ถอดบทเรียน Class Cafe แบรนด์กาแฟที่ "เกิด" จาก "สื่อออนไลน์" - Amarin Academy

ถอดบทเรียน Class Cafe แบรนด์กาแฟที่ “เกิด” จาก “สื่อออนไลน์”

ถอดบทเรียน Class Cafe แบรนด์กาแฟที่ “เกิด” จาก “สื่อออนไลน์”

หลายคนอ่านชื่อบทความแล้วอาจสงสัยว่า Class café คือแบรนด์อะไร ทำไมไม่เคยได้ยินชื่อ เพิ่งเปิดใหม่หรือ ? แต่ถ้าถามคนภาคอีสาน โดยเฉพาะชาวโคราช เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเป็นแบรนด์กาแฟที่เปิดมาแล้ว 4 ปี ปัจจุบันมีถึง 8 สาขา และทำตลาดในภาคอีสานโดยเฉพาะ วันนี้เราจะพาไปเจาะลึกความสำเร็จจาก คุณมารุต ชุ่มขุนทด CEO & Founder ของ Class café อดีตนักการตลาดจากองค์กรยักษ์ใหญ่ ที่ตัดสินใจทิ้งความมั่นคงในชีวิต ผันตัวมาเป็นเจ้าของร้านกาแฟ เขามีมุมมองการทำธุรกิจอย่างไร และมีเทคนิคการทำการตลาดเพื่อเอาชนะกาแฟแบรนด์ใหญ่ๆ อย่างไร ทราบว่าเขาทำการตลาดแนวใหม่ สร้างสรรค์รสชาติกาแฟตามคาแรคเตอร์ตัวละครในซีรีย์ฟอร์มยักษ์เสียด้วย บทความนี้จะมาเปิดเผยให้ทราบกัน

Highlight

  • สิ่งที่ต้องระวังคือ ตลาดภาคอีสานมีลักษณะเฉพาะ อะไรที่เข้าตลาดมาใหม่ๆ คนพื้นที่จะทดลองทันที ยอดขายเดือนแรกๆ จึงพุ่งขึ้นสูง แต่พอถึงจุดหนึ่ง ถ้าคุณไม่มีอะไรใหม่ๆ ให้เขาลองอีกแล้ว ยอดขายจะตกฮวบทันที โดยที่คุณไม่ทันตั้งตัวเลย จึงเป็นจุดท้าทายแบรนด์ว่า จะทำอย่างไรให้เขาไม่เบื่อ
  • ทฤษฎีการเกิดของแบรนด์ในยุคใหม่ ไม่จำเป็นต้องเกิดเฉพาะในเมืองหลวง ไม่ต้องสื่อขนาดใหญ่ ใช้แค่สื่อทางเลือก เผยแพร่ในกลุ่มจำกัดก็สร้างแบรนด์ได้ ตอนนี้เขานิยมใช้คำว่า Branding 4.0 กัน นี่แหละ คือสิ่งที่ผมทำเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
  • ถ้าเกิดปัญหา ผมเป็นคนตอบคำถามลูกค้าเอง เราต้องถอดหมวกความเป็นเจ้าของร้านออก ห้ามมีอีโก้เด็ดขาด เขาตำหนิ เราก็ต้องขอโทษ วันรุ่งขึ้นเราปรับปรุงทันที พอเขาเห็นว่าคำพูดตัวเองมีความหมายเขาก็รู้สึกดีที่มีส่วนร่วมในการสร้างแบรนด์ด้วย

เมื่อ “นักการตลาด” จากองค์กรยักษ์ใหญ่ ผันตัวมาเปิดร้านกาแฟ

ก่อนหน้านี้ผมทำงานในสายการตลาด อยู่ในบริษัทใหญ่ๆ มาตลอด เราประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังไม่มาก จึงกลับมาทบทวนตัวเองว่า ถ้าไปต่อ ความกดดันต้องมากแน่ๆ อย่างนั้นมาเปิดธุรกิจเองดีไหม เราเคยช่วยแม่ขายของมาตั้งแต่เด็กๆ ไม่ได้ติดภาพว่าต้องเป็นพนักงานออฟฟิศอยู่แล้ว จึงตัดสินใจเปิด Class Cafe สาขาแรกที่ตัวเมืองโคราช เช่าตึกแถวแค่ 2 ห้อง ตอนนั้นผมไม่ได้คิดจะเปิดแค่ร้านเล็กๆ แต่ตั้งใจวางโครงสร้างให้ดีเพื่อสร้างแบรนด์เลย เพียงแต่เราเริ่มจากร้านเล็กๆ ก่อน

ผมตีโจทย์ใหม่ว่า กาแฟไม่จำเป็นต้อง Slow life แต่เป็นเครื่องดื่มให้พลังงาน ให้ความสดชื่นและเร่งด่วนได้ จึงวางตัวเองว่าเป็นเครื่องดื่มแบบ Daily คือดื่มได้ทุกวัน ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายจึงต้องเป็นคนในพื้นที่ ไม่ใช่นักท่องเที่ยว และเมื่อต้องดื่มทุกวัน ราคาต้องไม่สูง ถ้าขายอาหาร ต้องกินง่ายๆ อย่างแซนวิช ครัวซ็อง ขนมปัง ทำเลต้องเข้าถึงง่ายมาก มีที่จอดรถ ลงมาซื้อปุ๊บไปได้เลย ฉะนั้นทุกสาขาต้องอยู่ริมถนน

ถัดมาก็วางการตกแต่งร้านว่า อยากถ่ายทอดวัฒนธรรมโคราชให้ดูเท่ มองไปถึงแบรนด์ใหญ่ๆ ที่นำผ้าขาวม้ามาออกแบบให้ดูมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เราเลือกใช้สีเทาเข้มเป็นสีหลัก แสดงถึงความมุ่งมั่น จริงจังในการทำงาน ส่วนการบริการ เรานำกลิ่นอายของการบริการแบบญี่ปุ่นมาใช้ เวลาลูกค้าเปิดประตูเข้ามาจะได้ยินเสียงสวัสดี ทักทายก่อน ถ้าพนักงานทำของตก ก็บอกขอโทษ เสียงดังฟังชัด

โคราชมีทั้ง “โอกาส” และ “อุปสรรค”

สาเหตุที่เลือกโคราช เพราะที่นี่เป็นบ้านเกิดของผม และผมเห็นว่าตลาดมีศักยภาพ คนมีกำลังซื้อ การแข่งขันน้อยกว่ากรุงเทพฯ มาก กรุงเทพฯ เป็นเหมือนทะเลกว้างๆ โยนอะไรไปหายหมด แต่ที่นี่เราควบคุมได้ ขณะเดียวกันค่าเช่าที่ก็ถูกกว่าค่อนข้างมาก

แต่อุปสรรคก็มีเช่นกัน โดยสิ่งที่ต้องระวังคือ ตลาดภาคอีสานมีลักษณะเฉพาะ อะไรที่เข้าตลาดมาใหม่ๆ คนพื้นที่จะทดลองทันที ยอดขายเดือนแรกๆ จึงพุ่งขึ้นสูง แต่พอถึงจุดหนึ่ง ถ้าคุณไม่มีอะไรใหม่ๆ ให้เขาลองอีกแล้ว ยอดขายจะตกฮวบทันที โดยที่คุณไม่ทันตั้งตัวเลย จึงเป็นจุดท้าทายแบรนด์ว่า จะทำอย่างไรให้เขาไม่เบื่อ ฉะนั้น 4 ปีที่ผ่านมาเราจึงพยายามทำการตลาดใหม่ๆ ตลอด มีโปรโมชั่นทุกเดือน ไม่เคยเว้นเลย

สร้าง “วัฒนธรรมการดื่มกาแฟ” แบบใหม่ให้ชาวโคราช

เราเป็นแบรนด์เล็กๆ จะไปแข่งกับแบรนด์ใหญ่ๆ ก็ยากมาก ฉะนั้นเราต้องทำตัวเองให้แตกต่าง จึงคิดว่าอยากจะสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ ให้ชาวโคราช ผมคิดไปถึงบรรยากาศที่นิวยอร์ก คนซื้อกาแฟแล้วถือเดินเข้าออฟฟิศเท่ๆ อยากเห็นบรรยากาศแบบนั้น เลยเปลี่ยนเวลาการเปิดร้านใหม่ จากเดิมเราเปิด 9 โมง ก็เปลี่ยนเป็นเปิด 7 โมงเช้า สร้าง Demand ใหม่ โดยการทำโปรโมชั่น ซื้อกาแฟช่วงเช้าลด 25%

วิธีนี้ประสบความสำเร็จมาก โดยพบว่ายอดขายช่วงเช้าคิดเป็น 50% ของยอดขายทั้งวัน กลายเป็นตลาดใหม่ที่เราสร้างขึ้นมาได้

แต่สิ่งที่ท้าทายคือ เราจะทำอย่างไรให้เขายอมจ่ายเงินซื้อกาแฟเราทุกวัน รสชาติไม่ต้องพูดถึง เป็นมาตรฐานที่เราต้องทำให้ได้อยู่แล้ว ส่วนการตั้งราคาหลักร้อยถือว่ายากมาก เราจึงต้องบีบราคาลงเหลือประมาณ 70 บาท ราคานี้ก็ถือว่าสูงแล้วนะ ถ้าแบรนด์ใหญ่ๆ ลดราคา หรือทำโปรซื้อ 1 แถม 1 เราก็แข่งยากเลย ฉะนั้นจึงต้องหันมาที่การสร้างแบรนด์

ผมพยายามทำให้เขาเข้ามาใช้ชีวิตกับเรามากขึ้น เราจึงต้องมีพื้นที่กว้าง และอำนวยความสะดวกทุกอย่าง มีปลั๊ก มี Wi-fi ทุกเครือข่าย มีอาหาร เข้ามานั่ง 3-4 ชั่วโมง ซื้อกาแฟแก้วเดียวก็ไม่ว่า นักศึกษามานั่งติวหนังสือ Start-up มาประชุมงาน ฟรีแลนซ์มานั่งทำงาน บางคนยก PC มา เอาเครื่องปริ้นท์มาเองด้วย (หัวเราะ) เราก็ โอเค ตามสบายเลย ค่าไฟไม่ต้องห่วง เดี๋ยวผมบริหารจัดการเอง พอเราใจดี อำนวยความสะดวกทุกอย่าง ทำตัวเป็นเพื่อนเขา เขาก็รู้สึกดีกับแบรนด์ไปด้วย แบรนด์เราจึงขยายได้เรื่อยๆ ตอนนี้พอมีข่าวว่าเราจะไปเปิดที่ไหน คนพื้นที่นั้นก็จะรอเลย เมื่อไรจะมา รออยู่นะ อยากมีที่นั่งทำงาน นี่ก็เป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่งที่เราสร้างขึ้น จากเดิมที่เห็นแค่ในกรุงเทพฯ ที่คนเอาโน้ตบุ๊คไปนั่งทำงานร้านกาแฟ ตอนนี้ก็เริ่มเห็นในพื้นที่ต่างจังหวัดแล้ว

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เราทำกันหนักมากในเรื่องการสร้างแบรนด์คือ การสื่อสาร

เมื่องบการตลาดจำกัด เลยต้องใช้ “Social Media

เมื่อก่อนเราทำการตลาดให้บริษัทใหญ่ๆ มีงบหลักล้าน พอมาทำเองเหลือหลักร้อย (หัวเราะ) ฉะนั้นช่องทางการตลาดจึงจำกัดมาก มีเงินเท่านี้จะไปขึ้นป้ายโฆษณาใหญ่ๆ ก็สู้โครงการบ้านจัดสรรไม่ได้อยู่แล้ว หรือจะให้ซื้อโฆษณาก็สู้ไม่ไหว ฉะนั้นทางเลือกเดียวที่เรามีคือ Social Media

เมื่อทำการตลาดช่องทางนี้ โจทย์ของเราจึงไม่ใช่แค่คิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แล้ว แต่ต้องคิดด้วยว่าจะสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายอย่างไร เป็นการบ้านหลักของทีมเลย ต้องคิดประเด็นตลอดเวลา จะทำอะไร พูดเรื่องอะไร สื่อสารอย่างไร มีอะไรใหม่ๆ นำเสนอลูกค้าไหม เมื่อเราใช้ Social Media เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ ฉะนั้นเราจะแผ่วไม่ได้เลย

ตอนผมทำงานบริษัท รับทำการตลาดให้บริษัทใหญ่ๆ สัญญาแค่ 6 เดือน 1 ปี ก็จบงาน แต่พอทำแบรนด์ตัวเอง มันไม่มีวันจบ ทำมา 4 ปีแล้ว ก็ยังต้องหาเรื่องมาพูดให้ได้ทุกวันและไม่ซ้ำกัน จึงเป็นงานที่ยากและท้าทายมากๆ และเมื่องบมีจำกัด เราจึงต้องจำกัดพื้นที่การโฆษณาไม่ให้เงินกระเด็นไปที่อื่นๆ เลย โฟกัสแค่กลุ่มเป้าหมายของเราเท่านั้น ฉะนั้น 3-4 ปีที่เราทำการตลาด คนในกรุงเทพฯ หรือภาคอื่นๆ แทบจะไม่ได้ยินเรื่อง Class café เลย

แต่ก็ถือว่าเรามาถูกทาง เพราะวิธีนี้เป็นทฤษฎีการเกิดของแบรนด์ในยุคใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องเกิดเฉพาะในเมืองหลวง ไม่ต้องสื่อขนาดใหญ่ในการผลักดัน ใช้แค่สื่อทางเลือก เผยแพร่ในกลุ่มจำกัด ก็สร้างแบรนด์ได้ ตอนนี้เขานิยมใช้คำว่า Branding 4.0 กัน นี่แหละ คือสิ่งที่ผมทำเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

สื่อสารทุกเรื่อง เพื่อสร้าง “ความผูกพัน” กับลูกค้า

เราสื่อสารทุกอย่างโดยไม่ปิดบังใดๆ เลย ทำร้านใหม่ ห้องน้ำเสีย กระดาษทิชชูหมด สัปดาห์นี้เราคั่วกาแฟตัวใหม่ รออีก 7 วัน มาลองได้เลยนะ หรือบาริสต้าคนนี้ทำอะไรใหม่ๆ เราให้เครดิตทั้งหมด การทำอย่างนี้ในต่างจังหวัดถือว่าประสบความสำเร็จ คนพื้นที่ตอบรับการสื่อสารแบบนี้ดีมากๆ เขาเห็นการเคลื่อนไหว การเติบโตของเราตลอด แล้วเขาก็เป็น feedback ที่ดีให้เราด้วย ถ้าเราทำอะไรพลาด ชงกาแฟเพี้ยน บริการไม่ดี เขาไม่บ่นแค่หน้าร้านแล้ว มาทาง inbox facebook เลย แล้วผมเป็นคนตอบคำถามลูกค้าเอง ก็ต้องถอดหมวกความเป็นเจ้าของร้านออก ห้ามมีอีโก้เด็ดขาด เขาตำหนิ เราก็ต้องขอโทษ วันรุ่งขึ้นเราปรับปรุงทันที พอเขาเห็นว่าคำพูดตัวเองมีความหมาย ทีนี้สนุกกันใหญ่เลย (หัวเราะ) ลูกค้าก็รู้สึกดีที่มีส่วนร่วมในการสร้างแบรนด์ด้วย

หลังๆ มาร้านเราเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะคนโคราชเป็นคนบอกต่อ พูดแทนเราเอง พนักงานบางคนที่เข้ามาทำงานที่นี่ 6 เดือน 1 ปี ยังรู้เรื่อง Class ลึกไม่เท่าลูกค้าบางคนที่ดื่มกาแฟเรามา 3-4 ปีเลย นี่แหละคือความแตกต่างเรื่องแบรนด์เราสร้างขึ้นมาได้

ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ก็มีแบรนด์อื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งเกิดขึ้นมาตลอด สร้างเฟซบุ๊ก ทำเพจ คิดเนื้อหา เหมือนเราเลย แต่เขาจะขยันทำแค่ประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นก็หยุดอัพเดต เป็นแบบนี้แทบทั้งหมดเลย แล้วแบรนด์เหล่านั้นก็ค่อยๆ ตายในที่สุด คิดง่ายๆ แบรนด์เราเกิดจาก Social media ถ้าเราหยุดนำเสนอเรื่องราวใหม่ๆ เมื่อไร ก็รอวันเจ๊งได้เลย

การตลาดรูปแบบใหม่ สร้างสรรค์กาแฟตาม “คาแรคเตอร์ตัวละคร”

อย่างที่บอกว่าการคิดประเด็นใหม่ๆ มานำเสนอตลอดเวลาบางครั้งเรารู้สึกว่ามันซ้ำ เลยกลับมาคิดว่าอย่างนั้นเราควรลองทำอะไรใหม่ๆ รับอีเว้นท์ดูไหม ประกอบกับเราได้รับเกียรติจากซีรีย์เรื่อง ศรีอโยธยา ที่กำกับโดยหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล หรือหม่อมน้อย ติดต่อมาให้ร่วมคิดสูตรกาแฟประกอบซีรีย์พอดี ผมคิดว่ามันท้าทายมาก ไม่เคยมีแบรนด์กาแฟไหนทำมาก่อน จึงตัดสินใจทำงานนี้

ฟังตอนแรกผมก็ตกใจเหมือนกันว่าจะมาทำอะไร เสิร์ฟกาแฟในเรื่องอย่างไร แต่พอได้คุยกับทีมงาน ได้ศึกษารายละเอียดจึงรู้ว่ามันมีจุดร่วมอยู่ว่า กาแฟเริ่มเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สอดคล้องกับยุคสมัยในซีรีย์ ผู้ที่ดื่มคือชาวต่างชาติ เราจึงอยากถ่ายทอดเรื่องราวของกรุงศรีอยุธยาในยุคนั้น ซึ่งถือเป็นยุคที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดออกมา จึงทำกาแฟสูตรพิเศษขึ้นมาชื่อว่า ศรีอโยธยา พรีเมี่ยม รอยัลเบลนด์

นอกจากนี้เรายังได้รับโจทย์ให้สร้างสรรค์กาแฟตามคาแรคเตอร์ เป็น Signature drink ของตัวละครในเรื่องด้วย โดยใช้สูตรหลักคือ ศรีอโยธยา พรีเมี่ยม รอยัลเบลนด์ แล้วเสริมรสชาติอื่นๆ เข้าไป

อย่างบทพระพิมานสถานมงคล แสดงโดย อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม เป็นนักประพันธ์เพลง นักรัก และนักดาบ เรานึกถึงเสียงเพลงอันไพเราะ จึงใช้น้ำผึ้งเป็นส่วนผสม ส่วนนักดาบเรานึกถึงก้านอบเชย กลายเป็นรสชาติ The nobal

บทบุษบาบรรณ์ แสดงโดย แพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์ เป็นข้าหลวงในสมเด็จพระพันวัสสาน้อย เรานึกถึงดอกบัว นึกถึงกลิ่นหอม จึงเพิ่มกลิ่นดอกบัวแล้วใช้เทียนอบเพื่อเพิ่มความหอม พอชิมแล้วก็รู้สึกว่ารสชาติดี ไม่คิดว่าจะเป็นส่วนผสมที่ลงตัวได้ โดยตอนนี้มีทั้งหมด 8 รสชาติ แต่ก็จะมีใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต้องคอยติดตาม นอกจากนำมาประกอบซีรีย์แล้ว ยังจำหน่ายที่ Class ด้วย แต่เวลาจำกัด คือเฉพาะช่วงที่ซีรีย์ฉายเท่านั้น

ผมคิดว่าแบรนด์ก็เหมือนคนๆ หนึ่ง เวลาเราจะรักใครสักคน ก็เพราะคนนั้นทำสิ่งดีๆ ฉะนั้นเราก็ต้องทำดีตั้งแต่แรก และทำอย่างเสมอต้นเสมอปลาย จริงใจกับเขา ซื่อสัตย์ แล้วลูกค้าก็จะรักในแบรนด์เราเอง

“ขยายสาขาทุก 6 เดือน เป้า 50 ล้านต่อปี อีก 3 ปี เข้าตลาดหลักทรัพย์”

ตอนนี้เรามีทั้งหมด 9 สาขา อยู่ในโคราช 8 สาขา อีก 1 สาขาอยู่ที่บุรีรัมย์ โดยเร็วๆ นี้กำลังจะเปิดที่ขอนแก่น เราตั้งเป้าว่าต้องขยายสาขาทุก 6 เดือนให้ได้ ฉะนั้นถ้าเปิดสาขาใหม่ เราต้องทำให้คืนทุกภายใน 6 เดือน เพื่อจะได้เอาเงินที่ได้ไปขยายสาขาเพิ่ม ดังนั้นเงินที่ได้มาจะเอาไปเสวยสุขไม่ได้ (หัวเราะ) ต้องเอามาลงทุนใหม่

เทคนิคการขยายสาขาคือ ดึงลูกค้ากลุ่มเดิมให้ออกไปใช้บริการสาขาอื่น อย่างสาขาแรก ผมเห็นว่าลูกค้าในสาขาเยอะจนไปต่อไม่ได้แล้ว ผมก็สังเกตว่าลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มไหน กลุ่มหมอใช่ไหม อย่างนั้นสาขา 2 เราเปิดข้างโรงพยาบาลเลย หมอก็จะไปใช้บริการที่สาขานั้น สาขาแรกก็เบาลง พอคนในสาขาไหนเริ่มเยอะอีก ก็ทำอย่างนี้อีก ทำไปเรื่อยๆ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตและเดินไปข้างหน้าได้

ตอนนี้ผมตั้งเป้าว่ายอดขายต้องได้ 50 ล้านต่อปี เพราะอีก 3 ปีเราวางแผนว่าจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ให้ได้ ตลอด 4 ปี เราโตด้วยตัวเองตลอด แล้วผมคิดว่าโมเดลที่เราวางมันใช่ เป็นโมเดลที่ดี แต่เช่นเดียวกัน ก็ต้องมีเงินทุน เพื่อจะได้ขยายให้เร็วขึ้น โดยเราโตสวนทางกับคนอื่น คนส่วนใหญ่คิดว่าถ้าโตต้องเข้ากรุงเทพฯ แน่นอน แต่เราขอขยายออกต่างจังหวัด เพราะแบรนด์ของเราต้องอาศัยความใกล้ชิด แต่พฤติกรรมของคนกรุงเทพฯ คือสะดวกที่ไหน ซื้อที่นั่น ถ้าเราจะโตในกรุงเทพฯ ก็ทำได้ แต่คงต้องมีเป็นร้อยสาขาให้เขาเลือกใช้บริการ (หัวเราะ) ฉะนั้นตอนนี้เราโตในต่างจังหวัดดีกว่า

ไม่ต้องรวยก็ “ช่วยเหลือสังคม” ได้

ส่วนใหญ่คนมักจะคิดว่ารอให้มีเงินก่อน เดี๋ยวค่อยแบ่งปันให้สังคม แต่ผมกลับคิดว่าเราต้องเติบโตไปพร้อมๆ กับสังคม ผมเริ่มทำกิจกรรม CSR ตั้งแต่ปีแรกๆ เลย เช่น กิจกรรม Car free day ใครปั่นจักรยานมารับกาแฟฟรีไปเลย ตอนนั้นเราเพิ่งขายกาแฟได้วันละ 40 แก้ว แต่วันที่จัดกิจกรรมมีคนปั่นจักรยานมารับกาแฟ 300 ร้อยแก้ว เข้าคิวกันเต็มถนน ผมไม่สนว่าต้องจ่ายเท่าไร ได้เงินกลับมาเท่าไร สนแค่ว่าเราได้เข้าร่วมกิจกรรม ได้พรีเซ้นท์กาแฟ เราสนุก น้องๆ สนุก บาริสต้าก็เก่งขึ้น แค่นั้นก็พอแล้ว

หลังจากนั้นก็จัดกิจกรรมลักษณะนี้เรื่อยๆ เข้าไปแจกกาแฟในโรงพยาบาล ช่วยรณรงค์เรื่องโรคอัลไซเมอร์ สงกรานต์ช่วงเย็นก็ปิดร้าน ยกทีมนำกาแฟไปแจกหมอที่ต้องอยู่เวร แจกอปพร. ตามเต้นท์ที่คอยอำนวยความสะดวกเรื่องการจราจร คนพื้นที่ก็ตอบรับดีมาก เพราะเขาเห็นถึงความจริงใจของเรา

ผมคิดว่าแบรนด์ก็เหมือนคนๆ หนึ่ง เวลาเราจะรักใครสักคน ก็เพราะคนนั้นทำสิ่งดีๆ ฉะนั้นเราก็ต้องทำดีตั้งแต่แรก และทำอย่างเสมอต้นเสมอปลาย จริงใจกับเขา ซื่อสัตย์ แล้วลูกค้าก็จะรักในแบรนด์เราเอง กลับกันถ้าเราเอาแต่ได้อย่างเดียว ไม่เคยแบ่งปันเลย คนก็จะต่อต้าน

ถ้าเราทำดีมาตลอด เกิดวันหนึ่งมีเรื่องที่เราทำผิดพลาด ลูกค้าที่รักในแบรนด์เรานี่แหละจะเป็นคนช่วยตอบคำถามแทนเราเอง บางครั้งการที่เราตอบคำถามเอง อาจมองเป็นคำแก้ตัว แต่ถ้าลูกค้าตอบให้ น้ำหนักต่างกันมากนะ

นิยามความสำเร็จไม่ใช่ยอดขาย แต่คือ “จำนวนคนที่นั่งในร้าน”

ความสำเร็จของ Class ไม่ได้วัดว่า วันนี้ขายกาแฟได้เท่าไร รายได้กี่บาท กำไรเท่าไร แต่ผมจะมีความสุขมาก ถ้าเห็นคนนั่งเต็มร้าน สั่งกาแฟแก้วเดียวก็ได้ นั่งยาวๆ ไปเลย อย่างที่บอกว่าผมอยากให้คนมาใช้ชีวิตกับเรา เติบโตไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่จ่ายตังแล้วก็ไป การที่เขาเข้ามานั่งอยู่กับเรานานขนาดนี้ แสดงว่าเราต้องเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งในระดับหนึ่งแล้ว

นี่คือสิ่งที่ผมอยากสร้างจริงๆ ถามว่ายากไหม ยากมากๆ แต่เราก็เลือกที่จะเติบโตไปในทางนี้

อ่านบทความเพิ่มเติม Factory Coffee ผู้พิสูจน์ว่าร้านกาแฟคือธุรกิจที่ยั่งยืน!

 

เรื่องแนะนำ

The Baristro

The Baristro คาเฟ่ดี ของคนมีสไตล์ในเชียงใหม่

เหล่า Café Hopper ทั้งกรุงเทพฯและเชียงใหม่ คงจะคุ้นเคยร้านกาแฟแบรนด์นี้เป็นอย่างดี The Baristro คาเฟ่สไตล์มินิมอล ที่ขยันขยับขยายเปิดสาขาใหม่แบบไม่มีหยุดพัก เปิดกิจการมา 5 ปี แต่มีร้านกาแฟในเครือทั้งหมด 7 สาขา โดดเด่นเรื่องคุณภาพกาแฟ รสชาติเป็นเอกลักษณ์ แถมสไตล์การตกแต่งร้านก็สวยทุกมุม รับประกันได้ว่ากลับบ้านไปจะมีรูปในมือถือมากกว่าสิบรูป The Baristro คาเฟ่ดี ของคนมีสไตล์ในเชียงใหม่   แต่ธุรกิจร้านกาแฟจะอยู่ในเมืองปราบเซียนอย่างเมืองเชียงใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะเดินทางมาถึงจุดนี้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง? มาสำรวจความคิดของ คุณต่อ – ธนิต สุวณิชย์ เจ้าของร้าน The Baristro กันว่า อะไรที่ทำให้เขาคนนี้ยอมสวนกระแสผุดสาขาใหม่ในวันที่ธุรกิจร้านกาแฟในเชียงใหม่ต่างทยอยกันปิดตัว? ไม่มีคำว่าสายเกินไป กับการดื่มกาแฟแก้วแรกตอนอายุ 37 ปี จุดเริ่มต้นของการเปิดร้านกาแฟอยู่ตรงที่บ้านผมทำธุรกิจ Travel Agency ส่วนผมทำร้านโรตี  “กู โรตีและชาชัก (Guu Fusion Roti & Tea)” อยู่ในเชียงใหม่ครับ ด้วยความที่วันๆ ผมต้องเจอคนเยอะมาก เลยมักได้ยินคนพูดเสมอว่า ร้านกาแฟที่สวย […]

ร้าน สวนผัก โอ้กะจู๋ ร้านอาหาร 100 คิว ธุรกิจดังแห่งปี

นั่งรอ ยืนรอ ช็อปปิ้งรอ เดินกลับมาที่ร้านก็ยังไม่ถึงคิว! เดินวนแล้วววว วนอีก  แต่คิวก็ไม่มีทีท่าจะลดลงเลย! ภาพคนยืนรอต่อคิวหน้าร้าน โอ้กะจู๋  ยังติดตาแอดมินมาจนถึงทุกวันนี้ วันธรรมดา หรือวันหยุดสุดสัปดาห์เสาร์อาทิตย์ โอ้กะจู๋ก็ยังคงแน่นด้วยคิวเป็นร้อยๆ ประวัติและข้อมูลเบื้องต้นเพื่อน ๆ คงพอหาอ่านได้จากพี่กู๋ (Google) อยู่บ้างแล้ว จากที่แอดมินคือหนึ่งในคนที่ไปรอคิวนานมาก บทความนี้จึงอยากวิเคราะห์จุดแข็งว่าเพราะเหตุใดที่ทำให้ผู้คนชื่นชอบและยอมมายืนต่อคิว “โอ้กะจู๋ ร้านอาหาร 100 คิว” นานขนาดนี้ได้ วันนี้ต้องยอมรับเลยว่า ‘โอ้กะจู๋’ คือร้านอาหารออร์แกนิกที่มาแรงสุดๆ เพราะเดินผ่านกี่ครั้งคนก็เต็มร้านจนต้องรอคิวกันนานสองนาน ความสำเร็จที่มัดใจคนได้แบบนี้ คงตามรอยสโลแกนร้านที่ว่า “ปลูกผักเพราะรักแม่” การให้ความใส่ใจกับลูกค้า เปรียบเสมือนว่าเขาคือคนในครอบครัว การทำอาหารจากใจ ปรุงด้วยวัตถุดิบที่สด สะอาด เสิร์ฟจานโตๆ จนกลายเป็นที่จดจำของลูกค้าไปแล้ว การทำอาหารทุกจานให้ออกมาดูดี มีคุณภาพ เหมือนกับทำให้แม่ทาน จนเกิดเป็นสโลแกน “โอ้กะจู๋ ปลูกผักเพราะรักแม่” ที่เปรียบลูกค้าเหมือนเป็นคนในครอบครัว ควรได้ทานอาหารดีๆ สด สะอาด และปรุงด้วยใจ แต่คงไม่ใช่แค่การเลือกดำเนินธุรกิจตามสโลแกนร้านอย่างเดียว ที่ทำให้ “โอ้กะจู๋” ประสบความสำเร็จ จนถูกพูดถึงเป็นวงกว้างอย่างเช่นทุกวันนี้ โอ้กะจู๋ ร้านอาหาร 100 […]

รวม บทเรียนสำคัญ ! ที่คนทำร้านอาหารอยากบอกคุณ (2)

หลายคนอยากเปิดร้านอาหารหรือคาเฟ่เล็กๆ แต่ก็ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร วันนี้เราจึงขอรวบรวม บทเรียนสำคัญ จากผู้ประกอบการร้านอาหารที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจมาฝากกัน

sushi shin

Sushi Shin เผยเคล็ดลับ รักษาลูกค้าเดิมให้อยู่หมัด!

แม้ปัจจุบันธุรกิจอาหารญี่ปุ่นจะไม่ได้อยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ Sushi Shin กลับยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เคล็ดลับสำคัญคืออะไร ไปติดตามกัน

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

ติดต่อแจ้งปัญหาหรือร้องเรียน
02-422-9999 ต่อ 4180
(จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น)
bdcx@amarin.co.th

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.