Guss damn good ไอศกรีมที่ “ดี” จนลูกค้าบอกให้ขึ้นราคา! - Amarin Academy

Guss damn good ไอศกรีมที่ “ดี” จนลูกค้าบอกให้ขึ้นราคา!

Guss damn good คราฟไอศกรีมที่ “ดี” จนลูกค้าบอกให้ขึ้นราคา!

Guss damn good ไอศกรีมสัญชาติไทย 100 % ที่กล้าสร้างความแตกต่างด้วยการทำ คราฟไอศกรีม สไตล์บอสตัน ไม่มี Topping ใช้วัตถุดิบคุณภาพสูง เน้นใช้ของจริง กาแฟสด น้ำผึ้งแท้ ช็อกโกแลตพรีเมี่ยม แต่ขายในราคาเอื้อมถึง แม้จะเปิดร้านมานานกว่า 2 ปี แต่เสียค่าการตลาดจริงๆ เพียงหลักร้อย! เพราะเขาเชื่อว่าการตลาดดีที่สุดคือ การตลาดแบบบอกต่อหรือ Word of mouth แต่เขาทำอย่างไรให้เกิดการบอกต่อ จนไอศกรีมโนเนม กลายเป็นไอศกรีมที่มียอดผู้ติดตามในโซเชียลมีเดียเกือบหมื่นคน เราจะไปเจาะลึกแนวคิดของสอง Start up รุ่นใหม่ คุณระริน ธรรมวัฒนะ และ คุณนที จรัสสุริยงค์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Guss damn good ที่สามารถทำให้ลูกค้าชาวไทยถึงกับบอกว่า “ขึ้นราคาเถอะ” และชาวต่างชาติแท้ๆ บอกว่า You make me feel like home.

Highlight

  • เราเชื่อว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตาม Product is King ฉะนั้นจึงเลือกใช้วัตถุดิบที่สุดจริงๆ ถ้าคุณกินไอศกรีมกาแฟ รสชาติต้องเหมือนกับตอนที่คุณกำลังกินกาแฟสด
  • ตั้งแต่เปิดมาไม่เคยจ่ายเงินค่าการตลาดเลย แบรนด์เราเป็น Word of mouth 100% ถ้านับจริงๆ คือเคยเสียเงินซื้อ boost post ในเฟซบุ๊กหลักร้อย แต่ยอดคนที่ติดตามเราเป็นแฟนเราล้วนๆ
  • คนส่วนใหญ่มองว่า ร้านภายนอกดูสนุก ดูไม่ตั้งใจ แต่จริงๆ หลังบ้านเราเนี้ยบมาก พนักงานต้องรู้ว่าถ้าเขาสั่ง 2 ลูก รสไหนต้องวางล่าง รสไหนต้องวางบน ลูกค้าต้องกินอันไหนก่อน ถ้ากินสลับกัน รสชาติจะเปลี่ยน
  • เราเป็น Start up มีกันอยู่แค่นี้ ไม่มีลูกน้องที่คอยมาจัดการปัญหาจุกจิกให้ ฉะนั้นต้องมีความอดทนอย่างแรงกล้า ที่จะก้าวข้ามปัญหาเหล่านี้ไปให้ได้ ถ้าไม่มี คุณจะยอมแพ้ง่ายมาก

เมื่อหิมะตกจึงเกิดเป็น Guss damn good

ระริน: จุดเริ่มต้นของ Guss มาจากการที่ระรินกับนทีเป็นเพื่อนที่เรียน MBA ด้วยกันที่บอสตัน เราเริ่ม Project นี้ในคลาสเรียนตอนอยู่ปี 2 สาเหตุที่เราเลือกขายไอศกรีม เพราะเราชอบกินไอศกรีมที่บอสตันมาก เนื่องจากรสชาติมันคือไอศกรีมจริงๆ ไม่ใส่สี ไม่แต่งกลิ่น ไม่มี Topping เน้นขายไอศกรีมจริงๆ

เราไปกินบ่อยมาก จนวันหนึ่งเราไปกินตามปกติแล้วหิมะดันตกหนัก แต่กลับมีคนมาต่อแถวซื้อไอศรีมเยอะมาก ยาวออกไปนอกร้านเลย เราก็สงสัยว่าไม่หนาวกันเหรอ เลยไปถามเพื่อนที่เป็นชาวอเมริกัน เขาตอบกลับมาว่า สำหรับพวกเขา การกินไอศกรีมหน้าหนาว ทำให้เขาคิดถึงช่วงหน้าร้อน เราเลยคิดว่า ไอศกรีมไม่ใช่แค่ขนมหวาน แต่เป็นสัญลักษณ์บางอย่างที่ทำให้เราย้อนไปถึงเรื่องราวต่างๆ ได้ มันมีอารมณ์ มีความรู้สึก

จากนั้นจึงคิดว่าจะขายคราฟไอศกรีมสไตล์บอสตัน คือ Texture จะอยู่ระหว่างไอศกรีมอเมริกันที่เนื้อเหนียว กับเจลาโต้ที่เนื้อแน่น โดยวาง positioning ตัวเองไว้ว่า เราไม่อยากจำกัดตัวเองว่า แค่ร้านขายไอศกรีม แต่อยากให้คนรู้สึกดีกับบรรยากาศ บริการ จากทุกๆ สิ่งที่เราส่งมอบให้ เป็นแบรนด์ที่ทำให้ทุกคนมีความสุข โดยมีไอศกรีมเป็นสื่อกลาง

อยากขายไอศกรีม แต่ทำไม่เป็นทั้งคู่!

ระริน: เราเรียนไฟแนนซ์ ส่วนนทีเรียนวิศวะ ทำไอศกรีมไม่เป็นทั้งคู่ เรียกว่า ไม่เคยเข้าครัวเลยดีกว่า แต่พอรู้ว่าเราอยากจะขายไอศกรีม ก็เริ่มอ่านหนังสือเกี่ยวกับการทำไอศกรีม คืออ่านเยอะมาก เป็นตั้งๆ เลย แล้วเราก็บ้ามาก เพราะรู้ว่าไอศกรีมที่นี่อร่อย ที่เมืองไทยไม่มี เลยขับรถไปกินไอศกรีมทั่วรัฐแมสซาชูเซตส์เลย กินจนเลี่ยน (หัวเราะ)

นที: แต่ข้อดีคือ มันทำให้ลิ้นเราชิน รู้ว่าไอศกรีมเนื้อแบบนี้ใช่ แบบนี้ไม่ใช่ ได้รู้ว่าข้อดี ข้อเสียของไอศกรีมคืออะไร แล้วเอามาปรับกับไอศกรีมของเรา

ระริน: จากนั้นเราพยายามไปทำความรู้จักกับเจ้าของร้านไอศกรีมที่เราชอบ ไปทุกวัน ทุกวันจริง ๆ หลังเลิกเรียนตอน 3 ทุ่ม จะไปอยู่ที่ร้านถึง 5 ทุ่ม เพื่อนๆ ทุกคนรู้เลยว่าถ้าอยากเจอเราต้องไปร้านนี้ พอรู้จักเขากัน ก็เริ่มสอบบถาม เจ้าของร้านเลยแนะนำหนังสือมาให้อ่าน

นที: ด้วยความที่ผมเป็นวิศวกร จึงสร้างโมเดลขึ้นมา 1 อัน เป็นโมเดลสูตรไอศกรีม เอาสูตรจากหนังสือเป็นตัวตั้งต้น จากนั้นก็มาปรับไปเรื่อยๆ คือเราไม่ค่อยเชื่อกฎเกณฑ์เท่าไร สูตรเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้ไอศกรีมฟอร์มตัวขึ้นมา ต้องมีเปอร์เซ็นต์ไขมันเท่านี้ ของเหลวเท่านี้ แต่ความอร่อยมันต้องอาศัยความรู้สึก ฉะนั้นแต่ละสูตรของเราปรับนานมาก

Dont Give Up 18 ชื่อนี้มีที่มา

ระริน: ชื่อไอศกรีมของเราจะแปลกๆ หน่อย แต่ว่าแต่ละชื่อมีที่มา อย่าง Don’t give up 18 คือไอศกรีมตัวแรกที่เราทำขึ้นมา ตอนทำเราเอานมและครีมทุกยี่ห้อมาวางเรียงกัน แล้วลองหาส่วนผสมว่าอันไหนคู่กันแล้วดีที่สุด

นที: แต่กว่าจะได้เราทำหลายครั้งมาก จนครั้งที่ 18 เป็นครั้งที่รสชาติออกมาใกล้เคียงกับสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด โมเม้นท์นั้นดีใจมาก คิดว่าเริ่มใกล้ความจริงแล้ว จึงตั้งชื่อรสชาตินี้ว่า Don’t give up 18 คืออย่ายอมแพ้นะ แต่จริงๆ กว่าจะได้รสชาติเหมือนปัจจุบันคือครั้งที่ 30 กว่า (หัวเราะ)

“สร้างเรื่องราว สร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ และสร้างความอร่อยให้ผู้บริโภค”

ระริน: คอนเซ็ปท์ ของ Guss มี 3 ข้อคือ

Inspired by people story อย่างที่บอกว่าเราเชื่อว่าไอศกรีมมีความรู้สึกซ่อนอยู่ มันทำให้เราคิดถึงความทรงจำต่างๆ มากมาย ดังนั้นไอศกรีมทุกรสของ Guss จะเริ่มมาจากเรื่องราวรอบตัว เรื่องราวของผู้คน แล้วถึงออกมาเป็นรสชาตินั้นๆ อย่าง Don’t give up 18 พอลูกค้ารู้ว่าใช้เวลาทำสูตรนานมาก เขาก็เอาไปแชร์ เวลาเขาเจอเพื่อนกำลังเฟลอยู่ ก็ซื้อรสชาตินี้ให้เพื่อน เป็นการให้กำลังใจว่าอย่ายอมแพ้

Boston Culture แบรนด์นี้เริ่มจากบอสตัน เราเลยเอาวัฒนธรรมของร้านไอศกรีมที่นั่นมาปรับใช้ คือในประเทศไทยช่องว่างระหว่างคนขายกับลูกค้าค่อนข้างสูง เวลาบริการแต่ครั้งก็จะเกร็งๆ แต่ที่บอสตัน ช่องว่างมันแคบมาก คนขายสามารถแนะนำ ให้ความรู้ลูกค้าได้ พูดคุยกันเหมือนเพื่อนเลย อีกอย่างเขาให้ลูกค้าชิมไอศกรีมก่อนซื้อได้ทุกรสชาติ เพื่อจะได้ตัดสินใจได้ว่าอยากสั่งอะไร ฉะนั้นเมื่อมาที่นี่คุณชิมไปเถอะ ไม่อยากให้เกรงใจ เพราะเราอยากให้คุณมีความสุขที่สุดในช่วงเวลาที่ได้กินไอศกรีมของเรา

Damn good taste เราเชื่อว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตาม Product is King ฉะนั้นจึงเลือกใช้วัตถุดิบที่สุดจริงๆ ไม่เน้นสี แต่งกลิ่นที่มันสังเคราะห์ ฉะนั้นทุกรสชาติที่เราทำ วัตถุดิบทุกชนิดมาของจริง จัดเต็ม แล้วเราจะไม่ลดต้นทุนใดๆ เลย นมก็ใช้นมสดจริงๆ ไม่ใช้นมผง และมาจากฟาร์มของเมืองไทย เพราะเราอยากให้ไอศกรีมสด ส่วนครีมมาจากฝรั่งเศสซึ่งคุณภาพดี รสกาแฟต้องมาจากกาแฟที่เราเชื่อว่าอร่อยที่สุด ต้องคั่วใหม่ คั่วสด พอเอามาทำไอศกรีม รสชาติต้องเหมือนกับตอนที่คุณกำลังกินกาแฟสด

สมมติวัตถุดิบขึ้นราคา เราก็จะขึ้นราคา แต่ใช้ของเหมือนเดิม เช่น ฝักวนิลาขึ้นราคามา 3 เท่า เราก็บอกลูกค้าตรงๆ ว่า สถานการณ์เป็นแบบนี้ เราขอขึ้นราคา 10 บาท เพราะเราลดปริมาณไม่ได้จริงๆ และเปลี่ยนชนิดวนิลาไม่ได้ด้วย เพราะวนิลาของที่นี่ดีที่สุดแล้ว แล้วเชื่อว่าลูกค้าเข้าใจ

เติบโตแบบ “Lean Start Up”

ระริน: ตอนอยู่บอสตัน Project เราคือตั้งใจทำเป็นร้านไอศกรีม 1 ร้าน แต่พอกลับมาเรารู้สึกว่ายังไม่พร้อม ไม่มีตังด้วย เลยคิดว่าอย่างนั้นออกบูธก่อนไหม เราลงทุนไม่ถึง 1 ล้านบาท หลังจากนั้นก็ไม่ได้เพิ่มเงินอีกเลย ซึ่ง 1 ล้านนั้น ส่วนใหญ่หมดไปกับเครื่องทำไอศกรีม ตู้แช่แข็ง ส่วนผสมทุกอย่างจัดเต็ม แต่ออฟฟิศเราไม่สวยเลย เฟอร์นิเจอร์มาจากบ้านของเราเอง ใครเหลือใช้อะไร เอามาหมด

นที: เราลงทุนเฉพาะสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น เป็น Lean Start Up” มากๆ ค่อยๆ ซื้อ ค่อยๆ ทำ กว่าจะมีร้านนี้ ซึ่งเล็กมากๆ 1 คูณ 7 เมตร ก็เกือบปี ก่อนหน้านี้ขายตามงานอีเวนท์ตลอด

การที่ชื่อมันแบบนี้ ยังไงลูกค้าก็ต้องคุยกับเรา เพราะไม่รู้ว่าแต่ละรสคืออะไร แล้วตอนคุยนี่แหละ จะทำให้คุณจำเราได้

ลูกค้าจากการขาย “วันแรก” เป็นลูกค้าประจำจน “วันนี้”

ระริน: จริงๆ เปิดตัวครั้งแรก ถือว่าเป็นครั้งที่ 0 แล้วกัน (หัวเราะ) เราก็ลองไปขายที่งาน Event แห่งหนึ่ง ไม่มีแพกเกจ ไม่มีแบรนด์ ไปยืนขายมีถาด 1 อันกับกล่องโฟม มั่นใจมากว่าจะขายได้ เพราะไอศกรีมเราอร่อย เอาไป 50 ถ้วย ขายแค่ 50 บาท แต่กลับขายไม่ได้เลย มีเพื่อนๆ มาช่วยกันซื้อแค่ 10 กว่าถ้วย เลยต้องกลับมาเลียแผลนิดนึง

ตั้งต้นใหม่ไปอีกงานคือ Winter Market ของแสนสิริ อันนี้ถือเป็นครั้งที่ 1 เราจัดเต็มเอาตู้ไป ทุกอย่างพร้อม มีครบทุกรส แต่ก็กลัวมาก เพราะเราได้อยู่ในโซน Food Truck ซึ่งแต่ละร้านใหญ่มาก เราเป็นหลุมเลย แต่กลายเป็นว่าวันนั้นขายดีมาก ลูกค้าจากวันนั้น ทุกวันนี้ก็ยังเป็นลูกค้าเราอยู่ จน 2 ปีกว่าแล้ว กลายเป็นเพื่อนกันไปแล้ว

ชื่อแปลก เพราะทุกรสชาติคิดมาจากเรื่องราวดีๆ รอบตัว

ระริน: ตอนนี้เรามีรสชาติ 20 กว่ารสแล้ว Sweet Caroline /Maine Rocky Coast/ Yellow Ribbon /Here’s Your Damn Good Chocolate Ice Cream /Naughty Honey/Virgin Umeshu /B-Cube /TOMS บางคนคิดว่า เราตั้งใจตั้งชื่อเท่ๆ ให้ชื่อประหลาดรึเปล่า จริงๆ ไม่เชิงตั้งใจ ด้วยความที่เราอยากให้ไอศกรีมมีความรู้สึก มีเรื่องราว และชื่อเหล่านี้มันบ่งบอกความรู้สึกได้

มากกว่านั้นคือ การที่ชื่อมันแบบนี้ ยังไงลูกค้าก็ต้องคุยกับเรา เพราะไม่รู้ว่าแต่ละรสคืออะไร เนื่องจากไอศกรีมเราไม่ใส่สี ฉะนั้นจะมีสีขาวเรียงกัน 5 ตัว คนก็ต้องถาม อันนี้รสอะไรคะ อ๋อกาแฟค่ะ อ้าว กาแฟทำไมสีขาวล่ะ ไม่ใช่สีน้ำตาลเหรอ เราก็ได้สื่อสารพูดคุยกัน

นที: เหมือนเราบังคับกลายๆ ว่าคุณต้องคุยกับเรา แล้วตอนคุยนี่แหละ จะทำให้คุณจำเราได้ แต่มันก็เหนื่อยพอสมควรนะ จะสังเกตเห็นเลยว่าร้านเราคิวยาวมาก จริงๆ ไม่ได้ขายดี เราชวนคุย ชวนชิม อธิบายอยู่ ไม่ได้ขายสักที (หัวเราะ)

แบรนด์น้องใหม่ ราคาสูงกว่าไอศกรีมทั่วไป แต่ลูกค้ากลับบอกว่าให้ขึ้นราคา!

ระริน: เรามั่นใจว่าเราใช้ของดี จริงๆ อยากขายแพงกว่านี้นะ แต่เราอยากให้มันเข้าถึงง่าย ทุกคนกินได้ แต่ถ้าเป็นลูกค้าประจำ เขาจะบอกเลยว่า ขึ้นราคาเถอะ ขายถูกไป ถ้าจะขึ้นบอกได้เลยนะ เดี๋ยวจ่าย แต่อย่าลดคุณภาพ นี่คือลูกค้าของเรา

จำได้เลยมีวันหนึ่งของสัปดาห์แรกที่เปิดร้าน ฝนตก รถติดมาก แต่มีลูกค้าขับรถมาตอนประมาณ 3 ทุ่ม เพื่อมาซื้อไอศกรีมของเรา คือ เฮ้ย กรุงเทพฯ รถติด เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้เลย แต่มันเป็นไปแล้ว

ต้องรักษาแบรนด์ของเราไว้ด้วย ต้องไม่เสียจุดยืนของตัวเอง เราทำธุรกิจก็อยากได้ตังนะ อยากรวย แต่เราไม่ได้อยากรวยเร็ว ๆ แล้วจบ อยากให้มันยั่งยืน

เมื่อลูกค้าทำหน้าที่เป็น “ฝ่ายการตลาด” ให้ร้าน

นที: เอาจริงๆ ตั้งแต่เปิดมาไม่เคยจ่ายเงินค่าการตลาดเลย แบรนด์เราเป็น Word of mouth 100% ถ้านับจริงๆ คือเคยเสียเงินซื้อ boost post ในเฟซบุ๊กประมาณหลักร้อย ลองขำๆ แต่ยอดคนที่ติดตามเราเป็นแฟนเราล้วนๆ รูปใน IG ประมาณ 30% มาจากลูกค้า ซึ่งร้านเราเป็นลูกค้าประจำเยอะมาก เขาไปเจออะไรน่าสนใจก็จะส่งข้อความมาบอก

มีอีกอย่างคือเราเคยทำซื้อ 1 ลูก ฟรี 1 ลูก แต่เราไม่ติดป้าย คุณต้องจ่ายเงินก่อน แล้วจึงเสนอว่า ถ้าแฮชแทคร้านเรา แถมฟรีให้อีก 1 ลูกนะ สนใจไหม สาเหตุที่ทำอย่างนี้เพราะว่า เราอยากเจอตัวลูกค้าจริงๆ ที่ตั้งใจมากินของเราจริงๆ ถ้าแจกฟรีเลยหรือติดป้ายบอก คุณจะไม่ได้เจอลูกค้าจริงๆ การทำแบบนี้ทำให้เราได้เจอลูกค้าที่มีคุณภาพ แล้วกลับมาเป็นลูกค้าประจำ

ระริน: จะสังเกตเห็นได้เลยว่าเราไม่เคยโปรโมทร้านผ่านคนที่มีชื่อเสียง ไม่มีแบรนด์แอมบาสเดอร์ ไม่เคยใช้เงินจ้างเลย แต่เราใช้ลูกค้าเรานี่แหละ เขาอาจจะไม่ได้เพอร์เฟกต์ที่สุด ไม่ได้สวยที่สุด แต่เขามีเสน่ห์ที่สุดสำหรับเรา

หรือมีฝรั่งกลุ่มหนึ่งมากินไอศกรีมเราเยอะมาก จนเราต้องเดินเข้าไปคุยด้วย ประโยคหนึ่งที่เขาพูดมาคือ You made me feel like home ตอนนี้เลยกำลังคิดว่าจะเอาคำพูดนี้ โมเม้นท์นี้มาทำเป็นรสชาติ

หน้าร้านสนุก แต่หลังบ้านต้อง “เนี้ยบ”

ระริน: คนส่วนใหญ่มองว่า ร้านภายนอกดูสนุก ดูไม่ตั้งใจ แต่จริงๆ หลังบ้านเราตั้งใจมาก เนี้ยบมาก ทำงานกันหนัก ต้องจัดเทรนด์พนักงานให้เขาเข้าใจความเป็นมา ให้เขารักในสิ่งที่ทำ

แค่การตักไอศกรีมลูกหนึ่งก็ต้องใส่ใจ เราไม่อยากให้พนักงานคิดว่าก็แค่ตักไอศกรีม แต่พยายามทำให้เขารู้สึกว่า คุณกำลังส่งความสุขให้ลูกค้า ต้องตักอย่างไรให้ลูกนี้อร่อยที่สุด สมมติตักเครื่องเยอะไปก็หวานเกิน ตักน้อยไปลูกค้าก็ไม่ประทับใจ บราวนี่หายไปไหน คือทุกคำที่เขากิน ต้องได้กินบราวนี่

หรือถ้าเขาสั่ง 2 ลูก รสไหนต้องวางล่าง รสไหนต้องวางบน ลูกค้าต้องกินอันไหนก่อน ถ้ากินสลับกัน รสชาติจะเปลี่ยน อย่าง Don’t Give Up 18 ไม่ว่ากินกับรสอะไรก็ตาม ลูกนี้ต้องอยู่ข้างบน เพราะรสบางกว่ารสอื่นๆ หรือถ้ากินรสอื่นก่อน ความเป็นพระเอกของรสนี้จะหายไปแล้ว

หรือถ้าเขาสั่งให้ไปส่ง นอกเหนือจากชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เราจะถามด้วยว่า กินตอนไหน ถ้าตอนเที่ยง โอเค เดี๋ยวใกล้ๆ เที่ยงเราเอาไปส่ง จะได้กินเลย หรือจะหิ้วกลับบ้าน กลับกี่โมง เดี๋ยวเย็นๆ เราค่อยไป เราซีเรียสเรื่องนี้มาก เพราะว่าถ้าเกิดมันละลาย เอาไปแช่ใหม่ รสชาติ เนื้อสัมผัสจะไม่เหมือนเดิม

ดีเทลแบบนี้บางครั้งลูกค้าไม่รู้ แต่เราใส่ใจกับมันทุกอนูจริง ๆ

เราอยากรวยนะ แต่ไม่อยากรวยเร็วแล้วจบ

นที: สิ่งที่ทำให้เรามาถึงจุดนี้ได้คือ เราซื่อสัตย์กับลูกค้าในทุกๆ แง่มุม ทั้ง Product Service ทุกๆ อย่าง ผมเชื่อว่า ถ้าเราจริงใจกับเขา อยากส่งความสุขให้เขา เขาต้องสัมผัสได้ แล้วเขาจะบอกต่อเอง เราเป็นที่รู้จัก ทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้เงินทำการตลาดเลย มาคำบอกต่อล้วน ๆ ย้ำว่าล้วน ๆ เลย

อีกอย่างคือ เราไม่ได้มองว่าลูกค้าคือพระเจ้า แต่เรามีจุดยืนเป็นของตัวเอง สมมติมีคนมาจ้างให้ทำรสชาติ HBD to John เราทำให้ไม่ได้ ถึงแม้เขาจะเอาเงินมาเท่าไรก็ไม่ทำ การทำรสชาติใหม่ แบรนด์กับลูกค้ามันต้องค่อนข้างเสมอกัน ต้องเอื้อกันทั้งหมด ไม่ใช่ว่าเราทำให้เขา เรารับเงิน เขาได้ของ จบ ไม่ใช่ เราต้องรักษาแบรนด์ของเราไว้ด้วย ต้องไม่เสียจุดยืนของตัวเอง เราทำธุรกิจก็อยากได้ตังนะ อยากรวย แต่เราไม่ได้อยากรวยเร็ว ๆ แล้วจบ อยากให้มันยั่งยืน

ค่ำๆ ไม่ต้องไป “ร้านเหล้า” มาแฮงก์เอาท์ที่ “ร้านไอศกรีม” ก็ได้

นที: จริง ๆ ที่เราฝันไว้คือ อยากนำวัฒนธรรมร้านไอศกรีมที่บอสตัน มาทำที่เมืองไทย คนที่บอสตันส่วนใหญ่จะไปนั่งเล่น นั่งคุยกันที่ร้านไอศกรีม บรรยากาศเหมือนผับเลย ไฟสลัวๆ เปิดเพลงดังๆ แต่ไม่ขายเหล้า ขายไอศกรีมแทน เราเลยอยากนำวัฒนธรรมนี้เข้ามาในไทย

ระริน: ในร้านจะมีความวุ่นวาย เป็นเหมือนที่แฮงเอาท์กัน ไม่ได้เป็นโต๊ะที่ต่างคนต่างอยู่ เราอยากมีโต๊ะใหญ่ๆ อยู่ตรงกลาง คนนั่งด้วยกัน คนแปลกหน้าคุยกันได้ เป็นสิ่งที่เราฝัน ที่เราอยากให้เป็น

2 Ps ที่ต้องมีคือ Passion และ Perseverance อยากทำ และอดทนทำให้สำเร็จ

นที: บางคนชอบบอกว่า เวลาเริ่มธุรกิจใหม่มี Passion ก็พอแล้ว แค่อยากทำ ก็สำเร็จ แต่ผมมองว่า passion อย่างเดียวไม่พอ แน่นอนว่า passion ทำให้เราอยากตื่นมาทำงาน แต่คุณต้องมี Perseverance หรือความอดทนที่ก้าวข้ามปัญหาในทุกๆ วันด้วย

เราทำเป็น Start up มีกันอยู่แค่นี้ ไม่มีลูกน้องที่คอยมาจัดการปัญหาต่างๆ ให้ เราต้องทำเองทุกอย่าง ตั้งแต่แบกของ ขับรถไปส่งลูกค้า ปัญหาจุกจิกเล็ก ๆ น้อย ๆ มันเข้ามาทุกเรื่อง ระริน ต้องแก้ปัญหาอย่างน้อย 10 เรื่องต่อวัน ต้องมีความอดทนอย่างแรงกล้า ที่จะก้าวข้ามปัญหาเหล่านี้ไปให้ได้ ถ้าคุณไม่มีตรงนี้ คุณจะยอมแพ้ง่ายมาก

อีกอย่างคือ ชอบมีประโยคที่ว่า Go big or Go home ผมไม่เคยเชื่อคำพวกนี้เลย เราว่าไปเรื่อย ๆ ดีกว่า ถ้าไม่มั่นใจจริง ๆ อย่ากระโจน ลงทีเดียว แล้วจบ ค่อยๆ ลงดีกว่า เพราะถ้าไม่สำเร็จ มันเจ็บหนัก

สุดท้ายที่อยากบอกคือ มีคนคิดว่า ถ้าเรามีไอเดียเจ๋งๆ ต้องเก็บไว้อย่าไปบอกใคร สำหรับผมคิดว่า ถ้าคุณมีไอเดียเจ๋ง ๆ คุณบอกไปเลย บอกโดยไม่ต้องกลัวว่าเขาจะเลียนแบบ การบอกมันทำให้คนนึกถึงเราเวลาเขาไปเจอสิ่งที่น่าสนใจ เรา 2 คน บอกทุกคนเลยว่า เราจะทำแบบนี้ ปรากฎว่าทุกคอนเน็กชั่นที่เข้ามา เกิดจากเราเล่าให้คนอื่นฟังนี่แหละ แล้วเวลาเขาไปเจออะไรเขาจะเอาเครือข่ายมาให้เรา

Guss damn good คือแบรนด์ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า การทำธุรกิจ ไม่จำเป็นต้องตั้งเป้าให้ใหญ่จนไปไม่ถึง แต่คือการทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุด ก้าวอย่างช้าๆ แต่ไปอย่างมั่นคง


Delivery/Catering
IG : GussDamnGood
Line : @GussDamnGood
Email : gussdamngood@gmail.com

เรื่องแนะนำ

gismo

GISMO ร้านอาหารเล็กๆ แต่วางระบบแบบโรงแรม 5 ดาว

GISMO ร้านอาหารน้องใหม่ย่านสุขุมวิท อยู่รอดและมีกำไรได้ แม้เปิดตัวในช่วงโลซีชั่น วันนี้เชฟปรัชจะมาเผยเทคนิคการบริหารงาน ตามแบบฉบับของเชฟโรงแรม 5 ดาวให้ฟัง

Potato Corner

6 เหตุผล ทำไมร้าน Potato Corner ถึงดังติดตลาด

Potato Corner ร้านเฟรนฟรายส์เจ้าดังที่เข้ามาตีตลาดในประเทศไทยได้ไม่นาน แต่กลับสามารถขนาดได้ถึง 20 สาขา ภายใน 2 ปี แถมยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

หม้อเบ้อเร่อ

ถอดบทเรียน “ หม้อเบ้อเร่อ “ พลิกวิกฤติร้านเกือบเจ๊ง ให้กลับมาอยู่รอดอีกครั้ง

หลายคนทำร้านอาหารตามกระแส เห็นร้านอื่นขายดี ก็เลยอยากจะขายบ้าง แต่บอกเลยว่าการทำร้านอาหารหนึ่งร้านนั้น ใช่ว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จ ร้าน หม้อเบ้อเร่อ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างร้านชาบูบุฟเฟต์ที่น่าสนใจ ที่ผ่านทุกช่วงมาแล้ว ตั้งแต่เริ่มขายรายได้หลักแสน จนเข้าขั้นวิกฤติขาดทุนวันละหมื่น แล้วฟื้นตัวกลับมาขายดีมีลูกค้าต่อเนื่องอีกครั้ง หม้อเบ้อเร่อ พลิกธุรกิจที่เกือบเจ๊ง ให้กลับมาปังอีกครั้งได้อย่างไร มาฟังคำตอบจาก คุณป๊อป ฐิติพงศ์ เนตรพ่วง เจ้าของร้านกันครับ >> หม้อเบ้อเร่อ เปิดใหม่กระแสดี ยอดขายหลักแสนต่อวัน ช่วงแรกที่เปิด หม้อเบ้อเร่อ เป็นกระแสดีมาก เป็นชาบูถาดใหญ่ จานใหญ่ๆ ยังไม่เคยมีใครทำ และอยู่ต่างจังหวัดด้วย คนยังไม่เคยเห็นแบบนี้ เรียกว่าใหม่มาก แปลก ออกสื่อเยอะ ลูกค้าจองเป็นเดือน ตอนนั้นเราเลยคิดว่าเรามาถูกทางแล้ว เราขายดีอยู่เป็นปีครับ แต่หลังจากนั้นพอกระแสมันหมด นี่คือชีวิตจริงแล้ว ทีนี้เราต้องมองให้ออกว่า อะไรคือกระแส อะไรคือของจริง วันที่เราแย่สุดๆ เคยขายได้วันละแสนขึ้น ลงมาเหลือสี่พัน แย่สุดๆเลย อยู่แบบนั้นประมาณ 3-4 เดือนจนเราคิดว่ามันลงถึงจุดที่ต่ำสุดแล้ว ถึงขั้นขาดทุนวันละหมื่น คิดว่าอยู่แบบนี้ไม่ไหวแล้ว ทั้งค่าพนักงาน ค่าเช่า ถ้าปล่อยไปแบบนี้ไม่รอด วิกฤติมาก […]

a lot of cuisine

A lot of Cuisine รื้อ ระบบร้านอาหาร ใหม่ จบทุกปัญหา

ทำร้านอาหาร “คุณต้องเหนื่อยเป็นและต้องหยุดเหนื่อยให้เป็นด้วย” คือประโยคเด็ดจากคุณปั๊บ - กษิดิ์เดช เจ้าของร้าน A lot of cuisine ที่ตัดสินใจรับช่วงต่อธุรกิจร้านอาหารตามสั่งจากที่บ้าน เพื่อพัฒนาร้านและวาง ระบบร้านอาหาร ให้ดีขึ้น

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท เอเอ็มอี อิมเมจิเนทีฟ จำกัด
ในเครือ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

ติดต่อแจ้งปัญหาหรือร้องเรียน
02-422-9999 ต่อ 4180
(จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น)
bdcx@amarin.co.th

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.