ปลูกปั่น น้ำผักผลไม้ปั่น ไม่มีหน้าร้าน แต่ขายได้ 400 ขวดต่อวัน! - Amarin Academy

ปลูกปั่น น้ำผักผลไม้ปั่น ไม่มีหน้าร้าน แต่ขายได้ 400 ขวดต่อวัน!

ปลูกปั่น น้ำผักผลไม้ปั่น ไม่มีหน้าร้าน แต่ขายได้ 400 ขวดต่อวัน!

Highlight

  • ธุรกิจน้ำปั่นเพื่อสุขภาพ ที่มีโมเดลธุรกิจที่แตกต่างคือ ไม่มีหน้าร้าน แต่ทำระบบเป็นสมาชิก จัดส่งน้ำผัก-ผลไม้ปั่นสู่มือผู้บริโภคทุกเช้า ด้วยนักปั่นจักรยาน
  • สมาชิกเมื่อดื่มน้ำปั่นแล้ว ต้องล้างแก้วเอง แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ สร้างจิตสำนึกทางสังคม และต้องสั่งน้ำล่วงหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้มี food waste จะได้ลดต้นทุนค่าวัตถุดิบ ทำให้ขายผลิตภัณฑ์ได้ในราคาที่ถูกลง
  • ให้ความสำคัญกับการทำ Branding เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง
  • ลงทุนกับการพัฒนาระบบต่างๆ เพื่อลดการจ้างงานให้เหลือน้อยที่สุด

ปลูกปั่น ร้านน้ำผักผลไม้ปั่น ที่ไม่มีหน้าร้าน ไม่มีเครื่องจักรใหญ่โต ไม่ได้ทำการตลาดหรือโฆษณามากมาย มีเมนูเพียงไม่กี่อย่าง แต่กลับมียอดขายสูงถึง 300-400 ขวดต่อวัน แถมยังไม่มีของเสียระหว่างกระบวนการผลิต (Food waste ) อีกด้วย โมเดลการทำธุรกิจของที่นี่เป็นอย่างไร เราจะพาไปเจาะลึกความคิดจาก คุณจัง – ศิริลักษณ์ มหาจันทนาภรณ์ นักออกแบบบรรจุภัณฑ์และเจ้าของแบรนด์ “ปลูกปั่น” ที่ คลุกคลีกับธุรกิจน้ำผักผลไม้ปั่นมาถึง 4 ปี คัดสรรผักผลไม้ปลอดสารพิษปั่นสด ส่งถึงมือผู้บริโภคทุกๆ เช้าด้วยจักรยาน!

“เพราะป่วย” จนกลายเป็นปลูกปั่น

เริ่มจากเราป่วยมา 8 ปี แต่หายด้วยการเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต เปลี่ยนการกิน อยู่ หลับ นอน โดยเฉพาะเรื่องการกินที่เน้นกินผักผลไม้ให้ได้ครึ่งกิโลกรัม ต่อเนื่องทุกวัน แต่เรากินช้ามาก จะให้กินวันละครึ่งกิโลกรัมก็ลำบาก เลยเอาผักผลไม้มาปั่นดีกว่า ทำกินเองทุกๆ วัน สุขภาพก็ดีขึ้น เลยเอาสูตรมาแบ่งปันเพื่อนๆ แต่เพื่อนส่วนใหญ่ขี้เกียจเก็บล้างบ้าง ไม่สะดวกบ้าง เลยเก็บเอาความคิดนั้นมาต่อยอดเป็นปลูกปั่น ตอนแรกคิดแค่ขายให้พออยู่ได้ เอาเครื่องคิดเลขมานั่งคำนวณดู คิดไปคิดมาขายวันละแค่ 20 – 30 ขวดก็อยู่ได้แล้ว เลยทำขายเพื่อนๆ ญาติๆ แล้วก็คนรู้จัก

โมเดลธุรกิจที่แตกต่าง “ส่งตรงถึงบ้านทุกวัน กินแล้วล้างเอง ต้องสั่งล่วงหน้า ไม่มีเมนูให้เลือก” ผลลัพท์ที่ได้คือ ดีต่อธุรกิจ ดีต่อผู้ซื้อ และดีต่อสังคม

เราตัดสินใจขายน้ำปั่นเป็นคอร์ส เพราะมันต้องกินต่อเนื่องถึงจะดี และการที่เขาจะกินได้ต่อเนื่อง เราต้องไปส่งทุกๆ วัน โดยช่วงแรกก็ให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างไปส่ง แล้วค่อยปรับมาเป็นจักรยาน

มันเริ่มจากเรามีร้านจักรยาน แล้วเห็นว่านักปั่นต้องซ้อมขากันทุกๆ เช้าอยู่แล้ว เลยคิดว่า อย่างนั้นให้เขามาปั่นส่งน้ำดีกว่า เราได้ส่งของ เขาก็มีรายได้ แล้วก็ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย จึงเริ่มชักชวนนักปั่นมาทำงานร่วมกัน จากตอนแรกมีสมาชิกนักปั่นไม่กี่คน ตอนนี้มีราวๆ 80 คนแล้ว

เราคิดว่าสิ่งที่มีค่าที่สุดของคนคือเวลา เลยกำหนดเลยว่าจะใช้เวลาแค่นี้ เวลาที่เหลือ เขาก็ไปทำอย่างอื่น โดยไม่จำเป็นต้องมานั่งรอหน้าร้านว่า จะไปส่งลูกค้ากี่โมง เราก็นัดกับลูกค้าว่า ทุกๆ เช้าเราเจอกัน

จากนั้นก็วางแนวคิดธุรกิจว่า

1.ต้องไม่มีบรรจุภัณฑ์เหลือทิ้ง เราจึงเลือกใช้ขวดแก้วเนื้อดี ไม่แตกง่าย ไม่ทำปฏิกิริยากับอาหาร มาตรฐานสูง และปากขวดกว้างเพื่อให้ล้างง่าย โดยเราจะให้นักปั่นไปส่งที่บ้านลูกค้าทุกวัน เมื่อดื่มเสร็จก็ล้างให้สะอาด นักปั่นก็จะเก็บแก้วกลับมา นำมาทำความสะอาด ฆ่าเชื้ออีกรอบ แล้วบรรจุใหม่ ไปส่งในวันรุ่งขึ้น ฉะนั้นคนที่ซื้อน้ำเรา กินแล้วต้องล้างเอง เราคิดว่าการล้างแก้วสะท้อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองทำ อาจจะลำบากบ้าง แต่เป็นความลำบากที่คุณจะรู้สึกดี

2.ไม่มีของสดในร้านให้เน่าเสีย เราเคยเห็นเค้กในห้างตอน 2 ทุ่ม ยังเหลือเต็มตู้ แล้วหลังจากห้างปิดล่ะ ขนมพวกนั้นไปไหน ต้องเอาไปทิ้งแน่นอน เราเลยรู้ว่าสาเหตุที่เค้กราคาแพง เพราะต้องบวกต้นทุนค่าของเสียเข้าไปด้วย จึงคิดว่าธุรกิจของเราจะต้องไม่มีของเสีย จะได้ขายในราคาที่ไม่แพง ฉะนั้นถ้าจะซื้อน้ำของเราต้องสั่งล่วงหน้า จะได้คำนวณปริมาณวัตถุดิบได้ และจะปั่นสูตรเดียวต่อวัน ไม่ตามใจลูกค้า เพราะจุดประสงค์ของการทำธุรกิจนี้คืออยากให้เขากินแล้วมีสุขภาพดี

“สร้างความแตกต่าง” คือการทำ Branding ของปลูกปั่น

หลังจากได้ product เราก็มาทำเรื่อง Branding เราเป็นนักออกแบบ จึงรู้ว่าชื่อเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับแบรนด์ จะเห็นว่าชื่อร้านขายน้ำปั่นเพื่อสุขภาพส่วนใหญ่ จะมีคำว่า juice, medical ฯลฯ เราไม่อยากใช้คำเหล่านี้เลย แต่อยากนำคำกริยามาตั้งเป็นคำนาม เราเลยเลือกคำว่า “ปลูก” กับ “ปั่น” หมายถึงอะไรที่ปลูกได้เราก็เอามาปั่นกลายเป็น “ปลูกปั่น”

ถัดมาจึงออกแบบโลโก้ เราใช้รูปคนป่าขี่จักรยาน แรงบันดาลใจคือ เราคิดว่า คนป่าคือคนที่ได้กินอาหารปลอดภัย ไร้สารเคมี บนศีรษะก็จะมีผลไม้หลากหลายชนิด ส่วนผิวก็จะใส อมชมพู เพราะได้กินของมีประโยชน์ ขี่จักรยานเพราะเราใช้จักรยานเป็นพาหนะในการจัดส่ง สีหลักที่ใช้เป็นสีส้มและชมพูบานเย็น เพราะอยากสร้างความแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ ที่มักใช้สีเขียว น้ำตาล เอิร์ทโทน อีกอย่างคือน้ำปั่นแก้วแรกของร้านก็คือน้ำผักสีแดงอมม่วง (magenta)  เราอยากจะเป็นน้ำปั่นที่สนุกสนาน เป็นกันเอง ไม่อยากให้คนมองว่าการกินผัก ผลไม้เป็นเรื่องซีเรียส เป็นเรื่องมาตรฐานสูง แต่แท้จริงมันเป็นเรื่องบ้านๆ ที่ทุกคนเข้าถึงได้

“นักปลูก+นักปั่น” หลังบ้านที่แข็งแรง

หลังจากขายมาสักพัก เรามีโอกาสได้เข้าไปดูแหล่งวัตถุดิบจากเกษตรกรตัวจริง จากเดิมที่คิดว่าจะปั่นขายแค่ 20 – 30 แก้ว แต่ไปเห็นปัญหาของเกษตรกรที่ว่า ผักปลอดสารพิษมันไม่สวยเหมือนผักที่ใส่ปุ๋ย ฉีดยา คนก็ไม่ซื้อ เราเลยคิดว่าช่วยสั่งจากสวนโดยตรงเลย ไม่สวยไม่เป็นไร ยังไงเราก็เอามาปั่นอยู่แล้ว จากแต่ก่อนไปซื้อผักผลไม้ในกรีนมาร์เก็ต ก็เปลี่ยนให้เกษตรกรมาส่งที่ร้าน กลายเป็นเครือข่ายทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเชียงราย

เรายอมเสียเงินกับการพัฒนาระบบ ให้เครื่องจักรทำงานแบบเครื่องจักร แล้วให้คนทำในส่วนที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ การพูดคุยตอบโต้ การดูแลกันและกัน

ส่วนนักปั่นเราให้ค่าจ้าง 2 ชั่วโมง 250 – 800 บาทตามจำนวนขวดและระยะทาง สาเหตุที่ใช้เวลาแค่ 2 ชั่วโมงในการทำงาน เพราะเราคิดว่าสิ่งที่มีค่าที่สุดของคนคือเวลา เลยกำหนดเลยว่าจะใช้เวลาแค่นี้ เวลาที่เหลือ เขาก็ไปทำอย่างอื่น โดยไม่จำเป็นต้องมานั่งรอหน้าร้านว่า จะไปส่งลูกค้ากี่โมง เราก็นัดกับลูกค้าว่า ทุกๆ เช้าเราเจอกัน

นอกจากค่าจ้างเรายังมีสวัสดิการ มีข้าวเช้าให้ทุกวัน เพราะเขาต้องมารับของตั้งแต่ตี 4 เพื่อปั่นไปส่งที่บ้านลูกค้าให้ตรงเวลา และมีจัดทริปปั่นจักรยานเพื่อสร้างความคุ้นเคยกัน

เมื่อไม่มีหน้าร้าน งานหลักคือ “การบริหารด้านการจัดส่ง พัฒนาระบบให้แข็งแรงที่สุด”

ตอนแรกกลุ่มลูกค้ายังจำกัดอยู่ในกลุ่มเพื่อนๆ ญาติๆ ซึ่งปกติเราเป็นคนไม่ค่อยเล่นอินเทอร์เน็ต จนได้ไปลงคอร์สเรียนเรื่องการใช้เครื่องมือเหล่านี้ ภายใน 2 ปีจากกลุ่มลูกค้า 20-30 คน ก็กลายเป็นหลายร้อย โดยลูกค้าหลักๆ มี 3 กลุ่ม คือ 1.คนที่ป่วยมีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว 2. คนที่มีแนวโน้มว่าจะป่วย เช่น ทำงานหนัก รู้ตัวแล้วว่าร่างกายเริ่มทรุดโทรม 3. กลุ่มคนสุขภาพดีอยู่แล้ว แต่อยากจะดีขึ้นอีก

เมื่อลูกค้าเพิ่มขึ้น เราเลยทำระบบสมาชิก เริ่มจากให้เขากรอกใบสมัครจากกระดาษง่ายๆ ต่อมาจึงพัฒนาเป็นเว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่น เงินส่วนใหญ่หมดไปกับการพัฒนาระบบ เราไม่อยากจ้างคนเยอะๆ เพราะเมื่อจ้างมาก็ต้องดูแลเขาอย่างดี ฉะนั้นอะไรที่ไม่จำเป็นต้องใช้มนุษย์ก็ให้ระบบเป็นเครื่องทุ่นแรง เช่น ระบบรับสมาชิกที่ลูกค้าสามารถกรอกข้อมูลเอง เราเพียงแค่มากดดูว่า เขาเป็นใคร กินอะไรได้บ้าง โดยไม่จำเป็นต้องมีคนคอยมาอ่านจากกระดาษ แล้วกรอกข้อมูลใหม่ ยอมเสียเงินกับการพัฒนาระบบ ให้เครื่องจักรทำงานแบบเครื่องจักร แล้วให้คนทำในส่วนที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ การพูดคุยตอบโต้ การดูแลกันและกัน

เมื่อพัฒนาระบบหลังบ้านแล้วมาถึงเรื่องการจัดส่ง เราจะให้นักปั่นลงคิว โดยแบ่งเส้นทางการส่งของออกเป็นเส้นทาง A B C ใครสะดวกตรงไหนก็ไปเส้นทางนั้น โดยตอนนี้เรามีจุดหลักที่ผลิตน้ำปั่นที่เดียวคือทองหล่อ และจุดกระจายสินค้า (Hub) ทั้งหมด 3 แห่งคือ พระราม 2 รามอินทรา ประชาชื่น ทุกเช้า Hub เหล่านี้จะมารับน้ำปั่นจากเรากลับไป แล้วนักปั่นที่อยู่ในเส้นทางนั้นๆ ก็จะไปรับน้ำปั่นที่ Hub ไปส่งสมาชิกอีกที

“ขยายฮับ เพิ่มหน้าร้าน” อนาคตของปลูกปั่น

ต่อไปเราจะเพิ่ม Hub ที่ปิ่นเกล้า และอนาคตถ้าทุกอย่างพร้อม ก็อาจจะเพิ่มจุดผลิตสินค้า คือไปปั่นตรงนั้น จัดสั่งตรงนั้นเลย ไม่ต้องมารับของจากที่ที่เดียวอีกแล้ว และอีก 2 เดือนเราจะเปิดร้านจำหน่ายอาหารสุขภาพ ตรงร้านที่ทองหล่อนี่แหละ แต่จะเป็นในรูปแบบไหนต้องรอติดตามดู

มุมมองการทำธุรกิจของเราคือ ทำในสิ่งที่ต้องอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา เช่น เรากินน้ำปั่นทุกวันอยู่แล้ว ก็ทดลองดูว่าสูตรไหนดี ไม่ดี แล้วเอามาแบ่งปันให้กับคนอื่นๆ ได้มีสุขภาพดีเหมือนกับเรา เรากินอาหารเพื่อสุขภาพอยู่แล้วก็นำมาต่อยอด ทำแบบนี้แล้วจะรู้สึกเหมือนว่าการทำงานไม่ใช่หน้าที่ที่ต้องทำ แต่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา

จุดเริ่มต้นจากการป่วยมา 8 ปี สู่สาวสุขภาพดีพร้อมธุรกิจที่กำลังเติบโต บางครั้งการทำธุรกิจไม่ต้องมองที่เรื่องไกลตัว แต่หยิบจับจากสิ่งรอบๆ ตัว ก็สามารถสร้างธุรกิจเล็กๆ ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ได้

ข้อมูลเพิ่มเติม โทร.089-0295295
www.pukpun.com

เรื่องแนะนำ

เงินทุน

ไอเดียดีแต่ ติดตรงที่ ” ไม่มีเงินทุน “

ไอเดียดีแต่ ไม่มีเงินทุน ปัญหาระดับชาติของคนที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง นอกจากเงินทุนส่วนตัวแล้ว มีแหล่งเงินทุนอื่นๆ อะไรบ้าง ไปติดตามกันเลย

การจัดการธุรกิจอาหาร

เจาะลึกเบื้องหลัง การจัดการธุรกิจอาหาร ระดับโลก

เมื่อพูดถึงธุรกิจอาหาร หลายคนมักนึงถึง ร้านอาหาร แต่จริงๆ แล้ว ธุรกิจร้านอาหารมากกว่านั้น เราเลยอยากแชร์เกี่ยวกับ การจัดการธุรกิจอาหาร รูปแบบอื่นๆ ให้รู้กัน

สร้างแบรนด์

How to ให้ลูกค้าเต็มใจจ่ายแม้ราคาสูง! ตอบโจทย์ด้วย การสร้างแบรนด์

เคยสงสัยไหมว่า ร้านอาหารที่ขายเมนูเหมือนๆกัน ใช้วัตถุดิบคุณภาพเดียวกัน รสชาติก็ยังอร่อยเหมือนกันอีก แต่ทำไมบางร้านที่ขายอาหารในราคาสูง กลับมีลูกค้าที่พอใจมาใช้บริการแทนที่จะไปร้านที่ราคาถูกกว่า สิ่งที่สามารถยกระดับร้านอาหารขึ้นมาและเพิ่มมูลค่าได้ นั้นคือ “การสร้างแบรนด์” How to ให้ลูกค้าเต็มใจจ่ายแม้ราคาสูง! ตอบโจทย์ด้วย การสร้างแบรนด์ มีประโยคหนึ่งที่มีคนกล่าวไว้ “ของแพงไม่มีอยู่จริง มีแต่ของที่คุ้ม กับไม่คุ้ม” แน่นอนว่าราคามีผลต่อการตัดสินใจซื้อ แต่มากกว่านั้นคือลูกค้ายอมจ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับสิ่งที่ให้ความพึงพอใจได้มากกว่า เรียกได้ว่าถ้าโดนใจแล้ว ราคาเท่าไหร่ก็คุ้มค่า เหมือนการซื้อกาแฟจากร้านแบรนด์ดัง ลูกค้าจะรู้สึกถูกยกระดับขึ้นทันที เมื่อได้ถือไปที่ต่างๆ หรือแม้แต่ถ่ายรูปอวดเพื่อน นั่นคือความสำคัญของแบรนด์ต่อธุรกิจอาหาร   การสร้างแบรนด์ คืออะไร ? Branding หรือกระบวนการสร้างแบรนด์ เป็นการออกแบบภาพลักษณ์และความเป็นตัวตนของร้านอาหาร ผ่านการออกแบบโลโก้ สื่อโฆษณา คอนเทนต์ในสื่อออนไลน์ต่างๆ แม้แต่คอมเมนต์ในที่โต้ตอบกับลูกค้าในโซเชียลมีเดีย ก็ถือเป็นการสร้างแบรนด์ทั้งสิ้น  โดยการสร้างแบรนด์นี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสื่อสารให้แก่ลูกค้าว่า ร้านอาหารของเราขายอะไร มีจุดเด่นเอกลักษณ์อะไรบ้าง สร้างความแตกต่างให้ร้านโดดเด่นออกมาจากร้านอื่น ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค และนำไปสู่ความสนใจใช้บริการร้านอาหาร อาหารอร่อยอยู่แล้ว ทำไมสร้างแบรนด์อีก ? สมัยนี้ ความอร่อยอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เพราะร้านอาหารที่อร่อยนั้นหาได้ง่าย ความอร่อยกลายเป็นพื้นฐานที่ร้านอาหารควรมี แต่สิ่งที่จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกร้านคุณนั้นก็คือ “ความรู้สึก” […]

โชนัน

โชนัน (Chounan) พลิกจากขาดทุนเป็นกำไร ด้วยการบริหารต้นทุน

ผมมีเป้าหมายในชีวิตและมั่นใจตั้งแต่วันแรกที่ทำร้านแล้วว่าธุรกิจนี้ต้องเติบโต โดยเกิดจากความเชื่อที่ว่า คนเราต้องไปให้สุดทาง รักในอาชีพที่เราทำ มันจะสามารถพาเราไปได้เท่าที่เราอยากจะไปถึง

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท เอเอ็มอี อิมเมจิเนทีฟ จำกัด
ในเครือ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

ติดต่อแจ้งปัญหาหรือร้องเรียน
02-422-9999 ต่อ 4180
(จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น)
bdcx@amarin.co.th

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.