บริหารเงินในธุรกิจ ทำไมต้องแยกเงินธุรกิจกับเงินส่วนตัว? - Amarin Academy

บริหารเงินในธุรกิจ ทำไมต้องแยกเงินธุรกิจกับเงินส่วนตัว?

บริหารเงินในธุรกิจ ทำไมต้องลำบากแยกเงินธุรกิจกับเงินส่วนตัว?

ผมมีโอกาสคุยกับนักธุรกิจหลายคน เชื่อไหมว่าสารพัดปัญหาที่ SMEs ส่วนใหญ่เจอ เกิดจากการ บริหารเงินในธุรกิจ ไม่มีประสิทธิภาพ สาเหตุสำคัญคือ ไม่แยกเงินส่วนตัวและเงินของธุรกิจ ให้ชัดเจน

หลายคนอาจคิดว่า เป็นเรื่องยุ่งยาก เป็นเรื่องเล็กน้อย เงินธุรกิจก็เหมือนเป็นเงินของเรา ใช้รวมๆ กันก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร

แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ นี่แหละครับ ที่ทำให้เกิดหลายปัญหาตามมา

  1. ขาดทุนแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

“ร้านสลัดของผมขายดีมากๆ แต่สุดท้ายรู้ตัวอีกทีก็เกือบจะเจ๊งแล้วครับ”

เป็นคำพูดของคุณกล้อง อาริยะ คำภิโล ผู้ปลุกปั้นโจนส์สลัด ร้านสลัดเพื่อสุขภาพที่โด่งดัง คุณกล้องเล่าให้ผมฟังว่า ช่วงที่เปิดสาขาแรกใหม่ๆ เขาเคยใช้โปรโมชั่น จัดหนัก จัดเต็มให้คนมาจับฉลากลูกปิงปอง ถ้าโชคดีก็จะได้กินฟรี

เป็นอีกกลยุทธ์ที่ทำให้คนมาเข้าแถวซื้อสลัดยาวเหยียดทุกวัน ดูเหมือนกลยุทธ์นี้จะไปได้สวย แต่จริงๆ แล้วมีปัญหาใหญ่ซ่อนอยู่ เพราะคุณกล้องไม่ได้แยกกระเป๋าเงินให้ดี ไม่ได้จดบัญชีให้เป็นกิจจะลักษณะ ทำให้ไม่เห็นปัญหาว่า โปรโมชั่นนี้ทำให้ร้านขาดทุน เพราะมีเงินส่วนตัวมาโปะไว้

กรณีนี้ยังดีที่คุณกล้อง รู้ตัวเร็ว เริ่มเอะใจตรงที่รู้สึกเหนื่อยแทบตาย และขายดีมากๆ แต่ทำไมถึงไม่มีเงินเหลือ ทำให้แก้ไข ทำบัญชี และปรับกลยุทธ์ได้ทัน ทำให้ยอดขายยังดีและร้านก็กลับมามีกำไรอย่างงดงาม

2. กำไรดี แต่อยู่ไม่รอด

“ร้านส้มตำของพี่ขายดีนะ แต่ไม่ค่อยมีเงินเหลือ” ผมว่าเป็นปัญหาสุดคลาสสิคที่หลายคนเจอกันบ่อยๆ

กรณีนี้เกิดขึ้นกับรุ่นพี่ผมเองครับ เขาเปิดร้านส้มตำที่ขายดีมากๆ ซึ่งเป็นกรณีตรงกันข้ามกับข้อแรก เพราะกรณีนี้ ร้านขายได้กำไรนะครับ แต่เราเองต่างหาก ที่ดึงเงินของร้านมาใช้แบบไม่รู้ตัว

รุ่นพี่เล่าให้ฟังต่อว่า เขาให้เงินเดือนลูกน้องทุกคน “แต่พี่ไม่ได้ให้เงินเดือนตัวเองนะ เพราะพี่เป็นเจ้าของอยู่แล้ว”ด้วยจิตวิญญาณของการเป็นที่ปรึกษาการเงิน ผมถามทันทีครับว่า แล้วพี่แบ่งกำไรจากธุรกิจอย่างไร

“พี่ก็เอาเงินในลิ้นชักเนี่ยละ เอาไปซื้อผัก ซื้อเนื้อ แล้วก็ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ร้านมีกำไรเหลือหนิ” รุ่นพี่ผมตอบอย่างภาคภูมิใจ

นี่แหละครับ คือต้นตอของปัญหาที่ทำให้รุ่นพี่ไม่มีเงินเหลือ จิตวิทยาของคนทั่วไป ถ้าเรารู้เงินเดือนของตัวเองชัดเจน เช่น 10,000 บาท เราก็จะมีการจำกัดการใช้เงินอัตโนมัติ (เพราะเรารู้แล้ว ว่าเรามีเงินเท่าไร)

แต่ถ้าเราไม่รู้งบประมาณ และไม่แยกจากเงินของบริษัท ก็หยิบเงินออกจากลิ้นชักเพลินเลย นั่นหมายความว่าเรากำลังเอาเงินที่เป็นกำไรบางส่วนของการทำธุรกิจมาใช้ส่วนตัว แบบที่เราไม่รู้ตัว สุดท้ายก็ต้องมานั่งสงสัยว่า ขายดี๊ดี แต่ทำไมเงินไม่เหลือ

  1. ไม่สามารถประเมินเงินสำรองได้

พี่เซ็ธ คุณเศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์ กูรูผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและแฟรนไชส์ เคยให้ข้อคิดไว้ว่า เจ้าของกิจการส่วนใหญ่ที่เริ่มต้นทำธุรกิจมักจะมองโลกสวย คิดว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามที่เราอยากให้เป็น แต่อาจลืมไปว่า โลกแห่งความเป็นจริงอาจจะโหดร้ายกว่าที่เราคิด

ถึงแม้เราจะไม่เจอกรณีแบบ 2 ข้อแรก สามารถประคับประคองร้านมาได้ แต่เพราะไม่ได้แยกเงินชัดเจนนี่แหละ ทำให้ประเมินเงินสำรองที่ธุรกิจควรจะต้องมีไม่ได้

การทำธุรกิจมีความเสี่ยงหลายอย่าง เช่น กำลังซื้อของผู้บริโภคอาจจะลดลง ค่าแรงเพิ่มขึ้น เก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้ เป็นต้น และเชื่อไหมครับว่า เวลาที่เกิดความเสี่ยงก็มักจะมาพร้อมๆ กัน ดังนั้นถ้าเราไม่มีเงินสำรองไว้ยามฉุกเฉิน ธุรกิจเราก็อาจจะไปต่อไม่ได้

4.”กู้เงินจากสถาบันทางการเงินยาก”

เงินทุนหมุนเวียนคือ เส้นเลือดของธุรกิจ ที่ใช้ตัดสินว่าธุรกิจจะอยู่รอดหรือไม่

แหล่งเงินทุนหมุนเวียนมาได้หลายทางครับ อาจเป็นเงินของตัวเอง ของครอบครัว แต่ถ้าไม่พอก็คงจะต้องหันไปพึ่งการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน

ถ้าเราไม่แยกกระเป๋าเงิน ออกจากเงินของธุรกิจ ไม่มีรายรับ รายจ่ายของธุรกิจที่แท้จริง เมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินก็ยากละครับ เพราะธนาคารไม่สามารถประเมินความสามารถทางธุรกิจ สภาพคล่อง และตัวบ่งชี้อื่นๆ ได้ ทำให้สถาบันการเงินไม่มั่นใจว่า เรามีโอกาสที่จะคืนเงินให้เค้าได้หรือไม่

ทำให้เมื่อมีโอกาสเข้ามา แต่ไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนมาเพื่อขยายธุรกิจได้ เราก็อาจจะพลาดโอกาสสำคัญไปเลย

ข้อคิดที่อยากฝากไว้คือ การทำธุรกิจไม่ว่าขนาดเล็ก หรือใหญ่ ควรจะแยกกระเป๋าเงินชัดเจน ระหว่างเงินส่วนตัวและเงินบริษัท เพื่อป้องกันการสับสนและใช้เงินผิดประเภท

ย้ำอีกทีครับ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ นี่แหละครับ ที่อาจชี้เป็นชี้ตายธุรกิจของเราได้เลย

หากใครที่อยากจะเริ่มแล้วมืดแปดด้าน แนะนำในเริ่มง่ายๆ ก่อนเลย

  1. เปิดบัญชีธนาคารแยกกัน ระหว่างเงินที่ใช้กับธุรกิจและเงินส่วนตัว
  2. จดบันทึก รายรับ – รายจ่ายสำหรับเงินสดสำรองที่ใช้ในธุรกิจ เหตุผลคือเราจะสามารถมาดูย้อนหลังได้ว่า มีค่าใช้จ่ายส่วนตัวไปปนอยู่หรือไม่
  3. หากต้องการนำผลกำไรจากธุรกิจมาใช้ ให้จ่ายเงินเดือนให้ตัวเอง (ห้ามไปเปิดลิ้นชักของร้าน หยิบเงินมาใช้)

อันนี้เป็นขั้นตอนง่ายๆ ที่สามารถทำได้เลยสำหรับธุรกิจส่วนตัวเล็กๆ หากธุรกิจขยายขึ้นการจดทะเบียนนิติบุคคลก็จะช่วยให้แบ่งแยกระหว่างธุรกิจและส่วนตัวได้ชัดเจนยิ่งขึ้นครับ

ขอให้ทุกท่านโชคดีในการทำธุรกิจ ทำธุรกิจมีความสุขนะครับ

เรื่องแนะนำ

เทคนิค ลดต้นทุน เพิ่มกำไร

5 เทคนิค ลดต้นทุน เพิ่มกำไร แต่มาตรฐานเท่าเดิม!

ปัญหาส่วนใหญ่ที่ร้านอาหารมักเจอคือ แม้จะขายอาหารได้มาก แต่กำไรกลับน้อยจนน่าใจหาย วันนี้เราจึงมี เทคนิค ลดต้นทุน เพิ่มกำไร มาฝากครับ

ร้านอาหารขายดี

เช็กเลย! 5 สาเหตุหลัก ทำให้ ร้านอาหารขายดี เจ๊งไม่เป็นท่า

ความฝันของผู้ประกอบการร้านอาหารส่วนใหญ่คือ เปิดร้านอาหาร แล้วขายดี มีกำไร ถ้าร้านอาหารใดมีการวางแผนการเงินรอบคอบก็เดินไปถึงจุดนี้ได้

คำนวณเงิน ลงทุนร้านอาหาร

เปิดร้านอาหารจะคืนทุนกี่ปี วิธี คำนวณการลงทุนร้านอาหาร อย่างง่าย

เปิดร้านอาหาร ควรมีรายได้เท่าไรถึงจะคุ้มค่าการลงทุน ต้องเปิดร้านกี่ปี ถึงจะคืนทุนและมีกำไร โดยวิธี คำนวณเงิน ลงทุนร้านอาหาร จะแบ่งเป็นขั้นตอนดังนี้

การเงินในธุรกิจ

การเงินในธุรกิจ มีปัญหา ต้องจัดการอย่างไร?

เมื่อคุณทำธุรกิจได้สักระยะหนึ่งแล้วพบว่าระบบ การเงิน ในธุรกิจของคุณนั้นดันเกิดปัญหา ชักหน้าไม่ถึงหลัง ยอดรายจ่ายสูงกว่ารายรับ คุณสามารถจัดการระบบการเงินได้ด้วยตัวคุณเอง

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

ติดต่อแจ้งปัญหาหรือร้องเรียน
02-422-9999 ต่อ 4180
(จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น)
bdcx@amarin.co.th

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.