หลักการ บริหารร้านอาหารกับหุ้นส่วน
ทุกวันนี้มีคนสนใจหันมาลงทุนทำร้านอาหารมากขึ้น ซึ่งหลายคนเลือกเปิดร้านอาหารร่วมกับคนรู้จักหรือเพื่อนๆ จะได้ร่วมกันคิด ตัดสินใจ และกระจายความเสี่ยงในการทำธุรกิจ แต่การจะเริ่มทำธุรกิจร้านอาหารกับใครนั้น ควรมีหลักการบริหารที่ชัดเจน ไม่อย่างนั้นอาจเกิดปัญหาตามมาได้ วันนี้เราจึงมีหลักการ บริหารร้านอาหารกับหุ้นส่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหามาฝาก
1.คุยให้เคลียร์ ก่อนลงมือทำ
สาเหตุหลักที่เจ้าของร้านอาหารส่วนใหญ่มีปัญหากับหุ้นส่วนนั้น มักมาจากเรื่อง “การสื่อสาร” ไม่ว่าจะเป็นลงมือทำโดยไม่บอก หรือสื่อสารกันไม่เข้าใจ คนนึงเข้าใจว่าจะทำอย่างนี้ แต่อีกคนเข้าใจว่าอย่างนั้น ทำให้เกิดปัญหาตามมา
ฉะนั้นก่อนจะลงมือทำสิ่งใดก็ตามคุณควรต้องพูดคุย ปรึกษากันเสมอ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ (บางร้านแค่เรื่องการเลือกซื้อถ้วย ชาม ก็ทำให้หุ้นส่วนมีปัญหากันมาแล้ว) และเมื่อคุยกันแล้วก็ควรมีการสรุปประเด็นที่คุยให้เคลียร์ทุกครั้ง เพื่อป้องกันปัญหาด้านการสื่อสารผิดพลาด
2.แบ่งหน้าที่ให้ชัดเจน
อีกข้อที่ควรทำก่อนจะร่วมมือ (และลงเงิน) ทำร้านอาหารคือ ต้องแบ่งหน้าที่กันให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการทำงานที่ทับซ้อน ก้าวก่ายหน้าที่ซึ่งกันและกัน หรือปัญหาที่ว่า งานนี้ไม่มีใครเป็นผู้รับผิดชอบ ร้านอาหารที่ประสบความสำเร็จหลายๆ ร้าน มักใช้วิธีการแบ่งหน้าที่ตามความถนัด เช่น A ดูแลเรื่องการสร้างแบรนด์และการทำการตลาด B ดูแลเรื่องระบบภายในร้าน งานครัว C ดูแลเรื่องการเงิน เอกสารและงานบุคคล เป็นต้น การทำเช่นนี้นอกจากป้องกันปัญหาที่กล่าวไปข้างต้นได้แล้ว ยังทำให้พนักงานภายในร้านไม่สับสน เพราะหากไม่แบ่งหน้าที่ให้ชัด เจ้าของร้านคนนั้นเดินมาสั่งที อีกคนเดินมาสั่งที พนักงานก็ไม่รู้จะทำตามคนไหนกันแน่
3.มีปัญหาต้องรีบเคลียร์
ไม่มีธุรกิจไหนที่ไม่เจอปัญหา ร้านอาหารก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องระบบงาน การบริการ พนักงาน คุณภาพอาหาร การจัดการวัตถุดิบ หรือแม้กระทั่งปัญหาระหว่างหุ้นส่วนด้วยกันเอง ที่อาจมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน เจ้าของธุรกิจควรจำไว้เสมอว่า เมื่อคุณเจอปัญหา ไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ คุณต้องรีบแก้ไขโดยเร็วที่สุด ยิ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับหุ้นส่วนด้วยแล้ว ยิ่งต้องรีบเคลียร์ เพราะถ้ามัวเกรงใจกัน คิดว่าเป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ มองข้ามไปดีกว่า ปัญหาเหล่านั้นอาจลุกลามจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้
4.รายงานการทำงานอย่างสม่ำเสมอ
การบอกให้หุ้นส่วนรู้ว่างานในส่วนของเราดำเนินไปถึงไหนแล้วเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม (หลายๆ ธุรกิจมีปัญหากันเพราะเรื่องนี้แหละ) เพราะเมื่อแบ่งหน้าที่กันชัดเจน ต่างฝ่ายต่างลงมือทำงานกัน อาจจะไม่มีเวลามานั่งดูว่า งานของอีกคนไปถึงไหนบ้าง ติดขัดอะไรหรือเปล่า หรือเป็นไปตามแผนที่วางไว้ไหม สุดท้ายเมื่อผลงานไม่ได้ตามที่ตกลงกันไว้ (อาจเพราะเงื่อนไขต่างๆ) หุ้นส่วนอีกคนอาจไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น จนทำให้เกิดความขัดแย้งตามมาได้
5.เรื่องเงินต้องชัดเจน
เงินทองไม่เข้าใครออกใคร ไม่ว่าสนิทกันแค่ไหนก็ต้องคุยเรื่องเงินให้ชัดเจนว่าจะกำหนดสัดส่วนการลงทุนแต่ละส่วนเท่าไร และเมื่อธุรกิจมีผลกำไรจะแบ่งผลกำไรนั้นอย่างไร เพราะหากไม่มีการคุยกันเรื่องนี้ให้เรียบร้อยตั้งแต่ต้น ย่อมส่งผลเสียตามมาแน่นอน จนอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของคุณ “ไม่ได้ไปต่อ” ก็ได้
6.งานส่วนงาน เพื่อนส่วนเพื่อน
ส่วนใหญ่คนที่ทำธุรกิจร่วมกัน มักเป็นเพื่อนกันมาก่อน ข้อดีคือไม่ต้องปรับจูนทัศนคติ ความคิดกันมากนัก เพราะสนิทสนม รู้จักและรู้ใจกันอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ผู้ประกอบการหลายคนมักไม่แบ่งแยกความสัมพันธ์ระหว่าง “เพื่อน” กับ “เพื่อนร่วมงาน” เช่น เวลานัดประชุม ไม่รักษาเวลา เพราะคิดว่าเพื่อนรอได้ หรือใช้อารมณ์ในการทำงานมากกว่าเหตุผล ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์นี้ครั้งสองครั้งอาจไม่มีปัญหา แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ จากเพื่อนรักที่หวังจะร่วมสร้างธุรกิจด้วยกัน อาจกลายเป็นคนไม่รู้จัก มองหน้ากันไม่ติดก็มี ฉะนั้นเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว ต้องแบ่งแยกให้ชัดเจน
นี่คือหลักการเบื้องต้นในการทำธุรกิจร่วมกับหุ้นส่วน หลายคนอ่านแล้วอาจกังวลว่าทำไมปัญหามันเยอะเหลือเกิน จนคิดว่าอย่างนั้นลงทุนเองดีว่า แต่จริงๆ แล้ว ถ้าคุณมีการวางแผนที่ดี คุยและเคลียร์ให้ชัดตั้งแต่ต้น ก็ไม่ต้องกลัวปัญหาเหล่านี้เลย