ่ากลางออกเป็นสองส่วน แล้วตัดใบเป็นขนาดพอดี (5) จัดใส่ถุงพลาสติกในปริมาณ 200 กรัม (6) แพ็คลงในกล่องพลาสติกและปิดฝาให้มิดชิด (7) เขียนวันและเวลาที่ผลิต และวัน เวลาหมดอายุ (2 วัน) ที่ข้างกล่อง ก่อนแช่ในตู้เย็นอุณหภูมิประมาณ 7-10 องศา
นั่นคือตัวอย่างของ SOP การเตรียมวัตถุดิบอย่างผักคะน้าก่อนจะนำมาปรุงอาหารนั่นเอง แต่ถ้าสังเกตให้ดียังมีอีกหนึ่งอย่างที่สำคัญมากซ่อนอยู่ในนั้น นั่นคือ Portion Control หรือการควบคุมน้ำหนักของแต่ละจานให้เท่ากัน โดยผัดคะน้าหมูกรอบ กับข้าวยอดฮิตของทุกจานในร้านคุณจะมีผักคะน้า 200 กรัมเท่ากันอย่างแน่นอน
เห็นหรือยังว่าก่อนธุรกิจร้านอาหารจะประสบความสำเร็จ และมีมาตรฐานเป็นของตัวเองได้ ต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกซื้อวัตถุดิบ คำนวณต้นทุนที่เสียไป อีกทั้งยังต้องควบคุมแต่ละขั้นตอนและปริมาณวัตถุดิบอย่างละเอียด เพราะทุกสิ่งคือความใส่ใจที่สามารถทำได้เสมอในฐานะเจ้าของธุรกิจที่ดี เพราะฉะนั้นอย่ามองข้ามแม้แต่การจัดเตรียมวัตถุดิบเป็นอันขาด
ผักคะน้าคละ หรือ ผักคะน้าคัด