5 สิ่งที่ร้านอาหารต้องปรับ เมื่อเริ่มทำ Food delivery
ทุกวันนี้มีบริษัทรับขนส่งสินค้าและอาหารเกิดขึ้นมากมาย ทั้ง Lineman Lalamove food panda Uber eats ฯลฯ กลายเป็นโอกาสทองของธุรกิจร้านอาหาร ที่สามารถต่อยอดเป็นบริการ Food Delivery ส่งอาหารตรงถึงที่ให้ผู้บริโภค แต่ปัญหาสำคัญคือ ร้านอาหารหลายๆ ร้านไม่รู้จะเริ่มปรับจากจุดไหน เพื่อให้ไม่กระทบต่อยอดขายหน้าร้าน วันนี้เรามีเทคนิคดีๆ มาฝากครับ
1.ปรับระบบคิว
เมื่อช่องทางการขายเพิ่มขึ้นเป็น 2 ทาง ร้านอาหารส่วนใหญ่ก็มักปรับระบบคิว โดยแยกคิวเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนลูกค้าหน้าร้าน และส่วนลูกค้า Delivery และสลับกันรับออร์เดอร์ เพราะร้านอาหารส่วนใหญ่ที่ไม่แยกคิว มักประสบปัญหาคือ ลูกค้านั่งรอเต็มร้าน แต่เสิร์ฟไม่ได้ซักที เพราะมัวแต่ทำอาหารให้ลูกค้าที่สั่งซื้อกลับบ้าน ลูกค้าในร้านย่อมไม่พอใจ Turn over ก็ลดลง (เพราะลูกค้าต้องนั่งรออาหารในร้านนานขึ้น) ดังนั้นถ้าอยากเพิ่มบริการ Delivery ต้องปรับระบบคิวด้วย
2.ปรับระบบครัว
หลังจากปรับระบบคิวแล้ว ระบบครัวก็ต้องปรับ โดยต้องแยกให้เห็นชัดเจนว่า ออร์เดอร์ไหนเป็นของลูกค้าหน้าร้าน และออร์ไหนเป็นการสั่งกลับบ้าน เพราะไม่อย่างนั้นหากทำผิด นำอาหารใส่กล่อง แทนการใส่จาน ก็ยิ่งเสียเวลาและสิ้นเปลืองต้นทุนเข้าไปใหญ่ และหากมีลูกค้า Delivery มากจริงๆ ก็ควรแยกครัวกันทำงาน เพราะการเสิร์ฟในร้านกับการห่อกลับบ้าน มีรายละเอียดการทำงานต่างกัน ฉะนั้นเพื่อให้การทำงานราบรื่นขึ้น แยกฝ่ายกันทำน่าจะดีที่สุด
3.ปรับเทคโนโลยี
ร้านอาหารสามารถรับออร์เดอร์ Delivery ได้หลากหลายช่องทาง ทั้งจากสื่อกลางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Lineman Wongnai Uber eats ที่รับสั่งอาหารออนไลน์ หรือการรับออร์เดอร์โดยตรงจากลูกค้า จริงๆ แล้วทั้งสองช่องทางสามารถเพิ่มรายได้ที่ดีทั้งคู่ แต่การรับออร์เดอร์จากสื่อกลางจะมีระบบที่ชัดเจนและแม่นยำมากกว่า ไม่ต้องกลัวข้อผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นการจดออร์เดอร์ผิด หรือตกหล่น แถมร้านอาหารไม่ต้องเสียกำลังคนในการรับโทรศัพท์ จดรายการอาหารหรือต้องจัดหารถเพื่อส่งสินค้าอีกด้วย ดังนั้นการประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้ารับออร์เดอร์ผ่านสื่อกลางก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่า
4.ปรับหีบห่อ
หากอยากให้อาหารที่เราส่งถึงลูกค้าได้มาตรฐานเหมือนรับประทานที่ร้าน ก็ไม่ควรมองข้ามเรื่องหีบห่อ ร้านอาหารควรปรับปรุงให้เหมาะสมกับการขนส่ง เช่น เดิมอาจจะใส่กล่องโฟมหรือถุงพลาสติก ซึ่งกว่าที่อาหารของเราจะถึงมือลูกค้าอาจแตก บุบ รั่ว หรือหากคุณภาพของหับห่อไม่ดีพออาจทำให้คุณภาพอาหารลดลง ลูกค้าย่อมไม่ประทับใจแน่นอน ดังนั้นลองมองหาบรรจุภัณฑ์รูปแบบที่เหมาะสำหรับการบรรจุอาหารกลับบ้าน ซึ่งทุกวันนี้ก็มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ราคาไม่สูงนัก แต่ช่วยสร้างมาตรฐานให้ร้านอาหารได้ดีทีเดียว
5.ปรับการขนส่ง
ข้อสุดท้าย คือเรื่องการขนส่ง ร้านอาหารบ้างร้านอาจใช้การขนส่งโดยการเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นครั้งคราว หรือบางร้านที่มีลูกค้าสั่งอาหาร Delivery จำนวนมาก อาจจ้างพนักงานส่งอาหารโดยเฉพาะ ซึ่งการทำงานอาจไม่เป็นระบบเท่าที่ควร แถมยังเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบันมีธุรกิจบริการรับส่งอาหารมากมาย ซึ่งร้านอาหารสามารถติดต่อเพื่อใช้บริการได้โดยตรง ซึ่งอัตราค่าขนส่งนั้นก็ขึ้นอยู่กับระยะทางและการตกลงกันระหว่างธุรกิจ
ร้านอาหารไหนอยากเพิ่มบริการ Delivery อย่าลืมทำตามคำแนะนำเหล่านี้นะครับ หวังว่าจะช่วยให้ธุรกิจของเพื่อนๆ มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานมากขึ้น